ฉีดวัคซีนทะลุ100ล.โดส ‘บิ๊กตู่’ลั่นเอาโอมิครอนอยู่ หญิงไทยติดในปท.คนแรก

“ประยุทธ์” โพสต์เฟซบุ๊กปลื้ม ไทยฉีดวัคซีนทะลุ 100  ล้านโดส ทำเรื่องเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ มั่นใจเอา “โอมิครอน” อยู่ หลังมีประสบการณ์และความร่วมมือ 2 ปีที่ผ่านมา “อนุทิน” เตรียมชงมาตรการเข้มหลังไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำติดเชื้อแล้ว 63 ราย และมีหญิงไทยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศจากสามีแล้ว “ศบค.” แจงยิบ ชี้ภาพรวมผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศขยับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะระบบ  Test&Go กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะทบทวนหลังโอมิครอนเพิ่มขึ้นกว่า 3% จากสัปดาห์ที่แล้วมีไม่ถึง 1%

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเพจประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "ประเทศไทยต้องชนะเป็นเป้าหมายสูงสุดในสงครามโควิดที่เราชาวไทยได้ร่วมมือกันต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ โดยในวันที่ 20  ธ.ค.ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่เราบรรลุเป้าหมายสำคัญ คือสามารถฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องชาวไทยทะลุยอด 100 ล้านโดสได้สำเร็จภายในปี 2564  ตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้

เมื่อรัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายนี้ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่วันนี้เราสามารถทำภารกิจที่เหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ซึ่งเป็นการพิสูจน์คำกล่าวอีกครั้งที่ว่า  หากคนไทยร่วมแรงร่วมใจทำอะไรแล้ว จะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้นเป็นไปได้”

นายกฯ โพสต์อีกว่า "มีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าหลังจากผ่านมา 2 ปี รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวมทั้งหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ มีความพร้อมมากยิ่งกว่าเดิมในการรับมือกับโรคระบาด โดยเฉพาะเชื้อโอมิครอนที่กำลังก่อปัญหาในหลายประเทศ โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศในทุกช่องทาง และให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมแผนเผชิญเหตุหากเกิดการระบาดขึ้น ดังที่เราเคยดำเนินการมาแล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่ารัฐบาลได้เตรียมการไว้อย่างดีที่สุด เพื่อชัยชนะของประเทศไทย"

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ต่ำสุดตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินมาตรการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. แต่นายกฯ ยังกังวลช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ที่หลายจังหวัดมีการจัดกิจกรรมและงานรื่นเริง จึงกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด, คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ตรวจสอบการจัดงานของผู้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยให้เป็นไปตามมาตรการของ ศบค. COVID Free Setting และมาตรการความปลอดภัย

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 63 ราย จึงต้องพิจารณายกระดับและปรับมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศให้เข้มข้นขึ้นเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ โดยอาจกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการก่อน และตรวจ RT-PCR เป็นระยะ เมื่อพบว่าปลอดเชื้อจึงจะอนุญาตให้เดินทางต่อได้ โดยได้มอบให้กรมควบคุมโรคจัดทำแนวทางนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.เพื่อประกาศเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวเรื่องนี้ว่า นายกฯ ได้สั่งการให้จับตามาเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว แต่ใน 2 วันที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สธ.ได้ประชุมมาอย่างต่อเนื่องและจะนำข้อเสนอ สธ.เข้าที่ประชุม ศปก.ศบค.

พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,525 ราย

ด้าน พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค สธ. ในฐานะผู้ช่วยโฆษก  ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,525  ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,194,053  ราย หายป่วยแล้ว 4,190 ราย หายป่วยสะสม 2,105,122 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย เสียชีวิตสะสม 21,314 ราย คิดเป็น  0.98% โดยผู้เสียชีวิต 31 ราย เป็นชาย 17 ราย และหญิง 24  ราย

พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า กทม.ได้รายงานคลัสเตอร์การระบาดว่า พบในร้านอาหารเขตบางกอกน้อยมีผู้ติดเชื้อ 19 ราย โดยพบเป็นร้านที่มีอากาศไหลเวียนไม่สะดวก มีความมืดทึบ ให้บริการอาหาร เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ มีวงดนตรีผลัดเปลี่ยนวันละ 2 วง แม้จะจำกัดผู้รับบริการทำตามมาตรฐาน รวมทั้งเรื่องวัคซีนและการสุ่มตรวจ ATK แต่ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ดังนั้นต้องเข้มมาตรการโควิดฟรีเซตติงในร้านอาหารทุกร้าน โดย ศบค.ชุดเล็กเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการต้องดูแลอย่างเข้มงวด เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครมีสิทธิ์ที่จะสั่งปิดร้านนั้น และให้ไปดำเนินมาตรการจนกว่าจะพร้อมให้บริการ ซึ่ง  ศบค.ชุดเล็กไม่อยากให้กิจการร้านค้าเหล่านี้ต้องหยุด เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเทศกาลวันหยุดยาว จึงขอความร่วมมือให้เข้มข้นและทำตามมาตรการโควิดฟรีเซตติง

พญ.สุมนียังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนว่า ต้องขอขอบคุณประชาชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้วันนี้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส เข็มที่หนึ่งครอบคลุมประชากร 70.21%  เข็มที่สองครอบคลุมประชากร 61.63% และเข็มที่สามครอบคลุมประชากร 6.97% เข็มที่สี่ครอบคลุมประชากร 0.09% แต่ขณะนี้ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน

สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าไทยทั้ง 3 ประเภท เปรียบเทียบกันเดือน  พ.ย.และเดือน ธ.ค.1-19 ธ.ค.มีคนเดินทางเข้าประเทศ  160,445 ราย น้อยกว่าช่วงเดือน พ.ย. แต่ผู้ติดเชื้อจำแนกตามประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเดือน พ.ย.มีผู้ติดเชื้อ 0.13% ขณะที่เดือน ธ.ค.อยู่ที่ 0.22% โดยเป็น Test&Go จาก 0.08%  ของเดือน พ.ย.เพิ่มเป็น 0.15% ในเดือน ธ.ค. ประเภทแซนด์บ็อกซ์  เดือน พ.ย. 0.21% เดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 0.27% และประเภทกักตัว เดือน พ.ย. 0.18% แต่เดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 2.49%  โดย Test&Go มีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยในวันที่มีการติดเชื้อจำนวนสูงสุดของผู้ที่เข้ามาในประเทศคือวันที่ 18 ธ.ค.จำนวน 37 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อประเภทกักตัววันที่มีรายงานติดเชื้อสูงสุด 11 ราย คือวันที่ 11 และ 19 ธ.ค. ส่วนการติดเชื้อสูงสุดในระบบแซนด์บ็อกซ์มีรายงาน 7 ราย ในวันที่ 18 ธ.ค.

พบโอมิครอนรายแรกในไทย

พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทยที่มีรายงานเพิ่มเติม  พบว่ามาจากคลัสเตอร์นนทบุรี ซึ่งมีความเชื่อมโยงในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครราชสีมา และ กทม. โดยเป็นกลุ่มคณะที่เดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนารวม 31 คนที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อต้นเดือน ธ.ค.64 และเดินทางกลับมาไทยวันที่ 15 ธ.ค. เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR พบเชื้อทั้งหมด 14 ราย เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมพบว่ามีเชื้อโอมิครอน 6 ราย และเดลตา 8 ราย หลังจากเข้ามาก็ได้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง รวมถึงตรวจเพิ่มเติมพบติดเชื้ออีก 2 รายในวันที่ 19 ธ.ค.  และวันที่ 20 ธ.ค.ตรวจพบเพิ่มเติมอีก 2 ราย คลัสเตอร์ในกลุ่มนี้มี  18 ราย และยังรอผลการตรวจยืนยันสายพันธุ์อีก 4 ราย

ขณะที่รายงานผู้ติดเชื้อคู่สามีภรรยา โดยเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย เข้ามาในไทยวันที่ 26 พ.ย. ซึ่งเป็นวันก่อนประกาศมาตรการ  8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงจากทวีปแอฟริกา ผลตรวจของสามียืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทั้งสองรายได้เข้ารับการรักษารวมถึงสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 1 ราย ซึ่งผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกักตัวสังเกตอาการ โดยมีผู้สัมผัสเสียงต่ำอีก 83 ราย  ซึ่งทั้งหมดไม่มีอาการใดๆ และอยู่ระหว่างกักตัวติดตามผล แต่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของสามีชาวต่างชาติถือเป็นรายแรกที่ติดเชื้อโอมิครอนในไทย ส่วนคลัสเตอร์นราธิวาส 3 รายที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก โดยทั้ง 3 รายกลับมาจากประเทศตะวันออกกลางที่เดินทางไปทำกิจกรรมทางศาสนา เข้าประเทศมาทางสนามบินภูเก็ตในประเภทนักท่องเที่ยวแบบแซนบ็อกซ์ โดยมีผู้สัมผัสเสียงสูง 4 ราย ผู้สัมผัสเสียงต่ำ  126 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการกักตัวตรวจติดตามอาการถึงวันที่  27 ธ.ค. และทั้งหมดนี้ได้รับการตรวจหาโควิด-19 แบบ RT-PCR ไปแล้ว ซึ่งมีผลเป็นลบ อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 คนนี้มีการตรวจแบบถอดสายพันธุกรรม และพบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน โดยเป็นเพศชายอายุ 36 ปี ขณะที่อีก 2 ราย อายุ 48 ปี และ 40 ปี เป็นสายพันธุ์เดลตา ทั้ง 3 คนเป็นคนไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวว่า การถอดรหัสพันธุกรรมในระหว่างวันที่ 11-19 ธ.ค. พบว่าไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1,541 ราย, เบตา 1 ราย ขณะที่สายพันธุ์โอมิครอน 52 ราย รวมของเดิม 9 ราย เป็น 63 ราย โดยเป็นการคอนเฟิร์มด้วยการตรวจยืนยัน 20 ราย คิดเป็น 0.13% ของสัดส่วนสายพันธุ์ในไทย ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว สัดส่วนที่ตรวจพบในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3% จากสัปดาห์ที่แล้วที่ไม่ถึง 1%  ซึ่งยังเป็นการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศที่เราตรวจจับได้ เช่นสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่สัดส่วนการตรวจพบสายพันธุ์ของผู้เดินทางเข้าประเทศ พบเป็นโอมิครอนสัดส่วน 1 ใน 4 หรือ 25% ของคนที่เดินทางเข้ามา และผ่านการตรวจด้วยวิธี RT-PCR

กรมวิทย์กระตุกเรื่องTest&Go

“เราพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มค่อนข้างเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก ซึ่งทุกรายยังมีความเชื่อมโยงจากการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ยังไม่มี Index Case ในไทย ที่อยู่ดีๆ โผล่มาเหมือนที่เราเจอสายพันธุ์อัลฟา 6 รายที่ทองหล่อ ช่วงเดือน เม.ย.64 หรือกรณีพบสายพันธุ์เดลตา 40-50 รายในแคมป์คนงานหลักสี่” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า เราพบว่ามี 1 รายที่ตรวจด้วย RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางมา และเมื่อถึงประเทศไทยตามระบบแซนด์บ็อกซ์ให้ผลลบ เราปล่อยเขาไป แต่ต่อมาอีก 2-3 วันเขาก็ป่วย แล้วก็เข้ามาตรวจซ้ำพบว่ามีผลบวก ดังนั้นช่วงแรกที่ให้ผลลบ เป็นไปได้ในหลักการว่าอยู่ในระยะฟักตัว นั่นหมายความว่าอาจจะติดเชื้อตั้งแต่ประเทศต้นทางก่อนมาไทย ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักว่าถ้ายังให้มีระบบ  Test&Go แบบเดิมก็จะมีกรณีที่หลุดแบบนี้ และถ้าหากไม่มีอาการป่วยอะไรก็อาจจะไปแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ นั่นก็จะทำให้คลัสเตอร์ในประเทศเกิดขึ้นได้

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองโรคระบาด  กล่าวว่า เราพบกรณี 1 รายดังกล่าวเป็นคู่สามีภรรยา โดยสามีเป็นนักบินสัญชาติโคลอมเบีย ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีประวัติโรคเบาหวานเดินทางจากไนจีเรียเข้าไทยผ่านระบบแซนด์บ็อกซ์ ผลตรวจเบื้องต้น RT-PCR ไม่พบการติดเชื้อ ส่วนภรรยาเป็นคนไทย อายุ 49 ปี ไม่มีโรคประจำตัว โดยได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2  เข็ม โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นเริ่มมีไข้ตัวร้อน จึงตรวจ ATK ผลเป็นลบ ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.จึงไปพบแพทย์ที่ รพ.อีกครั้ง โดยผลตรวจไวรัสอื่นให้ผลลบทั้งหมด ผลเอกซเรย์ปอดปกติ และเมื่ออยู่ในระบบแซนบ็อกซ์ครบ 7 วันตามโปรแกรมของการกักตัวที่โรงแรม หลังจากนั้นก็กลับบ้านที่ จ.ปทุมธานีอยู่กับภรรยา ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค.เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ  อ่อนเพลียมากขึ้น ตรวจ ATK ผลก็ยังเป็นลบอยู่ ต่อมาวันที่ 7 ธ.ค. อาการเริ่มเหนื่อยมากขึ้น แต่ยังมีสติ เดินทางได้ จึงไป รพ.ที่ไปฉีดวัคซีน ผลตรวจ RT-PCR ออกมาเป็นบวก

 สรุปภรรยาที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็อยู่กักตัวที่บ้าน และเมื่อวันที่  10 ธ.ค.ไปตรวจ RT-PCR เป็นบวก วันเดียวกันนั้นผลของสามีออกมาว่าเป็นโอมิครอน ต่อมาวันที่ 12-19 ภรรยาเข้าแอดมิต สงสัยว่าเป็นโอมิครอนจึงมีการตรวจหาโอมิครอนในภรรยาด้วย พบว่าเป็นโอมิครอนเช่นเดียวกัน

“ภรรยารายนี้น่าจะเป็นคนแรกของเมืองไทยที่ติดเชื้อจากสามีที่เดินทางจากต่างประเทศ และเป็นการติดเชื้อโอมิครอนในประเทศรายแรก  ส่วนผู้สัมผัสบนเครื่องบินของสามีรายนี้ไม่มี เนื่องจากนั่งห่างกันตามมาตรการ แต่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของภรรยารายนี้คือคนขับแท็กซี่ที่พาไปส่ง โรงพยาบาล” นพ.จักรรัฐกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลตีปี๊บผลงานดึงดูดนักท่องเที่ยว 4 เดือนทะลุ 12 ล้านคน

โฆษกรัฐบาล เผยนโยบายนายกฯ ผลักดันท่องเที่ยวไทยคึกคักต่อเนื่อง ส่งผล 4 เดือนแรก 2567 ต่างชาติเยือนไทยแล้วกว่า 12 ล้านคน สร้างรายได้ 5.8 แสนล้านบาท พร้อมลุยแผนการตลาดท่องเที่ยวเชิงรุก