บีบลดดอกเบี้ย0.25%

รัฐบาลพาเหรดบีบ “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ยนโยบาย “ภูมิธรรม” อัดเงินเฟ้อลดต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลดูแลประชาชน แต่ ธปท.กลับไม่ทำอะไร ยกยุคต้มยำกุ้งสั่งสอนพร้อมขู่หากเกิดวิกฤตอีกต้องรับผิดชอบ “เศรษฐา” ร่วมซัดอย่าทิฐิ มีเพดานขยับลงได้ทันที 0.25% หวัง กนง.จะรีบปรับ “จุลพันธ์” เผยต้นสัปดาห์ถกบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ ผุด 2 อนุกรรมการป้องกันโกง "ป.ป.ช." เคาะผลศึกษาแล้วเตรียมชงรัฐบาลใน 2 สัปดาห์

เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องหลังกระทรวงพาณิชย์  (พณ.) แถลงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค  (เงินเฟ้อทั่วไป) ประจำเดือนมกราคม  2567 ว่าอยู่ที่ 106.98 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน  โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นการควบคุมดูแลไม่ให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการเอากำไรมากเกินไป เพื่อให้หาจุดสมดุลร่วมกันได้ ซึ่งเหตุที่ทำประชาชนประสบวิกฤตภาวะเดือดร้อนมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการร่วมกัน

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ที่บอกว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ต้องมาทบทวนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยการดำเนินการของรัฐในการเข้าไปดูแล ถ้าเกิดปัญหาจากเราจะเกิดไม่นาน และไม่ต่อเนื่อง แต่การเกิดปัญหาต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่ามันมีปัญหาที่ดำรงอยู่ ในทางปฏิบัติรัฐบาลใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่อง และทุกกระทรวงได้ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันคือปัญหามาตรการทางการเงิน หากจะให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ในประเทศอื่นมาตรการการเงินการคลังต้องควบคู่กัน จึงต้องถามว่าผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรการทางการเงิน ได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่

 “ผมว่าตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงก์ชาติ และผู้ที่รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ซึ่งมันจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ มันต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันถึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ถ้าดูเรื่องเดียว ดูไม่หมด จะต้องดูทั้งสองเรื่อง เป็นสองขาประกอบกัน มันถึงจะแก้ปัญหาได้ กระทรวงพาณิช์ เพียงสะท้อนตัวเลข แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต้องมาพูดคุยกัน” นายภูมิธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่  นายภูมิธรรมกล่าวว่า อาจจะเป็นขั้นตอนต่อไป ถ้า ธปท.รู้สึกว่ามันมีประเด็นที่เราควรหารือกัน เรายินดีคุยได้อยู่แล้ว แต่ความคิดเห็นของเราในตอนนี้ พณ.เป็นผู้ปฏิบัติการ เรารู้ว่าถ้าไม่มีมาตรการการเงินช่วยทุกเรื่อง เช่นราคาสินค้า พณ.จะดำเนินการลำบาก หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ธปท.ควรตระหนักในเรื่องนี้

 “วิกฤตการณ์ไม่ใช่วิธีการทั่วไปธรรมดา แต่มีวิกฤตการณ์การเงินเข้ามาแทรก เพราะเรื่องมาตรการการเงิน เราเห็นหน่อที่จะเกิด และเห็นแนวที่จะมีปัญหา ฉะนั้นตรงนี้ ธปท.ต้องดูให้ละเอียด อย่าดูหรือเพ่งเล็ง เอาใจใส่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องดูทั้งระบบถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ วันนี้จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งจะทำ แต่อีกฝ่ายจะยืนค้านอยู่ มันไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น และถ้ามันเป็นปัญหาอย่างที่เรากังวลและคาดหวังไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันคือความล้มเหลวในวิกฤตที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูก็จะเหมือนปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 วิกฤตการณ์ตอนนั้น ธปท.ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่ถ้าท่านดูรายละอียดท่านก็จะเห็น”

ขู่แบงก์ชาติต้องรับผิดชอบ

นายภูมิธรรมย้ำอีกว่า รัฐบาลมาบริหารประเทศเกือบ 5 เดือนแล้ว อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีเงินดำเนินการไม่มีเงินลงทุน เพราะงบประมาณปี 2567 จะสามารถใช้ได้ในเดือน พ.ค. แต่สิ่งที่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ คือเราทำงานเต็มที่ อยากวิงวอนขอร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ดูทั้งระบบ อย่าให้เป็นเรื่องติดใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะการมองแยกส่วน ไม่มองทั้งระบบมันก่อให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 มาแล้ว วันนี้อยากฝากสิ่งที่สำคัญ ต้องไปถามผู้ดูแลการเงินของประเทศว่าคิดอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ เห็นด้วยหรือมีปัญหาไหม ถ้าคิดว่าไม่มีปัญหาเราก็ต้องดูอนาคตว่าใครประเมินได้ถูกทาง เพราะถ้าหากเกิดวิกฤตการเงินอย่างที่รัฐบาลบอก ผู้บริหารการเงินทั้งหลายทีไม่อะเลิร์ต และไม่สามารถเข้ามาดูแล และยังไม่จัดการจะต้องรับผิดชอบ

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.การคลัง กล่าวถึงการนัดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท.ว่า เรื่องนโยบายการเงินการคลังเราคุยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรื่องตัวเลขเหล่านี้ นายภูมิธรรมได้อธิบายแล้ว เรื่องตรรกะเงินเฟ้อที่มาได้อย่างไร เรื่องที่เรามีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลดค่าใช้จ่ายมาอย่างไร ขออนุญาตเรียนว่าจริงๆ แล้วเรื่องเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราอย่าลืมว่าจริงๆ แล้วเงินเฟ้อที่มันติดลบส่วนหนึ่งเกิดจากที่เรามีมาตรการรัฐออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพื่อลดรายจ่าย นั่นแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วตรงนี้ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อไม่มี ถ้าจะมีเกิดจากรากปัญหาคือต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่เมื่อเราไปคุมตรงนั้นได้เงินเฟ้อก็ไม่มี

"เราได้พูดคุยกันชัดเจนอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือเรื่องทิฐิผมไม่ทราบ แต่มันชัดเจนอยู่แล้วที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 4 เดือนแล้ว เรื่องมาตรการที่เราพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันต่างๆ รวมถึงการพักชำระหนี้ต่างๆ มันเป็นการบรรเทารายจ่ายของพี่น้องประชาชนอย่างที่นายภูมิธรรมเรียนไป ฉะนั้นเราต้องการให้มีการลงทุนเกิดขึ้นเพื่อเกิดการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราทุกคนยืนอยู่ตรงนี้รู้อยู่แล้ว ดอกเบี้ยเป็นภาระค่าใช้จ่ายขนาดไหน หากลดดอกเบี้ยไป เรื่องการจะเกิดเงินเฟ้อผมว่าความเสี่ยงเกือบไม่มีเลย ตรงนี้ชัดเจนอยู่แล้ว" นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาแต่ละครั้งมองเป็นการกระตุกแขนกระตุกขารัฐบาลที่จะออกนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า สื่อมวลชนคงต้องไปพิจารณาเองก็แล้วกัน แต่เชื่อว่าเราน่าจะทำงานด้วยกันต่อไปได้ อย่างที่นายภูมิธรรมพูดไปว่านโยบายการเงินการคลังต้องไปพร้อมกัน ต้องไปด้วยกัน ต้องควบคู่กันไป และวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องประเด็นกรอบเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่ ยังไม่อยู่ในจุดขั้นต่ำของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ ฉะนั้น 2.5% ลดลงไปเหลือ 2.25% ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดมีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงไปได้อีกเยอะมาก วันนี้ทำไมเราถึงไม่เริ่มทำกัน ตัวเลขมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ยอมรับมาว่าจริงๆ แล้วเงินเฟ้อมันไม่ใช่ปัญหาเลย  ตอนนี้ปัญหาคือว่ามันเป็นดีเฟชั่นหรือเงินฝืดแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝากไว้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องมีการประชุมกัน

ย้ำปีนี้ได้ใช้เงินหมื่นแน่

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้เหมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา พอน้ำในบ่อน้อย ปลาก็ดิ้นก็อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่เรามองคือการเติมน้ำลงไปในบ่อให้เพียงพอกับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่คือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลมองว่ากลไกที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน แต่เมื่อมีข้อท้วงติง หากต้องรอความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เคยมีเอกสารหลุดออกมาจะโดยจงใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่เมื่อเราเห็นแล้วก็ต้องรับฟังและรอ แต่เมื่อรอมาถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ได้ทราบแต่ข่าวว่าจะเอาความเห็นของอนุกรรมการ ป.ป.ช. เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ป.ป.ช.จะส่งมาคือความเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใย ไม่สามารถจะมากำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้ สิ่งที่จะทำคือทำคู่ขนานไปเลย

นายจุลพันธ์ย้ำว่า แม้โครงการเติมเงินดิจิทัลฯ จะล่าช้ากว่ากำหนดเดิม คือ เดือน พ.ค. เนื่องจากต้องรอความคิดเห็นจาก ป.ป.ช. แต่ยังมั่นใจว่าเงินในโครงการ Digital Wallet จะถึงมือประชาชนในปี 2567 เนื่องจากรัฐบาลมีกลไกที่จะมาช่วยเดินหน้าโครงการอีกมาก และขณะนี้การออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังเป็นคำตอบเดียวของรัฐบาล ส่วนข้อเสนอให้หันไปใช้งบประมาณปี 2568 เดินหน้าโครงการนั้น เป็นช่องทางที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจต้องการเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ส่วนเหตุใดรัฐบาลไม่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้น เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดถึงและหารือกัน แต่หากสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ ก็เป็นเรื่องอีกเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน แต่เรายังไม่เลือกใช้วิธีออก พ.ร.บ.อยู่ รวมทั้งยังไม่ลดวงเงินในการดำเนินโครงการ

นายจุลพันธ์ยังกล่าวต่อว่า ภายในต้นสัปดาห์หน้าจะประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท Digital Wallet โดยสิ่งที่จะนำเข้าหารือจะมี 2-3 ประเด็น คือข้อห่วงใยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในข้อห่วงใยนี้จะตั้ง 2 คณะอนุกรรมาการติดตามการใช้เงินอย่างผิดประเภท เช่น ไม่มีการนำเงินไปแลกซื้อหรือส่วนลด โดยได้มอบหมายให้วางแผนการกำหนดหลักเกณฑ์ รวมถึงรูปแบบการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกของดิจิทัลไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังให้มีการเปิดสำรวจความคิดเห็นในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กลุ่มข้าราชการ โดยให้กรอบเวลาทำงานในระยะสั้นๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ในการจัดทำ

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ที่ประชุม  ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ได้มีมติรับรองข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งได้มีการปรับปรุงรายละเอียดจากร่างของคณะกรรมการคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน พอสมควร ซึ่งเป็นการปรับแก้ไขเพื่อให้ดูซอฟต์ลง ไม่ได้เหมือนมีสภาพบังคับ โดยประเด็นที่มีการปรับปรุงคือ ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจจัดทำข้อเสนอแนะตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีการปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ โดยไม่ได้ฟันธงว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต รวมถึงตัดถ้อยคำที่ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการหาเสียงที่อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ ทั้งนี้ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์จะส่งให้รัฐบาลได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้