ตั้ง‘สุภา’ปธ.สอบดิจิทัล ผนึกกก.ชุดดรีมทีมชงปปช./‘จุลพันธ์’หนุนตัดรายได้เกิน5หมื่น

รัฐบาลมีสะดุ้ง! ป.ป.ช.ชงตั้ง "สุภา" เจ้าของฉายามือปราบจำนำข้าว นั่งประธานศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต "เศรษฐา" ยังกั๊กเกณฑ์แจกเงินหมื่น  บอกไม่อยากพูดหวั่น ปชช.สับสน รอตอบภาพรวมทีเดียว เริ่มชักน้ำเสียงหลังถูกสื่อซักเป้าหมายลดลงจะตอบสังคมอย่างไร   "จุลพันธ์" หนุนตัดกลุ่มรายได้เกิน 5 หมื่น  ไม่เห็นด้วยแจกแค่กลุ่มเปราะบาง "ศิริกัญญา" ชี้รัฐถอยไม่แจกคนรวย สะท้อนงบประมาณไม่เพียงพอ เตือนหากออก พ.ร.ก.เงินกู้เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)   วันที่ 26 ต.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล  เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้กำลังรอ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ  ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริตเสนอ 

นายนิวัติไชยกล่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวที่เสนอขึ้นไป ประกอบด้วย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นรองประธาน ขณะที่กรรมการ ได้แก่ นายมนตรี โสคติยานุรักษ์, นางสิริลักษณา คอมันตร์, นางอัจนา ไวความดี, นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้แทน,  อัยการสูงสุด หรือผู้แทน, เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือผู้แทน, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือผู้แทน, เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้แทน, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน, เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน, ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ หรือผู้แทน, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน, คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,   คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ, นางสาวภาณี เอี้ยวสกุล, นายสุทธินันท์ สาริมาน, เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม โดยมีผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต เป็นกรรมการและเลขานุการ

"คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมและดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต เสนอความเห็นเพื่อให้มีการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หน่วยงานภายนอกและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการคณะนี้กำหนดและเห็นสมควร รวมถึงดำเนินการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต" เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เคยถูกตั้งฉายาจากสื่อว่าเป็นมือปราบจำนำข้าว เนื่องจากอดีตเคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะมีการประชุมสัปดาห์หน้าหรือไม่ว่า ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา

เศรษฐายังกั๊กเกณฑ์เงินหมื่น

ถามว่า ได้รับทราบกรณีที่อนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตกำหนดหลักเกณฑ์ตัดสิทธิผู้ได้รับเงิน 1 หมื่นบาท 3 รูปแบบแล้วหรือยัง นายเศรษฐากล่าวว่า ได้เห็นแล้ว เมื่อถามย้ำว่า ใน 3 แนวทางที่ออกมาจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตอนนี้เรารับฟังข้อคิดเห็น ยังไม่อยากพูดให้เกิดเป็นประเด็นแตกย่อยเล็กๆ ไม่อยากออกมาตอบข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 7 ขอให้มีคำตอบทั้งหมดก่อน

"ยืนยันว่ามีการพูดคุยกันตลอด วันนี้ก็จะมีการพูดคุยกับเลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหลายๆ ภาคส่วนด้วย ขอให้คอยนิดนึง ผมไม่อยากพูดแบบแตกย่อยแต่ละข้อๆ เดี๋ยวประชาชนสับสน เพราะการที่จะตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ต้องพูดในองค์รวมทั้งหมด จะได้ทราบถึงความต้องการจริงๆ ทั้งผลกระทบทางด้านงบประมาณ และตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามว่า แต่ละวิธีที่ออกมาจะต้องมีการสอบถามประชาชนก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สอบถามอยู่แล้ว ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็มีการสอบถามอยู่แล้ว ตนก็ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

ซักว่าเป้าหมายมีการลดลงมาแบบนี้จะตอบสังคมอย่างไร นายเศรษฐาได้ชักน้ำเสียงพร้อมระบุว่า “เนี่ย เห็นไหม ยังไม่ตอบเลยว่าจะลดอะไรอย่างไร คุณก็ถามแล้ว ผมไม่ได้บอกเลยว่าผมจะลด ยังไม่ได้บอกเลยว่าจะไม่ให้ จะเอาอย่างไรยังไม่ได้บอกเลย ผมไม่อยากให้เกิดความสับสน อยากจะตอบต้องตอบให้หมด”  

ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวว่า ได้พบกับนายกรัฐมนตรีในช่วงตอบกระทู้ที่สภา ได้เดินไปพูดคุยและรายงานความคืบหน้าผลสรุปคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา  ที่กำหนดกรอบการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต  โดยนายกรัฐมนตรีเพียงแต่ตบบ่าให้กำลังใจ ไม่ได้พูดอะไรและยิ้มให้ ซึ่งยอมรับว่าเมื่อเป็นนักการเมืองก็ย่อมต้องเจอสถานการณ์แบบนี้

"ยืนยันว่าไม่หนักใจ เข้าใจ ไม่มีปัญหา เพราะต้องรับฟังเสียงให้รอบด้าน และขอชี้แจงว่าข้อสรุปจากการหารือชั้นคณะอนุกรรมการฯ ในการตัดกลุ่มผู้ได้สิทธิ์ ถือว่ายังไม่เป็นที่สิ้นสุด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งตามมติคณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายเศรษฐาเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมสัปดาห์หน้า" นายจุลพันธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3 ทางเลือกที่คณะอนุกรรมการฯ ออกมาเมื่อวันที่ 25 ต.ค.นั้น คือ 1.ให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท 2.ตัดกลุ่มผู้มีรายได้โดยวัดจากการยื่นแบบเสียภาษี เฉลี่ยเกิน 25,000 บาทต่อเดือน และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท และ 3.ตัดกลุ่มผู้มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

นายจุลพันธ์กล่าวว่า การคัดกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์เป็นการมองปัญหาที่แตกต่างกันของคณะอนุกรรมการฯ โดยฝั่งรัฐบาลมองว่ามีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากยังโตไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนยังมีความเดือดร้อน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองว่าควรดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจและการบริโภคฟื้นตัวแล้ว

หนุนตัดรายได้เกิน 5 หมื่น

"ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ไม่เห็นด้วยที่จะดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่ก็เห็นว่าควรตัดกลุ่มผู้มีรายได้ที่ได้เงินไปแล้ว แต่ไม่เกิดการใช้จ่าย ดังนั้นทางเลือกที่มีรายได้เกิน 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท น่าจะมีความเหมาะสมที่สุด ยอมรับได้ และยังพอเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทาง ธปท.และสภาพัฒน์ได้เสนอให้ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ส่วนกรณีตัดคนมีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน เงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาทว่าเป็นคนรวยนั้น ผมก็ได้ท้วงติงไปว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มชนชั้นกลางก็ลำบาก ตึงมานานจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ตกต่ำ มีวิกฤตโควิด-19 อีก ทำให้การฟื้นตัวไม่สมบูรณ์ ประเทศโตไม่เต็มศักยภาพ คนกลุ่มนี้ลำบาก หากเม็ดเงินลงไปในคนกลุ่มนี้ด้วยก็จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ นี่เป็นมุมมองของผม” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.การคลังกล่าวว่า รัฐบาลยืนยันวัตถุประสงค์ของโครงการยังต้องเป็นไปตามที่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีบางหน่วยงานยืนกรานว่าควรจะเปลี่ยนเป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก็ตาม เพราะรัฐบาลยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังโตไม่เต็มศักยภาพ ประชาชนยังเดือดร้อน การกระตุ้นภาพใหญ่ยังสำคัญ ดังนั้นหากลงไปที่กลุ่มเปราะบางอย่างเดียววงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ไม่ได้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ต้องการ ถ้าการกระตุ้นไม่ใหญ่เพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของจีดีพี ก็จะไม่มีนัยที่จะดึงให้เศรษฐกิจกระเตื้องได้

ถามว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่ เป็นการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหรือไม่ รมช.การคลัง กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าเปลี่ยนเป็นการบรรเทากลุ่มเปราะบาง ยืนยันเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนกรอบการทำงานจะมากน้อย ถ้าบรรลุวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่รับได้

 “เราพูดคุยกันมาหลายครั้งว่าหากจำเป็นต้องตัดคนรวยก็ต้องหาข้อตกลงที่มีความเหมาะสม ชี้วัดได้ ให้ไปพิจารณาจากถือครองที่ดิน หรือวัดจากสินทรัพย์ก็เป็นเรื่องยาก หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติออกมาก็ดีอย่าง เมื่อคืนมีเสียงตอบรับจากประชาชนดังมาก เดิมที่มีแต่ความเห็นจากนักวิชาการและประชาชนบางส่วนจากการลงพื้นที่ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนต้องการเงิน 10,000 บาทหรือไม่ แต่เมื่อวานเสียงดังมาก เห็นชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่รอนโยบายนี้” รมช.การคลังกล่าว

ถามถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการกรณีที่หากจัดทำเป็นงบผูกพัน 4 ปี นายจุลพันธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้สอบถามทางสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ได้รับการยืนยันว่าตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงบประมาณไม่มีปัญหา แต่คงต้องค่อยๆ มาดูกันในรายละเอียดอื่นๆ อีกที โดยยังยืนยันชัดเจนว่าการดำเนินการทั้งหมดต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ไม่จ่ายคนรวยไม่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียหาย เป็นการปรับไปตามเสียงเรียกร้อง และหากถูกต้องถือเป็นเรื่องดีกว่าไม่ทำอะไร หรือดื้อดึงไปก็ไม่มีประโยชน์

 “ที่หาเสียงไว้ไม่ใช่ทำไม่ได้ ทำได้ แต่บางคนไม่ประสงค์จะรับหรือประสงค์จะรับมันก็แตกต่างออกไปในประเด็นย่อย  แต่ในประเด็นหลักทำได้ก็เก่งมากแล้ว"  นายสมศักดิ์กล่าว

 ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจจะไม่ได้ครบทุกคนว่า  ปัญหาสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ที่คัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะเป็น 1.คนที่มีเงินเดือน 25,000 บาทขึ้นไป 2.เงินเดือนเกิน 50,000 บาทขึ้นไป 3.ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการอย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ แต่ถึงแม้จะพยายามลดจำนวนลงแล้ว แต่ยังพบว่ามีคนที่จะต้องได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย

ชี้ออก พรก.เงินกู้ฆ่าตัวตาย

"ยังมีข้อเสนอว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ยิ่งชัดเจนว่าหลังจากคำนวณแล้ว แสดงว่างบปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และหากต้องผูกพันไป 4 ปี เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนที่จะไม่ได้เงินสดในทันที แต่ต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณ ซึ่งจะกระทบกับร้านค้า เพราะหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตัวเองก็จะไม่มีแรงจูงใจมากพอ และจะไม่เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยซ้ำ เป็นการตอกย้ำกับสิ่งที่เคยพูดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐหรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ คือเรื่องของงบประมาณและที่มาที่จะต้องใช้ในครั้งนี้" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ถามว่า การปรับหลักเกณฑ์จะทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับเงินลดลงไปสะท้อนอะไรได้บ้าง รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า หากใช้เกณฑ์แรกจะลดลงไปแค่ 13 ล้านคน หากใช้เกณฑ์ที่สองจะลดไปแค่ 7 ล้านคน ดังนั้นการปรับหลักเกณฑ์เหล่านี้อาจจะไม่ช่วยอะไรมากนักในแง่ประหยัดงบประมาณลง เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้าปรับไปใช้ทางเลือกที่สาม คือใช้เกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ แต่เป็นการประคับประคองค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน เป็นการเปลี่ยนรูปแบบ วัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับอย่างชัดเจน

"ถ้าจะคงรูปแบบเป็นแค่การแจกเงินไว้แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด ก็ควรจะต้องมีการทบทวน เข้าใจดีว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถบอกได้อย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาเรื่องอะไร ก็คิดว่าประชาชนจะเข้าใจได้ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่ คืองบประมาณ" รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าว

เมื่อถามว่า คำว่าทบทวนหมายถึงยกเลิกโครงการนี้ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนวิธีการมากกว่า  เข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้ให้ผู้สนับสนุนก็สำคัญเช่นกัน แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เราก็มีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง

ถามว่าสุดท้ายโครงการนี้จะกลับไปเป็นเหมือนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ แต่งบประมาณที่นำไปทบทวนกับแต่ละหน่วยงานของรัฐนั้น เขาทำกันเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้นสำนักงบฯ มีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าสามารถตัดลดหรือเกลี่ยงบประมาณของปี 67 ได้เท่าไหร่ ซึ่งปรากฏว่าได้แค่ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าจะไม่ทำประมาณผูกพันข้ามปี ทางออกทางเดียวคือให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ  เป็นเพียงแค่การเยียวยาค่าครองชีพ ต้องบอกรัฐบาลว่าต้องทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างจริงจัง อย่ายึดติดที่รูปแบบ แต่ให้ดูที่เป้าหมายว่าอยากได้ผลลัพธ์อะไร และออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า

ถามว่า มองอย่างไรหากรัฐบาลเลิกใช้วิธีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉินเป็นหนทางสุดท้าย น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในทางเทคนิคการออก พ.ร.ก.เงินกู้เหมือนช่วงวิกฤตโควิด ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้นเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.จะออกได้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับว่าการออก พ.ร.ก.เงินกู้ขณะนี้ ที่ไม่ได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้นก็ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน

 “เตือนไว้ว่าถ้าออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้เมื่อไหร่ นี่อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานในการประชุม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรี ถึงการให้ความสำคัญตอบกระทู้ในสภาและการเดินทางไปต่างประเทศ

นายเศรษฐาซึ่งเข้ามาตอบกระทู้ระบุว่า ตนให้เกียรติสภาเสมอ หากไม่ติดภารกิจจำเป็นตนจะพยายามเข้ามาตอบกระทู้และข้อสงสัยของสมาชิก ช่วงที่ผ่านมาได้ไปเยือนในหลายประเทศ เป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องจากเมื่อเดือน ก.ย. ในการประชุม UNGA และมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำ รวมถึงบริษัทเอกชนใหญ่ๆ เพื่อเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย

 “เราไปประกาศว่าประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมแล้ว เวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะมาลงทุนในประเทศไทย” นายเศรษฐากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง