"วันมูหะมัดนอร์" เคาะวันโหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค. พลิ้วตอบหาก "พิธา" ไม่ผ่านนัดแรกจะประชุมรัฐสภาอีกกี่ครั้ง อ้าง รธน.ไม่ได้กำหนดเสนอชื่อได้กี่ครั้ง บอกจะโหวตจนกว่าจะได้ ชี้ประเทศต้องมีนายกฯ บริหาร "ประชาชาติ" เฮ! "ชัยธวัช" บอกเก้าอี้ "ประธานสภาฯ" ไม่กระทบโควตารัฐมนตรี "ภูมิธรรม" ย้ำสูตรแบ่งเก้าอี้ยึด 14+1 ตามเดิม ปัดตอบมีแผนอื่นหรือไม่หาก "แคนดิเดตนายกฯ ก้าวไกล" ฝ่าด่าน ส.ว.ไม่ได้ "บิ๊กตู่" เล่นบทเตมีย์ใบ้ไม่ตอบเรื่องการเมือง "ชัยวุฒิ" เผยเตรียมตั้งวิปขั้ว รบ.เดิมหารือแนวทางโหวตนายกฯ "เสรี" ไม่เชื่อ ส.ว.ขายตัวแลกโหวต "พิธา"
ที่รัฐสภา วันที่ 5 ก.ค. เวลา 10.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ชั้น 10 ห้องประชุมประธานสภาฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นยังมี ส.ส.ของพรรคประชาชาติทั้งหมด เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชม.
นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างที่รอการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานสภาฯ ได้เชิญเลขาธิการสภาฯ รองเลขาธิการสภาฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการในเรื่องรับสนองพระบรมราชโองการฯ ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 1-2 วันนี้ และเตรียมการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมร่วมรัฐสภา โดยกำหนดว่าหากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว จะประชุมสภานัดแรกในวันที่ 12 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระเพียงให้ ส.ส.ที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนได้ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะปรึกษาหารือกันว่าจะประชุมสภาแต่ละสมัยจำนวนกี่วัน และวันใดบ้าง แม้ที่ผ่านมามีการจัดให้มีการประชุมทุกวันพุธและวันพฤหัสบดีก็ตาม ก็ต้องขอความเห็นในที่ประชุมอยู่ดี
"ในส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่งได้มีการหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะออกหนังสือเชิญสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกัน" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ถามว่า การโหวตนายกฯ ในส่วนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ที่มีแนวโน้มว่าจะโหวตไม่ผ่าน ประธานจะให้โหวตกี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า จำนวนครั้งคงพูดไม่ได้ เพราะครั้งเดียวอาจจะผ่านก็ได้ คือได้ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ครบก็ต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และต้องวิเคราะห์ดูว่าคะแนนที่ได้มีจำนวนเท่าไหร่ถึงจะครบ 376 เสียง และหากฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมกี่ครั้ง
"โดยสรุปคือรัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายพิธาคนเดียว หากนายพิธาได้ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ว่าที่ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้นตนพูดอย่างเป็นกลางคือ ส.ส.ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณนั้น เขาได้ร่วมกันที่จะตั้งรัฐบาลแล้ว 312 เสียง ซึ่งวันที่ 4 ก.ค. ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการเลือกรองประธานคนที่ 1 ได้คะแนน 312 เสียง อันนี้ก็จะเป็นหลัก แต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก 64 คะแนน และหากไม่ได้ ก็ต้องโหวตให้ได้ 376 เสียง
โหวตนายกฯ จนกว่าจะได้
"หากวันแรกไม่สามารถ ถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และนัดโหวตนายกฯ ในนัดครั้งต่อไป โดยจะต้องคำนึงความพร้อมของสมาชิกในการเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน ผมเชื่อมั่นว่าหากเราทำอะไรด้วยความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน สิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย" ว่าที่ประธานสภาฯ กล่าว
ซักว่า หากพรรคร่วมตั้งรัฐบาลยังยืนยันที่จะเสนอชื่อนายพิธา จะให้มีการประชุมอีกหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคุณสมบัติครบถ้วน แต่ถ้าหากว่ารายชื่อทั้งหมดที่ส่งไปยัง กกต.ยังไม่ผ่าน ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่าให้รัฐสภาเสนอคนนอกได้ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ยาว เพราะรัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ที่เห็นว่าควรจะให้เสนอคนนอกเข้ามาโหวตในสภาได้ ซึ่งต้องได้ 376 เสียง ก็ถือว่าเป็นนายกฯ ได้ ตนคิดว่าเราไม่สามารถที่จะไปคาดเดาได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกฯ ที่บริหารประเทศต่อไปได้
พอถามว่า ประธานจะดูปัจจัยคำมั่นสัญญาของ 8 พรรคร่วมที่จะดันนายพิธาให้ถึงที่สุดหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้ตกลงใจร่วมกันว่าจะสนับสนุนหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดยเป็นข้อตกลงของ 8 พรรค แต่รัฐสภาก็ต้องทำหน้าที่ในการเลือกนายกฯ เพราะการโหวตเป็นเรื่องของรัฐสภาที่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง หากเฉพาะสภาผู้แทนฯ อย่างเดียวก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะ 312 เสียงถือว่าเกินครึ่งไปเยอะแล้ว
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ชี้แจงกรณีพรรค ก.ก.ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรองประธานคนที่ 2 ตามที่ได้ตกลงกันไว้กับพรรค พท.ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการตกลงกันระหว่างนายวันมูหะมัดนอร์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. นายพิธา รวมถึงตน ตกลงกันว่าจะเสนอวนกันเป็น 3 ฝั่ง คือ นายพิธาจะเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ นายประเสริฐเสนอชื่อพรรค ก.ก. และ พ.ต.อ.ทวีเสนอชื่อพรรค พท. โดยหลังเกิดเรื่องนายประเสริฐได้ขอโทษแล้ว และบอกว่าเป็นความผิดพลาดในการสื่อสารกัน
"ย้ำว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นความผิดพลาดในการทำงาน เป็นเรื่องปกติ ก็เข้าใจกัน แล้วก็ขอโทษ ขอบคุณกัน เชื่อว่าไม่มีรอยร้าว เพราะถ้าตัวเองเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. ถ้าเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีความไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมีการชี้แจงและได้อธิบายกัน ก็เข้าใจกันดีและไม่มีปัญหา" นายชัยธวัชกล่าว
เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวถึงการรวมเสียง ส.ว.สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ว่า บอกเป็นตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้ ต้องให้เกียรติกัน และมองว่ามีเวลาเหลืออีกประมาณ 10 วัน จะพยายามทำความเข้าใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะมีความพยายามนำประเด็นต่างๆ มาปั่นเกินความเป็นจริง มาทำลายความเชื่อมั่นของพรรค ก.ก. ทางพรรคก็ได้ชี้แจงไปแล้ว และเข้าใจกันด้วยดี
ถามถึงการจัดสรรโควตารัฐมนตรี เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า จะชัดเจนก็ต่อเมื่อได้นายกฯ อย่างเป็นทางการแล้ว หากผลักดันนายพิธาได้สำเร็จ ก็จะมีรายละเอียดตามมา
พอถามว่าการที่นายวันมูหะมัดนอร์ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ จะไม่กระทบกับโควตาใน ครม.ของพรรคประชาชาติใช่หรือไม่ เลขาธิการพรรค ก.ก.กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน
พท.หนุนพิธาไม่มีแผนสอง
ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ยืนยันว่า นพ.ชลน่านไม่มีอาการโมโหโวยวายตามที่มีข่าวออกมา ว่าพรรค ก.ก.ไม่เสนอชื่อนายพิเชษฐ์เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เพราะช่วงที่กำลังเสนอชื่อรองประธานสภาคนที่ 2 นั้น ในห้องประชุมเกิดช็อตฟีลหรือเงียบ จากนั้น นพ.ชลน่านเดินมาถามเฉยๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ตกลงพรรค ก.ก.ไม่ได้เสนอหรือ ซึ่งทางพรรคก็ชี้แจงว่าเป็นการเสนอแบบสามเหลี่ยม คือให้พ.ต.อ.ทวีเป็นผู้เสนอ สลับกัน ซึ่ง นพ.ชลน่านก็บอกว่า "อ้อเหรอ" และเดินกลับที่นั่งตัวเอง สีหน้ายิ้มแย้ม แถมมีการตบบ่าทักทายกันปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นการเข้าใจผิดเรื่องลำดับการเสนอชื่อมากกว่า
ถามว่า มีข่าว ส.ส.พรรค ก.ก.จำนวนหนึ่งไม่พอใจกับการกระทำของ นพ.ชลน่าน นายวิโรจน์บอกว่า หลังการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ พรรคมีการประชุม ส.ส.อีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครพูดเรื่องนี้กัน ไม่มีใครรู้สึกไม่พอใจ
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรค พท.กับพรรค ก.ก. หลังไม่สามารถตกลงตำแหน่งประธานสภาฯ ได้ ต้องให้คนกลางมาทำหน้าที่ว่า ความสัมพันธ์ยังคงร่วมมือกัน เพื่อเป้าหมายทางการเมือง ที่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และได้รัฐบาลประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่รอการเปลี่ยนแปลงอยู่
"ทั้งสองพรรคไม่ได้มีปัญหา เพราะที่สุดแล้วทุกอย่างจบลงด้วยดี ยืนยันเพื่อไทยจะสนับสนุน ก.ก.ในการเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายพิธาเป็นนายกฯ เราจะทำให้ประสบความสำเร็จ อะไรที่ช่วยให้ไปถึงเป้าหมายรัฐบาลประชาธิปไตยได้เราก็จะช่วยอย่างเต็มที่" นายภูมิธรรมกล่าว
ถามว่า หากนายพิธาไม่สามารถฝ่าด่าน ส.ว.ได้ทั้ง 8 พรรค จะดำเนินการอย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรายืนยันจะพยายามทำให้ได้ และพรรค ก.ก.ก็แสดงความเชื่อมั่นจะทำได้สำเร็จ เราจึงไม่คิดอะไรล่วงหน้า แต่ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทั้ง 8 พรรคจะหารือกันเพื่อหาทางออกร่วมกันให้ได้
ซักถึงสูตรแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีจากเดิมที่ยึด 14+1 ตอนนี้เมื่อประธานสภาฯ เป็นคนกลางแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า สูตรแบ่งเก้าอี้เป็น 14 บวก 1 มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น สูตรอื่นๆ นั้นไม่ทราบว่ามาจากไหน ตอนนี้เรื่องประธานสภาฯ เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเลือกนายกฯ จากนั้นค่อยฟอร์มรัฐบาล ซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ นั้นจะเป็นกระบวนการที่จะทำคู่ขนานกันไป
ที่ทำเนียบรัฐาล เวลา 08.00 น. นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สภาได้ส่งรายชื่อประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ มายังทำเนียบรัฐบาลแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนนายกฯ นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา
จากนั้นระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินเข้าประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะนำรายชื่อประธานและรองประธานสภาฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อไหร่ ซึ่งนายกฯ พยักหน้าแต่ไม่ได้พูดใดๆ
พรรคร่วมตั้งวิป รบ.เดิม
ต่อมาหลังประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับบรรดารัฐมนตรี ก่อนเดินผ่านกลุ่มสื่อมวลชนที่ดักรอสัมภาษณ์บริเวณทางเชื่อมระหว่างตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรีเพื่อไปยังตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม, นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินตามขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปด้วย
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ได้หันมาทักทายสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกล่าวว่า สวัสดีนะจ๊ะ และไม่ได้ให้สัมภาษณ์เหมือนทุกครั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามประเด็นต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ได้แต่ยิ้ม และเมื่อถามบรรดารัฐมนตรีที่เดินตาม พล.อ.ประยุทธ์ว่าที่เดินตามขึ้นไปบนตึกไทยคู่ฟ้าจะไปอำลาหรือทำอะไรกัน บรรดา ครม.ได้แต่ยิ้ม
มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับรัฐมนตรีที่เดินตามไปส่งว่า "เรื่องการเมืองพวกคุณก็ว่ากันไป อย่าเอาผมไปเกี่ยวข้องเลย แต่ขอให้นึกถึงประเทศชาติเป็นหลักนะ" จากนั้นรัฐมนตรีแต่ละคนได้เดินทางกลับออกจากทำเนียบรัฐบาล ขณะที่นายธนกรได้เดินขึ้นไปพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ห้องทำงานประมาณ 10 นาที
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีพรรค รทสช.จะเสนอชื่อชิงนายกรัฐมนตรีหรือไม่ว่า ในวันที่ 11 ก.ค. จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค เข้าใจว่าจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะถ้ามองย้อนไป ก็จะส่งกันทุกพรรค ฉะนั้นครั้งนี้ก็ไม่แน่ เพราะแต่ละพรรคจะมีการหารือกันภายในก่อน และอาจจะมีการหารือกันนอกรอบกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่ามีแนวคิดหรือมองอย่างไร แต่ในพรรคเราก็ต้องคุยกันก่อน ทุกอย่างต้องเป็นมติพรรค
"การเสนอชื่อชิงนายกฯ ต้องมองหลายด้าน เนื่องจากเราเป็นพรรคขนาดเล็ก เราก็ต้องทำตัวเล็กๆ ดีกว่า แต่ในกติกาเราสามารถเสนอได้ แต่จะเสนอหรือไม่ เราต้องคุยกันก่อน" นายธนกรกล่าว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีการโหวตรองประธานสภาฯ มีพรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตกว่า เนื่องจากยังไม่ได้มีการประชุมวิปถึงแนวทางการโหวต ฉะนั้นแนวทางการโหวตหลังจากนี้พรรคร่วมเดิมจะต้องมีการพูดคุยกัน เพราะปกติมันต้องมีวิป ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการประชุมเพื่อเตรียมการก่อนโหวตเลือกต่างๆ
"ยืนยันเสียงไม่ได้แตก แต่มันไม่เป็นวิปเพราะไม่ได้คุยกัน และเราก็รอดูสถานการณ์ว่าฝั่งตรงข้ามจะว่าเช่นไร และเมื่อเรายังไม่มีโครงสร้างคณะกรรมการประสานงานในสภา จึงเป็นเรื่องที่ฉุกละหุก แต่ก็เห็นได้ว่าเสียงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่มี 180 กว่าเสียง และพรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ส่วนฝั่งรัฐบาลใหม่มี 312 เสียง ก็ทำให้เห็นภาพได้แล้วว่าเสียงของแต่ละฝ่ายมีเท่าไร ฉะนั้นในการโหวตครั้งต่อไปจะต้องอาศัยเสียง 376 เสียง เพราะ 312 เสียงไม่พอนะจ๊ะ" นายชัยวุฒิกล่าว
ถามว่า นายอนุทินได้ชี้แจงต่อพรรคร่วมรัฐบาลเดิมหรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ซีเรียสหรอก เพราะเราไม่ได้มีการพูดคุยประสานงานและมีมติกันมาก่อน เนื่องจากเหตุผลทางด้านเวลา ฉะนั้นก็ต้องมีการปรับปรุง ครั้งต่อไปจะต้องมีการตั้งวิปของกลุ่มพวกเรากว่า 180 เสียง
ซักว่าการตั้งวิปประสานงานดังกล่าวจะทันก่อนวันเลือกนายกฯ หรือไม่ นายชัยวุฒิยอมรับว่า ก็ต้องพูดคุยกันอยู่แล้วแหละ ส่วนพรรคที่จะเป็นประธานวิปนั้น พรรคใดใหญ่สุดก็เป็น เมื่อถามย้ำว่าใช่พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายชัยวุฒิได้แต่หัวเราะแต่ไม่ตอบคำถามแต่อย่างใด ก่อนกล่าวว่า แต่พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านนะจ๊ะ ยังไม่ได้ถึงที่สุด และยังไม่ได้โหวต จึงยังไปเรียกว่าผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ว่า พรรคคงต้องรอดูวันชัดเจน จึงมาตัดสินใจว่าชาติไทยพัฒนาจะมีทิศทางการโหวตอย่างไร
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ปฏิเสธตอบว่าการเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีจะมีชื่อตนหรือไม่ ส่วนประเด็นที่โซเชียลเผยแพร่ภาพนั่งหลับระหว่างการประชุมสภานั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "โถ ใครจะไปหลับเล่า ใครจะไปหลับ ผมก็นั่งของผมอย่างนั้นมาตลอด ไม่เคยหลับหรอก"
วันเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกระแสข่าวมี ส.ว.บางกลุ่มเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกโหวตให้นายพิธาว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่ทราบตัวว่า ส.ว.เป็นใคร อย่างไรก็ดี ตนไม่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นจริง เนื่องจากการซื้อเสียง ส.ว.เพื่อแลกโหวตนั้นไม่ใช่จะเกิดแค่วงเล็กๆ เพราะต้องได้เสียงถึง 60-70 เสียง หากเขาจะซื้อแค่ 10-20 เสียง จะไม่สามารถการันตีว่าจะได้รับเสียงโหวตที่เพียงพอตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
"ข่าวที่ออกมาผมมองว่าไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น ยิ่ง ส.ว.เองไม่เป็นผลดีแน่นอน เพราะคนที่จะโหวตนั้นต้องถูกจับจ้อง และมองว่ามีผลประโยชน์หรือเป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่” นายเสรีกล่าว
ถามว่า ส.ว.จะหารือร่วมกันก่อนวันโหวตนายกฯ หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า คงมีการพูดคุย แต่เป็นแบบธรรมชาติ และเป็นปกติ อีกทั้งในสัปดาห์หน้าวันที่ 10-11 ก.ค. ส.ว.จะมีการประชุมหลังจากที่มีการเปิดสมัยประชุมสภาแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม
ประชานิยมภาค2 ‘อิ๊งค์’โชว์เดี่ยวขายฝันปี68แจกแหลก ปชน.ฟันฉับ!สอบตกแค่ฝากงานรมต.
"นายกฯ อิ๊งค์" ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน