สว.ขวางแก้รธน.ชี้ทำแตกแยก

กมธ.การเมือง วุฒิฯ ประชุมร่วมอนุ กก.ประชามติแก้ รธน. “นิกร” จ่อหารือ “ก้าวไกล” ต้นเดือนพ.ย. ก่อนเดินสายฟังความเห็นทั่วประเทศ "จเด็จ” สงสัยแก้ รธน.แล้ว ปชช.ได้ประโยชน์อะไร ชี้มีแต่จะสร้างความแตกแยกเพิ่ม ยิ่งทำประชามติ-ตั้ง ส.ส.ร.ยิ่งเสียงบฯ เผย สว.ค่อนสภาไม่เอาด้วย ฟันธงไปไม่ถึงประชามติ

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยนายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า มาร่วมประชุมเพื่อนำคำถามที่ตั้งเป็นตุ๊กตามาให้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา และขอให้ร่วมกันตั้งคำถามเพื่อไปถาม สว.ทั้งหมด เนื่องจาก สว.มีส่วนในการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ทราบแนวทางว่าถ้าส่งมาแล้วจะรับหรือไม่ โดยหลังจากนี้ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภาจะได้ส่งคำถามไปให้ จากนั้นจะรวบรวมสรุปออกมา และในวันที่ 2 พ.ย.นี้ จะหารือกับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งจะมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน แต่ความเห็นของทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรน้ำหนักจะต่างกัน และอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องไปพูดคุยคือพรรคก้าวไกล เพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้ เพื่อฟังความเห็นตรงที่ไม่เห็นด้วยและหาแนวทางคลี่คลาย

นายนิกรกล่าวต่อว่า ในวันที่ 8 พ.ย.นี้จะมีการรับฟังเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำเป็นโฟกัสกรุ๊ป โดยจะมีนายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญร่วมรับฟังด้วย หลังจากนั้นจะเดินสายรับฟังความเห็นแต่ละภาค รับฟังเกษตรกร และชาวชนบทที่ภาคอีสาน จ.สกลนคร จากนั้นไปภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ฟังความเห็นเมืองท่องเที่ยวและชาติพันธุ์ จากนั้นจะไปภาคตะวันออก ในมุมมองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรม สุดท้ายวันที่ 7 ธ.ค. 66 จะลงไปฟังความเห็นพี่น้องชาวมุสลิมและเขตชายแดนที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อได้ความคิดเห็นครบทั้งหมดแล้ว ก็จะมีการสรุปในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. และคงได้ข้อสรุปจากคณะใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ และต้นปี 2567 ก็จะเสนอให้รัฐบาลได้

 “สำหรับคำถามที่จะถามประชาชนต้องเป็นคำถามที่ง่ายๆ และชัดเจน แต่คำถามที่ว่าก็คงไม่ได้บอกว่าแก้มาตราไหน เพราะไม่ใช่หน้าที่ อย่างไรก็ตาม คำถามในมุมประชาชนจะถามว่าท่านจะแก้หรือไม่ แก้ในส่วนไหน จะได้เอาเหตุผลในการแก้มารวบรวมตรงนี้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการ แต่เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.ที่จะทำ ส่วนที่เป็นประเด็นที่ ส.ส.ร.มาจากไหน ก็ไม่ใช่เรื่องที่คณะกรรมการชุดนี้จะเคาะ เพราะเป็นเรื่องที่คณะ กมธ.ที่จะตั้งในวาระที่ 1 จะต้องเป็นคนคิด” นายนิกรกล่าว

ส่วนการพูดคุยกับ สว.ที่บางคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และควรแก้บางมาตรานั้น นายนิกร กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองและฝ่ายรัฐบาลที่เลือกจะแก้ทั้งฉบับ โดยเว้นหมวด 1 และ 2 เราอยากให้รัฐธรรมนูญชุดนี้เป็นของประชาชน การแก้เพียงรายมาตราไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้นการมี ส.ส.ร.คือการให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ นี่คือความแตกต่าง ไม่ใช่แก้ไม่ได้ เพราะหลักการไม่ใช่หลักการในตัวมาตรา แต่เป็นหลักของรัฐธรรมนูญที่ควรจะมาจากไหน ซึ่งส่วนนี้จะต้องทำความเข้าใจ เราไม่ใช่จะแก้ 200-300 มาตรา แต่ถ้าเราแก้หลายจุดมาตราจะเคลื่อน แต่ถ้าแก้เป็นรายมาตรา มาตราจะล็อกแก้ยาก

ด้านนายจเด็จ อินสว่าง สว. ในฐานะรองประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรับฟังความเห็นในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กำลังรับฟังกันอยู่ แต่ในมุมมองของตน คำถามหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดให้ประชาชนทราบว่า จะแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม แก้แล้วได้ประโยชน์อะไร ที่ตนพูดไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วย แต่ช่วยไตร่ตรองให้ดีว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนก็ควรทำ หากแก้แล้วประชาชนมีงานทำมากขึ้น มีความสมดุลของรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ตนว่าก็ควรแก้ แต่ยังไม่เห็นประโยชน์ เป็นการแก้เอามัน ไม่ได้แก้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ยังไม่ต้องเร่งทำ หากกังวลเรื่องอำนาจ สว.ชุดนี้ก็จะหมดลงในเดือน พ.ค. 2567 ไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้ ตรงกันข้ามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดการถกเถียง แสดงความเห็นต่าง ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อคนในชาติ ที่สำคัญประชาชน ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันหลักของชาติได้อะไรขึ้นมา ซึ่งขณะนี้พวกเราอยู่กันอย่างมีความสุขแล้ว

"ตั้งแต่พรรคการเมืองประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร แก้เพื่ออะไร ยิ่งไปตั้ง ส.ส.ร. และทำประชามติ ยิ่งทำให้เปลืองงบประมาณมากมาย ลองคิดให้ดีๆ ส่วนทางออกผมมองว่าเราก็ต้องมีการพูดคุย หามุมมองกัน ผมว่าในที่สุดแล้วก็คงไปไม่ถึงทำประชามติเพื่อยกร่างใหม่" นายเจด็จกล่าวถึงกรณีบางพรรคการเมืองได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียง และจะสรรหา ส.ส.ร.มายกร่าง  จะมีข้อเสนอแนะอย่างไร

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าที่มารัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำรัฐประหาร จึงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายจเด็จกล่าวว่า ก็พูดวนอยู่อย่างนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการทำรัฐประหาร แต่ก็มาจากการทำประชามติ รับฟังความคิดเห็นประชาชนเช่นกัน ประชาชนก็ได้แต่นั่งมองว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อไหร่ประชาชนจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่านี้ในหลายๆ ด้าน พูดกันตรงนี้ดีกว่า

เมื่อถามต่อว่า หากเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ตนจะดูว่าเขาจะยังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจะแก้เป็นรายมาตรา ก็จะอภิปรายว่าในแต่ละมาตราที่จะแก้นั้นเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ หากแก้ทั้งฉบับตนก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนมี สว.คนอื่นๆ คิดเช่นเดียวกับตนด้วยหรือไม่นั้น ก็ค่อนสภาฯ ที่คิดแบบนี้

เมื่อถามว่า แม้จะยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 สว.ก็ยังคงไม่เห็นด้วยใช่หรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ต้องดูอีกที เพราะหมวด 1 และหมวด 2 มีกว่า 38 มาตรา ซึ่งหลีกเลี่ยงยาก มีหลายอย่างที่ควรคำนึงให้มาก และที่สำคัญคือ ประชาชนได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาจากการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง