จ้องล้างคดี‘ม.112’ ก.ก.ยื่นร่างพรบ.นิรโทษฯอ้างถอนฟืนจากกองไฟ

"ก้าวไกล" ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ล้างคดี "เหลือง-แดง" พ่วง ม.112 ด้วย แต่ยกเว้น จนท.รัฐสลายการชุมนุมกระทำเกินกว่าเหตุ-ผู้นำรัฐประหาร หวังถอนฟืนออกจากกองไฟ ยุตินิติสงคราม เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรมและความปรองดอง  เชื่อพรรคการเมืองให้ความร่วมมือ “ไอติม" จวกรัฐบาล ไม่ใช่เวลาตั้ง คกก.ประชามติ จี้ตอบยืมมือคนอื่นสร้างความชอบธรรมให้ รบ.กลับจุดยืน "ภูมิธรรม" ยันเป้าหมายรัฐบาลมี รธน.ฉบับใหม่ให้ได้ภายใน 4 ปี

ที่รัฐสภา วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล  (ก.ก.), นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.ของพรรคก้าวไกล ยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ..... ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับ

โดยนายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับนายชัยธวัช ที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรคก้าวไกลให้เป็นผู้นำพรรค และจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านต่อไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ทำหน้าที่ร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ได้รับมานี้ จะนำไปตรวจความเรียบร้อย ทั้งรายชื่อ สส.และระเบียบที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้าพร้อมส่งกลับภายใน 7 วัน

ด้านนายชัยธวัชกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2549 ซึ่งภายหลังก็ได้ลุกลามบานปลายจนในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อมาก็ยังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตลอดระยะเวลาตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรฯ มาจนถึงปัจจุบัน มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ และมีพี่น้องประชาชนจำนวนกว่าหลายพันคนถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงคดีข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างคดีความมั่นคง ซึ่งการดำเนินคดีต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังดำเนินการมาถึงปัจจุบัน และยังไม่มีท่าทีที่จะยุติการดำเนินคดีแต่อย่างใด

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว พรรคก้าวไกลเห็นว่า การจะทำให้สังคมไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข เกิดความสุข ความสามัคคีกันในสังคมได้ พี่น้องประชาชนที่ได้ถูกดำเนินคดี หรือมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ต่างก็มีความเห็นว่า รัฐของเราไม่มีความเคารพความเห็นต่างทางการเมือง ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเห็นว่า เพื่อให้สังคมไทยได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ เราจำเป็นต้องยุติการใช้นิติสงครามต่อพี่น้องประชาชน ให้พี่น้องประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง โดยมีเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้หลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี

“การจะถอนฟืนออกจากกองไฟ ต้องหยุด และยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นการสร้างความยุติธรรม และความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป” นายชัยธวัชกล่าว

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีดังนี้ 1.กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวน และชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.49 หรือวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึงวันที่พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่นิรโทษ จนท.-ผู้นำ รปห.

2.การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งมีการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

3.กลไกในการนิรโทษกรรม กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม โดยในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ชุดนี้ของพรรคก้าวไกล ได้เสนอให้มีจำนวน 9 คน โดยให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) บุคคลที่ สส. เลือกอีก 2 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 1 คน และฝ่ายค้าน 1 คน นอกจากนี้ เพื่อให้มีความรอบคอบมากขึ้น จะมีองค์ประกอบที่มาจากผู้พิพากษา หรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จำนวน 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอในที่ประชุมใหญ่ของประธานศาลฎีกา และมาจากตุลาการ หรืออดีตตุลาการในศาลปกครองอีก 1 คน มาจากพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งต้องมาจากการนำเสนอของศาลปกครองและอัยการเอง และส่วนสุดท้ายคือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

4.กำหนดสิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติ หรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด เพื่อการนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ ให้มีสิทธิ์สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เอง

นายชัยธวัชกล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการคืนชีวิตใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนที่โดนนิติสงคราม เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแสดงออกในทางการเมืองใดๆ แล้วถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตัวเองในการเสริมสร้างบ้านเมืองโดยสันติ ได้รับการกระทบกระเทือน หรือการละเมิด เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ หากพรรคการเมืองต่างๆ มีเจตจำนงร่วมกันที่จะผลักดัน และหากเราพิจารณาให้ดีเราจะพบว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ หรือไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแต่อย่างใด พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เคยมีความขัดแย้งกันในอดีตให้สำเร็จ

“แม้ประชาชนคนไทยอาจจะไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันทั้งหมด แต่ก็เชื่อว่าประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ต่างได้มาแสดงออกทางการเมืองและขัดแย้งกัน โดยยืนอยู่บนพื้นฐานที่ตัวเองอยากจะผลักดันให้สังคมเป็นสังคมที่ดีตามความคิดความเชื่อของตัวเอง ดังนั้น เราเชื่อว่า การยุติการต่อสู้ การยุติการดำเนินคดี การยุตินิติสงครามกับประชาชน ไม่ว่าฝ่ายไหน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยโดยสันติ หันหน้าเข้ามาหากัน เพื่อแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมอีกครั้งในอนาคต”

เมื่อถามว่า การละเว้นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 113 หมายรวมถึงการรัฐประหารใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ใช่ จะไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ส่วนคดีอื่นนอกจากที่ได้ยกเว้นเอาไว้ ก็ต้องอยู่ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการที่จะเสนอให้ตั้งขึ้น เนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มีคดีที่ถูกทำให้เหมือนคดีอาญาปกติจำนวนมาก และถูกนำไปดำเนินคดีกับประชาชนด้วย ดังนั้น อาจมีปัญหาถ้าไประบุฐานความผิดเฉพาะรายมาตรา เพราะบางมาตราอย่างคดีความสะอาด หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) หากจะนิรโทษกรรมทั้งหมด ก็จะมีปัญหา เพราะจะมีทั้งกรณีที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้อง กับความขัดแย้งทางการเมืองด้วย ดังนั้น เราคิดว่าการใช้รูปแบบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมน่าจะดีที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบที่สังคมไทยเคยใช้มาแล้วในปี 2488

อ้าง 6 ตุลานิรโทษคดี 112

เมื่อถามอีกว่า จากกรณีที่เคยมีข้อขัดแย้งในมาตรา 112 กังวลหรือไม่หากนำเรื่องนี้ไปพูดกับพรรคการเมืองอื่นจะไม่สำเร็จเหมือนตอนจัดตั้งรัฐบาล นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เงื่อนไขของการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา จากประสบการณ์ เราได้เคยแลกเปลี่ยนหารือกับคนในพรรคการเมืองหลายพรรค แม้กระทั่งสมาชิกวุฒิสภาหลายคนก็เห็นด้วย เพียงแต่อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียด ในส่วนของกระบวนการว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ สส. และ สว.เท่านั้น แต่เสียงส่วนใหญ่น่าจะเห็นประโยชน์ร่วมกันจากการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง คิดว่าประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป และประชาชนที่เคยสังกัดกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคยมีส่วนร่วมในการแสดงออกและขัดแย้งกันเองนั้น ก็น่าจะยินดีที่จะเริ่มต้นกันใหม่ คิดว่ามีแนวโน้มไปในทางบวก คาดหวังว่าเมื่อเราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ซึ่งเรายินดีหากถ้าพรรคการเมืองต่างๆ เหล่านั้น อาจจะเสนอร่างของตัวเองมาประกบร่างของพรรคก้าวไกลจะได้มีความเห็นร่วมกันในสภา

ส่วนกรณียกเว้นการนิรโทษกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่มีการกระทำที่เกินกว่าเหตุเท่านั้น ถือเป็นหลักการสำคัญที่เราควรจะสนับสนุนหลักนิติรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐควรมีเป้าหมายการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของพี่น้องประชาชน ไม่ควรจะสนับสนุนการกระทำการลอยนวลให้พ้นผิดจากการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชน อีกทั้งอยากย้ำเตือนว่า วันที่ 6 ต.ค.19 รัฐบาลครั้งนั้นได้ทำใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญ จนนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 รวมถึงการออกคำสั่ง 66/23 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ ล้วนแต่เป็นโทษร้ายแรงทั้งสิ้น

เมื่อถามย้ำว่า จะนิรโทษกรรมให้กับคดี 112 ด้วยใช่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ต.ค. ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏ ล้มล้างการปกครอง และเปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัย เพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน เพราะรู้สึกเสียดายที่คณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งตั้งโดยนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ ทำรายงานเสร็จแล้ว แต่เสร็จในปลายสมัย จึงไม่มีโอกาสได้นำเสนอในสภา ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดต่างๆ ก็มีข้อเสนอในลักษณะนี้เช่นเดียวกับในเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายขื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา  กรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ โดยนายพริษฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เวลาของการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯชุดดังกล่าว แต่เป็นเวลาของการตัดสินใจจะเดินหน้าอย่างไร  เพราะเราเคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง และเริ่มต้นทำประชามติ จึงอยากทราบว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่ออะไร ศึกษาเรื่องใด และยืนยันได้หรือไม่ว่าไม่ได้ตั้งมาเพราะว่าไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าตามจุดยืนเดิม แต่ยืมมือคนอื่นสร้างความชอบธรรมให้ยูเทิร์นย้อนจุดยืนเดิมบางส่วน

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากประชาชนหรือบุคคลที่อาจไม่ใช่ประชาชนทั่วไปประสงค์อยากจะเสนอแก้ไขข้อความในหมวด 1-2 ที่ไม่กระทบระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐอย่างแน่นอน รัฐบาลจะอธิบายอย่างไรว่าไม่อนุญาต แม้แต่เสนอความคิดเห็น และขอคำยืนยันว่าตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปจะยกร่างใหม่ทั้งหมดไม่ใช่เพียงการแก้ไขรายมาตรา จะไม่ล็อกระบบรัฐสภาเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบคู่ และรูปแปบการปฏิรูปองค์กรอิสระ รวมถึง ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมดใช่หรือไม่

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้คิดว่าการตั้งคณะกรรมดังกล่าวขึ้นมาจะเป็นการดึงปัญหาให้ล่าช้า ตรงกันข้ามอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จโดยเร็ว เราพยายามหาข้อสรุปที่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องการแก้ไขปัญหาความแตกต่างของสังคม ขณะนี้เราวางหลักการไว้ชัดเจนใน 2 หลักการคือ 1.เราต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุดเสร็จสิ้นภายใน 4 ปี ซึ่งคณะกรรมการจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาน้อยที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะการทำมาประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3-4 พันล้านบาท ยิ่งทำมากก็เหมือนจัดเลือกตั้ง ตนคิดว่าไม่ควรเสียงบประมาณมากขนาดนั้น จึงจะหาลู่ทางว่าทำเพียง 2 ครั้งก็พอแล้ว แต่ถ้าดูตามกฎระเบียบอาจต้องทำ 3-4 ครั้ง อยู่ที่การตีความแตกต่างกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง