วันนอร์ฉลุยปธ.สภา ‘ปดิพัทธ์-พิเชษฐ์’นั่งรอง ‘พิธา’โอ่เอกภาพ8พรรค

“วันมูหะมัดนอร์” นอนมานั่งประธานสภาฯ ไร้คู่แข่ง ส่วนรองคนที่ 1 “ปดิพัทธ์” ชนะ “วิทยา” ไปด้วยคะแนน 312 ต่อ 105 “พิเชษฐ์” คว้าเก้าอี้รองคนที่ 2 “พิธา” โวผลโหวตแสดงถึงเอกภาพพรรคร่วม 8 พรรค พร้อมบอกเป็นสัญญาณที่ดีนั่งนายกฯ เพราะรุกได้ถอยเป็น! เตรียมพาเหรดดันกฎหมายเข้าสภา พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้ามาชุมนุมในอาคารไม่ต้องตากแดดตากฝน “วันนอร์-ชลน่าน”  ประสานเสียงไม่มีเรื่องแก้ไขมาตรา 112 แน่ “รทสช.” เผยเหตุท้าสู้เพราะต้องการแสดงจุดยืนปกป้องสิ่งที่รักและเทิดทูน

เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ค. เวลา 10.05  น. ที่สัปปายะสภาสถานมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นประธานการประชุมชั่วคราว เพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระ โดยมี ส.ส.มาประชุม 497 คน จากทั้งหมด 498 คน โดยวาระแรก พล.ต.ท.วิโรจน์ได้ให้ ส.ส.ปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่ จากนั้นได้เข้าสู่วาระเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานสภาฯ ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ  (ปช.)

โดย พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า เมื่อไม่มีฝ่ายใดเสนอชื่อบุคคลเพิ่มเติม ตามข้อบังคับการประชุมสภาระบุว่า เมื่อมีผู้ได้รับเสนอเป็นประธานสภาฯ แล้ว ขอให้แสดงวิสัยทัศน์ด้วย

นายวันนอร์แสดงวิสัยทัศน์ว่า ขอยืนยันว่า ประการแรก จะทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง จะน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. เป็นแนวทางการปฏิบัติของพวกเราต่อไป ประการที่สอง จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส สุจริต  ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประการที่สาม จะกำหนดแนวทางกับผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ในการพิจารณากฎหมาย กระทู้ถามอย่างเป็นระบบ ประการที่สี่ จะให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทุกคณะ เพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหาของประชาชน ประการที่ห้า จะร่วมกับพวกเราให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศ เน้นร่วมมืองานรัฐสภา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และประการสุดท้าย จะทำหน้าที่กำกับดูแลงานสถาบันพระปกเกล้าให้มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมงานนิติบัญญัติ รวมทั้งสนับสนุนทีวีและวิทยุรัฐสภาเป็นสถานีของประชาชน 

ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่ประชุมเข้าสู่การเลือกรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง  โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก  พรรค ก.ก. ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสนอชื่อนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ รทสช.

 นายปดิพัทธ์แสดงวิสัยทัศน์ว่า อยากให้ประชาชนกลับมามั่นใจในสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้สภากลับมามีตัวตน ศักดิ์ศรี โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร และเมื่อได้มีโอกาสดูภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เพราะจะทำให้เป็น Smart Parliament ส่งเสริมงานนิติบัญญัติให้เป็นสากล เราจำเป็นต้องยกระดับฝ่ายนิติบัญญัติ และอยากเสนอให้ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติในการผ่านร่างกฎหมายอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถติดตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังคิดว่าจะเขียนกฎหมายที่ผ่านวาระสามเป็นภาษาอังกฤษด้วย อยากเห็นประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่เลือกตัวแทนของเขาเข้าสภา แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและเต็มที่ด้วย จะใช้ 4 ปีที่มีวางตัวเป็นกลาง ทำระบบราชการที่ทันสมัย จะสนับสนุนงานประธานสภาฯ บริการสมาชิกทุกท่านด้วยความเท่าเทียม ปราศจากอคติ และทำให้สภามีความสง่างาม

 ด้านนายวิทยาแสดงวิสัยทัศน์ว่า หัวใจสำคัญของการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ คือความเป็นกลาง จะรักษาองค์กรนิติบัญญัติเป็นองค์กรทรงเกียรติ และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ พร้อมปฏิบัติตามแนวทางประธานสภา ฯ มั่นใจจะรักษาเกียรติภูมิและหน้าตาของสภานิติบัญญัติ จะวางตัวเป็นกลาง และให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นสภา            

ผลโหวตไม่มีพลิก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าคูหาลงมติลับ ส.ส.หลายคนหารือต่อประธานการประชุมว่าจะเขียนชื่ออย่างเดียว หรือเขียนทั้งชื่อและนามสกุล หากเขียนชื่อผิดจะถือว่าเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย สุดท้าย พล.ต.ท.วิโรจน์วินิจฉัยให้เขียนชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว

จากนั้นเวลา 11.15 น. ที่ประชุมเริ่มลงคะแนนโหวตรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง และปิดการลงคะแนน ในเวลา 12.40 น. รวมใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง โดย พล.ต.ท.วิโรจน์แจ้งว่าผลการนับคะแนนทั้งสิ้น 496 คน แบ่งเป็นนายปดิพัทธ์ ได้ 312 คะแนน นายวิทยา ได้ 105 คะแนน งดออกเสียง 77 คะแนน และบัตรเสีย 2 ใบ ถือว่านายปดิพัทธ์ได้รับคะแนนเสียงข้างมากดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง

 ทั้งนี้ 8 พรรครัฐบาลมี ส.ส.ทั้งสิ้น 311 เสียง แต่นายปดิพัทธ์ได้ 312 เสียง นอกจากนั้นการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง มีผู้มาลงคะแนน 496 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 498 คน พบว่าผู้ที่ไม่ได้มาลงคะแนนคือ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และนายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งนายสุชาติได้ร่วมกล่าวคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้เข้าร่วมการลงคะแนนเลือกรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ขณะที่นายสะถิระไม่ได้มาร่วมประชุม

 ต่อมาเป็นการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่สอง โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปช. เสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรค พท. ซึ่งไม่มีฝ่ายใดเสนอชื่ออื่นเพื่อแข่งขัน จึงทำให้นายพิเชษฐ์ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่สอง โดยนายพิเชษฐ์แสดงวิสัยทัศน์ว่า จะฟื้นฟูรัฐสภาประจำภาคทั้ง 5 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสภา และใกล้ชิดประชาชนในทุกภาค นอกจากนั้นจะให้โอกาส ส.ส.นำความเดือดร้อนของประชาชนหารือในสภา จากคนละ 2 นาที เป็น 3 นาที เพื่อให้การแก้ปัญหาประชาชนได้สำเร็จ รวมถึงจะให้เกียรติ ส.ส.ปฏิบัติงานตามที่ประธานมอบหมาย ขณะเดียวกันจะเร่งรัดให้ ส.ส.มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ กอบกู้ เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของสภาให้ถ่วงดุลกับอำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร

จากนั้น พล.ต.ท.วิโรจน์สั่งปิดการประชุมในเวลา 13.51 น.

สำหรับขั้นตอนหลังมีการลงมติเลือกประธานสภาฯ และรองประธานทั้ง 2 คน ตามข้อบังคับการประชุมสภา สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ต้องแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามกระบวนการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป แต่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังไม่ส่งชื่อบุคคล เนื่องจากต้องรอเอกสารของนายปดิพัทธ์ คาดว่าจะส่งรายชื่อไปยังนายกฯ ได้ภายในวันที่ 5 ก.ค. และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์และนายปดิพัทธ์นั้นต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปช.และ กก.บห.พรรค ก.ก. โดยมีรายงานว่านายวันมูหะมัดนอร์ได้ลาออกตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.แล้ว

โอ่ผลโหวตแสดงเอกภาพ

ในเวลา 14.05 น. นายพิธาและนายปดิพัทธ์แถลงภายหลังการโหวตเลือกประธานสภาฯ และรองประธานว่า เป็นการยืนยันถึงเอกภาพของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ว่าสามารถรวมเสียงไม่ให้แตกแถวเป็นเอกภาพในการโหวต เป็นแนวโน้มที่ดีมากในการเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

นายพิธากล่าวว่า ขณะเดียวต้องขอยืนยันกับประชาชนว่า การพูดคุยกับแกนนำพรรคก้าวไกล รวมถึงนายวันมูหะมัดนอร์ ทั้งรองประธานคนที่ 1 และ 2 ซึ่งกฎหมายสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ สุราก้าวหน้า และสมรสเท่าเทียม จะไม่เป็นอุปสรรคในการที่มีบุคลากรทั้ง 3 คนเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงการผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ตามที่แถลงเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ข้อที่ 4 ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง รวมไปถึงการปฏิรูปกองทัพ

ด้านนายปดิพัทธ์กล่าวว่า ถือเป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทายมาก เมื่อได้รับความไว้วางใจจากสภาแล้วได้ลาออกจาก กก.บห.ของพรรคเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มต้นทำงานอย่างเป็นการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อถามว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรค ก.ก. จะน้อมนำพระราชดำรัสไปปรับใช้กับพรรคอย่างไรบ้าง นายพิธากล่าวว่า จะนำพระราชดำรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่าชาติและประชาชน ที่ท่านเน้นย้ำมาในการใช้บริการราชการแผ่นดิน

ถามว่าในทีมประธานสภาฯ วาระแรกที่ประชาชนจะเห็นอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถพูดตรงนี้ได้ เพราะต้องได้รับการจัดสรรหน้าที่ให้ชัดเจนจากประธานสภาฯ ก่อน โดยจะหารือหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ จากนั้นจะรีบฟอร์มทีมในการทำงานโดยเร็ว แต่วาระที่ทำได้โดยด่วนคือการพิจารณากฎหมายต่างๆ สัดส่วนการประชุมจะเป็นอย่างไร ก็จะได้ความชัดเจนมากขึ้น

เมื่อถามว่า ข้อตกลงในเรื่องนิรโทษกรรม และเรื่องปฏิรูปกองทัพ ครอบคลุมไปถึงเรื่องใดบ้าง นายพิธากล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติในเรื่องของรายละเอียด พรรค ก.ก. มีร่าง พ.ร.บ.เตรียมไว้ แต่ในขณะเดียวกันเป็นเรื่องของนิติบัญญัติที่ต้องอภิปรายกันในสภา มีการตั้งคณะกรรมาธิการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรค ก.ก.เสนอมีร่าง พ.ร.บ.ชัดเจนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายพิธาได้ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมถึงมาตรา 112 ที่เป็นนโยบายของพรรคว่า ก่อนเลือกตั้งอย่างไร หลังเลือกตั้งก็เป็นแบบนั้น

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวในเรื่องนี้ว่า ประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ไม่อยู่ในข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะสนับสนุน แต่พรรค ก.ก.อยากเสนอเข้ามา ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องว่าไปตามกฎหมาย และบทบาท ทั้งนี้กฎหมายต่างๆ นั้นทุกพรรคมีสิทธิเสนอ รวมถึงประชาชนด้วย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงการนิรโทษกรรมเป็นข้อตกลงหรือต้องมีการนำเข้าเอ็มโอยูว่า คุยกันชัดเจน 8 พรรคว่าไม่มีประเด็นเหล่านี้อยู่ เราจึงต้องให้เกียรติ 8 พรรค แต่ข้อตกลงเหล่านี้ต้องเข้าสภา เป็นการแสดงออกทางการเมือง ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกที่ต้องผ่านรัฐสภา ตรงนี้เป็นเพียงความเห็นร่วมระหว่าง 2 พรรค ส่วนจะได้หรือไม่ได้อย่างไร เป็นไปตามกลไกของรัฐสภา

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกันหรือไม่ว่ากรอบนิรโทษกรรมจะย้อนหลังไปไกลขนาดไหน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตรงนั้นเป็นรายละเอียด เราพูดในหลักการ และหลักการที่เขียนที่ชัดที่สุดคือ เป็นการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น เราให้ความระมัดระวังมาก เราได้เน้นถามนิยามคำว่าแสดงออกทางการเมือง มันมีข้อจำกัดเฉพาะ ไม่รวมถึงประเด็นไม่เคยเป็นประเด็นมาก่อน ส่วนเรื่องการดำเนินการอาศัยกลไกรัฐสภา มีคณะทำงานไปศึกษาก่อน ซึ่งยังเป็นแค่หลักการ

ย้ำไม่มีเรื่องแก้ไขมาตรา 112

เมื่อถามว่า ข้อ 3 หมายรวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่เกี่ยว ในถ้อยแถลงมีทั้งหมด 4 ข้อ การปฏิรูปกฎหมายอยู่ที่ข้อ 4 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 และเราได้พูดคุยกันชัดเจนว่าต้องไม่มีเรื่องนี้ ถามย้ำว่า หากมีมาตรา 112 พรรค พท.ไม่เอาแน่นอนใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราพูดกันชัดแล้ว

ด้านนายพิเชษฐ์แถลงภายหลังที่ประชุมรับรองการเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ว่าไม่รู้ตัวว่าจะได้รับการเสนอชื่อ  มารู้ตัวเมื่อคืนที่ 3 ก.ค. ซึ่งคิดว่าพรรคคงเห็นว่าอยู่ในสภามานาน และอยู่ในการประชุมสภามาตลอด โดยมีความพร้อมทำงานเต็มที่ เรื่องปัญหาต่างๆ  รวมถึงเรื่องปัญหาสภาล่ม และเรื่องการหารือของ ส.ส. ซึ่งจะหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์และนายปดิพัทธ์ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าให้กระทรวงต่างๆ เข้ามาพบปะกับกับ ส.ส. อย่างน้อย 6 เดือน 1 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ว่ามีปัญหาอะไร

 “ผมทำให้สภาล่มเยอะ ก็เข้าใจดีและพยายามที่จะไม่ให้สภาล่ม และมี ส.ส.แซวว่าไม่มีใครทำให้สภาล่มแล้ว เพราะคนทำให้สภาล่มไม่มีโอกาสแล้ว ท่านนายกฯ ชวนก็แซวว่าที่ผ่านมาก็ทำเรื่องไว้เยอะนะ ระวังจะถูกเอาคืน แต่ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำหน้าที่ไป” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายพิธาแถลงข่าวเสร็จ และนายพิเชษฐ์เตรียมแถลงข่าวต่อ นายพิเชษฐ์และนายพิธาได้จับมือกัน โดยนายพิธาได้กล่าวกับนายพิเชษฐ์ว่า “ยินดีด้วยครับพี่”

ในเวลา 14.30 น. หลังนายพิธาแถลงเสร็จ ได้เดินนำ ส.ส.พรรคฝ่าสายฝนออกมาด้านหน้าอาคารรัฐสภาเพื่อไปขอบคุณและทักทายประชาชนที่มารอให้กำลังใจ โดยทันทีที่ไปถึงได้เข้าไปไหว้ขอบคุณประชาชนที่ยืนชูป้ายให้กำลังใจนายกฯ คนที่ 30 พร้อมพูดคุยว่า ตอนนี้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ตำแหน่งประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คนแล้ว ซึ่งสิ่งแรกที่พวกเขาจะทำคือไม่ให้ประชาชนต้องมาตากฝนอีก

จากนั้นนายพิธาได้เดินไปหามวลชนอีกกลุ่มที่นั่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มดังกล่าวตะโกนเรียกนายพิธาว่า “นายกฯ”  จากนั้นนายพิธาเข้าไปพูดคุยพร้อมแจกลายเซ็น และด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ใช้พัดพัดให้นายพิธาที่เสื้อเต็มไปด้วยเหงื่อ

 “ครั้งหน้าหากประชาชนมากันอีกต้องไม่มายืนตากฝนแบบนี้ และห้องข้างหลังต้องเข้าไปนั่งได้ ทำพื้นที่ให้เหมือนรัฐสภาสากลที่ต้อนรับประชาชน เพราะงบประมาณที่สร้างสภาก็เป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรยืนตากฝนแบบนี้ นี่เป็นภารกิจแรกๆ  และเชื่อว่าประธานและรองประธานสภาฯ จะบริหารจัดการให้” นายพิธากล่าว

จากนั้นนายพิธาและแกนนำพรรคได้กลับเข้ามาในอาคารรัฐสภาเพื่อประชุม กก.บห.พรรค โดยประชาชนได้ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาให้

ส่วนนายวิทยา กล่าวภายหลังประชุมสภาถึงผลคะแนนที่ได้ 105 เสียง ว่า เป็นเรื่องการตัดสินใจของที่ประชุมและผู้เสนอ ทั้งนี้ พรรค รทสช.ยังไม่ได้หารืออะไรกัน แต่เราหารือกันเพียงว่าอยู่คนละฝั่งกับฝ่ายที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ซึ่งเป็นแนวทางที่เราไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องฝากอะไรถึงสมาชิกที่ฟรีโหวตและงดออกเสียงด้วยหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้หารืออะไรจริงจัง เป็นเรื่องของการแสดงท่าทีเพื่อได้บอกให้รู้ว่าตนเองคิดอย่างนี้ พรรคเราคิดอย่างนี้จึงได้แสดงอารมณ์ออกไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครเห็นด้วยก็เดินตามมา  หรือถ้าไม่เห็นด้วยและยังไม่มั่นใจก็ไม่เป็นไร

ชี้ ‘วันนอร์’ เป็นคนเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของนายวันนอร์  พรรค รทสช.ประเมินว่าการทำงานของรัฐสภาจะเป็นอย่างไร นายวิทยากล่าวว่า อาจารย์วันนอร์ก็คือเพื่อไทย เป็นคนของเพื่อไทย เพราะท่านแยกมาจากที่นั่น และคิดว่ายังมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทยดีกว่าพรรคก้าวไกลในความรู้สึก เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเริ่มก้าวที่หนึ่ง ดังนั้นก้าวที่สอง ที่สาม ก็พอดูออกกันแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยไม่ได้ถอย แต่เขาเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ เดี๋ยวก็หมดจาน

 “ขอให้รักษาไปถึงวันโหวตนายกฯ  แล้วก็คาดการณ์ดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันนั้น ซึ่งในวันนั้นจะคง 312 เสียงหรือไม่ ก็อยู่ที่การประคองความรู้สึก ซึ่งตอนนี้ความรู้สึกเริ่มผ่อนคลายลงมา ไม่ก้าวร้าว ทีแรกก็จะเอาหมดทุกอย่าง ก้าวเสียไกล เกี่ยงกันเรื่องชาม สุดท้ายก็ไม่แยกชาม อาจารย์วันนอร์ก็ชามหนึ่งแล้ว ต่อไปก็ต้องรู้จักเผื่อแผ่คนอื่น จิตใจไม่คับแคบ มันก็จะอยู่กันได้นาน แต่ถ้าจิตใจคับแคบ ก็จะเป็นบทเรียนไปเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติของสรรพสัตว์ในโลกนี้” นายวิทยาระบุ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. โพสต์เฟซบุ๊กถึงสาเหตุการเสนอชื่อนายวิทยาว่า หากไม่มีใครเสนอชื่อแข่ง ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียวก็จะลอยลำได้ตำแหน่ง จะเท่ากับว่าเรายอมรับไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องทำหน้าที่ แม้เป็นพรรคเล็กที่มีแค่ 35 เสียง เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ผลชนะหรือแพ้ แต่อยู่ที่ใจและสำนึกการทำหน้าที่ปกป้องสิ่งที่เรารักว่าใครจะร่วมสู้กับเราบ้าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวว่า กก.บห.พรรคมีมติแต่งตั้งคณะทำงานประสานงานด้านการเมืองหรือวิปพรรคขึ้นมาเพื่อให้เกิดความราบรื่นในการทำงานของ ส.ส.ในสภาให้เป็นเอกภาพ โดยจะมีนายวิทยาเป็นประธาน และนายชุมพล กาญจนะ เป็นประธานที่ปรึกษา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงผลการลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ว่าเรียบร้อยมาก แต่นานกว่าที่ควรจะเป็น เพราะต้องมีการเขียนชื่อและนามสกุล เลยเสียเวลาเรื่องนี้ไป 2 ชั่วโมง

เมื่อถามว่า เตรียมความพร้อมเป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างไร นายอนุทินหัวเราะก่อนกล่าวว่า เอาให้ถึงวันนั้นก่อน

รายงานจาก ภท.แจ้งว่า สาเหตุที่พรรคงดออกเสียงรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ด้วยจำนวน 71 เสียง เพราะไม่ต้องการโหวตให้พรรค ก.ก.ที่ต้องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังเป็นการส่งสัญญาณปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธแสดงความเห็นในกรณีประธานสภาฯ และรองประธาน โดยนายกฯ เอามือป้องปากทำท่ากระซิบพร้อมกล่าวว่า “No politic”

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์แสดงความยินดีที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ได้เลือกประธานสภาฯ และรองประธานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยนายกฯ ย้ำขอให้ได้รัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อส่งผลดีต่อประเทศ พร้อมขอให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ เรียบร้อย ปลอดภัย ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งนายกฯ จะทำหน้าที่รักษาการจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงแถลงการณ์ร่วมพรรค พท.และ ก.ก.แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ว่าเมื่อเขาเป็นรัฐบาลก็ทำได้ แต่คงไม่ง่าย เพราะกฎหมายต้องผ่าน ส.ว.ด้วย

นายพิธายังกล่าวถึงผลการประชุมสภาถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่าถือเป็นนิมิตที่ดี

‘พิธา’ โวรุกได้ถอยเป็น

 เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรค ก.ก.สามารถรวบรวมเสียง ส.ว.ได้เท่าไหร่ นายพิธากล่าวว่า ขอให้รอดูเวลาใกล้ๆ แต่มากขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าการส่งสัญญาณว่าใครมีภาวะผู้นำที่ดี รุกได้ถอยเป็น และรู้ว่าหลักการการเสนอประธานสภาฯ คือพรรคอันดับ 1 แต่ขณะเดียวกันการรักษาเอกภาพเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเป็นสิ่งสำคัญ แสดงให้เห็นว่าผู้นำคนนี้มีความเข้าใจว่าเมื่อเวลารุกก็ต้องรุกให้สุด เมื่อเวลาถอย ถ้าไม่เสียหลักการและได้ในสิ่งที่เราต้องการเห็นความก้าวหน้าของสภา และเจตจำนงประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างให้ ส.ว.ได้เห็น และคำว่ารุกได้ถอยเป็นขึ้นอยู่บริบท และคงต้องดูเป็นกรณีๆ ไป

“คนเป็นผู้นำต้องตัดสินใจเป็น โดยประกอบไปบนข้อมูลและบริบทในสถานการณ์นั้น หากคุณจะก้าวกระโดดให้ไกลต้องถอยนิดหน่อย ถ้าคุณไม่ถอยก็ยืนอยู่กับที่ หรือกระโดดไม่ไกล ดังนั้นขึ้นอยู่สถานการณ์ แต่แน่นอนต้องไม่ขัดหลักการ ไม่ขัดกับสิ่งที่เสนอไว้กับประชาชน และไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง” นายพิธาระบุ

เมื่อถามว่า มองข้ามช็อตไปถึงวันเลือกนายกฯ หรือยัง นายพิธากล่าวว่า เวลามองต้องมองไกล แต่เวลาปฏิบัติต้องมองวันต่อวัน วิธีทำงานเป็นเช่นนั้น  ถามย้ำว่าจนถึงขณะนี้การเป็นนายกฯคนที่ 30 ยังสดใสหรือไม่ นายพิธาตอบว่า สดใสและมั่นใจครับ

เมื่อถามถึงกรณีการถูกร้องเรื่องที่ดินและหุ้น กังวลหรือไม่ที่จะเป็นสาเหตุให้ ส.ว.ไม่โหวตให้ นายพิธากล่าวว่า หากเป็นเรื่องที่ดิน อ.ปราณบุรี ได้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว 2 ครั้ง  หากเข้ารับตำแหน่งก็ต้องแจ้งครั้งที่ 3 ยังไม่เห็นคำร้องว่าติดใจเรื่องอะไร และสามารถอธิบายได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว และมั่นใจว่าการชี้แจงครั้งที่ 1 และ 2 และครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็จะตอบคำถามของหลายฝ่ายได้ ในเรื่องราคาที่ดินก็สามารถอธิบายได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกรัฐบาล แปลกใจ คนตั้งคำถามกับแบงก์ชาติ กลายเป็นถูกสังคมสงสัยในเจตนา

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นที่น่าแปลกใจเพราะจนถึงตอนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐ และมีภารกิจเป็นธนาคารกลาง ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานว่าเป็นอิสระจากรัฐบาลได้หรือไม่