98สว.จ่อยื่นซักฟอก/ก.ก.ถล่มซ้ำ

“เสรี” เผย สว.ลงชื่อ 98 คนแล้ว เตรียมยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป 22 ม.ค.นี้ ขอเวลาซักฟอก 2 วัน ไม่ตัดประเด็น "ทักษิณ" ชี้ใครถอนตัวต้องตอบสังคมให้ได้ ขณะที่ "ก้าวไกล" เอาด้วย เล็งซักฟอกหลังจบงบฯ 67 “อนุทิน” ยัน รบ.พร้อมชี้แจง ด้าน คปท.จี้ ป.ป.ช.เอาผิดอธิบดีกรมคุก ขณะที่ “จตุพร” เผยหลัง 22 ก.พ. จับตา “ยิ่งลักษณ์” เดินตามแนวพี่ชาย เชื่อม็อบจุดติดแน่หลังไม่พอใจอภิสิทธิ์ชนเอื้อสองมาตรฐาน 

ที่รัฐสภา วันที่ 16 มกราคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)  การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะแกนนำยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มี สว.ร่วมลงชื่อในญัตติแล้ว 91 คน ทั้งนี้ การเปิดให้ลงชื่อจะยังคงเปิดให้ สว.ที่สนใจจนถึงวันที่ 16 ม.ค. จากนั้นจะพิจารณายื่นเรื่องให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในช่วงวันที่ 19 ม.ค.หรือ 22 ม.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมี สว.ร่วมลงชื่อเพิ่มอีก แต่จะไม่มีผู้ใดถอนรายชื่อ เพราะกว่าที่ สว.จะร่วมลงชื่อได้พิจารณาเนื้อหาของญัตติอย่างรอบคอบแล้ว สำหรับกรอบเวลานั้น ส่วนตัวมองว่าควรได้เวลา  2 วัน

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองไม่อยากให้อภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก่อนยื่นญัตติต้องทบทวนประเด็นดังกล่าวหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่มีการทบทวน เพราะก่อนที่ สว.จะลงชื่อสนับสนุนญัตติได้ส่งรายละเอียดให้พิจารณาแล้ว ดังนั้นไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้

นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวถึงกระแสกระบวนการล็อบบี้ให้มีการถอนรายชื่อหรือไม่ว่า สว.เราไม่ได้มีพรรคการเมือง แต่ละคนเป็นอิสระตัวเอง เราว่ากันตรงๆ แต่ถามว่าเป็นอิสระ 100% หรือไม่ บางคนก็เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นพรรคพวก  เป็นรุ่น เป็นเพื่อนเป็นฝูงกัน เพราะฉะนั้นกระแสเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลังก็เป็นได้

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. ให้สัมภาษณ์กรณีกังวลหรือไม่ว่า สว.ที่ลงชื่อไปแล้ว ท้ายที่สุดจะมีการถอนชื่อทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติดังกล่าวได้ ว่าไม่กังวล เพราะเห็นว่าทุกคนเป็นผู้ใหญ่อยู่แล้ว รวมถึงก่อนลงชื่อก็มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดีแล้ว ซึ่งหากลงชื่อและมีการถอนภายหลัง เขาก็ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ และคิดว่าจะมีการลงชื่อเพิ่ม ไม่มีการถอน

ทั้งนี้ เราพร้อมที่จะเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ลงชื่อให้สังคมได้รับทราบ ส่วนรูปแบบการอภิปรายว่าจะเป็นในนาม กมธ.หรือให้เอกสิทธิ์ สว.ทุกคนสามารถอภิปรายได้นั้น ทั้งนี้ ตนมองว่า 1-2 วันจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้แจ้งสื่อมวลชนว่า ขอเชิญสื่อมวลชนทำข่าวคณะสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ นำโดยนายเสรี จะยื่นเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในจันทร์ที่ 22 ม.ค. เวลา 09.30 น. ณ บริเวณหน้าห้องประชุมวุฒิสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยนายเสรีให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า มียอด สว.ร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 98 คน โดยจะเปิดรับให้ สว.ร่วมลงชื่อได้ถึงเช้าวันที่ 22 ม.ค.

  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลกำลังพิจารณาว่าจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรืออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หลังจบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่า เป็นรัฐบาลต้องพร้อมชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายรูปแบบไหน ถ้าสภามีความเคลือบแคลงสงสัยสิ่งใด  หรือต้องการวิพากษ์วิจารณ์ มีข้อชี้แนะ  เราก็พร้อมหาข้อมูลที่ถูกต้องมาชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจ

 เมื่อถามว่า มี สว.เปิดเผยว่ามีฝ่ายรัฐบาลเข้ามากดดันไม่ให้ สว.เข้าชื่อครบ 84 คน เพื่อไม่ให้เปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 นายอนุทินตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มี ของคนอื่นผมไม่รู้ แต่ของพรรคผมไม่มีแน่นอน"

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในการประชุมวิปฝ่ายค้านในวันนี้ ได้มีการหารือถึงการเปิดอภิปรายรัฐบาลในช่วงปลายเดือน มี.ค. หรือต้นเดือนเม.ย.นี้ หลังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 เสร็จสิ้น ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นการพิจารณาทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หรืออภิปรายเพื่อลงไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลและประเด็น และจะมีการหารือในฝ่ายค้านร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นรูปแบบใด

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล และนายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำกลุ่ม ได้ติดตามความคืบหน้ากรณียื่นเรื่องร้องเรียนให้ ป.ป.ช.สอบ รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ถึงกรณีที่ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน

นายพิชิตกล่าวว่า ได้กล่าวโทษอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ การให้นายทักษิณอยู่นอกเรือนจำเกิน 120 วัน  และขยายระยะเวลาการรักษาตัว ซึ่งอ้างเหตุการเฝ้าระวังการป่วย ซึ่งไม่มีระบุไว้ตามระเบียบข้อไหนเลย ดังนั้นการทำแบบนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 รวมทั้งกล่าวโทษอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่อนุญาตให้นายทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำด้วย 

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า  อารมณ์ประชาชนจะปะทุขึ้นเข้มข้นนับแต่วันที่ 22 ก.พ.นี้ ที่นักโทษชั้น 14 อยู่ รพ.ตำรวจครบ 180 วัน เข้าข่ายได้รับการอภัยโทษ สะท้อนถึงพวกอภิสิทธิ์ชนที่กระบวนการยุติธรรมเอื้อสองมาตรฐานเอาเปรียบนักโทษทั่วไปที่ไม่ได้สิทธิ์เท่าเทียมกัน

 “ไม่เพียงเท่านั้น ในสถานการณ์ถัดกันไป หากยิ่งลักษิณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับไทยตามรอยเท้าของนักโทษทักษิณ ผู้พี่ ถ้าเข้ามาไม่ติดคุก โดยไปอยู่ รพ.ตำรวจเช่นเดียวกันแล้ว แรงปะทุของประชาชนจะก่อหวอดขึ้นได้ง่าย อารมณ์ต่อต้านสองมาตรฐานคงจุดติด และฝ่ายอำนาจอาจนั่งตัวสั่นด้วยเส้นการชุมนุมของประชาชนออกมาหนุนช่วยปกป้องความชอบธรรมของบ้านเมือง” นายจตุพร กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง