นายกฯฟุ้งกลางเวที‘เอเปก’ ถึงเวลาเข้ามาลงทุนในไทย

นายกฯ ปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก ย้ำถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ชูสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม ฟุ้งแจกเงินหมื่นจะยกระดับการรับรู้และทักษะคนไทยด้านดิจิทัลด้วย เผยชวน TikTok  เปิดศูนย์เทรนใช้งานแพลตฟอร์มในไทย  เตรียมหารือ "จัสติน ทรูโด" คนที่ใส่ถุงเท้าสวยๆ และ "โจ ไบเดน "

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ Summit Hall ศูนย์การประชุม Moscone Center (West) นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปก (APEC CEO Summit 2023) ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจําปี 2566

นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นการกล่าวปาฐกถาด้วยการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย โดยเน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ดังนี้ ด้านความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งผู้นำเอเปกทุกคนได้นำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นอย่างมาก และไทยยินดีที่ได้มีบทบาทนำต่อเอกสารสำคัญฉบับนี้ ซึ่งในปีนี้ สหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพเอเปก ได้สานต่อ ทำให้การบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จและมีความสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตัว BCG Pledge โดย ABAC ซึ่งกระตุ้นให้ทุกบริษัทต้องลงนามและมีส่วนร่วม รวมทั้งยินดีที่ได้ทราบว่า NCAPEC (National Center for APEC) ได้จัดการประชุม Sustainable Future Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย พร้อมหวังว่าจะมีความก้าวหน้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

นายเศรษฐากล่าวว่า ทั้งนี้ไทยมีความภาคภูมิใจในความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความยั่งยืน ซึ่งปี 2566 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index ที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป้าหมายคือการสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด นอกจากนี้ จะปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดังกล่าว เช่น การให้สิทธิพิเศษการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ หลักสูตรการพัฒนาแรงงาน และการขยายโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เป็นต้น

นายเศรษฐากล่าวว่า โดยในประเทศไทย รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุนและแรงงานที่มีทักษะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล

นายกฯ เผยว่า ไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาห่วงโซ่อุปทานให้เปิดกว้างและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อทางกายภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจของเรา นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ และกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

เวลา 15.00 น. ณ โรงแรมนิกโก ซานฟรานซิสโก นายเศรษฐาพบหารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นที่เป็นประโยชน์และสนใจร่วมกัน โดยนายกฯ  ยืนยันว่าไทยพร้อมดูแลภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปญี่ปุ่นในไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ควบคู่กับการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตยานยนต์สันดาป ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทาง โดยหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่นโดยตรง

ทั้งนี้ ไทยมุ่งเน้นเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยไทยมีโครงการ Landbridge เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงอยากเชิญญี่ปุ่นมาร่วมมือในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาค โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงด้านความมั่นคง ซึ่งยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิดภายใต้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ

นายกฯ ยังบอกว่า ในระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังพูดคุยอีกหลายเรื่อง เช่น การฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงและเห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นต้องขอ เพื่อให้นักธุรกิจติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สองฝ่ายเห็นตรงกัน

นายเศรษฐากล่าวถึงการพบกับผู้บริหาร TikTok ว่า ทางผู้บริหารเดินทางมาพบเอง ซึ่งไม่แปลกใจ เพราะในประเทศไทยมีผู้ใช้งาน 43 ล้านคน ถือว่าสูงมาก เพราะทุกคนนิยมลงใน TikTok จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่เราจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เขาได้ประกอบธุรกิจที่ดี ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยเหมือนกัน เช่น เรื่องของโอท็อป รวมถึงซอฟต์เพาเวอร์ด้านอื่นของไทย โดยขอให้มาสร้างศูนย์ฝึกอบรมในไทยเพื่อคำแนะนำในการเล่นโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจ ซึ่งทาง TikTok ให้ความสนใจ

นายกฯ เผยว่า ภารกิจในวันที่ 16 พ.ย. (ตามเวลาสหรัฐ) จะพบกับนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา คนที่ใส่ถุงเท้าสวยๆ หล่อด้วย เคยมาไทย ซึ่งต้องไปรับฟังความเห็นก่อน รวมทั้งพบหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เกี่ยวกับการค้าและการท่องเที่ยว และหารือกับประธานาธิบดีเปรู รวมถึงรับประทานอาหารค่ำร่วมกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะหารือในหลายประเด็น รวมไปถึงการพบกับนางกีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เป็นสุภาพสตรีที่เก่งและเข้าใจธุรกิจการค้าการลงทุนเป็นอย่างดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง