‘TDRI’เตือนรัฐบาลใหม่ สร้างสมดุลนโยบายศก.

ทีดีอาร์ไอแนะ "ครม.เศรษฐา 1" สร้างสมดุล “เสรีนิยม-รัฐสวัสดิการ-อนุรักษนิยม” ชั่งน้ำหนักนโยบายให้เหมาะสถานการณ์ ลดขนาดเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน เพิ่มให้งบสวัสดิการแทน ภาคเอกชนชงมาตรการเร่งด่วนอัดฉีดพยุงจ้างงาน แก้หนี้-ตรึงดีเซล เครือข่ายวีแฟร์สแกน รมต.คุมกระทรวงด้านสังคมกลับไร้นโยบายสวัสดิการ แนะตัดงบกองทัพจ่ายคนแก่ได้สบาย กระตุ้นเศรษฐกิจไม่แพ้แจก 1 หมื่น

เมื่อวันที่ 3 กันยายน เวลา 10.00 น.  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2566 หัวข้อ "การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ" โดยมีนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย, นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ร่วมเสวนา

นายนณริฏกล่าวว่า แกนการเมืองจะมี 3 มุม คือ เสรีนิยม รัฐสวัสดิการ และอนุรักษนิยม ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากอนุรักษนิยมมาเป็นเสรีนิยม และเกิดนโยบายใหม่ๆ  ที่ต้องมาตกผลึกว่าจะเหมาะสม เกิดผลดีหรือผลเสียกับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา 1 รวมกับ 2 ลุง จะมีทั้งฝ่ายของเสรีนิยม สวัสดิการ และอนุรักษนิยมด้วย ในแง่วิชาการไม่มีถูกผิด ขึ้นอยู่กับว่าเรามีรัฐบาลที่ดีหรือไม่ เช่น เสรีนิยม หากเป็นการเมืองที่ดีอยากจะเห็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีนวัตกรรม ผลักดันประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่อยากเห็นทุนผูกขาดกระจุกตัว ขณะที่รัฐสวัสดิการ อยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาส มีสวัสดิการที่เป็นธรรม มีนโยบายช่วยกลุ่มเปราะบาง แต่ไม่อยากเห็นการแจกเงินโดยไร้ความรับผิดชอบ ไร้จำเป็น และเป็นภาระการคลัง ส่วนสุดท้ายคือสมดุลอนุรักษนิยม ซึ่งไทยมีวัฒนธรรมที่ดี แต่อยากเติบโตแบบโลกยุคใหม่ จึงอยากที่จะอยู่ร่วมกันได้ของสังคม ไม่อยากเห็นการเกรงกลัวต่างชาติเกินไป ปกป้องไม่ลืมหูลืมตา ดังนั้น นับว่าเป็นความท้าทายใหม่ของรัฐบาลที่จะสร้างสมดุลทั้ง 3 รูปแบบนี้ให้อยู่ในรูปแบบการเมืองที่ดี

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจย้อนหลังปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 7.27% หลังจากนั้นตกลงมา 4.8% และตกลงมาเรื่อยๆ กระทั่งหลังโรคโควิด เหลืออยู่ที่ 3% สะท้อนว่าหลังวิกฤต เศรษฐกิจไทยต่ำลง นั่นแปลว่าการทำอะไรแบบเดิมไม่สามารถไปได้ไกล จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องมีมาตรการเสริมเข้ามา อย่างไรก็ตาม ความท้าทายระยะสั้นคือต่อสู้ระหว่างแรงกดดันที่อยากให้รัฐบาลทำตามที่หาเสียง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จึงควรคัดนโยบายที่สำคัญ เหมาะสมกับช่วงระยะเวลา บางนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องทำแล้ว บางนโยบายอาจจะปรับขนาด เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท เรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่ต้องดูว่าในปัจจุบันว่าจะต้องกระตุ้นระดับไหน ซึ่งหากประมาณการว่าควรโต 3.7-3.8% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยโตเพียง 2.8% เท่านั้น แปลว่าหายไป 1% หรือราวๆ 1-2 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นการให้งบ 5.6 แสนล้านบาท อาจจะเยอะเกินไป เสี่ยงเกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นหากตัดบางส่วนมาใช้สำหรับรัฐสวัสดิการเป็นทางออกได้

อีกเรื่องคือแก้ปัญหาหนี้สิน ที่ไม่ใช่การยกหนี้ แต่ต้องมีการจัดกลุ่มหนี้ แล้วแก้ปัญหาหนี้นั้นให้ตรงจุด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลมาร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจการกระจายทรัพยากรเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง ตลอดจนการต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าถึงคนจนจริง และต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ 

ชง รบ.อัดฉีดพยุงจ้างงาน

ด้านนายธนิตกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นตัวเลือกที่เราไม่มีทางเลือก แต่ดีที่สุดในแคนดิเดตทั้งหลาย สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ควรทำให้เห็นผล 3 เดือน ไม่ใช่ออกนโยบายมา 24-25 ข้อ แต่เป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นที่ต้องเร่งสุดคืออัดฉีดเงินในรูปแบบต่างๆ  เพื่อพยุงการจ้างงาน เพราะขณะนี้เริ่มมีการเลิกจ้าง แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจ และมีก้อนใหม่มา ส่วนกระเป๋าเงินดิจิทัล แค่อยากถามว่าจะให้ครั้งเดียวหรือตลอดไป เพราะประชาชนหวังว่าจะได้ทุกปี ต้องตอบให้ชัด ส่วนแรงงาน โดยเฉพาะค่าแรง 600 บาทนั้น ถือว่าหนัก แม้จะใช้กรอบ 4 ปี ถ้าเป็นโรงงานใหญ่ไม่สะเทือน แต่เอสเอ็มอีเจ๊งหมด ดังนั้นควรพิจารณาอย่างพอเหมาะ ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มปริญญาตรี รวมเกษตรกร 30% แล้วจะทำให้เด็กตกงาน แล้วดันเด็กอาชีวะเข้าเรียนปริญญาตรีหมด สุดท้ายเรื่องพลังงาน ดีเซลต้องลดหรือตรึงราคาไม่เกิน 32 บาท เพราะราคาน้ำมันเพิ่ม ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจ “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งเข้ามากับความท้าทาย และมาภายใต้ความคาดหวัง แต่อย่างน้อยเห็นขั้วทั้งหลายมีการจับมือกันแล้ว

รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ  เผยว่า เตรียมจะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ รมว.แรงงาน ในเรื่องหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเชิญนายจ้างมาช่วยสะท้อนปัญหาและความต้องการ และสิ่งที่ต้องทำด้วยกันคือการพัฒนาเจ้าของธุรกิจ ส่งเสริมเทคโนโลยีในการทำงาน มีกองทุนเรื่องนี้ชัดเจนสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ต้องหลุดจากกรอบ 2.0

นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า วิกฤตที่เข้ามาจะมี 3 แบบคือ วิกฤตที่มาจากอดีต วิกฤตในอนาคต และวิกฤตที่รัฐบาลจะสร้างเอง เมื่อดูการศึกษากับแรงงาน ต้องทำทั้งกลุ่มวัยเรียนและกลุ่มวัยทำงานที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันโดยเฉพาะคนที่ทำงานแล้ว 12 ล้านคน ต้องมีการเพิ่มทักษะให้สูงขึ้น ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ไม่อย่างนั้นคนจะตกงานเยอะ แต่ยังไม่เห็นนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนที่ชัดเจนเรื่องนี้ ที่ตนมองว่าต้องทำในกลุ่มนี้ก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่จะทำให้เกิดการขยายจีดีพี ทำให้รัฐบาลมีงบในการสร้างคน ใช้ในด้านต่างๆ ถ้า 1 ปียังไม่เป็นรูปธรรม เกรงว่าจะไม่ทัน นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะเวลาคนลำบาก พ่อแม่ต้องทำงานเยอะ ไม่มีเวลาดูแลลูก ค่าใช้จ่ายไม่พอ ทุพโภชนาการ ( กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ความเหลื่อมล้ำ) ในขณะที่ตลาดแรงานที่ต้องการคนเก่ง คนที่ได้เปรียบคือคนมีฐานะดี ดังนั้นหากไม่ได้แก้เรื่องการศึกษาที่ดี อีก 6-7 ปีจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างใหม่ มีคน 20% ไปต่อได้ แต่จะมีกำลังไม่พออุ้มคน 80% อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอดูการแถลงนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

"ส่วนตัวมองว่าคือการทำเรื่องอาหารอย่างจริงจัง ไปให้สุด เป็นการกินเพื่อชาติ ซึ่งจะไปส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องกลับไปเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทั้งมวล ปรับตัวและสื่อสารเป็นหลักสูตรระยะสั้น พอดีสำหรับการทำงาน เพื่อสะสมความรู้แล้วค่อยรับใบปริญญาในภายหลังก็ได้ ในส่วนของอาชีวศึกษา ต้องถูกอัปเกรดให้มีความรู้ความสามารถที่ทันกับโลกอนาคต หลังจากนี้หลังเด็กจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะไม่ได้เรียนต่อเยอะ หากไม่เตรียมพร้อม คนไทยจะวนอยู่กับการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ลูกหลานก็จนต่อเนื่อง และพยายามอย่าใช้คำว่า “10 อาชีพดาวรุ่ง” เพราะทำให้คนแห่เรียนเยอะ กลายเป็นตกงานแทน ทั้งนี้ การศึกษาจะช่วยได้มากในการแก้ไขความยากจน ซึ่งความจนนี้หากอยู่กับคนแล้วจะอยู่ไป 3 รุ่น หากแก้ความจนคน 1 รุ่นก็จะแก้ไปได้ 100-200 ปี" นายเกียรติอนันต์ระบุ

ส่วนแผนการปฏิรูปการศึกษา ยกมือไหว้เลย ทุกกระทรวงอย่าทำ เพราะที่ผ่านมาเรามีแผนที่ดีอยู่ เราต้องการคนทำงาน วันแรกต้องทำงานเลย เวลาของประเทศไม่มีแล้ว ช่วงฮันนีมูนจบไปตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ตนมองหน้าตารัฐบาลนี้แล้วเห็นว่ามีความเสี่ยง ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถาม ซึ่งภาคประชาชน วิชาการ สื่อ ต้องร่วมกันตั้งคำถาม ตรวจสอบ ส่งเสียง อย่าหวังว่าเขาจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ไม่ดีก็เตือน ขาดก็เสริม สื่อช่วยส่งเสียง และขอย้ำด้วยว่า เรื่องการตรวจสอบต่างๆ นั้น ควรใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน นักการเมืองทุกคนแบบเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติหรือให้เอกสิทธิ์กับนักการเมืองคนไหน จะส่งผลให้คนมีอำนาจเกิดการละอายใจ เราต้องโลกสวย ต้องมีความหวังและกล้าที่จะเปลี่ยน

ศก.ฟื้นแต่ระวังประชานิยม

นายนิติรัตน์กล่าวว่า หากเอางบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทมาเป็นตัวตั้ง เดิมเราเดินสายคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ มี 9 เรื่อง ประกอบด้วยเงินอุดหนุนเด็ก การศึกษาฟรี ระบบสุขภาพ 3 กองทุน ที่อยู่อาศัย แรงงานมีคุณค่า ประกันสังคมครอบคลุม บำนาญถ้วนหน้า สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียม และการปฏิรูปภาษี หากมองรัฐมนตรีที่นั่งคุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแล้วกลับไม่มีนโยบายด้านนี้เลย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรัฐมนตรี เรื่องการพัฒนาเด็กและศูนย์เด็กเล็ก เงินอุดหนุนเด็ก ข้อเสนอของเราไม่ปรากฏนโยบายหาเสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทย ส่วนเรื่องการศึกษา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยดูแล ช่วงท้ายมีการพูดถึงฟรีปริญญาตรี แต่ไม่มีในเอกสารที่ส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่มีนโยบายหลักที่พูดถึงการพัฒนาเรียนฟรี เงินอุดหนุนการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ขณะที่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพรรคเพื่อไทยเข้ามาดูก็บอกว่าจะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ประเทศไทยมี 3 กองทุน ซึ่งบัตรทองและประกันสังคมมีงบรายหัวอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท แต่สิทธิข้าราชการอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีสิทธิเท่ากัน

"สวัสดิการของประชาชนไม่ควรจะตัดไปมากกว่านี้ แล้วถ้าเอางบ 5.6 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลนั้น คิดว่านำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ได้ 20% และควรพูดถึงการปฏิรูปภาษีต่างๆ การปฏิรูปกองทัพ ซึ่งมีงบกว่าแสนล้านล้านบาท หากลดลง 20% จะได้เงินงบกว่า 4  หมื่นล้านบาท ถ้าลดเงินซื้อเรือดำน้ำอีก 3 หมื่นล้านบาท ก็จะมีเงินในเป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุได้นานถึง 1 ปีทันที แล้วถ้ามองว่านโยบายเงินดิจิทัล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว แต่ถ้ามองใหม่ เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท แต่ปรับการให้ปีแรกเป็น 1,000 บาท จากเดิม 600 บาท เท่ากับว่าปรับเพิ่ม 400 บาท แล้วธรรมชาติของผู้สูงอายุเมื่อได้รับเงินแล้วก็มีการใช้จ่ายเลย จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน ที่สำคัญตนมองว่าเรื่องสวัสดิการประชาชนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจริงๆ  ทลายกำแพงระหว่างคนรวยคนจนลงได้" นายนิติรัตน์ระบุ

วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขับเคลื่อนการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองลดลง หากรัฐบาลสามารถบริหารนโยบายได้ตามเป้าหมาย น่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทะลุระดับ 19 ล้านล้านบาทได้ และรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีสูงกว่า 270,000 บาทได้ในช่วงปลายปี 2567 มีอัตราการขยายตัวอย่างต่ำ ระดับ 4.5-5% 

อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังการใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่ได้ยึดถือกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี และไม่ใส่ใจต่อวินัยการเงินการคลัง นอกจากประเทศจะมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท คิดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่  61.69%  แล้ว ในช่วงสองทศวรรษ รัฐบาลต่างๆ  ได้ดำเนินนโยบายกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และรัฐบาลยังคงติดค้างหนี้เงินชดเชยรายได้ธนาคารเฉพาะกิจจำนวนมาก ยอดหนี้สาธารณะนี้มีทั้งภาระผูกพันโดยตรง และภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนมาตรการและนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากทำได้สำเร็จ จะช่วยสร้างรายได้ยั่งยืนให้ประเทศ และจะช่วยลดปัญหาหนี้สินในทุกระดับของประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง