ต้าน‘ทักษิณ’ขออภัยโทษคดีโกง

"อุุ๊งอิ๊ง" ดอดเยี่ยม "พ่อแม้ว" มุดชั้นใต้ดินชิ่งหนีกองทัพสื่อที่ปักหลักเฝ้าหน้า รพ.ตำรวจ ขณะที่ทนายเผยแพทย์ยังต้องดูแลใกล้ชิดอาการน่าห่วง ด้าน “ไทยภักดี" จัดหนัก 3 ดาบ "น.ช.ทักษิณ” คัดค้านขอพระราชทานอภัยโทษ ชี้เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชันสร้างความเสียหายร้ายแรง หลบหนีไม่ยอมรับคำพิพากษา ทำลายหลักนิติรัฐ หวั่นระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ขุดคดีกองทัพแจ้งความ 112 จี้ อสส.เร่งเครื่องทำงาน

เมื่อวันจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณด้านหน้าอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องขังตามคำพิพากษา ถูกนำตัวมารักษาหลังอาการป่วยกำเริบ ซึ่งพักรักษาตัวครบกำหนดกักตัว 5 วัน และกรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ตามระเบียบราชทัณฑ์นั้น ตั้งแต่ช่วงเช้าบรรยากาศเป็นไปอย่างปกติ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพหรือสังเกตการทำข่าวใต้อาคารดังกล่าว ให้ปักหลักเฝ้าทำข่าวได้บริเวณด้านหน้าอาคารเท่านั้น

ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาล  ระบุว่า วันนี้ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาเป็นพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และยังไม่มีคำสั่งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ รพ.ตำรวจเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาคารหลังดังกล่าวมีชั้นใต้ดินที่สามารถนำรถลงไปจอดได้ แต่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าระวังและคัดกรองรถที่จะเข้าชั้นใต้ดินอย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้รถที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในชั้นใต้ดินเด็ดขาด จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาญาติที่จะมาเยี่ยมนายทักษิณนั้นอาจใช้เส้นทางชั้นใต้ดินขึ้นไปเยี่ยมนายทักษิณบนอาคาร เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงสื่อมวลชนที่เฝ้าทำข่าวบริเวณด้านหน้าของอาคาร

วันเดียวกัน ในเวลา 12.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 รายชื่อที่ได้แจ้งลงทะเบียนผ่านระบบของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้เข้าเยี่ยมนายทักษิณ ซึ่งวันนี้ครบกำหนดการกักตัว 5 วัน และแพทย์อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป เวลา 09.00-15.00 น.

จากนั้นเวลา13.45 น.ส.แพทองธารได้เดินทางกลับทันที โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กล่าวว่า อาการของนายทักษิณตอนนี้ให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ยังคงมีอาการน่าเป็นห่วงอยู่ และไม่ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษ แต่ไม่มีความกังวลใจอะไร เมื่อถามว่านายทักษิณยังใส่เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ นายวิญญัติไม่ตอบประเด็นนี้ และว่าส่วนรายละเอียดต่างๆ ขอไปให้สัมภาษณ์ที่พรรคเพื่อไทย

มีรายงานว่า สำหรับญาติและบุคคลใกล้ชิดที่แจ้งรายชื่อไว้กับกรมราชทัณฑ์เพื่อเข้าเยี่ยมนายทักษิณวันนี้ คือ น.ส.แพทองธาร บุตรสาว, นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามีของ น.ส.แพทองธาร, น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ หรือ เอม กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม, นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน สามีของ น.ส.พินทองทา, นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนโตของนายทักษิณ, น.ส.ณัฐฐิญา ปวงคำ ภรรยาของนายพานทองแท้ และทนายความอีก 3 ราย

ที่กรมราชทัณฑ์ นายอนันต์ สาครเจริญ เหรัญญิกพรรคไทยภักดี พร้อมสมาชิกพรรค เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะรายของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า น.ช.ทักษิณจะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะราย โดยมีนายสมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์  เป็นผู้มารับเรื่อง

นายอนันต์กล่าวว่า พรรคไทยภักดีมาขอคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษของ น.ช.ทักษิณ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.น.ช.ทักษิณต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศมากถึง 4 คดี เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม หลายวาระ เป็นการทำลายหลักธรรมาภิบาลของประเทศอย่างย่อยยับ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ ซ้ำร้ายยังมีพฤติกรรมหลบหนีการลงโทษไปต่างประเทศ ไม่เคารพยอมรับคำพิพากษาของศาล พร้อมทั้งกล่าวให้ร้ายกระบวนการยุติธรรมของประเทศตลอดมา

 “นอกจากนี้ การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะรายของ น.ช.ทักษิณ จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการผลักภาระความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดของตนเองไปเป็นภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการมิบังควรอย่างยิ่ง” นายอนันต์ระบุ

นายอนันต์กล่าวอีกว่า 2.จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรง เป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในประเทศ เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชน ทำให้วาทกรรมที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจนปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จะต้องธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างเคร่งครัด

3.ในสมัยที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยึดนโยบายที่จะไม่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชัน  เพื่อที่จะธำรงรักษาหลักธรรมาภิบาลแห่งรัฐไว้อย่างหนักแน่นมั่นคง ซึ่งควรเป็นนโยบายที่หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจะต้องยึดถือสืบทอดเอาไว้ การดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการพิเศษเฉพาะรายให้ น.ช.ทักษิณ จะเป็นแบบอย่างที่เลวร้ายต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะทำลายหลักธรรมาภิบาลแห่งรัฐซ้ำซ้อนซ้ำซาก

 “แม้การพระราชอภัยโทษ ผู้ต้องขังทุกรายสามารถขอได้ แต่เนื่องจาก น.ช.ทักษิณต้องโทษคดีทุจริต ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และต้องเป็นแบบอย่าง โดยคดีทุจริตคอร์รัปชันเป็นการประพฤติร้ายแรงและมิบังควร พรรคไทยภักดีจะเดินหน้าคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษให้ถึงที่สุด” นายอนันต์ระบุ

ด้านนายสมภพระบุสั้นๆ ว่า กรมราชทัณฑ์จะรับเรื่องไว้ดำเนินการ และมีขั้นตอนระเบียบปฏิบัติเรื่องการพระราชอภัยโทษอยู่แล้ว

วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) อาคารศูนย์ราชการฯ ถนนเเจ้งวัฒนะ นายทศพล พรหมเกตุ รองหัวหน้าพรรคไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้เร่งรัดคดี ม.112 ที่กองทัพบกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ไว้เมื่อปี 2558 จากกรณีนายทักษิณเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2552 ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ต่อมาในเดือน พ.ค. 2558 กองทัพบกได้แจ้งความดำเนินคดีนายทักษิณต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. จากกรณีที่มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนายทักษิณ และได้มีการออกหมายจับ แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นการกระทำความผิดในต่างประเทศ อำนาจการสอบสวนดำเนินคดีจึงเป็นของอัยการสูงสุด

นายทศพลระบุว่า ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2560 อัยการสูงสุดมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ 2 ข้อหา คือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ขณะนั้นนายทักษิณหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถนำตัวส่งฟ้องศาลได้

 “แต่ขณะนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า นายทักษิณไดัเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ตัวแทนพรรคไทยภักดีจึงมายื่นหนังสือเพื่อขอให้สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ เร่งรัดนำตัวนายทักษิณส่งฟ้องศาลตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม” นายทศพลระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง