ฮือฮาอิ๊งค์สมัคร ‘มินิ วปอ.’รุ่น1 โร่โต้ไร้อภิสิทธิ์

ฮือฮา! "อุ๊งอิ๊ง" โผล่สมัคร "มินิ วปอ." รุ่นแรก "วปอ." โร่แจงไร้อภิสิทธิ์ ยันคุณสมบัติครบ ทำตามระเบียบ เปิดชื่อผู้สมัครเกือบ 500 คน ทายาทนักการเมือง-นามสกุลดังพาเหรดสมัครเพียบ ทั้ง “เทพสุทิน-สอดส่อง-อิศรภักดี” รวมถึง “เอิงเพื่อนอิ๊งค์” ก็สมัครด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังจากเว็บไซต์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.บอ. หรือที่เรียกว่าหลักสูตร “มินิ วปอ.” มีชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ผ่านคุณสมบัติ รอเข้ารับการสัมภาษณ์ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าศึกษาหรือไม่นั้น

แหล่งข่าว วปอ.ยืนยันว่า หลักสูตรดังกล่าวไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับ น.ส.แพทองธารตามที่มีการตั้งข้อสังเกต เพราะการจัดทำหลักสูตรเพื่อเปิดรับบุคคลเข้ารับการศึกษา ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และผ่านการพิจารณาจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) ก่อนเข้าสู่ความเห็นชอบจากสภา วปอ.ที่มี รมว.กลาโหมเป็นประธาน ทุกอย่างทำตามระเบียบ และผ่านการพิจารณามาร่วม 3 ปี ตั้งแต่ยุค พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องของหลักสูตร และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่มาเดินหน้าต่อในยคุ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทสส.คนปัจจุบัน

 “ในขณะนั้นมีหลักคิดว่า ผู้นำองค์กรรุ่นใหม่เป็นคนอีกเจเนอเรชันหลัง อาจขาดข้อมูล ความเข้าใจในองค์ความรู้ด้านความมั่นคง จึงคิดว่าควรจะมีหลักสูตรที่ลดช่องว่างตรงนี้ลง โดยดึงเอาคนรุ่นกลางถึงรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารองค์กร หรือ Future CEO เข้ามาเรียน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน ภายใต้สถานการณ์ด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” แหล่งข่าวระบุ

สำหรับการเปิดรับสมัครจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มการทหาร กลุ่มตำรวจ กลุ่มข้าราชการพลเรือน  กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มการเมือง โดยจะให้ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมด 492 คนเข้ามาสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 200 คน จากนั้นจะประกาศรายชื่อ และเปิดภาคการศึกษาในเดือนเมษายน ระยะเวลาของการศึกษาทั้งหมด 6 เดือน ในส่วนข้าราชการจะมีการอุดหนุนงบประมาณให้ ส่วนภาคเอกชนจะต้องจ่ายเงินในการเข้ารับการศึกษาเอง

โดย วปอ.บอ.67 จะถือเป็นรุ่นที่ 1 ผู้เข้ารับการศึกษาต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ได้แก่ อายุตั้งแต่ 35-42 ปี  ในภาคราชการ มีทั้งข้าราชประจำและข้าราชการการเมือง ส่วนข้าราชการทหารต้องมีชั้นยศ พ.อ-พ.อ.พิเศษ หรือเทียบเท่า สำหรับตำรวจมียศ พ.ต.อ.-พ.ต.อ.พิเศษ หรือเทียบเท่า และต้องจบหลักสูตรเสนาธิการทหารของโรงเรียนเสนาธิการทหารเหล่าทัพ เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนต้องเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของหน่วยงาน ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการ หรือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการภูมิภาค หรือเทียบเท่า

ส่วนบุคคลทั่วไป คือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย มีชื่อเสียงในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย มีผู้ติดตามและเป็นที่รู้จักจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชัน Y, Z, Alpha สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีต่อสังคม อาทิ นักแสดงในวงการบันเทิง นักเขียนในวงการหนังสือ นักจัดรายการ โปรแกรมเมอร์ในวงการไอที ที่ปรึกษาในวิชาชีพต่างๆ เช่น ที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน โดยมีประสบการณ์หรือทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงระดับชาติอย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น

สำหรับการสมัครเข้าอบรมหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1  มีผู้สมัครจำนวนมาก แต่สามารถสอบสัมภาษณ์ได้ทั้งสิ้น 492 คน โดยมีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักการเมือง และนักธุรกิจ อาทิ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.ปชป. นางสาวรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกรัฐบาล นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ หรือเอิง ทีมงานนายกฯ  และเพื่อนสนิทอุ๊งอิ๊ง นอกจากนั้นยังมีลูกหลานคนดัง และทายาทนักการเมืองหลายคน เช่น นายพชร นริพทะพันธุ์, น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช, นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์, นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล, น.ส.ศศิยาพัชร์ เลาหพงศ์ชนะ, น.ส.พิมพ์ศิริ จีนะวิจารณะ, นายพสุ ลิปตพัลลภ, น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน, นายสงกรานต์ เตชะณรงค์, นายรวิศ สอดส่อง, นายพัฒนา พร้อมพัฒน์, นายปิยะชาติ อิศรภักดี เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ขวางแก้ 'พรบ.ธปท.' ลดอิสระแบงก์ชาติ สนองนายหญิง

ปชป. ย้ำจุดยืน ไม่เห็นด้วยแก้กฎหมายลดอิสระแบงก์ชาติ ยัน พ.ร.บ.ธปท. ฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว ชี้ผู้ว่าการแสดงความเห็นสุจริตเพื่อบ้านเมือง ท้ารัฐบาลไม่พอใจปลดเลย