ถวายสัตย์ฯ5ก.ย. โปรดเกล้าฯ‘ครม.เศรษฐา1’แล้ว34ตำ แหน่งไร้ชื่อ‘ไผ่ ลิกค์-พิชิต’

ไทยโพสต์ ๐ โปรดเกล้าฯ ครม.ทั้งสิ้น 34   ตำแหน่ง ไร้ชื่อ "ไผ่ ลิกค์-พิชิต ชื่นบาน" ขณะที่ "เศรษฐา" เผยเข้าถวายสัตย์ฯ วันที่ 5 ก.ย.นี้ แจงเหตุไร้ชื่อ "ไผ่" เพราะยังไม่มีความแน่นอนเรื่องคุณสมบัติ ยังไม่ตั้งใครแทน ส่วน "พิชิต" มีข้อติงมาเยอะ 6 ก.ย.เริ่้มประชุมนัดพิเศษเตรียมแถลงนโยบาย "บิ๊กทิน" เข้าพบ "ธรรมรักษ์" ขอวิชา

     เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี จำนวน 34 ตำแหน่ง มีใจความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี บัดนี้ นายเศรษฐาได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

     1.นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี 3.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 5.พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 7.นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

     8.นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 9.นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  อีกหนึ่งตำแหน่ง 10.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 11.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 12.นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 13.นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

     14.นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ 15.นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 16.ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 17.นายไชยา พรหมา  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 18.นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     19.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 20.นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 21.นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 22.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 23.นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

     24.นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 25.นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 26.นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 27.พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 28.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 29.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

     30.พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 31.นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 32.นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 33.นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ 34.นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

     ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ถวายสัตย์ฯ 5 ก.ย.

     ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนการนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าฯ  ถวายสัตย์ฯ ภายหลังได้รับพระราชโองการแต่งตั้ง ครม.แล้วว่า ที่แน่ชัดแล้วคือจะมีการถวายสัตย์ฯ วันที่ 5 ก.ย. เวลา 17.00 น. ส่วนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คาดว่าจะเป็น 8 ก.ย.หรือ 11 ก.ย. ขณะนี้กำลังประสานงานอยู่ อาจจะเป็น 2 วัน คือวันที่ 8-9 ก.ย. หรือ 10-11 ก.ย. หลังจากนั้นจะเป็นการประชุม ครม.ครั้งแรก ขอให้อดใจรออีกนิด

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้คำแถลงนโยบายร่างเสร็จแล้วหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ขณะนี้ร่างใกล้จะเสร็จแล้ว กำลังรวบรวมอยู่กับทุกพรรคการเมือง

     เมื่อถามว่า ก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ได้นัดหมายพรรคร่วมมาประชุมกันก่อนเพื่อจัดทำร่างนโยบายหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่อยากใช้คำว่า ครม.นัดแรก แต่ใช้คำว่า ครม.นัดพิเศษ​ ซึ่งจะเป็นการนัดหมายเพื่อพูดคุยกันเรื่องเตรียมการที่จะแถลงนโยบายในวันที่ทางประธานรัฐสภากำหนดมา โดยคาดว่าจะเป็นวันที่ 6 ก.ย. ต้องรอเลขาธิการ ครม.ประสานมาที่พรรคเพื่อไทยก่อน ซึ่งหลังจากที่มีการถวายสัตย์ฯ แล้ว จะมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมการเรื่องนโยบาย

     ซักว่า การประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 11 พรรค มีอะไรหนักใจหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่หรอกครับ เรื่องการประสานงานทุกพรรคและทุกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายมา ทุกท่านตระหนักดีถึงปัญหาเร่งด่วนของบ้านเมือง ที่ต้องมีการแก้ไขกัน ฉะนั้นเราทราบกันดีอยู่ว่าเวลาไม่คอย ปัญหาถาโถมเข้ามาเยอะ  เราก็ทำงานกันทุกวัน ซึ่งก็พยายามหยิบยกปัญหาใหญ่ๆ เข้ามาเพื่อแก้ไขให้ครบทุกปัญหา ซึ่งก็ไม่มีความเป็นห่วงอะไร จากที่ได้คุยปัญหากับทุกรัฐมนตรี ท่านก็มีปัญหาความกังวลใจเรื่องบ้านเมืองอยู่”

     ถามว่า รายชื่อ ครม.ที่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา เหตุใดไม่มีนายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และโควตาของพรรค พปชร. ยังอยู่ใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ยังอยู่ ยังไม่ได้แต่งตั้งใครเข้ามา เพราะนายไผ่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องคุณสมบัติ ประเทศชาติจะได้เดินต่อไปได้ในแง่ของการแต่งตั้ง ครม. เพื่อที่จะบริหารแผ่นดินได้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณ แล้วให้ท่านตรวจสอบคุณสมบัติให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกันกับกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน ที่นายพิชิตยังยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เพียงแต่มีข้อติงมาเยอะ นายพิชิตจึงไม่อยากทำให้ ครม.ของเราลำบากใจ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณท่าน

     เมื่อถามว่า เรื่องความไม่แน่นอนเรื่องคุณสมบัติ หากมีการเสนอชื่อเข้าไปใหม่ ยังมีสิทธิ์ใช่หรือไม่ นายเศรษฐายืนยันว่า แน่นอน เราก็ยังเก็บที่ไว้ให้อยู่ เมื่อถามว่าการเสนอชื่อรัฐมนตรีเพิ่มเติมจะรอพร้อมกับการปรับ ครม.ครั้งใหม่หรือจะเสนอเข้าไปเลย นายเศรษฐาตอบกลับแบบหยอกล้อกับสื่อว่า “ใจเย็นๆ นิดหนึ่ง”

'พิชิต' เล่นบทพระเอก

     ส่วนกรณีจะเข้าพักที่ทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ บอกว่า “เดี๋ยวขอไปดูก่อนครับ ต้องขอเข้าไปดูด้านในก่อนตามความเหมาะสม ซึ่งผมก็มีความกังวลในเรื่องของพื้นที่ แต่หากต้องนอนทำเนียบฯ จริงๆ คงไม่ต้องปรับปรุงอะไร จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณอะไรมากมาย ขอเอาเรื่องงานเป็นหลักครับ”

     เมื่อถามว่า ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-26 ก.ย.หรือไม่ นายเศรษฐาตอบว่า “ครับ คิดว่าจะไปครับ จะออกเดินทางคืนวันที่ 18 ก.ย. และเริ่มภารกิจในวันที่ 19 ก.ย. ทั้งนี้ ก็ยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนไปด้วย เช่น นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศก็จะไปด้วย ส่วนการประชุมอาเซียน (4-7 ก.ย.) นั้นไม่ทัน”

     ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสรวมถึงข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติของตนในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ขอยืนยันว่าคุณสมบัติของตนครบถ้วน ถูกต้องทุกประการ ไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ประเทศชาติและรัฐบาลเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน

      “ผมจึงขอไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอขอบคุณ ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่ให้โอกาส และเห็นความสำคัญของผมมาโดยตลอด” นายพิชิตกล่าว

     นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏชื่อของนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ  แม้ก่อนหน้านี้ติดโผได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงทำให้ ครม.เศรษฐา 1 มีคณะรัฐมนตรีรวม 34 คน จากเดิมที่คาดว่าจะมีทั้งหมด 36 ตำแหน่ง

     นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า  พิชิต ชื่นบาน “ถอนตัว” หรือ “ถูกถอด” ความจริงที่สังคมควรรู้ เมื่อวานนี้นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า “ตามที่มีกระแส รวมถึงข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติของตนในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอยืนยันว่าคุณสมบัติตนครบถ้วนถูกต้องทุกประการ ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ประเทศชาติ และรัฐบาลเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ผมจึงขอไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้"

     ถามทุกคนไม่มีใครเชื่อตามที่นายพิชิตแถลง และเชื่อว่านี่คือทางลงที่ยังซ่อนความจริงอยู่บางประการ เพราะก่อนหน้านายพิชิตแถลงเพียงหนึ่งวัน (31 ส.ค.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัด  ครม.เศรษฐา 1 ว่า คาดว่าพรุ่งนี้ (1 ก.ย.) จะสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่เสนอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้แล้วเสร็จ และหวังว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เลย ส่วนกรณีคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน ที่ถูกคาดการณ์ว่าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้นายวิษณุ เครืองาม บอกว่าไม่ขัดคุณสมบัติ แต่อาจมีเรื่องปัญหาจริยธรรมตามมาภายหลัง ที่อาจถูกตรวจสอบหรือไม่นั้น นายเศรษฐากล่าวว่าเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับว่าที่รัฐมนตรีทุกคน หากไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย และตรวจสอบคุณสมบัติผ่านแล้วก็ถือว่าไม่ผิดจริยธรรม และในประเด็นจริยธรรมนี้กำลังขอความเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งน่าจะออกมาในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 1)

'บิ๊กทิน' ขอวิชา

     จึงเชื่อว่าสาเหตุที่นายพิชิตประกาศถอนตัวไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะความเห็นของกฤษฎีกาไม่ให้ผ่าน ตามที่นายกฯ เศรษฐาส่งเรื่องไปขอความเห็น

     ความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิชิตที่ถูกศาลฎีกาลงโทษจำคุก 6 เดือน ข้อหาละเมิดอำนาจศาล จนถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 หรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่แอบกระซิบกันเองเพื่อเป็นทางลงรักษาหน้าแก่นายพิชิตและพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องสาธารณะที่สังคมควรรับรู้ โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุกต่อมสำนึก ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการแต่งตั้งนายพิชิต จนกลายเป็นประเด็นร้อน นำไปสู่การขอความเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกาในที่สุด

     ผมจึงเรียกร้องให้นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้เสนอเรื่องไปขอความเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกา ช่วยตอบความจริงกับสังคมเถอะครับว่า เรื่องที่ท่านสอบถามความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิชิตว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น สำนักงานกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าเช่นไร นอกจากจะได้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ท่านยังจะได้รับเสียงชื่นชมในฐานะผู้นำที่ให้ความสำคัญกับหลักจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตในการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่งด้วย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้เข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่บ้านพักส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 ก.ย. โดยมาพบและพูดคุยเพื่อขอคำปรึกษา คำแนะนำในงานด้านความมั่นคง ซึ่ง พล.อ.ธรรมรักษ์ก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และอวยพรให้นายสุทินโชคดีมีชัย ทำงานราบรื่น

     นายสุทินกล่าวว่า ได้เดินทางเข้าพบพล.อ.ธรรมรักษ์เพื่อขอคำแนะนำ ท่านได้ให้กำลังใจ ท่านก็ไม่ได้แนะนำอะไรมาก บอกว่าให้ทำตามนโยบายพรรค ให้เกียรติกองทัพ การขับเคลื่อนนโยบายของพรรค ก็ให้ค่อยเป็นค่อยไปก่อนก็ได้ ทำจริงแต่ไม่ต้องเร่งรัด แต่สิ่งไหนที่สามารถเร่งรัดได้ก็เร่งรัดไป พร้อมทั้งให้กำลังใจ ส่วนจะเชิญมาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่นั้น ตนขอดูในระเบียบการก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากตนมีอะไรก็จะปรึกษาท่านอยู่แล้ว

     “นอกจากผมเข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์แล้ว ในวันจันทร์ที่ 4 ก.ย. ผมก็ยังมีนัดกับพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม จากนั้นผมจะขอเข้าพบ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ.และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ตามลำดับ” นายสุทิน กล่าว

     สำหรับนายสุทินและ พล.อ.ธรรมรักษ์ มีความสนิทสนมใกล้ชิดคุ้นเคยกัน ในฐานะที่เคยเป็น สส.นกแล สมัยพรรคไทยรักไทย และเดินสายหาเสียงที่ภาคอีสานด้วยกัน เรียกได้ว่าการพบกันครั้งนี้คือ สนามไชย 1 (นามเรียกขาน รมว.กลาโหม) พบอดีตสนามไชย 1.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง