‘จะนะ’ลุยทำเนียบฯ ลั่นยอมแลกชีวิตทวงมติธ.ค.2563/ม็อบราษฎรรื้อ112หงอย

จับตา! เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นพร้อมภาคีบุกทำเนียบรัฐบาล “เรือง” ประกาศพร้อมแลกทุกอย่างแม้ชีวิต ต้องนำข้อตกลงเมื่อ ธ.ค.2563 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ก่อนถึงกลับ “พีมูฟ” ร่วมหนุน “ก้าวไกล” เตรียมเรียก “ธรรมนัส” แจงปัญหา กลุ่มราษฎรยังไม่เลิกรณรงค์เลิกมาตรา 112 ม็อบแค่หยิบมือปิดราชประสงค์ โอ่ 2565 จะเป็นปีทองของการชุมนุม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม บรรยากาศบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อเตรียมรับมือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งประกาศจะบุกไปชุมนุมที่ทำเนียบฯ ในวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์ขยับจากบริเวณสะพานอรทัย แยกเทวกรรม มาปิดถนนพระราม 5 ใกล้แยกพาณิชยการ โดยเว้นระยะไว้ประมาณ 50 เมตร สำหรับให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันได้นำแผงเหล็กปิดถนนพิษณุโลก ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชฐถึงแยกมิสกวัน ส่วนบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เจ้าหน้าที่ได้นำแผงเหล็กปิดการจราจรช่องทางคู่ขนาน ส่วนช่องกลางยังเปิดการจราจรปกติ แต่มีการเตรียมแผงเหล็กมาไว้พร้อม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากจะนะอีกกว่า 150 คน มาสมทบกับผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่บริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับแกนนำ ให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ชุดที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานด้วย

ขณะเดียวกัน ในวันอาทิตย์ ที่บริเวณหน้ายูเอ็น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยนายรุ่งเรือง ระหมันยะ, นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำนักปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.สตูล และ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยังคงปักหลักอยู่ที่บริเวณดังกล่าว และช่วงบ่ายก็มีภาคีมาสมทบ ทั้งสมาพันธ์สมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, กพ.อปช.ภาคใต้, สมาคมเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้, เครือข่าย save นาบอน และกลุ่ม P-move มาสบทบ

ทั้งนี้ ได้มีการอ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยื่นเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ชุมนุมเมื่อ ธ.ค.2563 เนื่องจากรัฐบาลทำผิดสัญญา และมีการลักไก่ในจัดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในหลายโครงการ โดยเป็นการทำทางออนไลน์ อ้างเรื่องสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่มีความชำนาญหรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น หรือที่คนภาคใต้เรียกว่าขี้ฉ้อ

นายเรือง สีแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. เครือข่ายจะเดินทางที่ประตู 1 ทำเนียบฯ แม้รู้ว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางสิ่งกีดขวางไว้ตามเส้นทางที่จะเคลื่อนขบวน แต่จะเดินทางไปให้ใกล้ที่สุด และจากการหารือกับชาวบ้าน เราพร้อมจะแลกทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ต้องการ และข้อตกลงของเราต้องเป็นข้อตกลงที่ผ่านมติ ครม.จึงจะเดินทางกลับ

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธาน P-move กล่าวว่า เรายังคงย้ำและเรียกร้อง 4 ข้อคือ 1.รัฐบาลต้องตรวจสอบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อีกครั้ง 2.รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการต่อไป 3.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าข้อ 1 และ 2 แล้วเสร็จ และ 4.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 37 คน ที่เกิดจากการสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ พีมูฟยังได้ออกแถลงการณ์ประกาศขอต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องจะนะ และในวันที่ 13 ธ.ค. พีมูฟจะนำมวลชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ทำเนียบรัฐบาลแน่นอน

               ส่วนที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง บ้านเชียงเพ็ง หมู่ที่ 1 ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ได้ทำกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมอ่านแถลงการณ์ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ พร้อมประกาศหนุนชาวบ้านจะนะ จ.สงขลา ที่ปักหลักชุมนุมอยู่ในขณะนี้

ส่วนนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. เตรียมหารือที่ประชุม กมธ.เพื่อเชิญ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ ชี้แจงต่ออนุ กมธ.พิจารณาศึกษาคิดตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการดำเนินการโครงการของรัฐ ต่อกรณีโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต นอกจากนี้ จะเชิญแกนนำกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเข้าให้ข้อมูลและพูดคุยด้วย เพราะในการออกมาเรียกร้องของพ่อแม่พี่น้องครั้งนี้ รัฐบาลยังไม่ส่งใครที่เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในการตัดสินใจเข้ารับฟังและพูดคุยกับชาวบ้านเลย จึงอยากใช้พื้นที่ของ กมธ.ในการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ร.อ.ธรรมนัส

วันเดียวกัน ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมนัดทำกิจกรรม 12.12 ยกเลิก 112 ราษฎรพิพากษา มาตรา 112 โดยนัดหมายเวลา 16.00 น. แต่ตั้งแต่เวลา 15.30 น. มวลชนได้เริ่มเข้ามาในพื้นที่ลงผิวการจราจร ก่อนจะทำการปิดถนนราชดำริขาออก ตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกประตูน้ำ และมีการตั้งเวทีใต้สะพานคนข้ามระหว่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และห้างเกษรพลาซ่า ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีได้เข้าอ่านประกาศการรวมตัวหรือมั่วสุมชุมนุมไม่สามารถกระทำได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากฝ่าฝืนจะมีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ควบคุมโรค สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมต่างด่าทอตะโกนขับไล่ออกจากพื้นที่ โดยการชุมนุมค่อนข้างบางตา แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์และดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ยังพบนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็มาร่วมในการชุมนุมด้วย

นายธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า เวลา 20.00 น. เราจะมีแถลงการณ์เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ปีหน้าเราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ของเรายังไม่จบ

บรรยากาศโดยทั่วไปในพื้นที่มีการตั้งซุ้มต่างๆ ของเครือข่ายเพื่อจำหน่ายสินค้า รวมทั้งกลุ่มทะลุฟ้าที่จำหน่ายเสื้อ กลุ่มวีโว่จำหน่ายน้ำปลาร้า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจำหน่ายเสื้อ และกลุ่ม iLAW ตั้งบูธล่ารายชื่อยกเลิก มาตรา 112 ขณะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ 24 มิถุนาประชาธิปไตย เผยว่า ประชาชนออกมาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นการวินิจฉัยกลับหัวกลับหาง จึงต้องออกมาตอบโต้ล่ารายชื่อให้ถึง 1 ล้านรายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา 112 ส่งเสียงถึงตุลาการให้ปล่อยตัวเพื่อนเราที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ การชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมส่งท้ายปีนี้ และปีหน้าคาดว่าจะเป็นปีทองจะมีการชุมนุมถี่ขึ้นที่ต่างจังหวัดควบคู่กันไป ที่ประชาชนออกมาก็เพราะผลผลิตของการบริหารรัฐบาลชุดนี้

ต่อมาในช่วงเย็น ได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขึ้นไปปลดป้ายที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำไปแขวนบนสะพานเชื่อมต่อระหว่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และห้างสรรพสินค้าเดอะมาร์เก็ต ทำให้มวลชนไม่พอใจต่างกรูเข้าไปเพื่อแย่งป้ายผ้าคืน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รีบเข้าไปยังด้านในห้างสรรพสินค้าเดอะมาร์เก็ต แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมตามเข้าไปเพื่อที่จะเอาป้ายผ้าคืน พร้อมตะโกนด่าเป็นขี้ข้าเผด็จการ สาดน้ำและปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียงลั่นห้าง ขณะที่แอดมินเพจราษฎรได้กล่าวหาห้างสรรพสินค้ารับใช้ตำรวจ รับใช้ขี้ข้าเผด็จการ คอยอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้นำป้ายผ้าแผ่นอื่นมาปิดอีกครั้ง

     ช่วงหนึ่งของการชุมนุม มีการจัดเสวนาเรื่องราษฎรพิพากษา มาตรา 112 โดยนายอนุลักษณ์ กุลสิงห์ครับ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา กล่าวว่า ที่ต้องยกเลิก 112 เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสถาบัน ปิดกั้นจินตนาการและความคิด ถ้าไม่ยกเลิกตอนนี้ จะไปยกเลิกตอนไหน มาตรานี้ สมควรยกเลิก

นายอุเชนทร์ เชียงแสน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ต่อ 3 แกนนำกลุ่มราษฎร ไม่มีความน่าสนใจหรือมีคุณค่าทางกฎหมายมากนัก การตัดสินแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ใครเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่ากัน ถ้าใช้เกณฑ์แบบนี้ ทำให้การไปแตะต้องสถาบันเท่ากับล้มล้าง

น.ส.คอรีเยาะ มานุแช ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การใช้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 112  ไม่อยากเรียกว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน แต่เป็นการใช้กฎหมายเพื่อตบปากประชาชน ไม่ใช่แค่ปิดปากไม่ให้พูด แต่เอากฎหมายมาตบปากนำประชาชนเข้าคุก เป็นการดำเนินคดีทางยุทธศาสตร์ ปิดกั้นประชาชนไม่ให้แสดงออก ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หากเป็นต่างประเทศถือว่าผิดกฎหมายที่ใช้เครื่องมือคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง