‘ผบ.เหล่าทัพ’งดโหวตนายกฯ

“พรเพชร” ยัน ส.ว.มีวิจารณญาณส่วนตัวโหวตใครเป็นนายกฯ ส่วนตัวของดออกเสียงเพราะมีหัวโขน 2 อย่าง ผบ.เหล่าทัพชัดเจนงดยกมือเช่นกัน ส.ว.เสียงแตกปม “พิธา” ส่วนเสรีลั่นก้าวไกลอย่าเหลิง ชี้หากมีเรื่องแก้มาตรา 112 สภาสูงไม่เอาแน่

เมื่อวันอังคารที่ 16 พ.ค.2566 ยังคงมีความต่อเนื่องถึงท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อนปิดสมัยประชุม ส.ว.เคยพูดไว้แล้วว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ จะไปก้าวก่ายไม่ได้ เเต่ละคนต้องใช้วิจารญาณไปตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนการออกมาให้ความเห็นช่วงนี้ของ ส.ว. คงไปห้ามไม่ได้ เเม้มีตำแหน่งเป็นประธาน ส.ว. เขาจะพูดว่างดออกเสียงหรือลงคะเเนนอย่างไรก็เป็นดุลพินิจของเขา เพราะเมื่อพูดอะไรออกไปก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูด

เมื่อถามว่า ที่ผ่านนายพรเพชรมักงดออกเสียงในการโหวตชี้ขาดกฎหมาย  นายพรเพชรตอบว่า ทำหน้าที่สองอย่าง ทั้งประธาน ส.ว.และรองประธานรัฐสภา ก็จะงดออกเสียงอยู่แล้วในการลงมติต่างๆ ซึ่งการโหวตนายกฯ ก็จะถือหลักปฏิบัติคืองดออกเสียง เหมือนครั้งการโหวตเลือกนายกฯ ในปี 2562 ซึ่งมีการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ก็งดออกเสียง มันเป็นหลักที่ทำมาตลอด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ผิดแปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ

“ส.ว.ก็ต้องถือว่าเป็นอิสระ และการที่เขาจะเเสดงความเห็นอย่างไรเป็นอิสระของเขา ผมก็เข้าใจว่ามันไม่มีใครไปบริหารจัดการหรือไปสั่งการได้ เพราะระบบเป็นประชาธิปไตยในประเด็นนี้จะเป็นอิสระของเเต่ละคน และเมื่อเขาแสดงเจตนารมณ์มาแล้วอย่างเปิดเผย  ถ้าสงสัยอย่างไรก็ไปถามคนนั้นก็แล้วกัน” นายพรเพชรกล่าว

รายงานข่าวจาก ส.ว.แจ้งว่า การโหวตเลือกนายกฯ ของผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่งนั้น ทั้ง พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นั้น มีจุดยืนในการทำหน้าที่ ส.ว.มาตั้งแต่ประกาศไม่รับเงินเดือนแล้ว โดยจะงดออกเสียงในประเด็นทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการวางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันของ ผบ.เหล่าทัพและยึดปฏิบัติ ถือเป็นแนวทางเดียวกัน

 “ก่อนหน้านี้ ผบ.เหล่าทัพก็งดออกเสียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2565 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ ไม่ว่าชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ผบ.เหล่าทัพก็จะงดออกเสียง” รายงานข่าวระบุ

ขณะที่นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ จึงค่อยพิจารณาโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ  ส่วนตัวจะไม่โหวตให้แน่นอน เพราะนายพิธามีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112  ซึ่งรับไม่ได้ เพราะปฏิญาณตนจะจงรักภักดี ถ้าเลือกนายพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่ แต่เป็นจุดยืนของตนเองเพียงคนเดียว ไม่รู้ ส.ว.คนอื่นๆ จะเห็นเหมือนกันหรือไม่ แต่หากเสนอชื่อคนอื่นๆ เช่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข จะรับได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณากันอีกทีว่ามีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไรบ้าง

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวยึดหลักการใครที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ก็พร้อมเติมเสียงให้ฝ่ายนั้น ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครมาเป็นนายกฯ แม้จะเป็นชื่อนายพิธา, น.ส.แพทองธาร, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และนายอนุทิน แต่คงไม่เกี่ยวกับ ส.ว.คนอื่นๆ ที่ไม่สามารถรับประกันได้จะโหวตไปในทิศทางใด เพราะ ส.ว.หลายคนก็คิดไม่เหมือนกัน

“งงเสียงเรียกร้องต่างๆ ที่มีต่อ ส.ว. ก่อนหน้านี้ก็เรียกร้องให้ปิดสวิตช์ ส.ว. แก้ไขมาตรา 272 ไม่ให้มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ โดยผมก็เป็น 1 ใน 23 ส.ว.ที่ลงมติให้ปิดสวิตช์ ซึ่งแพ้เสียงข้างมาก แต่ล่าสุดกลับเรียกร้องให้ ส.ว.ใช้อำนาจโหวตเลือกนายกฯ ห้ามงดออกเสียง ตกลงจะเอายังไงกันแน่” นายวัลลภระบุ

ส่วน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.กล่าวว่า ยังไม่ขอตอบเรื่องการตัดสินใจโหวตนายกฯ เพราะยังไม่มีความชัดเจนใครจะรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้นายพิธาจะชักชวนตั้งรัฐบาล 310 เสียง จาก 6 พรรค แต่ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดเดาอะไรกัน รอให้มีความชัดเจนก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ หาก ส.ว.พูดอะไรมากไปตอนนี้ก็มีแต่ตกเป็นเหยื่อ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทุกอย่างยังไม่แน่นอน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวเช่นกันว่า ต้องดูการรวบรวมเสียงของพรรคก้าวไกล จะรวบรวมเสียงได้ 310 เสียงจริงหรือไม่ ขณะนี้เป็นแค่การพูดฝ่ายเดียวจากพรรค ก.ก. พรรคอื่นๆ ยังไม่มีใครแสดงเจตจำนงตอบตกลงร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ หลังจากรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ส.ว.ก็จะพิจารณานโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่างมาตรา 112 ไม่สามารถโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ได้แน่ ไม่ใช่แค่เฉพาะนายพิธา แม้แต่เสนอชื่อคนพรรคอื่นเป็นนายกฯ ถ้ามีนโยบายแตะต้องมาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้เช่นกัน 

“การจะเข้ามาบริหารประเทศต้องไม่มีเรื่องกระทบความมั่นคงสถาบัน การบอกว่าแก้ไขแต่ไม่ยกเลิกเป็นแค่การเล่นคำ เท่าที่ฟังเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ถ้าปล่อยให้แก้ไขมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องต่อต้าน เกิดความขัดแย้งวุ่นวายอีก” นายเสรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ส.ว.ไม่โหวตให้เสียงข้างมากได้ครบ 376 เสียงในการโหวตนายกฯ จะถูกมองเป็นการขัดขวางการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ก็ให้มองกันไป ส.ว.ไม่ได้คิดว่ารวมเสียงแล้วจะได้เท่าไร แต่อยู่ที่จะใช้อำนาจทำอะไรให้ประเทศ อย่าคิดว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะเหลิง ลุแก่อำนาจทำอะไรก็ได้ ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสามัคคี เพราะคะแนนที่ได้มาไม่ใช่คะแนนทั้งประเทศ พรรค ก.ก.ได้คะแนน 14 ล้านเสียงก็ไม่ใช่ฉันทามติอะไร เพราะพรรคอื่นๆ ก็ได้คะแนนหลักล้าน เป็นเสียงจากประชาชนเช่นกัน ถ้าคิดจะสร้างกระแสกดดัน ส.ว.ลงมติให้ตามที่ต้องการ โดยอ้างฉันทามติมาเป็นกระแสกดดัน รับรองว่าไม่สามารถมากดดัน ส.ว.ได้  เราพร้อมใช้อำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสมถูกต้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง