‘คลัง’ชงรบ.ใหม่ แพ็กเกจรีดภาษี กว่า20รายการ!

“คลัง” จ่อเข็นแพ็กเกจภาษี 20  รายการให้รัฐบาลใหม่พิจารณา หวังปั๊มรายได้ ปักหมุดลดขาดดุลจ่อรื้อค่าลดหย่อนซื้อกองทุน พ่วงปรับเบี้ยคนชราที่คนรวยก็ได้ด้วย ยันภาษีหุ้นไม่มีถอยแต่อาจปรับรูปแบบ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566  นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาแผนปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ทั้งในส่วนของการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย เพื่อให้เป็นไปตามกรอบวินัยการคลัง และดำเนินการตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี 2567-2570) ที่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ต้องลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ต่อจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 14% ของจีดีพี ควรขยับขึ้นไปเป็นระดับ 16-17% ต่อจีดีพี

“แผนการปฏิรูประบบภาษีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้วกว่า 20 รายการ แต่วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำอะไร ซึ่งทุกรัฐบาลที่เข้ามาไม่ว่าจากพรรคใด แผนปฏิรูปภาษีจะเป็นแผนแรกที่กระทรวงการคลังต้องกางให้ดูว่าแผนจัดเก็บรายได้ แผนรายจ่ายควรจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เอาไปให้ดูหมดว่าคนที่ทำนโยบายจะดำเนินการอย่างไร” นายกฤษฎากล่าว

สำหรับแผนการปฏิรูปภาษีเบื้องต้นจะมีการแบ่งช่วงเวลา บางมาตรการจะดำเนินการใน 2 ปี หรือภายใน 5 ปี เป็นต้น เช่น การใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน เพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนมานานหลายปีแล้ว เป็นการช่วยคนรวยมากเกินไปหรือไม่ อาจต้องทบทวนวิธีนำค่าลดหย่อนหลายๆ   รายการ โดยอาจกำหนดเพดานวงเงินลดหย่อนสูงสุดให้ผู้เสียภาษีเลือกรายการที่ต้องการหักลดหย่อนเอง เป็นต้น

นายกฤษฎายังกล่าวถึงภาษีจากการซื้อขายหุ้นว่า ยังอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพียงแต่รัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดไม่สามารถดำเนินการได้ต่อ หรือหากจะปรับเป็นการเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax) ก็ดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับนโยบาย รวมทั้งแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว หรือสินค้าประเภทไหนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำลายสุขภาพ ต้องจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท ตามนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่ นายกฤษฎากล่าวว่า การปฏิรูปภาษีจะช่วยเพิ่มรายได้ให้อีกอย่างน้อยเกินครึ่ง ส่วนมาตรการลดรายจ่ายนั้น ก็มีอาทิ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ ที่ปัจจุบันต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราปีละ 50,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้จ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชราเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าไปดูในรัฐธรรมนูญ การจัดสรรเบี้ยยังชีพคนชรามันเป็นสิทธิทุกคน หรือควรเป็นสิทธิคนที่ไม่มีความสามารถ จึงต้องเขียนกติกาว่าใครควรได้ ควรมีการถือครองทรัพย์สินเท่าใด ใครควรได้รับการช่วยเหลือ คนแก่แต่รวยควรได้รับ 600-800 บาทต่อเดือนหรือไม่ ควรลดเพื่อเอาไปช่วยเหลือถูกฝาถูกตัวหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง