‘เศรษฐา’ถอย!ไม่จุ้น เคารพอิสระแบงก์ชาติปัดคุยดิจิทัลที่มืด/กกร.ลุ้นลดดอกเบี้ย

"เศรษฐา" บอกถก "ผู้ว่าฯ  ธปท." คุยสถานการณ์ตลาด-หนี้สิน  ปชช. ไม่ได้แทรกแซงดอกเบี้ย แค่อธิบายเหตุผลภาพรวมเศรษฐกิจ เคารพความเป็นอิสระแบงก์ชาติ ปัดหารือดิจิทัลวอลเล็ต "พท." จี้แบงก์ชาติเร่งออกนโยบายการเงินกระตุ้น ศก. "ศิริกัญญา" เตือนท่าทีนายกฯ สุ่มเสี่ยงกระทบเครดิตเรตติ้ง ยัน "ก้าวไกล" ไม่คิดยื่นศาล รธน. ตีความร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล.  "กกร." ชี้ ศก.ไทยปีนี้ศักยภาพด้อยลง คาดจีดีพีโต 2.8-3.3% จี้รัฐตั้งกองทุนสนับสนุนสินเชื่ออุ้มเอสเอ็มอี หวังไตรมาส 2 เห็นลดดอกเบี้ยให้สอดรับกับเฟด

ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 ม.ค. เวลา 13.00 น. นายเศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงสถานการณ์เงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.

จากนั้นเวลา 14.10 น. นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้คุยกับผู้ว่าฯ ธปท.หลายเรื่อง   ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต และเรื่องดอกเบี้ย ผลดีผลเสีย ตนพยายามจะบอกถึงสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง และเรื่องของภาคธุรกิจต่างๆ ความเดือดร้อนของประชาชนทางด้านหนี้สิน ซึ่งทางผู้ว่าฯ ธปท.ก็ได้บอกว่าท่านได้ทำอะไรอยู่บ้าง เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินระยะยาว ซึ่งกำลังทำอยู่ ตนยังบอกว่าเรื่องเหล่านี้เวลาเรามากินกาแฟที่นู่นที่นี่ ฝากให้ท่านนัดมา ให้ตนไปที่ ธปท.ที่บางขุนพรหมก็ได้ จะได้พูดคุยกัน เพราะบางหน่วยงานก็ต้องการคุยเรื่องอื่นด้วย ซึ่งจะได้มีการพูดคุยกันได้ต่อเนื่อง 

ถามว่าเรื่องดอกเบี้ยมีสัญญาณจากผู้ว่าฯ ธปท.หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า  ตนไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่ายท่าน เพราะ ธปท.ก็เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ พูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้ไปสั่งหรืออะไร เพียงแค่อธิบายเหตุผลให้ฟังในเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวม ในแง่ของเหตุการณ์ต่างประเทศ สถานการณ์ของเงินเฟ้อทั้งหมด ก็พยายามพูดคุยกัน

ซักว่าเงินเฟ้อติดลบ ทางผู้ว่าฯ ธปท.ให้ความเห็นอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวให้ทาง ธปท.เป็นคนแถลงเองดีกว่า ตนให้เกียรติท่าน เราพูดคุยกันเกี่ยวกับหัวข้อใหญ่ๆ มากกว่า เมื่อถามอีกว่ามีแนวโน้มที่ดีเรื่องดอกเบี้ยหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า คิดว่าแนวโน้มที่ดีอยู่ที่ใครมองอย่างไร อะไรคือแนวโน้มที่ดี แนวโน้มที่ดีคือต้องมีการพูดคุยกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการแจ้ง ก.ล.ต. ให้ดูแลอย่างไร เพราะตอนนี้มีหุ้นกู้หลายตัวเริ่มติดลบ นายกฯ กล่าวว่า สั่งการไปแล้วให้ดูแล ให้มีการพูดคุย และมองระยะยาวว่าหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง เราจะต้องไปพูดคุยอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงราคาพลังงาน ทำให้เกิดเงินเฟ้อ นายกฯ กล่าวว่า เราคงต้องไปดูโครงสร้างระยะยาวว่าจะทำอย่างไรบ้าง ที่จะทำให้ราคาพลังงานซึ่งทุกคนยอมรับได้            ถามอีกว่า หากตัดการแทรกแซงไป เงินเฟ้ออาจจะไม่ติดลบ นายกฯ กล่าวว่า อาจจะไม่ติดลบ แต่คงไม่ขึ้นมาขนาดนั้น อาจจะเหลืออยู่ที่ 0.1-0.2 แต่ตนขอให้ทาง ธปท.เป็นผู้ชี้แจงดีกว่า ซึ่งตรงนี้ก็มีการพูดคุยกันว่าเหตุผลหนึ่งที่เงินเฟ้อติดลบ เพราะเราไปให้มาตรการลดค่าพลังงาน

พท.บี้ ธปท.ช่วยกระตุ้น ศก.

นายกฯ กล่าวถึงการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทว่า เรื่องนี้ต้องพูดคุยในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ (คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet)  ที่จะไปถกเถียงกันวันนั้นให้เป็นที่ประจักษ์ว่าใครคิดอย่างไร และตนคิดอย่างไร ไม่อยากพูดคุยกันในที่มืดไม่ดีหรอก 

ถามว่า ได้พูดคุยกับทางผู้ว่าฯ ธปท.เกี่ยวกับประเด็นถกเถียงว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตหรือไม่วิกฤต หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีคำว่าวิกฤตเลย และไม่ได้มีการตกลงว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต แต่เป็นการพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า

ขณะที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากที่พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีกำไรรวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาทในปี 2566 ทั้งที่เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่ และขยายตัวได้ต่ำมาก จึงอยากให้ ธปท.ได้มีมาตรการควบคุมอย่าให้ธนาคารพาณิชย์เอาเปรียบประชาชนมากจนเกินไป

 “ธปท.มีเครื่องมือหลายด้านที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขยายตัวได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดช่องว่างเงินกู้เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การช่วยเหลือในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ เป็นต้น” นายพิชัยกล่าว

ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 2 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ โดยได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูล
ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการประชุม  กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่พอใจต่อผู้แทน ธปท. ภายหลังจากที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่การประชุม กมธ.ในวาระนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผู้แทนของ ธปท.ยืนยันว่านายเศรษฐพุฒิมีภารกิจเร่งด่วน แต่ยืนยันว่าตนได้รับมอบหมาย จากผู้ว่าฯ ธปท.ให้มาชี้แจงต่อ กมธ.อย่างเป็นทางการ
จากนั้น กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยหลายคนได้ท้วงติงการทำงานของ ธปท.หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากห่างกันมาก  จนสร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งต้องประสบปัญหามาตั้งแต่การระบาดของโควิด ดังนั้นแม้ ธปท.จะมีหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย ภายหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรได้มากถึง 2 แสนล้านบาท

วิกฤต ศก.หรือไม่ถาม ปชช.
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทนทั้ง 4 หน่วยงาน ถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” จะต้องนิยามว่าอย่างไร และจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ 

ทางผู้แทน ธปท.ยืนยันว่า ธปท.โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากการปรับตัวที่สูงขึ้นของดอกเบี้ย กนง.จึงได้มีมาตรการไปยังธนาคารเอกชน ให้ลงไปดูแลลูกหนี้ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล นอกจากนี้ การปรับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน กนง.มองว่ามีความเหมาะสมกับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ
ตัวแทน ธปท.ยังได้กล่าวว่า ส่วนการนิยามคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” นั้น จะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือแม้แต่การเกิดวิกฤต จากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด-19 ที่พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องมีการออก พ.ร.ก.ในช่วงเวลาขณะนั้น
นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์กรณี สว.บางส่วนต้องการให้รัฐบาลกำหนดนิยามคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาทว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤตเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันตอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่จะทำก็บอกว่าวิกฤต พรรคที่จะไม่ทำก็บอกว่าไม่มีวิกฤต

"ต้องเอาความเป็นจริงมาพูด หากอยากรู้ว่าวิกฤตหรือไม่ ให้ลงไปที่ตลาด ไปสอบถามจากชาวบ้าน ถ้าหากชาวบ้านบอกว่าไม่วิกฤต ก็ให้มาบอกรัฐบาล" นายภูมิธรรมกล่าว

วันเดียวกัน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายกฯ เชิญผู้ว่าฯ ธปท.หารือหลังขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า ต้องยืนยันในหลักการของความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ทุกประเทศจำเป็นจะต้องเดินตามหลักการนี้ เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่นโยบายทางการเงิน แต่รวมถึงเครดิตเรตติ้ง ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ว่าถ้ามีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารไปที่ธนาคารกลาง ก็มีโอกาสที่เครดิตเรตติ้งจะปรับลด เพราะจะคาดการณ์ว่ามีการแทรกแซงเพื่อให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิวาทะที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

"ต้องขอให้นายกฯ ทำเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะตามปกติจะไม่มีการแทรกแซงระหว่างฝ่ายบริหารและธนาคารกลาง" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ถามถึงกรณีรัฐบาลเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทหลังจากกฤษฎีกาทำความเห็นกลับมายังรัฐบาล น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลไม่มีความคิดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลังจะสามารถพิจารณาได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอยู่แล้ว

 “น่าเสียดายที่กฤษฎีกาไม่ได้ตีความตรงๆ ว่าสรุปแล้วทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ แต่กลับบอกเพียงแค่ว่า ถ้าถูกกฎหมายก็ทำได้ ถ้าไม่ถูกกฎหมายก็ทำไม่ได้ ก็เสียโอกาสที่อุตส่าห์รอคอยมา 1 เดือน แต่คำตอบกลับไม่ชี้ชัดฟันธง” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ถามว่า มองอย่างไรกรณีที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในวิกฤต แต่กลับออกเป็น พ.ร.บ. แทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางกฎหมายสามารถทำได้ทั้งทาง พ.ร.บ.และ พ.ร.ก. แต่เมื่อคำนึงว่าปัญหาที่เป็นวิกฤต ควรต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลกลับเลือกทางที่ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้นคือ พ.ร.บ. ที่เว้นระยะเวลาและยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าเป็นวิกฤตเร่งด่วนจริงอาจจะไม่ทันการณ์ก็ได้ หากเกิดข้อติดขัด เช่นหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยแล้วตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร กรอบเวลาในการแก้ปัญหาที่วางไว้ก็อาจเป็นไปไม่ได้

กกร.หวังไตรมาส 2 ลดดอกเบี้ย

ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นประธานการประชุม กกร. โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

จากนั้นนายสนั่นแถลงว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 2.8-3.3% โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Receipt และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 33-34 ล้านคน ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องจากนโยบายลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่งผลให้ประมาณการเงินเฟ้อปรับลดลง

นายสนั่นกล่าวว่า ที่ประชุมได้วางกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี จะอยู่ในกรอบ 2.8-3.3% ซึ่งเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่จะเติบโตจากปี 66 ที่อยู่ในกรอบ 2.5-3.0% ด้านการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 2.0-3.0% โตจากปี 66 ที่คาดว่าจะติดลบ 2.0-ติดลบ 1.0% ขณะที่ด้านเงินเฟ้อมีความผันผวน โดยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ในกรอบ 1.7-2.2% ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสน้อยปี 66 ที่อยู่ที่ 1.2%

"เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับกลางและระดับล่าง ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือได้เงินมาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ SMEs" นายสนั่นกล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว ในระยะข้างหน้าดอกเบี้ยควรปรับทิศทางทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวนโดยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในกรอบ 0.7-1.2%

"ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยคาดว่าจะไม่ขึ้นมากกว่านี้ ส่วนจะลดลงตอนไหนก็ต้องรอดู หวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ถ้าเฟดปรับลงเมื่อไร ธปท.ก็ควรจะทำทันที คาดว่าไตรมาสที่ 2 คงจะมีแนวทางในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสม" นายสนั่นกล่าว

ประธาน กกร.กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่อยากให้รัฐบาลขับเคลื่อนในปี 2567 คือ 1.สานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 6 ด้านที่ กกร.เคยเสนอไว้ ได้แก่ ความสามารถในการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกธุรกิจ อาทิ การแก้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล การพัฒนาบุคลากร แรงงาน การพัฒนาและดูแลเอสเอ็มอี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.ผันเศรษฐกิจนอกระบบมาอยู่ในระบบ เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่เกินไป เป็นต้นตอของหลายปัญหา เช่น ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ และมีความเหลื่อมล้ำสูง และ 3.เร่งเครื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ

ส่วนนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท และมีการคิดดอกเบี้ยที่สูงว่า จากที่ได้หารือกันในผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีข้อมูลว่าทั้งระบบธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรสูง ต้องดูแลเงินฝาก ถ้าหากดูส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารไทยสูง แต่มีต้นทุนการเงินที่สูงเช่นเดียวกัน และมีความเสี่ยงที่หนี้ไม่สามารถชำระคืนได้สูงกว่าประเทศอื่น และผลตอบแทนจากสินทรัพย์มีแค่ 1% ต่ำมากเมื่อเทียบประเทศอื่นที่เฉลี่ย 2-4%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางที่มีปัญหา แม้จะหมดมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปเมื่อสิ้นปี 2566 โดยมียอดหนี้รับการดูแลในธนาคารพาณิชย์ 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.5 ล้านบัญชี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2/2567 ส่วนกรณีธนาคารออมสินนำร่องลดดอกเบี้ย MRR นับเป็นเรื่องที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ปัญหาสำคัญคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้

"เอกชนมีปัญหาเรื่องชำระคืนหุ้นกู้นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้ภาครัฐค้างชำระค่าจ้างเอกชน ส่งผลให้เอกชนขาดเงินทุนหมุนเวียน" ประธานส.อ.ท.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ไม่รู้ 'ทักษิณ' ช่วยเจรจาชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ย้ำไทยยึดแนวทางอาเซียน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากมีการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ครั้งแรก ถึงสถานการณ์ภายในเมียนมา รมว.ต่างประเทศได้มีการรายงานอย่างไรบ้าง หลังมีกระแสข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ