นิกรชงประชามติ3รอบ ถล่มนายกฯเมินเวทีสภา

“นิกร” เตรียมชง “ภูมิธรรม” 25 ธ.ค. ทำประชามติ 3 ครั้ง  เผยแนวคำถาม 2 รูปแบบ ขณะที่ ส.ส.ร. 100 คน เลือกตรง 77 จังหวัด และทางอ้อม 23 คน “โรม” มั่นใจมัด “เศรษฐา” ดิ้นไม่หลุดปมแต่งตั้งผู้กำกับ ชี้ให้โอกาสแจงแล้วแต่เบี้ยว เตรียมเล่นงานทางกฎหมาย เด็ก ปชป.ซัดนายกฯ ไม่สนใจสภามัวแต่ไปต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2566 นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสรุปของอนุกรรมการฯ ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในวันที่ 25 ธ.ค.ว่า คณะอนุกรรมการฯ  เสนอให้ทำประชามติทั้งสิ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วยครั้งที่ 1 ก่อนเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ภายหลังแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และครั้งที่ 3 หลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก่อนนำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็จะทำประชามติ โดยการทำแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่ต้องไปดูว่าจะมีวิธีการที่ประหยัดได้หรือไม่ เช่น ทำพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆ อาทิ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

“การทำประชามติ 3 ครั้งนี้สอดรับกับคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่นายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานอีกด้วย นอกจากนี้ยังจะเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติประชามติ เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์สะดวกขึ้น” นายนิกรระบุ

นายนิกรกล่าวอีกว่า คณะอนุฯ ยังมีความเห็นเกี่ยวกับคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติครั้งแรก แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือแนวทางที่ 1 จะเป็นคำถามเดียวโดยเสนอ 2 คำถาม ให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ประกอบด้วยคำถามที่ 1 คือ จะตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” คำถามที่ 2 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.”

 นายนิกรกล่าวอีกว่า แนวทางที่ 2 ในการตั้งคำถามคือ จะถามเป็น 2 คำถาม โดยแนวคำถามที่ 1 จะถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และ หมวด 2” และอีกคำถามคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ ส.ส.ร. เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แนวคำถามที่ 2 ประกอบด้วยคำถามที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.” และคำถามที่ 2 คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้ ส.ส.ร.เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”​

สำหรับประเด็นจำนวนที่มาของ ส.ส.ร. จากการรับฟังความคิดเห็นจะให้มี ส.ส.ร. 100 คน เลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงจากประชาชนจังหวัดละ 1 คน ร่วม 77 คน ส่วนที่เหลือจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านรัฐสภา 23 คน แบ่งเป็น องค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน ที่เหลืออีก 13 คน จะมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ 4 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน พร้อมกันนี้ คณะอนุฯ ยังเสนอให้นำความคิดเห็นของประชาชนที่แตกต่างและหลากหลายโดยรวบรวมเพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งข้อสรุปนี้ต้องเสนอต่อคณะกรรมการชุดพิจารณาจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้ายว่าแนวทางการทำประชามติจะเป็นอย่างไร

วันเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ในเรื่องแทรกแซงการตั้งตำรวจระดับผู้กำกับการ ว่ากำลังรวบรวมข้อมูล ยอมรับว่ารอบนี้ทำงานยากขึ้น เพราะอภิปรายเรื่องตั๋วมาหลายครั้ง บางครั้งคนที่กระทำความผิดก็มีการปรับตัว แต่จากหลักฐานที่นายกฯ พูดมั่นใจว่าดิ้นไม่หลุด เรื่องนี้ผิดกฎหมายแน่นอน และต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณา คำพูดดังกล่าวมัดตัวนายกฯ ไปแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการของพรรคที่ต้องคุยกันว่าจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไร ส่วนจะดำเนินการเมื่อไหร่นั้นยังไม่สรุป แต่ไม่ช้าแน่นอน เพราะเราให้เวลากับนายกฯ ด้วยการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรจนถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อนายกฯ ไม่มาชี้แจง หรือให้เหตุผลอะไร ก็ต้องพิจารณาในส่วนกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนําประเด็นดังกล่าวไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ขอให้รอดู เพราะฝ่ายที่ต้องอภิปรายต้องเตรียมข้อมูลไว้ก่อน คงไม่สามารถระบุได้ว่า จะอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง ทั้งนี้ การอภิปรายไม่ใช่หยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องมองภาพรวม และดูว่ามีพยานหลักฐานในเรื่องอื่นมากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวจะส่งผลให้นายเศรษฐาหลุดจากตําแหน่งนายกฯ  หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า อยู่ที่การโหวตในสภา ซึ่งการใช้เรื่องนี้เพื่อให้สภาลงมติถอดถอนนายเศรษฐาออกจากตําแหน่งนายกฯ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะไม่แน่ใจว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะนําไปสู่จุดนั้นได้มากน้อยแค่ไหน ใครที่รู้ตัวก็อาจชิงลาออก หรือทําให้ตัวเองพ้นตําแหน่งไปก่อน ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยมันคือการฟ้องประชาชนให้เห็นว่า ประเทศนี้เกิดอะไรขึ้น ทําให้ประชาชนได้รู้ว่า คนที่มาเป็นผู้นำรัฐบาลเป็นอย่างไร

“สุดท้ายแล้ว ถ้านายกฯ ไม่สามารถตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน หรือชี้แจงต่อประชาชนได้ ก็ไม่ใช่แค่การพ้นจากตำแหน่ง แต่คือการประหารชีวิตทางการเมือง” นายรังสิมันต์กล่าว

ด้านนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นายกฯ และรัฐมนตรีทุกกระทรวงในฐานะมีความรับผิดชอบในการเข้าร่วมการประชุมสภาเพื่อตอบกระทู้ถามเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน และเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกกระทรวงในฐานะของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุม ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อที่ 151

“ตั้งแต่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและเริ่มการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา นายกฯ มาตอบกระทู้ถามสดในสภาเพียงครั้งเดียว และเป็นกระทู้ที่ถามโดย สส.รัฐบาลเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น แต่กลับไม่เคยตอบกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญซึ่งเกี่ยวกับปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดิน และเรื่องที่สังคมคลางแคลงใจทั้งสิ้น โดยนายกฯ มักอ้างติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูลพบว่านายกฯ เดินทางเยือนต่างประเทศในรอบ 4 เดือน จำนวน 11 ครั้ง รวม 10 ประเทศ รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจราชการในต่างจังหวัดทุกสัปดาห์ แต่นายกฯ กลับไม่ให้ความสำคัญกับการสะท้อนปัญหาประชาชนผ่านกลไกของรัฐสภาที่มีการนัดหมายและแจ้งล่วงหน้า” นายร่มธรรมระบุ

นายร่มธรรมกล่าวอีกว่า เมื่อย้อนดูสถิติการตอบกระทู้ถามสดตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา พบว่า ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มีการเข้ามาตอบกระทู้ถามสดด้วยตัวเองในสภามากที่สุด จำนวน 54 กระทู้ คิดเป็น 38.85% ของกระทู้ถามทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน และรับผิดชอบต่อสภาควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการให้เกียรติเข้ามาตอบกระทู้ถามสดของสภา เปรียบเหมือนการให้เกียรติรับฟังปัญหาที่หลากหลายของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนผ่านผู้แทนทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันรัฐบาลกลับเพิกเฉยและไม่ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่สะท้อนปัญหาของสภา ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องปรับปรุง และรับผิดชอบต่อสภาให้มากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง