ทบ.ลั่นสัมพันธ์การเมืองดี ภาคปชช.จี้รื้อ‘ประชามติ’

“บิ๊กต่อ” บอกสถานการณ์ประเทศไม่เคยตึง ย้ำสัมพันธ์ดี “กองทัพ-ฝ่ายการเมือง” เพราะทหารมีวินัย ถูกสร้างมาให้ทำงานกับทุกส่วน ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องรองบ “โรม” ชี้งานด้านความมั่นคงค่อนข้างอ่อนแอเพราะไม่มีทิศทางชัดเจน 43 องค์กรยื่นหนังสือจี้ “เศรษฐา” ทบทวนคำถามประชามติ

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย  ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าพบกองทัพบกเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางทำงานร่วมกัน ว่า การปฏิบัติงานของทหารเมื่อปฏิบัติไปแล้วก็ต้องทบทวน สิ่งใดที่ต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งก็มีการปรับมาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าต้องมีใครมาบังคับให้เราปรับ โดยเป็นการปรับตามกระบวนการและสถานการณ์ การได้พบ กมธ.ความมั่นคงฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราก็ยินดีให้ กมธ.ความมั่นคงฯ ได้ลงพื้นที่ไปดูชายแดน แต่มองว่าเรื่องความมั่นคงไม่ได้มีแค่เรื่องทหารกับชายแดน เพราะทุกเรื่องคือเรื่องความมั่นคง เช่นสาธารณสุขหลังผ่านสถานการณ์โควิดมา

ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับฝ่ายการเมืองเป็นอย่างไร ผบ.ทบ.กล่าวว่า "ดีครับดี คือทหารหรือกองทัพเราถูกสร้างมาในเรื่องของการปฏิบัติงานร่วมกับทุกภาคส่วน  และเป็นคนที่มีวินัย ดังนั้นอะไรที่เราได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความมั่นคงของรัฐ ประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เราเต็มใจและพร้อมปฏิบัติทุกเมื่อ หรือแม้แต่ไม่สั่ง อันไหนที่เป็นอยู่ในอุดมการณ์ที่เราทำอยู่แล้ว เรื่องช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ต้องสั่ง และเราก็ไม่ต้องรอเรื่องงบประมาณ เราจะทำไปก่อน เพราะเราถูกสร้างมาอย่างนี้"

เมื่อถามว่า สถานการณ์ต่างๆ ดูผ่อนคลายหรือไม่ ผบ.ทบ.กล่าวว่า “ดีครับ ผมไม่ได้พูดว่าผ่อนคลาย เพราะมันไม่เคยตึง”

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  (ก.ก.) ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวว่า  สนใจงานชายแดนที่ไป 2 พื้นที่ คือช่องจอม จ.สุรินทร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนายทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่เป็นอย่างดี และพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่มีปัญหาลักลอบนำยางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา โดยพื้นที่ชายแดนมีปัญหามากและนำมาซึ่งอาชญากรรมต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดเฉพาะชายแดน แต่ทำให้อาชญากรรมต่างๆ เข้ามาประเทศไทยได้ด้วย เบื้องต้นยินดีทำงานร่วมกับกองทัพให้งานชายแดนมีความมั่นคงและปลอดภัย แก้ปัญหาสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ได้

“ตอนนี้ฝั่งชายแดนไทย-เมียนมาเป็นพื้นที่นัยสำคัญอย่างมาก คือความไม่สงบในเมียนมาที่มีการเคลื่อนไหวกันอยู่ ประการแรกคือเราจะรับมืออย่างไร ต้องยอมรับว่าในพื้นที่เมียนมามีสิ่งผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยาเสพติด คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กาสิโน ที่คนไทยจำนวนมากไปเล่น ไปเป็นลูกค้า เป็นสิ่งที่เราต้องจัดเตรียมวางแผนล่วงหน้าร่วมกัน ซึ่งพื้นที่ชายแดนหลักคือทหาร ซึ่งผมยินดีมาก หากมีการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพกับ กมธ.ความมั่นคงฯ ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะงานด้านความมั่นคงค่อนข้างอ่อนแอ เพราะไม่มีแผนชัดเจนว่าทิศทางของความมั่นคงไปในทางไหนกันแน่ ที่จะส่งเสริมปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง” นายรังสิมันต์กล่าว

วันเดียวกัน องค์กรภาคประชาชน 43 องค์กรได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนคำถามประชามติ โดยระบุว่าตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แถลงผลสรุปการทำงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. โดยมีสาระสำคัญที่จะจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 3 ครั้ง ได้แก่ 1.การทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 2.การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามที่มาตรา 256 กำหนด 3.การทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติครั้งที่ 1 จะมีคำถามเดียว คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งผลสรุปดังกล่าวทำให้ภาคประชาชนผิดหวังและกังวลต่ออนาคตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้ 1.ผิดหวังที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่สามารถออกแบบกระบวนการประชามติให้เป็นที่ยอมรับได้ 2.ผิดหวังที่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเป็นเพียงพิธีกรรม 3.กังวลว่าการตั้งคำถามประชามติของคณะกรรมการอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และ 4.กังวลว่าการตั้งคำถามที่มีเงื่อนไขซับซ้อนตามใจรัฐบาล อาจทำให้เสียงของประชาชนถูกบิดเบือน

“ภาคประชาชนทราบดีว่า ผลสรุปของคณะกรรมการยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เพราะการเคาะคำถามประชามติเป็นอำนาจของ ครม.เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการจะต้องทำรายงานเพื่อเสนอต่อ ครม.เพื่อให้พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงเดือน ม.ค. 2567 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจึงขอเรียกร้อง ครม.ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ให้พิจารณาประเด็นนี้ให้รอบคอบยิ่งขึ้น โดยขอให้ ครม.ทบทวนการตั้งคำถามประชามติที่คณะกรรมการดังกล่าวเสนอ และใช้คำถามประชามติที่เปิดกว้าง ชัดเจนต่อการสร้างฉันทามติ ว่าทุกฝ่ายเห็นชอบกับการเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกัน อีกทั้งขอให้ ครม.รับรองคำถามประชามติที่ประชาชนกว่า 211,904 รายชื่อ ใช้สิทธิ์เข้าชื่อเสนอตามกฎหมายเป็นหนึ่งในคำถามประชามติ โดยให้ ครม.มีมติเห็นชอบให้จัดออกเสียงประชามติตามคำถามที่ประชาชนเสนอคู่ขนานไปพร้อมกับคำถามของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ”

ขณะที่นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงการเข้าร่วมบริหารงานของพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ได้เข้าร่วมบริหารงานภายใต้รัฐบาลปัจจุบันมาครบ 3 เดือน มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายของพรรค ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ที่ล้วนมุ่งเน้นยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกมิติ ให้อยู่ดีกินดี โดยเฉพาะการสานต่อนโยบายเรื่องที่ทำกิน การยกระดับราคาสินค้าเกษตร  การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงการยกระดับสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง

“พปชร.ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะ เน้นใช้ข้อมูล สติปัญญา มากกว่าวาทกรรม” นายอรรถกรระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง