ดิ้น!ต้านกกต.ฟัน‘พิธา’ ก.ก.อ้างขัดขวางตั้งรบ.ปชต. สว.หวั่นขัดรธน.เลื่อนโหวต

กกต.ยังไม่เคาะส่งศาล รธน.ปม "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี นัดถกต่ออังคารนี้ "ก้าวไกล" ดิ้นอีกเฮือก! โวยเร่งรัดข้ามขั้นตอน อ้าง ปชช.เฝ้ารอการโหวตนายกฯ ทั้่งประเทศ ไม่ควรขัดขวางการตั้งรัฐบาลตามครรลอง ปชต. ขณะที่ ส.ว.นั่งไม่ติดชี้สถานการณ์อันตราย ดึงดันเลือกหวั่นติดร่างแหทั้งสภาหากขาดคุณสมบัติ-ขัด รธน. ขณะที่ "สาวกส้ม" ปรี๊ด! เกมสกัดซ้ำรอยยุค "ธนาธร" ด้านอัยการสูงสุดตอบกลับศาล รธน.แล้ว ปมแก้ 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่

เมื่อวันจันทร์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ เปิดเผยว่า ในการประชุม  กกต.วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ประชุมยังไม่ได้มีการลงมติเรื่องนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เพียงแต่เป็นการติดตามความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุม กกต.รับทราบเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต.ใช้เวลาประชุมตั้งแต่เวลา 13.00 น. และเลิกประชุมในเวลา 16.00 น.โดยไม่มีการแถลงใดๆ แต่มีรายงานว่ามีการนัดประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ค.) เวลา 10.00 น. และวันที่ 13 ก.ค.ในเวลา 09.00 น. 

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมาพรรคได้ส่งหนังสือด่วนไปยัง กกต.เพื่อคัดค้านการที่ กกต.จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อของนายพิธา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนที่ระเบียบ กกต.ระบุไว้เอง มีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ จนน่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่

นายชัยธวัชกล่าวว่า ตามระเบียบของ กกต. เมื่อมีการร้องเรียนผู้สมัครคนใดเกี่ยวกับการกระทำหรือการขาดคุณสมบัติ คณะกรรมการต้องไต่สวน สืบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง จากนั้นให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ถูกร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องเข้าไปชี้แจง จากนั้นจึงจะดำเนินการต่อไปในการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ในกรณีนี้เมื่อมีการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงให้นายพิธาทราบ และยังไม่มีการเรียกเจ้าตัวไปชี้แจงด้วย แต่กลับจะมีการเร่งรัดส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับ กกต.กำลังทำผิดระเบียบของตนเองอยู่

 “ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ อีกเพียง 4 วันก็จะถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี การที่จู่ๆ กกต.จะเร่งรัดทำข้ามขั้นตอน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทันที อาจทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่า องค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง มีเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ ผมเชื่อว่าประชาชนเฝ้ารอการโหวตนายกรัฐมนตรีกันทั้งประเทศ จึงไม่ควรมีการกระทำใดๆ ที่จะขัดขวางการตั้งรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย” นายชัยธวัชกล่าว

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวยืนยันว่ายังไม่มีจดหมายแจ้งจาก กกต.ให้ไปชี้แจงกรณีการถือครองหุ้นไอทีวี ตนได้ตรวจสอบไปที่บ้านและที่พรรคก้าวไกลแล้ว และหลังจากไปออกรายการโทรทัศน์มาเมื่อช่วงบ่าย เห็นสื่อมวลชนไปสอบถามที่ กกต.แล้ว ยังไม่มีเอกสารให้ไปชี้แจงแต่อย่างใด แต่ทีมกฎหมายก็เตรียมความพร้อมไว้ หากมีหนังสือหรือมีการแจ้งมาแบบด่วนฉับพลันก็พร้อมจะไปชี้แจงทันที

 ส่วนที่มีข่าวออกมาแบบนี้จะถือเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับตนเองหรือไม่นั้น นายพิธายืนยันว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของ กกต. แต่ตอนนี้มันก็เหมือนกับว่าเร่งรัดเข้ามา จึงต้องเรียกร้องให้ กกต.มีความเป็นกลางและความเป็นธรรม

ที่พรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับวันที่ 13 ก.ค. การโหวตเลือกนายกฯ จะยังคงดำเนินต่อไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้เพราะยังไม่เกิดขึ้น

วง ส.ว.ผวาติดร่างแห

ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการโหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา อำนาจตรงนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาต้องเลือกนายกฯ จากผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาคือที่นายพิธา ถูกกล่าวหาอยู่ นายพิธาจะมีคุณสมบัติ ณ วันที่เราจะโหวตเลือกหรือไม่

นายดิเรกฤทธิ์กล่าวต่อว่า การที่ กกต.เอาเรื่องมากอดไว้ ตรงนี้ต้องพิจารณาและทำให้เร็ว เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อเปิดการประชุมรัฐสภา 13 ก.ค.ที่มีวาระโหวตเลือกนายกฯ ตนคิดว่าจะทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพราะจะมีคนยกมาตรา 272 ไปโยงกับมาตรา 160 และมาตรา 98 ซึ่งจะบ่งชี้ว่าเวลานี้ข้อยุติคืออะไร สำหรับคนที่เลือกถ้าเลือกไปอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงสร้างของคดีที่บอกว่า ถ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติเรายังจะไปสมัคร ตรงนี้ก็มีความผิดมีโทษ ทำนองเดียวกันถ้านายพิธาไม่มีหรือขาดคุณสมบัติ เรายังไปเลือกก็อาจจะผิดรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงมีโทษทางอาญาด้วย ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่

 “เมื่อศาลฯ รับเรื่องแล้ว ท่านต้องสั่งเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เช่นถ้ามีการกล่าวหาว่ามีลักษณะต้องห้าม เป็นส.ส.ไม่ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ท่านจะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการร้องว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งการขาดคุณสมบัติจะมีผลย้อนไปถึงวันเลือกตั้ง ฉะนั้นวิธีการของศาลฯ จะต้องให้หยุดไว้ก่อนชั่วคราว ถ้าผลออกมาชนะก็ทำงานต่อได้ แต่ถ้าแพ้ การเป็น ส.ส.จากการได้รับเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาจะเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงกระบวนการไปสู่นายกฯ ก็เป็นโมฆะด้วย เช่นเดียวกับกรณีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แนวทางการพิจารณาของศาลฯ ก็เป็นไปไปแนวทางเดียวกัน" นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า การที่นายพิธาถูกยื่นตีความจะมีผลต่อการพิจารณาของ ส.ว.หลายคนหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่มีผลต่อการพิจารณาของ ส.ว. แต่มีผลต่อการพิจารณาทั้งสภาฯ เพราะประเด็นนี้จะมีคนยกขึ้นมาได้ว่า มาตรา 272 เขาห้ามเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม ถ้า ส.ส., ส.ว.ไปเลือก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ จะทำผิดรัฐธรรมนูญและต้องรับโทษเสียเอง ส่วนจะทำให้สถานการณ์ของรัฐสภาตึงเครียดหรือไม่นั้น เป็นไปตามกลไกกฎหมายที่ต้องเคารพ ขณะที่องค์กรใดที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาก็ต้องทำให้กระจ่าง ไม่มีเงื่อนตาย

เมื่อถามว่า จะต้องมีการเลื่อนโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐสภา และสมาชิกทั้ง 750 คนจะเห็นประเด็นว่า ถ้าเราเลือกแล้วไม่มีปัญหาทั้งสภาฯ ก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเลือกแล้วมีปัญหาก็สามารถใช้มติของรัฐสภาในการเลื่อนได้ ถ้ามีเหตุผลจำเป็นเหมาะสมเพื่อประโยชน์การทำงานของประเทศ

ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ตนเป็นห่วง 8 พรรคที่เซ็นเอ็มโอยู ว่าจะกล้าตัดสินใจเลือกคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเลือกคนขัดรัฐธรรมนูญ คนขาดคุณสมบัติ ทั้งหมดจะเหมือนปลาในข้องเดียวกัน จะมีปัญหากับพรรคเหล่านั้นได้

 “จึงอยากฝากไปพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเหล่านี้ด้วย การที่แต่ละพรรคจะโหวตนายพิธา ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 159 หรือยัง ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่ละพรรคท่านต้องไปดู มิเช่นนั้นจะกลายเป็นท่านทำขัดรัฐธรรมนูญเอง จะกลายเป็นท่านล้มล้างการปกครองหรือไม่ เพราะขัดมาตรา 159 ซึ่งจะไปไกลถูกตีความอีกเยอะ สุดท้ายจะทำร้ายตัวคุณเอง อาจจะไปไกลถึงถูกยุบพรรค" นายเสรีกล่าว

อัดซ้ำรอยเส้นทางธนาธร

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิชัยการเมือง และการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีต กกต. กล่าวว่า หากที่ประชุม กกต.มีมติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ เร็วที่สุดน่าจะภายในวันนี้ ช้าสุดคือพรุ่งนี้ (11 ก.ค.66) ซึ่งหากส่งเรื่องไปยังฝ่ายธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นการรับเรื่องเฉยๆ ไม่มีผลอะไร แต่หากเสนอเป็นวาระพิจารณารับเรื่อง เป็นไปได้ว่าจะเข้าที่ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธนี้ (12 ก.ค.66) โดยที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่งผลให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ นายพิธาจะไม่สามารถเข้าสภาฯ ในฐานะ ส.ส. แต่จะเข้าไปในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้จะมีผลให้ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งหยิบยกไปเป็นข้อกล่าวอ้างในการโหวตเลือกนายกฯ โดยอาจจะงดออกเสียงเนื่องจากคุณสมบัติไม่ชัดเจน อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต

ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า ภายหลังมีรายงานว่าเวลา 13.00  น. กกต.ได้เชิญนายพิธาเข้าพบด่วน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ พร้อมข้อกล่าวหา เหตุของการสืบสวน  ก่อนยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับการปฏิเสธว่าไม่ได้มีการนัดให้มาชี้แจงดังกล่าว รวมทั้งในส่วนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนที่มี ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักงาน กกต.เป็นประธาน ก็ไม่ได้เชิญมาชี้แจงแต่อย่างใด

ด้านนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ เชื่อว่าเมื่อส่งไปศาลรัฐธรรมนูญแล้วอาจจะยังไม่วินิจฉัยทันที แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คำขอพ่วงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่  หมายความว่านายพิธาจะไม่ถูกเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

วันเดียวกัน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด ว่ามีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ว่า ได้ทราบจาก นายประธาน จุฬาโรจน์มนตรี เลขานุการอัยการสูงสุด ว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ได้ลงนามในหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามหนังสือสอบถามแล้ว ซึ่งกระบวนการต่อไปเป็นการส่งหนังสือเพื่อตอบให้ศาลรัฐธรรมนูญทราบตามระบบราชการ

นายโกศลวัฒน์ระบุว่า โดยทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลการดำเนินการ พร้อมเอกสารประกอบแนบท้าย ลงนามโดย น.ส.นารี อัยการสูงสุด ถึงศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ส่วนรายละเอียดหนังสือตอบกลับขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งทางอัยการก็จะดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการร้องขอให้เลิกการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(3) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการ บัญญัติไว้ว่า

1.ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

2.หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวมีข่าวว่าทางผู้ร้องไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือสอบถามมา ทางอัยการสูงสุดก็ส่งหนังสือตอบกลับไปตามขั้นตอน ไม่กระทบขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง