22กพ.ทักษิณกลับบ้านม็อบสุกงอม

“เสรี” ย้ำมีการสกัดล้มอภิปราย แต่ “สว.ตัวตึง” โวได้เสียงครบอาจถึง 90 คน ซัด “ชั้น 14” จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก! วันชัยปูดเรื่องปกติล็อบบี้ “ล่า-ถอน” ชื่อ เผยให้รอดู สว.กลุ่มใหญ่ที่เป็นข้าราชการยังสงวนท่าที “เทพไท” ชวนคนยี้ระบอบทักษิณ 2 ก.พ.ไปร่วม คปท. “นิพิฏฐ์” เปิดเทคนิค 3 ข้อทำแล้วอยู่เหนือกฎหมาย “จตุพร” ฟันธง 22 ก.พ.เวลาสุกงอม “นักโทษเทวดา” และรัฐบาลเพื่อไทยฉิบหายแน่ เพราะคนไทยไม่ยอมเสียรู้ใครง่ายๆ

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะเข้าชื่อ 84 คนเพื่อขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีคนสกัด สว.ไม่ให้ลงชื่ออภิปราย ว่าการจะเปิดอภิปรายได้นั้นต้องมีสมาชิกมาลงชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเราได้เอาญัตติให้สมาชิกไปศึกษา เพื่อให้เห็นประโยชน์ที่จะมีต่อประชาชน แต่ปรากฏว่าสมาชิกหลายคนไม่รับรองให้หรือไม่ร่วม บางคนก็พูดกันตรงๆ ว่ามีคนขอกันบ้าง มีพวกกันบ้าง ซึ่งเราพยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องของหน้าที่ สว. จึงเป็นความยากลำบากอยู่ระดับหนึ่งว่า สว. 250 คน ต้องใช้ 84 เสียง จริงๆ ถ้าไม่มีใครมาล็อบบี้ปล่อยตามธรรมชาติก็ครบไปนานแล้ว

นายเสรีย้ำว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่การจะไปล้มรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ สว.เสนอญัตติ เพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงหาทางออกของประเทศใน 7 ประเด็น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่มีแนวคิดไม่ให้มีผู้สนับสนุนญัตติครบ คิดผิด หากรัฐบาลตอบได้สามารถจะดำเนินการตามที่เสนอญัตติไป ก็เป็นเครดิตของรัฐบาล อย่าไปปิดกั้น ควรให้ สว.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้

เมื่อถามถึงกรณีนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. ระบุว่าได้รับการประสานมาว่าขณะนี้มีเสียงเกิน 90 แล้ว สรุปเสียงถึงหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ตอนนี้เป็นความหวังเรานำข้อมูลมาให้สมาชิกได้อ่าน ในปัจจุบันมีผู้แจ้งความจำนงไว้ประมาณ 80 คนแล้ว ซึ่งน่าจะเปิดอภิปรายได้ เราพยายามจะทำให้ได้ เพราะเป็นภาพลักษณ์ภาพรวมของ สว.ที่ไม่อยู่ใต้อาณัติใคร เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองในช่วงเวลาสุดท้ายที่ สว.ใกล้หมดวาระแล้ว เราตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด ถือเป็นผลงานสุดท้ายที่เราพยายามทำเพื่อประชาชน  แม้ว่าเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ความรับผิดชอบในอำนาจหน้าที่เป็นสิ่งที่ สว.ควรต้องทำ

เมื่อถามว่า มีการไปขอเสียง สว.ในส่วนของผู้นำเหล่าทัพหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นราชการ ไม่อยากยุ่งเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ทำหน้าที่ เราต้องเข้าใจตรงนั้น เรารู้ผลอยู่แล้ว ไปขอเขาก็ไม่ลงชื่ออยู่แล้ว

ส่วนจะทบทวนหรือไม่ที่ สว.ยกมือให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังเป็นนายกฯ นายเสรีกล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ตอนตั้งรัฐบาลก็ตั้งไป แต่ตอนทำหน้าที่ตรวจสอบก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง ขณะนี้เราดูการทำงานในช่วงเวลา 4 เดือน ว่าต้องมีอะไรทักท้วงหรือเสนอแนะบ้าง

สำหรับกรณีกังวลว่าไม่ให้ สว.แตะเรื่องคนชั้น 14 นั้น นายเสรีระบุว่า มีหลายเรื่อง ในส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องเศรษฐกิจการแจกเงินดิจิทัลก็ส่วนหนึ่ง ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการนำมาพูดกันในสภาก็เป็นเรื่องที่ดีที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นส่วนของอำนาจหน้าที่ที่เราต้องทำ

ด้านนายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เช้านี้ได้รับรายงานว่าเสียง 84 เสียงน่าจะถึง และอาจเกินเล็กน้อยไปถึง 90 เสียง ซึ่งจะทำให้เปิดอภิปรายได้ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอถึงประธานวุฒิสภาได้ในสัปดาห์หน้าเพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล ว่าหากได้รับเอกสารแล้วจะเปิดการอภิปรายได้เมื่อไหร่ ส่วนกระแสข่าวมีการล็อบบี้ไม่ให้เปิดอภิปรายได้นั้น อย่าเรียกเป็นการล็อบบี้หรือการสกัด เพราะ สว. 250 คนมีเอกสิทธิ์ในการโหวตอย่างไรก็ได้ การจะร่วมลงชื่อหรือไม่ลงถือเป็นเอกสิทธิ์ของ สว.แต่ละคน

เมื่อถามถึงการโน้มน้าวไม่ให้ สว.ร่วมลงชื่อ โดยอ้างเรื่องว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศและมีความกังวลในเรื่องของชั้น 14 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวนั้น นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ได้ฟังหลายฝ่าย บอกได้เลยว่าอนาคตจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก จะเป็นการจารึกไว้ว่ามันเป็นเรื่องประหลาด ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทย ถึงบอกว่าไม่เกินที่จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

เมื่อถามย้ำว่า สว.ส่วนใหญ่มองว่าเรื่องชั้น 14 เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องกับกระบวนการยุติธรรม นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่คนที่มีข้อมูลและมีหลักฐานที่จะมาอภิปรายให้ประชาชนรับฟัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาตอบ ทั้งเรื่องของเงินดิจิทัล เรื่องนายทักษิณและเรื่องเศรษฐกิจ เพราะ สว.หลายคนทำการบ้านและหาข้อมูลเรื่องนี้ที่จะอภิปราย และเรื่องของนายทักษิณไม่พ้นที่จะถูกนำมาอภิปรายอยู่แล้ว

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า มีการล็อบบี้ที่จะให้ สว.ลงชื่อ ก็มีทั้งโทรศัพท์ ไลน์ และพูดคุยกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปราย และกลุ่มที่ยังอยู่กลางๆ และเฉยๆ รอดูท่าทีก็ยังมีอยู่ เพราะเห็นว่าระยะเวลาในการยื่นญัตติยังมีเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็มีบางพวกบอกว่าที่แล้วมาไม่เคยใช้อาวุธนี้ แล้วทำไมมาใช้ตอนนี้ จึงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่

 “ควรมีรายชื่อสนับสนุนเกิน 10 คน เราต้องประเมินไว้ว่าถึงเวลาใกล้ๆ ก็เป็นสิทธิ์ที่สมาชิกลงชื่อไปแล้ว หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นถอนตัว ก็อาจทำให้ไม่ครบ 84 คนก็ได้  เพราะฉะนั้นในหลักปฏิบัติของคณะดำเนินการ ควรมีรายชื่อเกินอย่างน้อยเป็นสิบคน กันเผื่อขาดเผื่อเหลือ เพราะณ เวลานี้การเคลื่อนไหวก็มีทั้งให้ลงชื่อ ในขณะเดียวกันก็มีคนล็อบบี้ให้ไม่ลงชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งอะไร ผมถือว่าใครจะรณรงค์ให้ได้เสียงมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม แต่เท่าที่ประเมินรายชื่อจะขึ้นอีก 5-6 คน หรืออาจมีคนถอย ผมก็ยังคิดอยู่ว่ายังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งเหมือนกัน” นายวันชัยกล่าว

ปูด สว.กลุ่มใหญ่ไม่ขยับ

เมื่อถามว่า มีเหตุผลอะไรที่ สว.ที่ไม่ร่วมลงชื่อจะไม่ร่วมอภิปรายด้วย นายวันชัยกล่าวว่า กลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วย เขาบอกว่ารัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงาน 3-4 เดือน งบประมาณปี 2567 ก็ยังไม่ได้ใช้ และเราเป็นกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลชุดนี้ จึงควรเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือและใช้งบประมาณเสียก่อน ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะเร่งเครื่องในลักษณะตรวจสอบขณะนี้ ที่สำคัญที่สุดที่กลุ่ม  สว.กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ในวุฒิสภา ถ้ากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยขยับเท่าไหร่ การขับเคลื่อนในการดำเนินการเรื่องใดๆ ก็อาจไม่ง่ายนัก แต่เท่าที่ดูท่าทีของกลุ่มนี้ คือ 1.กลาง และ 2.ไม่เห็นด้วย  ส่วนที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม สว.พลเรือน กับ สว.อิสระ 

เมื่อถามถึงเรื่องชั้น 14 ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่หรือไม่  นายวันชัยกล่าวว่า เรื่องชั้น 14 อาจเป็นประเด็นหนึ่ง แต่บางกลุ่มก็บอกว่าประมาณเดือน ก.พ. กว่าที่ สว.จะอภิปรายนายทักษิณก็อาจได้พักโทษไปแล้ว เพราะครบ 6  เดือน ถ้าไปอภิปรายในเรื่องนี้เหตุการณ์ก็อาจผ่านไป เรื่องนี้ก็จบไปแล้ว แปลว่าไม่ทัน ซึ่ง สว.สามารถทำได้โดยการตั้งกระทู้หรือดำเนินการใดๆ เรื่องนี้ในสภาได้ ซึ่งก็มีคนอภิปรายไปแล้ว

 “ส่วนตัวไม่ได้ลงชื่อในญัตติ เพราะผมเป็นกลุ่มกลางๆ  ยังไม่ถึงขนาดไม่ได้เห็นด้วย และไม่ถึงสนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะต้องยอมรับว่าถ้าเขาสามารถเปิดได้ก็อาจร่วมอภิปรายด้วย ดังนั้นผมต้องดูท่าทีต่อไป แต่เห็นว่าหากทำแล้วก็ต้องทำออกมาให้ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นมีเนื้อหาสาระจริงๆ ก็ทำไปเถอะ” นายวันชัยกล่าว

วันเดียวกัน ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนายทักษิณ โดยนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวเรื่อง  เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่า ขอเป็นกำลังใจให้เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)  ในการเคลื่อนไหวและการชุมนุมเพื่อทวงถามความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อ น.ช.ทักษิณเยี่ยงนักโทษเทวดา

“ผมได้ติดตามการชุมนุมมาโดยตลอด ใจจริงอยากเข้าร่วมด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากผมเป็นนักโทษที่ได้รับการพักโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ เกรงว่าการเข้าชุมนุมทางการเมืองจะเป็นประเด็นให้ถูกกล่าวหาได้ จึงขอปฏิบัติตัวตามระเบียบของกรมคุมประพฤติ ใช้สิทธิ์ในฐานะพลเมืองชั้น 2 ของประเทศ แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการเคลื่อนไหว ผ่านเพจและเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่เป็นประจำ ซึ่งการชุมนุมในวันที่ 2 ก.พ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ได้เข้าร่วมการชุมนุม และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ คปท.ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าให้บริวาร ลูกสมุน และสาวกของคุณทักษิณ สบประมาทพลังประชาชนฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณว่าอ่อนแอ จุดกระแสไม่ติดได้” นายเทพไทโพสต์และว่า ผู้ที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณจำนวนมากอาจเกิดการอ่อนล้า และสับสนทางการเมือง แต่ก็เชื่อว่าจิตใจที่รักชาติ รักความเป็นธรรม ก็ยังคงอยู่ในหัวใจไม่เสื่อมคลาย เมื่อสถานการณ์สุกงอม ก็เชื่อว่ามวลชนคนเหล่านี้จะไม่นิ่งดูดาย จะต้องออกมาแสดงพลัง

เทคนิค 3 ข้ออยู่เหนือ กม.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า หากต้องการให้รัฐไทยปฏิบัติต่อคุณเหมือนเป็นเทวดา ให้ปฏิบัติดังนี้ 1.หาเงินไม่ว่าจะหามาทางไหน ทุจริตก็ไม่เป็นไร ให้มีธนบัตรที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไว้เยอะๆ 2.เมื่อมีเงินเยอะแล้วให้แสวงหาอำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะได้มาอย่างไรก็ไม่สำคัญ และ 3.เมื่อมีอำนาจแล้วต้องหาเงินให้มากยิ่งขึ้น เพราะอำนาจที่ได้มาเพราะเงิน การรักษาอำนาจไว้ต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

“เมื่อมีครบ 3 ข้อแล้ว กฎหมายก็เป็นเพียงกระดาษ ที่สร้างความรำคาญให้คุณเท่านั้น คุณสามารถฉีกมันออกเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อคุณทำตามคำแนะนำตามข้อ 1-3 ได้ แล้ว ข้าราชการที่รักษากฎหมายซึ่งรับเงินเดือนจากภาษีอากรของคุณ ก็มีอาการเชื่องๆ ตะกุกตะกัก น่ารัก ไม่น่ากลัวอะไร ข้าราชการที่กล่าวถึง หมายถึงข้าราชการบางคน ที่สยบยอมต่ออำนาจ และสยบยอมต่อธนบัตรที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น”

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า อารมณ์ประชาชนไม่พอใจนักโทษทักษิณเริ่มเดือดพล่านมากขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์วันที่ 22 ก.พ.นี้ อาจเป็นปัญหาลุกลามไม่รู้จบได้ ซึ่งปัญหานักโทษทักษิณ ชั้น 14 กำลังลุกลามไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายให้มาผสมรุมพังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ไม่แตกต่างกับปัญหาออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอย แล้วทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้มลงไม่เป็นท่ามาแล้วเมื่อปลายปี 2556

 “วันนี้พฤติกรรมดังกล่าวได้กลับมาอีก แต่เสียงของคนที่ออกมาปกป้องกรณีชั้น 14 มักพรรณนาแต่เรื่องการยึดอำนาจ เรื่องทำคุณงามความดีมาก่อน หรือเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค แต่เรื่องคดีทั้งหมดมีโทษจำคุก 8 ปี แล้วได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี ล้วนเป็นเรื่องมีมาตั้งแต่ชั้นศาลตัดสินให้จำคุก ดังนั้นหากไม่ถูกจองจำในคุกเลยสักวัน  ความดีความชั่วจะนำมาหักล้างกันไม่ได้” นายจตุพรระบุและว่า พวกเชียร์นักโทษทักษิณ อย่ามาอ้างแต่เป็นผู้ทำประโยชน์ให้ประเทศมากมาย ส่วนการเอาประโยชน์จากประเทศชาติไปจนมีคดีถูกศาลพิพากษาลงโทษ ทำไมไม่มาพูดบ้าง

นายจตุพรกล่าวว่า หากนักโทษทักษิณนั่งอยู่ในหัวใจประชาชนจริงแล้ว ในวันที่ได้เสียงเลือกตั้งมา 377 เสียง มีประชาชนเลือกมากถึง 19 ล้านเสียง และเมื่อถูกยึดอำนาจในปี 2557 ทำไมไม่มีประชาชนออกมาต่อต้านเลย กลับสร้างสถานการณ์หนีออกนอกประเทศ โดยผู้มีอำนาจบ้างคนที่ยึดอำนาจสมคบคิดสร้างสถานการณ์ปลอมๆ มาหลอกประชาชนเพื่อเปิดทางให้หนี ดังนั้นสิ่งผิดปกติทั้งปวงจึงเริ่มมีมาตั้งแต่ต้นการยึดอำนาจแล้ว ความสงสัยมากมายของนักโทษชั้น 14 ไม่มีความกระจ่างแจ้งเลย แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมราชทัณฑ์ยังไม่ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา เพราะมีเป้าหมายให้นักโทษสามารถอยู่ รพ.ตำรวจต่อจนครบ 180 วันในวันที่ 22 ก.พ.นี้ เพื่อให้เข้าคุณสมบัติพักโทษได้กลับไปอยู่บ้าน

ชี้ 22 ก.พ.เวลาสุกงอม

นายจตุพรยังกล่าวถึงการชุมนุมเรื่องนี้ว่า สถานการณ์อารมณ์ไม่พอใจนักโทษชั้น 14 ยังไม่ถึงเวลาสุกดิบที่คนจะออกมาชุมนุมกันอย่างฉับพลัน แต่การชุมนุมต้องการกระตุ้นให้ประชาชนมีความสำนึกถึงคำว่าอภิสิทธิ์ชน สองมาตรฐาน และการทำลายกระบวนการยุติธรรม คำเหล่านี้จะสะสมอารมณ์ประชาชนบนถนนไปเรื่อยๆ เพราะการกระทำที่ผ่านมาล้วนเกิดจากการทำตัวเองจนพังกันมาทั้งนั้น แล้วคอยดูว่าวันที่ 22 ก.พ.นี้ มันจะง่ายอย่างที่จะเปิดโอกาสให้พักโทษได้กลับไปอยู่บ้านได้หรือไม่ รวมทั้งเชื่อว่าสถานการณ์นักโทษชั้น 14 จะพาให้ประเทศวิกฤต หากคนไทยกว่าครึ่งประเทศชอบระบบสองมาตรฐาน ไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชนแล้ว ย่อมนำพาให้ประเทศฉิบหาย ยิ่งการได้ลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี แต่ไม่ยอมเข้าคุกสักวัน เท่ากับเป็นการเปลือยจิตใจออกมาล่อนจ้อนจนถูกประจาน แล้วจะนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ อีกมากมาย

นายจตุพรยังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจของสภา ไปตรวจการทำงาน รพ.ตำรวจ แต่ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปชั้น 14 เพื่อดูอาการนักโทษทักษิณ เมื่อประธาน กมธ.สอบถามหัวหน้าพยาบาลได้ความว่า ไม่เคยเข้าไปดูอาการนักโทษชั้น 14 มีแต่ลูกน้องเข้าไปในห้องป่วยของนักโทษ ซึ่งสิ่งสำคัญที่หัวหน้าพยาบาลบอกคือว่า ญาติไม่ค่อยมาเยี่ยมดูอาการผู้ป่วยเลย  นักโทษทำตัวเหมือนผู้ป่วยอนาถา ไร้ครอบครัวมาเฝ้าห่วงใย ซึ่งเป็นสิ่งแปลกอย่างมาก ซ้ำร้ายกล้องวงจรปิดก็เสียหาย รพ.ตำรวจยังไม่คิดจะเอามาติดตั้งใหม่เลย จึงเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง

 “กรมราชทัณฑ์รายงานอาการป่วยของนักโทษทักษิณ มีอาการเพียงต้องเฝ้าระวังเท่านั้น ดังนั้นเมื่อไม่ได้ป่วยต้องส่งตัวกลับมาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และนายแพทย์คอยเฝ้าระวัง แล้วทำไมจึงต้องอ้างให้อยู่ รพ.ตำรวจเกินกว่า 120 วันอีก ซึ่งไม่สมเหตุผลเลย อะไรที่ไม่จริงแล้วยิ่งพูด ยิ่งเขียน ก็ยิ่งมีพิรุธทั้งสิ้น ซึ่งคนไทยเสียอะไรก็ได้ แต่ไม่ยอมเสียรู้ เพราะเท่ากับถูกหลอกกันมาตลอดตั้งแต่การหาเสียงตั้งรัฐบาล แล้วยังพิสูจน์ไม่ได้ว่านักโทษทักษิณป่วยและอยู่ รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ เท่ากับเป็นการท้าทายประชาชน” นายจตุพรกล่าวและว่า สถานการณ์วันที่ 22 ก.พ. เรื่องนักโทษชั้น 14 จะกลายเป็นชนวนให้เรื่องราวต่างๆ มาผสมกัน แล้วจะลากไปสู่ปัญหาต่างๆ  ของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนักโทษชั้น 14 จึงหาเรื่องกันเองทั้งนั้น ทำตัวเอง ถ้าจะพังก็อย่าโทษคนอื่น ถ้าจะฉิบหายอีกรอบก็เพราะตัวเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง