นช.น้ำผึ้งหยดเดียว ก.ก.ชี้วิกฤตศรัทธารบ.แน่ สว.เชื่อปี67ม็อบลงถนน!

เพื่อไทยแห่ดีดปาก “รังสิมันต์” บอกอย่าลากเรื่องส่วนตัวไปแตะนายใหญ่-นายหญิง “ชัยธวัช” เตือนรัฐบาลระวังน้ำผึ้งหยดเดียว หากยังไม่เคลียร์ปม “นักโทษเทวดา” สว.ตัวตึงเชื่อปีหน้าหนังม้วนเก่าม็อบลงถนนกลับมาแน่ “เทพไท” ยก 6 เหตุผลเชื่อระบอบทักษิณฟื้นจากหลุมอีกครั้ง อาจต้องปัดฝุ่นรองเท้าผ้าใบกันอีกครั้ง “จตุพร”  ชี้เหตุโยกพีระพันธุ์มาดูยุติธรรมแค่บริหารอารมณ์ประชาชนเท่านั้น โฆษกศาลรีบแจงคดียิ่งลักษณ์ พร้อมเปิดไทม์ไลน์ไม่อืดอาด

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 ยังคงมีความต่อเนื่องเรื่องของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  โดยเฉพาะกรณีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาวิจารณ์การนิรโทษกรรมว่า ทำไปเพื่อนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ  โดยนายวรชัย เหมะ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเรื่องอะไร  ไม่ได้ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะกฎหมายบังคับใช้กับคนทุกคน การทำกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านมาหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหลักการจะไม่ใช่นิรโทษกรรมบุคคล แต่เป็นการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ เช่นกรณี 66/23 ซึ่งนายรังสิมันต์เป็น สส.มา 2 สมัยแล้ว ทำไมจึงยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้

“วันนี้น้องโรมอย่าลากเอาเรื่องส่วนตัวไปรวมกับเรื่องส่วนรวม ไม่มีประเทศไหนในโลกที่คิดนิรโทษกรรมเพื่อคนใดคนหนึ่งแน่นอน น้องโรมอย่าลากอดีตนายกฯ ทักษิณ และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์มาเป็นเครื่องมือทำลายรัฐบาล เพราะจะทำให้การนิรโทษกรรมไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ควรสามัคคีพูดคุยกับพรรคการเมืองทุกพรรค และกลุ่มมวลชนทุกกลุ่มที่อยู่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งแต่ละช่วงเวลานั้นๆ ไม่ใช่เจาะจงเพื่อทำลายกันอย่างเดียว ตีกินกันแบบนี้ประเทศก็จะติดหล่มอยู่แบบเดิม และประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร” นายวรชัยกล่าว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเช่นกันว่า ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนคนไทยทุกคน ไม่มีเลือกปฏิบัติ ในอดีตมีคนกลุ่มหนึ่งก้าวไม่ข้ามทักษิณ เรียกร้องให้นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พอนายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนจำนวนมากก็ยุติความเคลื่อนไหว ให้ว่ากันไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย แต่ไม่น่าเชื่อยังมีคนบางกลุ่มก้าวไม่ข้าม ห่วงแต่ว่านายทักษิณจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การพาประเทศชาติและประชาชนก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ผ่านเครื่องมือช่องทาง และกลไกที่ยึดโยงกับประชาชน หากเห็นว่ามีกฎหมายใดต้องแก้ไขก็สามารถเสนอแก้ไขได้

“เข้าใจว่าเป็นฝ่ายค้าน การตั้งข้อสังเกตหรือตั้งคำถามสามารถทำได้ แต่ต้องไม่เจตนาให้นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม ถ้าการออกมาโจมตีนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงเพื่อหวังรักษาพื้นที่ ยึดกุมหัวใจคนบางกลุ่มให้สนับสนุนพรรคบางพรรคต่อไป อาจไม่คุ้มเลยหากการกระทำดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม” นายอนุสรณ์กล่าว

เตือนน้ำผึ้งหยดเดียว

ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ก.ก. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงทิศทางการเมืองในปีหน้าว่า คิดว่าการเมืองปีหน้า ประชาชนกำลังเฝ้ารอการทำงานของรัฐบาลว่าจะมีความชัดเจน มีทิศทางที่ประชาชนจับต้องได้เป็นรูปธรรมอย่างไร เป็นความท้าทายของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความนิยมของประชาชนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ประชาชนก็ยังจับตาดูอยู่ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลหรือไม่  ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งวุฒิสภา (สว.) จะหมดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็คงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าเงื่อนไขของ สว.ในการโหวตเลือกนายกฯ หมดไปแล้ว จะส่งผลต่อเสถียรภาพหรือองค์ประกอบภายในรัฐบาลหรือไม่

นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีนัยสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้คือกรณีของนายทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ นำไปสู่คำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ ถือว่าเป็นการได้รับการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานที่เหนือกว่ากรณีทั่วไปหรือไม่ รวมถึงความไม่ชัดเจนว่าระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ที่อนุญาตให้มีการควบคุมตัวผู้ต้องขังนอกเรือนจำได้ ซึ่งหลักการใหญ่เป็นเรื่องที่ดีควรจะสนับสนุน แต่เรื่องนี้เท่าที่เราเห็นระเบียบที่ออกมา มีการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในการพินิจว่าใครจะได้รับสิทธิ์บ้าง พอไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนก็เลยกลายเป็นใช้อำนาจโดยดุลยพินิจ ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีเส้นสาย คนที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือคนที่มีฐานะหรือไม่ รวมถึงตัวนายทักษิณก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในต้นปีด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเกิดกระบวนการยุติธรรมแบบอภิสิทธิ์ชนขึ้นมา ก็น่าจะส่งผลต่อรัฐบาลเช่นกัน

“อย่าปล่อยให้เกิดเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลได้ จะเห็นว่าตอนนี้รัฐบาลถูกถามทุกวันในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นดีที่สุดรัฐบาลควรจะให้คำตอบ ควรชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนให้สิ้นสงสัยให้หมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ทำถูกทุกอย่างและบอกได้ว่าไม่เป็นการใช้อภิสิทธิ์ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น และกรณีที่จะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่จะไปคุมตัวนอกเรือนจำ จะไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนใดคนหนึ่ง ถ้ารัฐบาลยังตอบเรื่องนี้ไม่ชัดเจน มันก็จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้” นายชัยธวัชกล่าว

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวว่า รัฐบาลจะเผชิญกับด่านหนักหนาสาหัสมากมาย ประเด็นที่จะเป็นระเบิดเวลาต่อรัฐบาลคือ ความพยายามที่จะไม่ให้นายทักษิณต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่นาทีเดียว ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุก ถือเป็นนักโทษเด็ดขาดไปแล้ว ประเด็นนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2567 เชื่อว่าจะมีการเคลื่อนไหวนอกสภามากขึ้น อารมณ์ประชาชนที่ต่อต้านการพยายามพักโทษนายทักษิณจุดติดแล้ว รับไม่ได้กับการที่นายทักษิณได้รับอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย กระบวน การยุติธรรมล้มระเนนระนาด การเรียกร้องของประชาชนจะเข้มข้นขึ้น ถ้ายังมีการปกป้องกันอยู่ ยิ่งถ้ามีประเด็นการกลับบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่มเข้ามาอีก ก็จะยิ่งสร้างความขัดแย้งมากขึ้น จะมีการปลุกม็อบลงถนนแน่ ยิ่งถ้าม็อบเพิ่มปริมาณมากขึ้น กลายเป็นความขัดแย้งของคนในสังคมอย่างหนัก หนังม้วนเดิมอาจจะถูกนำกลับมาฉายอีก เพราะเรามีบทเรียนให้เห็นกันมาแล้ว ถือว่าน่ากลัว

ระบอบทักษิณคืนชีพ

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “6  ปัจจัยที่ทำให้ระบอบทักษิณคืนชีพ” ระบุว่า มีหลายคนที่เคยต่อสู้กับระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับความจริงว่า ระบอบทักษิณได้ฝังรากลึกในประเทศไทยจริงๆ แม้ถูกรัฐประหารไปแล้ว 2 ครั้ง ระบอบทักษิณก็ยังดำรงอยู่ บางช่วงอาจเงียบอ่อนล้าลงไปบ้าง ยิ่งในช่วงที่นายทักษิณหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ มีการประเมินว่าระบอบทักษิณคงจะลดบทบาทลง และล่มสลายไปในที่สุด แต่เมื่อนายทักษิณเดินทางกลับมาเพื่อรับโทษจำคุก และกำลังจะพ้นโทษในเร็วๆ นี้ ก็จะทำให้ระบอบทักษิณคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง โดยปัจจุบันมีเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้ระบอบทักษิณคืนชีพมากมาย เช่น 1.แนวทางการต่อสู้คดีในศาลของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีสัญญาณบวกให้เห็นอย่างชัดเจน 2.รัฐบาลผู้คุมอำนาจรัฐทั้งหมดเป็นของพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง เป็นนอมินีสายตรงของครอบครัวตระกูลชินวัตร

นายเทพไทระบุอีกว่า 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเกมอยู่ภายใต้การกำหนดของพรรคเพื่อไทย กำลังวางไทม์ไลน์ ตั้งแต่การทำประชามติจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จ 4.รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขทั้งหมดภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นกติกาที่เอื้อประโยชน์ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบทางการเมือง 5.พรรคเพื่อไทยสามารถใช้อำนาจรัฐได้ทั้งหมดผ่านกลไกระบบราชการ เหมือนกับยุครัฐบาลของนายทักษิณในอดีตที่เข้ายึดกุมแทรกแซง ตั้งแต่กลุ่มข้าราชการ  ตำรวจ ทหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ และ 6.เมื่อนายทักษิณพ้นโทษออกมา ก็จะเป็นศูนย์กลางอำนาจของระบอบทักษิณยุคใหม่ สามารถสร้างกลไกจัดการปัญหาได้แนบเนียนกว่าระบอบทักษิณยุคแรก เพราะมีบทเรียนจากการใช้อำนาจของระบอบทักษิณในอดีตมาแล้ว

“เมื่อคุณเศรษฐาประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะอยู่ในตำแหน่งให้ครบ 4 ปี นั่นหมายความว่าตลอด 4 ปีนี้ เป็นระยะเวลาที่มีการฟื้นฟูระบอบทักษิณให้แข็งแกร่งกลับคืนมาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะต้องเตรียมรองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ กันอีกมั้ย” นายเทพไทระบุ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณี นายเศรษฐามอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ในกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ว่า อยากรู้ภารกิจของนายพีระพันธุ์ ก็ให้ย้อนดูภารกิจของนายวิษณุ เครืองาม ในยุครักษาการ รมต.ยุติธรรม ปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่พานายทักษิณกลับไทย ซึ่งนายพีระพันธุ์ก็คงพา น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไทยเช่นกัน รัฐบาลเศรษฐาจำเป็นต้องมีเนติบริกรมารับใช้ ก็ยืมมือนายพีระพันธุ์ดาวรุ่งฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ มารับเผือกร้อนตระกูลชินวัตรเสียเลย ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว 1.พา น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับไทย และ 2.ให้นายพีระพันธุ์ตายแทน เพราะนายพีระพันธุ์มีมวลชนมาทาง กปปส., แม่ยกพันธมิตรฯ  และแม่ยก พล.อ.ประยุทธ์จำนวนหนึ่ง  ซึ่งก็เป็นกันชนให้ตระกูลชินวัตรได้เป็นอย่างดี แต่ คปท.ไม่ได้ยึดตัวบุคคล เราเดินตามหลักการความถูกต้อง ไม่มีหวั่นไหว

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ส่งท้ายปี 2566 ว่า การดีลให้นายทักษิณกลับบ้านและตั้งรัฐบาลเพื่อไทยที่ได้ประโยชน์กันนั้น แต่ประชาชนเสียความรู้สึก ในซีกของผู้มีอำนาจรัฐบาลอาจสมประโยชน์ ถ้าประชาชนเสียความรู้สึกแล้วไปกระทบจิตใจในระยะยาวและขยายกว้างขึ้น แม้วันนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่อะไรถ้าประชาชนเห็นว่ามากไป ประวัติศาสตร์สอนถึงการลุกฮืออย่างรวดเร็วของประชาชนมามากแล้ว เพราะกรณีคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง สะท้อนถึงผลแนวโน้มจะกลับบ้านด้วยเช่นกัน แต่  น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังมีคดีที่มีคำพิพากษาโทษเด็ดขาด 5 ปีอยู่ สิ่งสำคัญในการจัดลำดับกลับไทย ที่นายทักษิณนำร่องมาแล้วโดยไม่ต้องติดคุกสักวัน หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำตามก็จะเป็นเรื่องใหญ่ในอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน อีกทั้งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์รอให้นายทักษิณออกจาก รพ.ตำรวจ  ชั้น 14 เพื่อกลับบ้าน แล้วจึงกลับมา ยิ่งจะทำให้ทั้งนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องติดกับความไม่พอใจของประชาชน

ให้พีระพันธุ์คุม ยธ.บริหารอารมณ์

นายจตุพรกล่าวอีกว่า กรณีนักโทษรักษาตัวอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ และกล้องวงจรปิดทุกตัวของ รพ.ตำรวจพร้อมใจกันเสีย สิ่งนี้จะสะสมอารมณ์สงสัยของประชาชนมากขึ้น ดังนั้นคาดว่าภายใน 3 เดือนของปี 2567 ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.จะได้เห็นทิศทางการเมืองกันมากมาย โดยมีปัจจัยแปรสำคัญคือ นายกฯ ยังจะชื่อนายเศรษฐาหรือไม่ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับเข้ามาอย่างไร ทั้งหมดนี้จะเป็นเหตุการณ์ประเดประดังในปีหน้าทั้งสิ้น

นายจตุพรยังกล่าวถึงการสลับหน้าที่รองนายกฯ คุมงานว่า การให้นายพีระพันธุ์มาคุมงานยุติธรรมแทนนายสมศักดิ์ เทพสุทินนั้น แสดงถึงการต้องการแยกปัญหาของทักษิณ ชั้น 14 ไปให้พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อธิบายแทนพรรคเพื่อไทย จะได้ผลดีและน่าเชื่อถือมากกว่า ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ลอยตัวในปัญหานายทักษิณยังอยู่ รพ.ตำรวจต่อไปได้ พร้อมกับคนมาใหม่คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะได้นักกฎหมายมาอธิบายประชาชนย่อมทำให้ผ่อนคลายอารมณ์ลงได้ ดังนั้นการเปลี่ยนหน้าที่รองนายกฯ จึงเป็นการบริหารอารมณ์ประชาชนไม่ให้ลุกลามขยายวงกว้างออกไป

 “ในทางการเมืองเหตุการณ์เช่นนี้จะมีการดีลกันเป็นตอนๆ ตามแต่ละเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องการ ดังนั้น สถานการณ์ปี 2567 ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะยังมีคดีเกี่ยวกับนักการเมืองอยู่มากมาย ที่น่าสนใจคือ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในเดือน ม.ค.ถึง 3 กรณีใหญ่ๆ ที่นักการเมืองพัวพันอยู่ ทั้งคดีของนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีหุ้นไอทีวี และการชี้ขาดคดีพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง กรณีหาเสียงแก้ ม.112 รวมถึงการสิ้นสุดอำนาจของ สว.ในกรณีโหวตเลือกนายกฯ ตั้งแต่กลาง พ.ค. 2567”

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ถ้านายเศรษฐาอยู่รอดจนถึง  สว.ปัจจุบันหมดอำนาจไป ต้องมาคำนวณปัจจัยดีลสถานการณ์ทางการเมืองใหม่อีกครั้ง แต่คาดกันว่าถ้าเห็นร่องรอยในการเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องลงมือก่อนจะเกิดการยุบสภา อีกอย่างการยุบพรรคก้าวไกลยิ่งทำให้พรรคนี้เติบโตสูงขึ้น รวมทั้งผลการดีล 22 ส.ค. 2566 นั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะผลการดีลจะบ่งชี้ถึงการไม่รอ สว.ให้หมดวาระ แต่จะลงมือเปลี่ยนแปลงกันก่อน เนื่องจากต้องการเสียง สว.มาควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ในมืออีก โดยหากต้องการเปลี่ยนนายกฯ แล้ว ย่อมเกิดขึ้นก่อนเวลา 2 เดือนที่ สว.จะครบวาระ คือในเดือน มี.ค.กับ เม.ย.

โฆษกศาลแจงไทม์ไลน์คดีปู

วันเดียวกัน นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม แถลงว่า ตามที่สื่อโทรทัศน์บางแห่งมีการนำเสนอข่าว และให้ความเห็นไปในทำนองที่ทำให้สาธารณชนอาจเข้าใจไปว่า การดำเนินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เวลาเนิ่นนาน ทำให้มีผลเหมือนการอำนวยความยุติธรรมที่ล่าช้า เป็นการปฏิเสธความยุติธรรม ซึ่งได้ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Justice  delayed is justice denied อันอาจทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถึงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ความจริงแล้วใช้เวลาพิจารณาพิพากษาคดีนี้เพียง 1 ปี 5 เดือนเศษเท่านั้น ไม่ได้ใช้เวลานานตามที่เป็นข่าว

นายสรวิศกล่าวว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565  ศาลจึงได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.11/2565  และได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยนัดพิจารณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 21  พฤศจิกายน 2565 นัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่  14 มีนาคม 2566 และนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 30  พฤษภาคม 2566 เดิมคดีนี้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่  9 พฤศจิกายน 2566 แต่นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ซึ่งเป็นองค์คณะอยู่ด้วยคนหนึ่งได้ถึงแก่กรรม ทำให้ต้องแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาใหม่มาทดแทน และได้มีการนัดฟังคำพิพากษาใหม่ และได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26  ธันวาคม 2566 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จึงเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2566 กำหนดไว้แล้วว่า คดีที่ต้องทำการไต่สวนหรือสืบพยานในศาลฎีกา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มไต่สวนหรือสืบพยาน แต่ศาลพิพากษาคดีนี้เพียงภายใน 7 เดือนนับแต่วันเริ่มไต่สวน

“ขอชี้แจงให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อจะได้นำเสนอข่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ได้เร่งรัดการพิจารณาพิพากษาให้คู่ความทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมภายในระยะเวลาอันรวดเร็วแล้ว” นายสรวิศระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง