ฎีกาคุก2ปี14เดือนเปรมชัย

ปิดฉากคดีเสือดำ! ศาลฎีกาสั่งจำคุก "เปรมชัย" 2 ปี 14 เดือน ไม่รอลงอาญา พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท "ดำรงค์" ยกคดีประวัติศาสตร์อุทาหรณ์เศรษฐีนักล่าสัตว์

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลคดีที่นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ฆ่าเสือดำ

นายอิทธิพรเปิดเผยว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 อัยการจังหวัดทองผาภูมิได้ยื่นฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1, นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2, นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 และนายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 ในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) โดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหา

ซึ่งต่อมาวันที่ 19 มี.ค.2562 ศาลจังหวัดทองผาภูมิพิพากษาจําคุกนายเปรมชัย 16 เดือน, นายยงค์ 13 เดือน, นางนที 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษ 2 ปี และนายธานี 2 ปี 17 เดือน โดยยกฟ้องจําเลยบางข้อหา โดยเฉพาะนายเปรมชัย กรรณสูต ศาลยกฟ้องในข้อหาร่วมกันเก็บของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติและข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แต่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แทน

ต่อมาวันที่ 24 พ.ค.2562 อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ทุกข้อหา และต่อมาวันที่ 12 ธ.ค.2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคน ตามที่พนักงานอัยการศาลสูงภาค 7 ยื่นอุทธรณ์โดยจำคุกนายเปรมชัย 2 ปี 14 เดือน, จำคุกนายยงค์ 2 ปี 17 เดือน, จำคุกนางนที 1 ปี 8 เดือน รอการลงโทษ และจำคุกนายธานี 2 ปี 21 เดือน หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคนตามที่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์แล้วอธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 จึงมีคำสั่งไม่ฎีกาครั้งต่อมาวันที่ 31 มี.ค.2563 จำเลย จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายเปรมชัย นายยงค์ และนายธานี ได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาและอธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ได้แก้ฎีกาเรียบร้อยแล้ว

คดีนี้ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้มีคำพิพากษา วันที่ 8 ธ.ค.64 ดังนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น และไม่มีเหตุต่อการรอการลงโทษ ศาลฎีกายกฟ้องเฉพาะข้อหาร่วมกันรับไว้ซึ่งสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เพราะมีการแก้ไขเพิ่มเติม ในปี พ.ศ.2562 และยกเลิกกฎหมายเก่า แต่ยังมีความผิดฐานร่วมกันมีซากสัตว์ไว้ในครอบครอง จึงทำให้โทษของจำเลยทั้งสามยังคงเป็นไปตามศาลชั้นอุทธรณ์ คือ จำคุกจำเลยที่ 1 คงจําคุก 2 ปี 14 เดือน, จำเลยที่ 2 คงจำคุก 2 ปี 17 เดือน, จำเลยที่ 4 คงจำคุก 2 ปี 21 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

เมื่อถามว่า หลักฐานสำคัญที่ทำให้นำมาสู่บทสรุปของคำตัดสินวันนี้คืออะไร นายประยุทธ รองโฆษกฯ กล่าวว่า จากที่ได้ดูข้อมูลคดีนี้มาแต่ต้น ตั้งแต่สำนักอัยการทองผาภูมิได้รับเรื่องหลักฐานสำคัญที่ทำให้สำนวนแน่นหนา ประการแรกคือประจักษ์พยาน คือผู้ที่เห็นเหตุการณ์ถูกสอบอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ประการถัดมาคือวัตถุพยาน ได้แก่ ซากสัตว์ทั้งหลาย อาวุธปืน เครื่องใช้เครื่องครัว ซึ่งทั้งหมดทำให้นำไปสู่การทำสำนวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบและรัดกุม และวันนี้ก็ได้พิสูจน์ทั้งสามศาลว่า ศาลได้มีคำพิพากษาตามที่พนักงานอัยการสั่งฟ้อง

ผู้สื่อข่าวจังหวัดกาญจนบุรีรายงานว่า ในช่วงเช้า จำเลยทั้งสี่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ โดยนายเปรมชัยมีผ้าพันแผลปิดบริเวณดวงตาด้านซ้าย คล้ายกับมีอาการบาดเจ็บ ทั้งนี้ ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเสร็จเรียบร้อย รถควบคุมตัวผู้ต้องหาของเรือนจำอำเภอทองผาภูมิได้เดินทางมารับตัวนายเปรมชัยพร้อมพวกขึ้นรถควบคุมตัวนำมาส่งยังเรือนจำอำเภอทองผาภูมิทันที โดยมีบรรดาคนสนิทพร้อมด้วยครอบครัวและญาติของจำเลยทั้งสามคนเดินทางมาให้กำลังใจถึงบริเวณด้านหน้าเรือนจำอำเภอทองผาภูมิด้วย

ด้านนายกฤตศิลป ช่วยศรี อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 7 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดทองผาภูมิ ซึ่งได้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ถือเป็นการปิดฉากคดีเสือดำโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งทางอัยการได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบแล้วเช่นกัน

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นางจิตรา ประเสริฐโสภา ผู้บัญชาการเรือนจำทองผาภูมิ ว่าได้ทำประวัติผู้ต้องขังตามระเบียบราชทัณฑ์ โดยพบว่านายเปรมชัยป่วยหลายโรค ทั้งต้อกระจก โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ ไขมันพอกตับ เส้นเลือดดำอุดที่ขา เป็นต้น แต่เจ้าตัวได้พกยารักษาประจำตัวเข้ามาด้วย ทั้งนี้ ผู้ต้องหาถูกส่งตัวคุมขังอยู่ในแดนกักโรค เป็นเวลา 21 วัน ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของเรือนจำอย่างเคร่งครัด แต่หากมีอาการป่วยจากโรคประจำตัวเกิดขึ้น จะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำคอยดูแลและตรวจสุขภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานโรงพยาบาลเครือข่ายหากอาการทรุด

ขณะที่นายดำรงค์ พิเดช ประธานที่ปรึกษาพรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย ในฐานะอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เป็นการตัดสินที่สมเหตุสมผล เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ ในการจับกุมผู้มีอันจะกิน ที่เข้ามาพักผ่อน และล่าสัตว์ในเขตห้ามล่า รวมถึงมีการล่าสัตว์ป่าที่หายาก เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับเศรษฐีทั้งหลาย ที่หาความสุขบนชีวิตของสัตว์ที่อยากไปล่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง