ก.ก.แก้2กม.ลูก ชงห้ามยุบพรรค ตัดสิทธิเลือกตั้ง

"ประธานชวน" วางไทม์ไลน์กฎหมายลูกคร่าวๆ เชื่อกลางเดือน ม.ค.บรรจุ จบในสมัยประชุมนี้ “ก.ก.” เสนอ 2 ร่างแล้ว ชงกองทุนพัฒนาการเมืองปล่อยกู้ ให้เข้าถึงแหล่งทุนออนไลน์! พ่วงยกเลิกยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ กัดฟันไม่เอา ส.ส.ปัดเศษ

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงขั้นตอนกระบวนการในการยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าฉบับแรกที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอมาถูกต้อง ได้ผ่านกระบวนการขั้นต้นแล้ว ซึ่งจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไปคือการรับฟังความคิดเห็น ส่วนเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. พรรคร่วมรัฐบาลเสนอมา และในวันนี้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็จะยื่นร่างด้วย ซึ่งทุกฉบับจะตรวจสอบเหมือนกัน โดยเริ่มจากรายชื่อ แต่เชื่อว่าประสบการณ์พรรคการเมืองนั้นจะมีความเข้าใจเรื่องการเสนอกฎหมายให้ข้อผิดพลาดน้อย ซึ่งจากการตรวจรายชื่อเบื้องต้นก็ไม่มีอะไรผิดพลาด

“จะเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวหรือไม่นั้น ต้องรอดูก่อน เพราะยังมีเวลาอีก 2 เดือน แต่กฎหมาย 2 ฉบับนี้คาดว่าน่าจะพิจารณาในสมัยประชุมสามัญได้ คิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน หากมีการตรวจสอบครบถ้วนแล้ว ก็จะพิจารณาว่าจะบรรจุเมื่อไหร่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบให้ครบถ้วน”

เมื่อถามว่า ระยะเวลาที่จะเริ่มพิจารณาคือเดือน ม.ค.หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คิดว่าน่าจะบรรจุได้ตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.นี้ และคาดว่าจะเสร็จในสมัยประชุมนี้

และในเวลา 10.10 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ ส.ส.พรรค ได้ยื่นแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับต่อนายชวน ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา โดยนายพิธากล่าวว่า กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เรื่องในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สิ่งที่พรรคสนใจคือ เรื่องการระดมทุนของพรรคการเมืองในระบบการเมืองไทย คิดว่ากองทุนพัฒนาการเมืองจะเป็นแหล่งเงินสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองไทยสามารถยืมได้ การเข้าถึงแหล่งทุนผ่านระบบออนไลน์ก็คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในระบบการเมืองไทยได้แล้ว นอกจากนี้ เรื่องการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง คิดว่าการที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรมีอยู่ในระบบนิเวศการเมืองไทย และเรื่องสิทธิทางการเมือง ยกเลิกโทษการเพิกถอนเลือกตั้งในบทกำหนดโทษ เนื่องจากโทษอาญาในการลงโทษผู้กระทำผิดมีอยู่แล้ว และสิทธิการเลือกตั้งเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะมี

นายพิธากล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเรื่องการรับผิดรับชอบขององค์กรอิสระในการจัดการเลือกตั้งให้ประชาชนเข้าถึงได้ โปร่งใสและเป็นธรรม เช่น การแก้ไขบัตรเลือกตั้งที่มาจากการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรที่จัดส่งหลังจากนับคะแนนไปแล้วไม่ถือเป็นบัตรเสีย การจัดการเลือกตั้งการรายงานผลต่อเนื่องผ่านกระบวนการอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ส่วนเรื่องการคำนวณการได้มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญที่ได้ล็อกไว้ ทำให้เราจำเป็นต้องนำเสนอในระบบ MMM ซึ่งเป็นระบบคู่ขนานและคำนวณแบบปี 2540

“ก่อนหน้านี้พรรคเคยเสนอแบบ MMP ที่เหมือนกับเยอรมนี เพราะคิดว่าจะทำให้ตอบโจทย์เสียงไม่ให้ตกน้ำ และทำให้รัฐสภามีความสมดุล มีการสนองถึงอุดมการณ์ของหลายๆ พรรค และมีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะไม่อยากกลับไปสู่ประสบการณ์ย้อนหลังเมื่อ 20 ปี แต่เมื่อกฎกติกาออกมาเช่นนี้ เราก็พร้อมก้าวข้ามเรื่องเหล่านั้น และพร้อมต่อสู้ในระบบ MMM โดยการปรับยุทธศาสตร์และองคาพยพของพรรคใหม่ในการสู้ศึกเลือกตั้งปีหน้าที่จะถึงในเร็วๆ นี้” นายพิธาระบุ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีสภาล่มจะกระทบต่อการพิจารณากฎหมายสำคัญหรือไม่ ว่าไม่กังวล คนที่กังวลคือสภา และเป็นเรื่องที่สภานั้นต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันให้ได้ และมีการรายงานถึงสถิติการเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคไหนเป็นอย่างไร ใครไม่เข้า ไม่เข้าเพราะอะไร ก็ทราบเพียงแค่เท่านั้น บางทีก็เป็นเรื่องของการเมือง ดังนั้นก็ต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ เพราะฝ่ายบริหารทำงานคนเดียวไม่ได้ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องช่วยกัน

“ไม่ขอโทษใคร โดยขอให้ร่วมมือกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หากค้านทุกเรื่องก็ไม่มีอะไรดีขึ้น สิ่งที่ทำอยู่ก็หยุดชะงัก ซึ่งก็มีโครงการดีๆ หลายอย่าง หากสร้างความบิดเบือนไม่เข้าใจกันมากๆ ก็ไม่ไหว ซึ่งผมเองไม่ยุ่งเรื่องของสภาอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง