‘สิระ’ อ่วมหนัก จ่ายคืน8.4ล้าน ‘ตั้งซ่อม’ เดือด

"สิระ" อ่วม! เบื้องต้นต้องจ่ายเงินคืนสภา 8.4 ล้านบาท ยังเหลือค่าเดินทางจัดสัมมนานอกสถานที่ สัปดาห์หน้ารู้ ขณะที่เลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. เดือดแน่ ส่งคนลงแข่งไม่น้อยต่ำกว่า 5 พรรค "ชลน่าน" เชื่อเป็นสนามวัดกระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 มีรายงานจากรัฐสภาถึงความคืบหน้าการทวงเงินเดือน ส.ส. และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ คืนสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสถานะการเป็น ส.ส. กรณีมีคุณสมบัติต้องห้ามถูกคำพิพากษาจำคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ว่า ล่าสุดสำนักการคลังได้ตรวจสอบเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของนายสิระที่ต้องจ่ายคืนให้สภาผู้แทนราษฎรเสร็จเรียบร้อยในหลายรายการแล้ว

ได้แก่ 1.เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม (เงินเดือน) 2.เงินเดือนค่าตอบแทนผู้ช่วย ส.ส.ของนายสิระ 7 คน 3.ค่าเบี้ยประชุม กมธ.ชุดต่างๆ 4.ค่ารักษาพยาบาล ตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 ถึงวันที่ 22 ธ.ค. 2564 รวมเกือบ 3 ปี พบว่ามีเงินที่นายสิระต้องจ่าคืนแก่สภาเบื้องต้น 8,490,000บาท แต่ยังเหลือการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าเดินทางและการจัดสัมมนานอกสถานที่ของ กมธ.ชุดต่างๆ ของนายสิระที่ยังตรวจสอบไม่เสร็จ คาดว่าจะตรวจสอบเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นสภาจะทำหนังสือแจ้งนายสิระอย่างเป็นทางการว่าต้องคืนเงินให้กับสภาเป็นจำนวนเท่าใด

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลมีมติส่ง เพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร (ยกเว้นเเขวงจตุจักร แขวงจอมพล) จะเป็นการตัดคะแนนกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่าแน่นอน เพราะเป็นการแข่งขัน ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน แต่คงไม่มาก ถือเป็นเรื่องธรรมดา โดยเหตุผลที่บอกว่ามีน้อย เนื่องจากว่าที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยคือนายสุรชาติ เทียนทอง เป็นอดีตส.ส. ทำงานเกาะติดในพื้นที่มาตลอด และมีฐานคะแนนกระจายในทุกกลุ่ม จึงไม่น่ากังวล อีกทั้งมองว่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งซ่อม จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อย แต่หากมีการแข่งขันจากหลายพรรคการเมือง ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะให้ผู้ออกมาใช้สิทธิ์กันมากขึ้น

ส่วนกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ เสนอส่งให้นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ เป็นว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมในนามพรรคพลังประชารัฐนั้น นพ.ชลน่านระบุว่า ไม่กังวล เพราะคู่แข่งก็ถือเป็นวิกฤตสำหรับเราอยู่แล้ว แต่ที่มั่นใจเพราะว่าที่ผู้สมัครของพรรคได้ทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงไม่กังวลคู่แข่งเท่าไหร่ ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน แต่สิ่งที่น่ากังวลไปกว่าคือวิธีการจัดการเลือกตั้งของผู้มีอำนาจรัฐ ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในการเลือกตั้งปี 2562 คือคะแนนที่เกิดขึ้นมาจากการจัดตั้ง อำนาจรัฐ อำนาจเงินหรือไม่ ที่ทำให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ซึ่งได้รับคะแนนกว่า 32,000 คะแนนแพ้การเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคจึงต้องหาวิธีการจัดการปัญหานี้ เพื่อให้คะแนนเลือกตั้งเกิดจากการใช้สิทธิ์ใช้เสียงที่แท้จริงของประชาชน

เขายังเผยว่า การเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ครั้งนี้ จะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด เพราะขณะนี้ก็มีไม่ต่ำกว่า 5 พรรคการเมืองแล้วที่ประกาศจะส่งผู้สมัคร และยังมีผู้สมัครที่มีความหลากหลาย รวมทั้งยังเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี และการเลือกตั้งซ่อมอาจไม่ได้เน้นหนักที่นโยบาย แต่เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เชื่อว่าชาวหลักสี่และจตุจักรต้องการชำระล้างศักดิ์ศรีที่สูญหายไปกลับคืนมา

"สนามเลือกตั้งซ่อมสนามนี้ ไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อมปกติทั่วไป เพราะเกิดขึ้นใกล้กับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นทุกพรรคจึงต้องการใช้สนามเลือกตั้ง ทดสอบวัดกระแสพรรคตัวเองว่าเป็นอย่างไรในพื้นที่ กทม. ทุกพรรคต้องพยายามทุ่มกำลังในการลงพื้นที่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะจัดทัพใหญ่ลงพื้นที่ไปช่วยผู้สมัครของพรรคในครั้งนี้" นพ.ชลน่านกล่าว

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า "ส่งสมัครแน่นอน พรรคไทยภักดีขอขอบคุณในกำลังใจและพลังที่พี่น้องประชาชน สนับสนุนให้พรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ขอยืนยันว่าพรรคไทยภักดีส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงสมัครแน่นอน และจะแถลงข่าวเปิดตัวเป็นทางการต่อไป"

นพ.วรงค์ยังได้เชิญสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 26 ธ.ค. 2564 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานพรรคไทยภักดี

มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของ "กลุ่ม 4 กุมาร" นำโดยนายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสเตรียมตั้งพรรคการเมืองใหม่

ล่าสุดในวันที่ 3 ม.ค.นี้ นายอุตตมและนายสนธิรัตน์นัดสื่อมวลชนพูดคุยเปิดใจเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมีกระแสข่าวว่าได้มีได้การส่งคนไปขอจดทะเบียนพรรคในชื่อ "พรรคสร้างอนาคตไทย" กับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)แล้ว

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์และนายอุตตมจัดอยู่ใน "กลุ่ม 4 กุมาร" ซึ่งนอกจากทั้งสองคนแล้ว ยังมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯและอดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ,นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยร่วมทำงานกันในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และมีบทบาทในการขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐ แต่เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งภายในพรรคเกี่ยวกับโควตารัฐมนตรี ทำให้ทั้ง 4 คนประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับมีข่าวเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และจะเข้าร่วมงานการเมืองกับ 4 กุมาร เผยว่ารับหน้าที่ดูแลพื้นที่ภาคใต้ของพรรคใหม่ ที่สามารถเปิดเผยได้คือเป็นพรรคการเมืองที่นักธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมถึงนักการเมืองสายกลางรวมตัวกันเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ตลอด 2-3 ปี ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนตกงาน ว่างงานเพิ่มขึ้น มีคนจนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

"พรรคของเราได้ข้อสรุปเพื่อทำนโยบายของพรรค ตั้งเป้าหมายแก้ไขเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ หรือการสู้รบความยากจนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุคก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยเราจะผลักดันให้นายสมคิดเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาหมวดเศรษฐกิจ" นายนิพิฏฐ์ระบุ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร และเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา ว่าขณะนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ได้เตรียมการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ และแต่งตั้งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร และแต่งตั้งนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา เพื่อให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ยึดหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และให้มีการสื่อสารนโยบายต่างๆ ของพรรคแก่ประชาชนได้รับทราบอย่างเต็มที่ ทั้งสองคนจะเป็นหลักในการบัญชาการการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่

"ท่านเฉลิมชัยยังได้แต่งตั้งผมให้เป็นผู้อำนวยการประสานงานส่วนกลาง เพื่อประสานการทำงานในเขตพื้นที่กับส่วนกลางทั้งในเรื่องกฎหมาย และในการจัดบุคลากรร่วมรณรงค์และอำนวยการต่างๆในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชุมพร และเขตเลือกตั้วที่ 6 จ.สงขลา อย่างเต็มรูปแบบ มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งทั้งสองเขตอย่างแน่นอน" นายราเมศกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงคิว 'พปชร.' เป็นเจ้าภาพนัดกินข้าวพรรคร่วมฯ 'เศรษฐา' ขออย่าโยงปรับ ครม.

'เศรษฐา' บอก ถึงคิว พปชร. เป็นเจ้าภาพนัดกินข้าวพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังไม่ได้นัดมา ขออย่าโยงเอี่ยวปมปรับ ครม. ยันไม่มีปัญหาพรรคร่วมฯ พูดคุยกันดี เมินแรงกระเพื่อม ย้ำยึดผลงาน