อิ๊งค์ลั่นไม่ถอยดิจิทัลแต่ขอให้รอหน่อย

"คลัง" โหมแก้หนี้ครัวเรือน สั่งออมสินรับเป็นเจ้าภาพ เล็งดันแบงก์พาณิชย์เข้าร่วมปั้น AMC เพื่อไทยตีปี๊บยกดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฟุ้งหนักนโยบายพาคนไทยหายจน ไม่มีชนักหนี้ติดหลัง ด้านอุ๊งอิ๊งไม่มีถอย บอกศึกษามาดีแล้วขอให้รอหน่อย ขณะที่ กมธ.เศรษฐกิจฯ ยังไม่ปล่อยผี เบรกเอี๊ยดไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก อึ้งหนักยังงมหาที่มาเงินไม่เจอ

เมื่อวันศุกร์ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน FIS&FIN FORUM 2023 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า กระทรวงการคลังจะเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.7 ล้านรายแล้ว โดยหลังจากนี้ได้ให้นโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เร่งช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยดำเนินการทั้งลูกหนี้ดีและลูกหนี้เสียทั้งระบบ ทั้งนี้ ในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารออมสิน ที่ผ่านมาได้สั่งการให้ช่วยดูแลลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดี ต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้สามารถลดต้นได้มากขึ้น

"ขณะที่ลูกหนี้เสีย อยากผลักดันให้ทุกสถาบันการเงิน ทั้ง SFIs และธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยแก้ไข โดยมีแนวคิดให้นำหนี้เสียมารวมไว้ในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะดำเนินการคล้ายธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) แต่ครั้งนี้มีความตั้งใจจะให้ธนาคารออมสินรับเป็นเจ้าภาพ การแก้ไขปัญหาหนี้เสียจะต้องไม่คิดถึงในเรื่องของกำไรและขาดทุน โดยต้องช่วยกันบริหารเพื่อความรวดเร็ว จึงต้องรวมหนี้ทั้งหมดมาแก้ไข เพื่อให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปรับลดลง ในส่วนของแบงก์รัฐ หากเป็นไปได้ก็อยากให้รวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งลักษณะดังกล่าวเคยดำเนินการแล้วเมื่อวิกฤตปี 2540 ผ่าน AMC ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ธนาคารออมสินดำเนินเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) กับกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินก่อน ซึ่งขณะนี้คาดว่าธนาคารอยู่ระหว่างทำแผนการดำเนินการดังกล่าว" นายกฤษฎาระบุ

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินพร้อมรับนโยบายเพื่อดำเนินการรับบริหารจัดการหนี้ ซึ่งในเบื้องต้นนั้นจะดำเนินการกับหนี้ของธนาคารออมสินก่อนที่จะขยายไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ ส่วนกระบวนการจัดตั้ง AMC นั้น อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป สำหรับประโยชน์ของ AMC โดยเฉพาะกับลูกหนี้ ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวในการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ได้คล่องตัว หลุดจากเครดิตไม่ดีได้เร็ว ลดหนี้ได้เร็ว โดยขั้นต้นจะทำกับลูกหนี้ออมสินก่อนและขยายต่อไป โดยมองว่าหนี้ที่ใหญ่ก็จะเล็กลง และนำไปสู่การแก้หนี้ครัวเรือนไปด้วย" นายวิทัยกล่าว

เมื่อวันศุกร์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยสมาชิกอภิปรายญัตติการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่เสนอโดยนายอนุชา บูรพชัยศรี พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนญัตติซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนขยายตัว 11.5% คิดเป็นมูลค่าหนี้ต่อครอบครัว 559,000 บาทต่อครัวเรือน 80% เป็นหนี้ในระบบ และ 20% เป็นหนี้นอกระบบ

"โดยหนี้ครัวเรือนมียอด 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90% ของจีดีพีในประเทศไทย อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และไม่ใช่เพียงหนี้ครัวเรือน แต่ยังพบว่าหนี้ภาครัฐก็สูงเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ผมเห็นใจรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศครบ 1 เดือน เพราะต้องเข้ามารับโจทย์ใหญ่ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาได้” นายกิตติศักดิ์กล่าว

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า สถาบันการเงินต้องช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาหนี้สิน รัฐบาลต้องดูแลนายทุนเงินกู้ไม่ให้ซ้ำเติมประชาชน และต้องเพิ่มรายได้ เช่น การยกราคาสินค้าทางการเกษตร ทำให้พ่อค้าในตลาดสามารถขายของได้ เกิดการจ้างงาน โรงงานผลิตของเพิ่ม ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณมาทำโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

"รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั้งระบบ ขอให้กำลังใจรัฐบาลที่ต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้แล้วเศรษฐกิจจะดี และหวังว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้น้อยไปสู่รายได้ปานกลาง หรือรายได้มาก และให้ประชาชนหมดหนี้สินและตั้งตัวได้" นายกิตติศักดิ์ระบุ

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า เราต้องทำให้มั่นคงก่อน จริงๆ เมื่อเราเสนอนโยบาย เราก็ศึกษามาพอสมควร แต่แน่นอนว่าในขั้นตอนปฏิบัติจะมีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังหาคำตอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ฉะนั้นก็ขอให้อดใจกันหน่อย

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากนโยบายดังกล่าวจะล่าช้าเกินไปกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องทำอย่างแน่นอน เพราะเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวถามถึงแหล่งที่มาของเงินที่ยังไม่มีความชัดเจน นายเกรียงไกรระบุว่า ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินนั้น รัฐบาลจะมีวิธีการหาเงินจากแหล่งเงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เชื่อว่ารัฐบาลจะฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและนำมาปรับใช้อย่างแน่นอน

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณานโยบายของรัฐบาล แจกเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชน ซึ่งมี 3 หน่วยงานที่มาชี้แจง แต่มี 2 หน่วยงานที่มีความชัดเจน คือ 1.ผู้แทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการติดตามโครงการดังกล่าวของรัฐบาล โดยจะเชิญผู้ที่มีความรู้มาร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย

"2.ผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ข้อมูลชัดเจนว่า จากการคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศในปีนี้จะโตประมาณ 2.8 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2567 จะโตประมาณ 4.4 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แม้ไม่มีการแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาท และหากมีการแจกเงินก็จะมีผลในการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น และจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มาก" นายจุรินทร์ระบุ

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ขณะที่ผู้แทนของกระทรวงการคลังยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อคำถาม 2 ข้อที่ตนเองถามคือ 1.จะทำอย่างไร และ 2.จะเอาเงินมาจากไหน โดยผู้แทนของกระทรวงการคลังตอบเพียงว่าจะทำให้ถูกกฎหมาย และจะไม่ใช้เงินที่ผิดวินัยการเงินการคลัง ขณะเดียวกันยอมรับว่าหน่วยราชการส่วนใหญ่ที่มาให้ความเห็นกับกระทรวงการคลังนั้น อยากให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วเป็นเครื่องมือในการจ่ายเงิน ซึ่งหมายความว่าจนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนทั้ง 2 เรื่อง จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ รมช.การคลังได้แถลงเลื่อนกำหนดการเริ่มโครงการนี้ออกไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง