30พ.ค.แบ่งเค้กจบ! ฝันเก้าอี้‘ปธ.สภา’ลงตัว/FCเพื่อไทยชงถอนยวง

"ชัยธวัช" เผยกรอบหารือ  8 พรรค ตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แย้มโควตา รมต.ลงตัวหลัง 30 พ.ค. พร้อมเปิดทางคนนอกร่วม ครม.ได้   "ณัฐวุฒิ" ปฏิเสธถูกทาบทามนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ขณะที่ "เพื่อไทย" เอาแน่ หนุน "ชลน่าน" นั่ง ปธ.สภาฯ ยันต้องเป็นคนที่หลายฝ่ายยอมรับ ซัด ก.ก.จะเอาเก้าอี้ไปทำงานให้พรรคตัวเองไม่ได้  "FC เพื่อไทย" มาแล้ว บุกยื่นหนังสือ 5 ข้อ จี้ถอนตัวจากพรรคร่วมหลังถูกโจมตีหนัก "อนุสรณ์" เชื่อไม่บานปลาย "ชลน่าน" หวัง 30 พ.ค.ตกลงกันได้ "ทวี" เผย "วันนอร์" พอแล้วไม่รับเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ ชี้เรื่องใหญ่ต้องลาออกจาก หน.พรรค

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.)  ในฐานะผู้ประสานงานจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 7 พรรคการเมือง กล่าวถึงกรอบการหารือพรรคร่วมรัฐบาลในวันอังคารที่ 30  พ.ค. ที่พรรคประชาชาติ (ปช.) ว่า  ประเด็นหลักคือแนวทางการทำงานร่วมกันหลังจากนี้เพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล โดยเรื่องสำคัญจะเป็นเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อนำวาระข้อตกลงเอ็มโอยูมาลงในรายละเอียดว่าจะมีการผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง เนื่องจากการจะดำเนินนโยบายต้องมีการเตรียมการ หรือดูว่ามีวาระสำคัญใดที่ค้างจากรัฐบาลชุดก่อน รวมถึงนโยบายที่ใช้งบประมาณ จะต้องนำมาพิจารณาว่าแต่ละพรรคจะผลักดันนโยบายใดบ้าง  และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งว่าใครจะรับผิดชอบงานส่วนใดต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะมีข้อเสนอในวงประชุมอย่างไร นายชัยธวัชกล่าวว่า  ยังคงเป็นเรื่องของการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน ต้องมีการจัดประชุมร่วมกันประจำหรือไม่ โดยเฉพาะสิ่งที่เสนอคือคณะทำงานในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น จะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามว่า โควตาการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีจะเป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมา คือเพื่อไทยและก้าวไกลคนละ 14 เก้าอี้หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้ชัดเจน แต่ทางพรรคก้าวไกลได้รับทราบถึงข้อเสนอความต้องการของแต่ละพรรคอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะนำวาระในการผลักดันในเชิงนโยบายเป็นหลักว่านโยบายนี้จะเป็นวาระหลักสำคัญที่พรรคนั้นดูแลรับผิดชอบ แล้วค่อยมาดูว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง โดยหลังจากการประชุมหารือในวันที่ 30 พ.ค.นี้ คาดว่าน่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจนขึ้น

เมื่อถามว่า ได้เตรียมทาบทามคนนอกเข้ามาเป็นรัฐมนตรีบ้างแล้วหรือไม่  และเป็นกระทรวงใด นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะตอนนี้แต่ละพรรคยังไม่ได้ข้อสรุปว่าพรรคใดรับผิดชอบกระทรวงไหน เรื่องบุคลากรจะได้ข้อสรุปจริงๆ จะเป็นช่วงหลังจากการโหวตนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว  ส่วนการให้คนนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องปกติ มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะพิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมฝ่ายบริหาร ไม่ได้จำกัดเฉพาะ ส.ส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนพรรคก้าวไกลที่จะเข้าร่วมหารือร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง จะเป็นแกนนำพรรคทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการนัดประชุมคณะเจรจาพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 30 พ.ค.นี้ว่า ไม่ได้อยู่ในคณะเจรจาฯ จึงไม่ได้เดินทางไปคุยด้วย และไม่ทราบว่าพูดคุยประเด็นใดบ้าง  ส่วนกรณีให้ตนทำหน้าที่ประธานสภาฯ   ยังไม่มีการพูดคุยใดๆ กับตน กระแสข่าวที่มีเป็นเพียงการคาดเดาของสื่อมวลชนและคนอื่นๆ รวมถึงตนได้สอบถามคนอื่นๆ ที่อาจมีชื่อ ก็ยังไม่มีใครได้รับการติดต่อจากทางกรรมการบริหารพรรคในประเด็นนี้ คงต้องรอความชัดเจนหลังวันที่ 30 พ.ค. ว่าในพรรคร่วมที่ได้ลงนามในเอ็มโอยูไว้มีแนวทางที่จะสนับสนุนคนจากพรรคใดในการนั่งเป็นประธานสภาฯ จึงมาถึงขั้นตอนว่าควรเป็นใครอีกครั้ง

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ แล้วเสนอชื่อนายณัฐวุฒิเป็นประธานสภาฯ จะมีความพร้อมหรือไม่ นายณัฐวุฒิระบุว่า ไม่อยากตอบประเด็นนี้เท่าไร คงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางพรรค หากเห็นว่าตนมีความเหมาะสม คงต้องมาดูรายละเอียดว่ามีภารกิจใดที่ต้องทำบ้าง และพิจารณาถึงคุณสมบัติว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ในขณะนี้ยังไม่อยากจะตอบว่าพร้อมหรือไม่พร้อม เพราะเป็นเรื่องที่ทางพรรคจะเป็นผู้พิจารณา

เมื่อถามถึงภารกิจ 4 ข้อที่พรรคก้าวไกลได้นำเสนอจะขับเคลื่อนหากได้เป็นประธานสภาฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของพรรคหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ภารกิจ 4 ข้อดังกล่าวเป็นเพียงกรอบในการทำงาน แต่ละพรรคมีประเด็นเฉพาะของตน เมื่อพูดถึงการเป็นรัฐบาลหรือแม้กระทั่งตัวสภาเอง ก็มีประเด็นของเขาอีกต่างหาก ภาคประชาชนก็อาจมีร่างกฎหมายหรือความคาดหวังต่อสภาอีกต่างหาก จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาของก้าวไกลขึ้นต้นก่อนทั้งหมด จะต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ตามข้อบังคับ และลำดับการเสนอกฎหมาย ซึ่งเป็นลำดับขั้นปกติที่ปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว

พท.ดัน'ชลน่าน'ชิงปธ.สภาฯ

ขณะที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อดีต ส.ส.แปดสมัย กล่าวถึงปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างพรรคพท.กับพรรค ก.ก.ว่า คนที่จะเป็นประธานสภาฯ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่อยู่ในโครงสร้างสามอำนาจคือ บริหาร  นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่ทั้งสามโครงสร้างดังกล่าวจะมีการคานอำนาจระหว่างกัน คนเป็นประธานสภาฯ ซึ่งตามหลัก Bargaining power จุดสำคัญคือ ประธานสภาฯ ต้องมีความเป็นกลาง ต้องไม่ใช่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ต้องมีความรู้ในเรื่องกฎหมาย แม่นเรื่องข้อบังคับการประชุม และเป็นบุคคลที่หลายฝ่ายยอมรับ ถ้าแบบนี้มันก็ไปได้ เพราะหากประธานสภาฯ ได้คนที่สมาชิก (ส.ส.-ส.ว.) ไม่ยอมรับ ก็จะมีปัญหาในการประชุม ส่วนว่าจำเป็นต้องมีอาวุโสเป็น ส.ส.หลายสมัยหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่คงไม่ใช่ข้อจำกัดถึงขนาดนั้น ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ คงต้องจบด้วยการเจรจา ระหว่างแกนนำสองพรรคการเมือง คือเพื่อไทยกับก้าวไกล ต้องดูว่าคนที่มีหน้าที่เจรจาจะเจรจากันได้แค่ไหน

 “ถ้าจะมาใช้ตรรกะเพียงแค่ว่าจะให้คนมาเป็นประธานสภาฯ จะเข้าไปขับเคลื่อนเรื่องภายในพรรคตัวเอง คงไม่ถูก เรื่องแบบนี้มันต้องมองในภาพรวม การที่เพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องประธานสภาฯ ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย เพราะจริงๆ แล้ว กรณีที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้ที่ก้าวไกลอ้างถึง ถ้าจะให้คนของตัวเองมาเป็นประธานสภาฯ  ด้วย ต้องไปตรวจเช็กคะแนนกัน คือคะแนนมันต้องทิ้งห่าง ที่ผ่านมาพรรคอันดับหนึ่งจะเป็นพรรคตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคอันดับสองก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่ครั้งนี้พรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสองมาตั้งรัฐบาลร่วมกัน ที่เสียงแทบจะใกล้เคียงกัน ถ้าจะเอื้อเฟื้อกันได้แค่ไหน จะมาอ้างว่าเอฟซีของพรรคตัวเองต้องการแบบนี้แล้วพรรคจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คงไม่ได้ ส่วนคนในพรรคเพื่อไทยก็มีคนเหมาะสมจะเป็นประธานสภาฯ หลายคน อย่าง นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็มีความเหมาะสมอยู่ และยังมีอีกหลายคน” นายประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่า หลังตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง FC พรรคเพื่อไทยนัดรวมตัวกันมาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย ณ ที่ทำการพรรค สำนักงานใหญ่ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อให้กำลังใจในกิจกรรม “รวมพลคนเสื้อแดง กินมินต์ช็อกและยื่นหนังสือแสดงจุดยืนในการเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย”

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายนิยม นพรัตน์ หรือ เค เสื้อแดง นำกลุ่มแฟนคลับพรรคเพื่อไทย มายื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย ผ่านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย เพื่อให้กำลังใจ และขอให้ทบทวนเกี่ยวกับการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดยตัวแทนกลุ่มได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ทางกลุ่ม ก่อนเลือกตั้งพบว่าพรรคเพื่อไทยโดนโจมตีมาโดยตลอด อีกทั้งขณะการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ก็มีการบิดเบือนโจมตีพรรคเพื่อไทย ทางกลุ่มจึงไม่สบายใจ จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยตระหนักว่า พรรคอันดับ 2 ที่ผ่านมาไม่มีใครจับมือตั้งรัฐบาลด้วย จึงขอเรียกร้อง 5 ข้อ คือ

1.ให้พรรคเพื่อไทยทบทวนออกจากพรรคร่วมรัฐบาล 2.ให้เกียรติพรรคอันดับ 1 ได้รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ตามมารยาททางการเมือง 3.ให้โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากพรรคอันดับ 1 4.โหวตสนับสนุนกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน 5.ถ้าพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ ให้พรรคเพื่อไทยได้ใช้สิทธิ์เป็นพรรคอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาล และนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาผลักดัน หรือแล้วแต่พรรคจะใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่น โดยทางกลุ่มขอให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาข้อเสนอนี้ หากพรรคตัดสินใจอย่างใดก็ตาม ทางกลุ่มก็ขอน้อมรับ และยืนยันว่าจะเคียงข้างพรรคตลอดไป

แฟนคลับ พท.จี้ถอนตัว

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีการชูป้าย "เราไม่ชอบพวกหน้าไหว้หลังหลอก",  "เหลี่ยมทุกดอกบอกเพื่อน" ในการมายื่นหนังสือครั้งนี้ด้วย

ด้านนายอนุสรณ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเจอกับอะไรก็แล้วแต่ ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน ระบุว่าบนโลกเสรีประชาธิปไตยไม่ต้องเห็นด้วยกันทุกเรื่อง เราเห็นต่างกันได้ แต่การแสดงความเห็นควรเป็นแบบสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา  ไม่ควรบิดเบือน ตัดตอนใส่ร้ายพรรคเพื่อไทย ส่วนที่มีการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย ทางกลุ่มก็ได้ขอให้พรรคดำเนินการฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิ์ต่อไป จึงขอยืนยันว่าไม่กลัวทัวร์ลง แต่ขอให้ทัวร์ที่มาลงเป็นทัวร์ที่มีมาตรฐาน มีจริยธรรม  คุณธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหมือนตอนนี้เป็นความขัดแย้งฝ่ายประชาธิปไตย โดยนายนิยมกล่าวว่า หากมองว่าเป็นความขัดแย้งควรคุยกันในโต๊ะเจรจา ในเมื่อจะร่วมรัฐบาลกัน ไม่ใช่พูดคุยกันแล้วเพื่อนเอามาพูดข้างนอกให้สื่อโจมตีพรรคเพื่อไทย แบบนี้ไม่เป็นธรรม พร้อมถามว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นใคร ถึงได้ออกมาพูดบังคับพรรคคนอื่น

เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องให้ พท.ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลคืออะไร นายนิยมกล่าวว่า ต้องการให้ทบทวน ไม่ใช่โยนบาปให้ พท. ไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าไปด้วยกันไม่ได้ ทุกพรรคต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยตนยินดีถ้าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่ต้องไปด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี หากลดเกียรติก็ควรถอนตัวออกมา

เมื่อถามว่า จะบานปลายกับการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 30 พ.ค.นี้หรือไม่ นายอนุสรณ์กล่าวว่า ถือเป็นคนละเรื่องกัน และมั่นใจว่าการแสดงความเห็นต่างเป็นสิทธิที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า การออกมาของกลุ่มเสื้อแดงแบบนี้ จะไปสอดคล้องกับกระแสดีลลับที่ฮ่องกงหรือไม่ โดยนายนิยมได้ถามผู้สื่อข่าวว่า ใครไปดีล เพราะเห็นแต่พรรคก้าวไกลไปดีลพรรคนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า แต่ดีลที่ฮ่องกงตนยังไม่เห็นข่าว

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่มแฟนคลับพรรคเพื่อไทยที่มายื่นหนังสือ 5 ข้อเรียกร้องว่า ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรค ไม่ได้เป็นข้อผูกมัด เรื่องการถอนตัวเข้าร่วมรัฐบาลต้องมาพิจารณาให้เหมาะสมว่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้หรือไม่ จะต้องมีคำตอบให้กับกลุ่มผู้เรียกร้องได้ว่าในสถานการณ์ขณะนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างที่จะต้องปรับจูนเข้าหากันเพื่อเป้าหมายใหญ่ ซึ่งทางพรรคก็รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็จะต้องให้ความสำคัญ แต่ก็จะต้องมีการมาหารือกันภายในพรรคอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวเรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าจะมีการนำกระทรวงพลังงานแลกกับตำแหน่งประธานสภาฯ นพ.ชลน่านกล่าวว่า โผครม.เป็นการวิเคราะห์กัน แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการเจรจากันแบบนั่งโต๊ะพูดคุยกันเรื่องนี้เลย และในพรรคก็ยังไม่ได้พูดคุยกันด้วย เพราะมีคณะเจรจาอยู่ จึงได้มอบหมายภารกิจไป และอะไรที่จะเป็นข้อตัดสินใจในนามพรรคก็จะมาปรึกษาหารือกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุย ส่วนการหารือกันในวันอังคารที่ 30 พ.ค.นั้น ยังไม่ทราบว่าจะพูดคุยกันเรื่องใดบ้าง เพราะพรรคแกนนำนัดหมายวันและเวลา แต่ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดการหารือ และคิดว่าคงจะเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

หวัง 30 พ.ค.ตกลงกันได้

เมื่อถามว่า จะได้ข้อสรุปหรือไม่ว่าจะตกลงกันได้เรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ นพ.ชลน่านมองว่า ขึ้นอยู่กับบรรยากาศการพูดคุย และหวังว่าน่าจะตกลงกันได้ และคุยกันได้ เพราะเราต้องยอมรับว่าพท.กับ ก.ก.เป็นความคาดหวังของประชาชน รวมกันกว่า 25 ล้านเสียง และพยายามทำในสิ่งที่ประชาชนมอบหมาย และคาดหวังให้บรรลุวัตถุประสงค์ หากการพูดคุยอะไรเพื่อไปสู่เป้าหมายหลัก ก็จะต้องหันหน้ามาคุยกัน และไม่ควรจะมาเป็นเงื่อนไขว่าจะไปด้วยกันไม่ได้

 “หากไม่เกี่ยวกับพรรค เราควรจะตั้งเป้าว่าเงื่อนไขที่จะไปด้วยกันไม่ได้ต้องไม่มี ไม่คุย ต้องหาเงื่อนไขที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ ถ้าตั้งเป้าแบบนี้ทุกฝ่ายทุกคนก็จะช่วยกันหาทางออก มันไม่มีใครได้เปรียบเสียบเปรียบหรอก มันต้องมีทั้งฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสีย  มันไม่มี ได้ได้ เสียเสีย หรอก แล้วทุกคนจะมีความสุข”

เมื่อถามว่า ตัวของ นพ.ชลน่านจะนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ เองหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็คงต้องพูดคุยกัน ต่างฝ่ายก็เสนอความจำเป็น ความต้องการของตัวเอง และเอาเหตุผลความจำเป็นมาคุยกันบนพื้นฐานที่ต้องทำงานร่วมกัน แยกกันไม่ได้ ถ้าทำงานร่วมกันแยกกันไม่ได้ มิติการพูดคุยกันก็จะง่ายขึ้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์กรณีการนัดพูดคุย 8 พรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 30 พ.ค.ว่า พรรคแกนนำเป็นคนนัดหมายมา แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะหารือเรื่องอะไรบ้าง พท.คงต้องไปฟังก่อน แต่คาดว่า คงได้รายละเอียดก่อนวันที่ 30 พ.ค. เพื่อให้พรรคได้เตรียมข้อมูล และแนวทางที่จะนำไปหารือ โดยตัวแทนของ พท.ที่จะไปร่วมหารือ คาดว่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, ตน, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรค ที่เคยไปร่วมการพูดคุยกับพรรคร่วมตั้งแต่ต้น

เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรค พท.ได้หารือถึงการวางตัวรัฐมนตรีเป็นการภายในแล้วหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยัง เพราะยังไม่รู้จะแบ่งเก้าอี้กันอย่างไร ตอนนี้มีแต่ข่าวที่ปรากฏผ่านสื่อ แต่พรรคแกนนำยังไม่ได้พูดอย่างเป็นทางการ เราจึงไม่นำมาหารือภายในพรรค เพราะยังไม่ชัดเจน ถ้าได้การจัดสรรที่ชัดเจนมาแล้วเราค่อยหารือกัน วันนี้เราไม่คิดอะไรไปก่อนได้ความชัดเจน เพราะที่สุดแล้วไม่รู้ว่าผลออกมาเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ที่สุดแล้วเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ จะจบด้วยดีหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ทุกอย่างคงเป็นไปตามที่สาธารณชนคาดหวังว่าอยากให้ทุกอย่างคุยกันภายในห้อง ทั้งตำแหน่งประธานสภาฯ และตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อจะได้เห็นภาพชัด เพราะเราเคยคุยกันแล้วว่าการแบ่งตำแหน่งต่างๆ ต้องให้เกียรติกัน กระทรวงต่างๆ ต้องเหมาะสมกับนโยบายของแต่ละพรรค ทางที่ดีจึงต้องอยู่ในห้องเจรจา ไม่ใช่ให้ใครไปพูดข้างนอก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการนัดหมายพบปะหารือกันของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ในวันที่ 30 พ.ค.ว่า ทุกพรรคโทร.หาตน บอกว่าจะขอใช้พื้นที่พรรคประชาชาติในการพูดคุย ซึ่งตนก็ยินดี และเชิญให้มาคุยกัน จากบรรยากาศที่เป็นอยู่ เห็นว่าทุกคนอยู่ร่วมกันแบบมีวุฒิภาวะ และมองไปข้างหน้า จึงมั่นใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่มีปัญหา สามารถจบปัญหาประธานสภาฯ ได้แน่นอน ส่วนกรณีบางฝ่ายเสนอให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ปช. เป็นประธานสภาฯ เพื่อจบปัญหาศึกชิงประธานสภาฯ นั้น เรื่องนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายวันนอร์เคยพูดว่า “ผมพอแล้ว” หมายถึงพอในตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะเคยเป็นมาแล้ว

'วันนอร์'พอแล้วไปรับเก้าอี้ ปธ.

"ตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น ไม่ได้ดูที่อายุ ไม่ใช่ว่าต้องแก่ถึงจะเป็นประธานได้ แต่ขึ้นกับความรู้ความสามารถ  ความเป็นกลาง เพราะเป็นประธานของสมาชิกทุกคน โดยเรื่องนี้บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญไว้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ได้ ดังนั้นนายวันมูหะมัดนอร์จึงเป็นไม่ได้ เพราะเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ หากต้องลาออกจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า การพูดคุยในวันที่ 30 พ.ค.นี้ จะเป็นการพูดคุยสืบเนื่องจากรอบแรกในรายละเอียดเอ็มโอยูที่มีมากถึง 23 ข้อ และ 5 แนวปฏิบัติ คงยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคเล็กเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี มีแต่การคุยระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือเพื่อไทยและก้าวไกลเท่านั้น แต่เชื่อว่าทุกพรรคร่วมก็มีเก้าอี้ตำแหน่งในใจอยู่แล้ว แต่ยังมองว่าเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องนี้กัน ซึ่งการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีก็เป็นไปตามสัดส่วน ส.ส. ส่วนเรื่องเอา 8.6 ส.ส. มาคิดเป็น 1 เก้าอี้รัฐมนตรี ตนไม่ทราบ ซึ่งคาดว่าจะมีการคุยเรื่องประธานสภาฯ ด้วย หลังจากที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างก็จะเอาเก้าอี้ประธานสภาฯ และออกมาต่างฝ่ายต่างพูด ทำให้อาจจะต้องตกผลึกกันให้ได้ ต้องพูดคุยกันในวงเล็กด้วย เพราะจะมาแข่งกันเองไม่ได้

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ดาวราหูเลือดจะไปลมจะมา ขณะนี้ดาวราหูยังทับดวงเมืองอยู่ จะเคลื่อนย้ายออกในวันที่ 17 ตุลาคม อีก 4-5 เดือน ระหว่างที่กำลังจะเคลื่อน เหมือนกับคนที่เลือดจะไปลมจะมา อยู่ในภาวะไม่ปกติ 1.สถานการณ์ของดาวราหูระหว่างนี้ เป็นเรื่องของลับลวงพราง ที่ผมเคยบอกว่าใช่ อาจไม่ใช่ที่เห็น อาจไม่เป็น ลับลวงพรางจริงๆ 2.ราหูอึมครึม ดำทะมึนอยู่ในความมืด บางครั้งคาดไม่ถึง อาจมากับความมืด เป็นมือที่มองไม่เห็น แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ

3.ระหว่างที่จะเคลื่อนย้ายอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นการปะทุและปะทะของดาวบริวารก่อให้เกิดความโกลาหลสับสนอลหม่านในบ้านเมือง 4.อิทธิพลของราหูเป็นเรื่องไม่แน่นอน ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากหน้าเป็นหลัง จากหลังเป็นหน้า ปลิ้นปล้อนกลับกลอก 5.หลังจากวันที่ 17 ตุลาคมแล้วจึงจะมีความชัดเจน สว่างไสว สงบเรียบร้อย เพราะเคลื่อนมาอยู่ในเรือนวินาศลัคน์ จะสยบและสงบบ้านเมืองก็จะเดินไปได้ด้วยดี

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ดีลลับรัฐบาลใหม่ ไม่มีก้าวไกล มีการเจรจาลับผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน รวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งได้ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ส.ว. ผ่านฉลุย 376 ได้จัดตั้งรัฐบาลแน่ สูตรลับเจรจาตกลงไฟเขียวผ่านตลอด แถมดีลพิเศษแพ็กเกจกลับบ้าน รายงานถึงนายทักษิณ ชินวัตร ที่รออยู่สิงคโปร์ ติดตามกันต่อไป รายงานนี้ยืนยันถึงตัวตนคนเจรจา แต่ขอปิดแหล่งข่าว เมื่อใช้วิชาโจรการเมือง จรรยาโจรต้องมี ไม่ขอเอ่ยชื่อผู้ร่วมวงเจรจา

รายงานเพิ่มแจ้งว่า ก้าวไกลเสี่ยงเกินไป นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปไม่ถึงฝัน ประชาชนมีสิทธิ์รู้เบื้องหลัง ว่านักการเมืองทำอะไรกันอยู่ ตอนหาเสียง ทำให้มีข่าวกันทุกวี่ทุกวัน กรอกใส่หูให้คนจำได้ แต่พอเลือกตั้งเสร็จ ดันไปทำอะไรลับๆ ล่อๆ ไม่ให้คนเห็น เจรจาดีลลับตลบหลังประชาชน ลืมที่หาเสียงไว้กันได้อย่างไร

"กลิ่นเหม็นเน่าประชาธิปไตยจอมปลอมเริ่มโชยมาแต่ไกล" นายชูวิทย์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง