ก.ก.งงวิกฤตแต่มุ่งแค่ดิจิทัล

“วราวุธ” เชื่อผลประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตสัปดาห์หน้า คลายข้อกังวลหลายฝ่ายได้ พท.ซัดกลับ "พิธา" มองคับแคบ ยันรัฐบาลมีไข่หลายใบกระจายใส่ตะกร้าหลายอัน เดินหน้าแจกเงินหมื่นควบคู่นโยบายเรือธงอื่น "ศิริกัญญา" กระทุ้งเตรียมแผนสำรอง อย่าเอาชะตากรรมประเทศผูกติดนโยบายเดียว แนะลดขนาดโครงการใช้งบ 68 แทน "ซูเปอร์โพล" ชี้คนไทยเกินครึ่งเกือบ 27 ล้านคน เงินในกระเป๋าวิกฤต

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลต่อโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หนุนให้กลุ่มยากจนและเปราะบางว่า เบื้องต้นต้องดูว่าข้อสังเกตที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้รัฐบาล ซึ่งมีอยู่หลายข้อพอสมควร ก็ต้องดูว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีการหารือกันในเร็วๆ นี้ ว่าจะมีความเห็นต่อข้อสังเกตดังกล่าว หรือจะมีแนวทางและคำชี้แจงอย่างไรได้บ้าง ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า นายกฯ จะนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่แล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะโครงการนี้พี่น้องประชาชนมีความหวัง และหลายคนมีทั้งความหวังและมีทั้งที่เป็นห่วง ดังนั้นการประชุมดังกล่าวจะสามารถชี้แจง และคลายข้อกังวลของหลายฝ่าย รวมทั้งการตั้งข้อสังเกตของ ป.ป.ช.ได้ จึงต้องรอดูว่าผลการประชุมจะเป็นอย่างไร

ทางด้าน น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ไม่ให้เอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว และต้องมีแผนสองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า อยากให้นายพิธามองภาพโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้กว้างขึ้น ซึ่งการมองเห็นประโยชน์ของดิจิทัลวอลเล็ตเพียงตะกร้าใบเดียว จึงอาจจะคับแคบเกินไป และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง พรรค พท.มองภาพใหญ่ อย่างที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ให้สัมภาษณ์วันที่ 6 ก.ย.66 ยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ เป็นประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตามที่พรรค พท.ได้นำเสนอไว้ เมื่อครั้งหาเสียงการเลือกตั้งว่าต้องการหยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน

ส่วนข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.นั้น รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและดำเนินการอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพในเชิงนโยบายที่สุด ซึ่งหมายความว่าเป็นการป้องกันไม่ให้มีช่องทางที่จะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันได้ แม้ ป.ป.ช.จะเป็นห่วงโดยการจัดทำความเห็นต่อดิจิทัลวอลเล็ต แต่การกระทำดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณามาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ไว้โดยจำกัด เพียงการไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายฯ และรัฐบาล พท. ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการอย่างรอบคอบ จะถือว่าเข้าข่ายเป็นเรื่องให้ ป.ป.ช. ต้องเข้ามาพิจารณาในขั้นตอนนี้หรือไม่

"เพราะหากไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.แล้ว ความเห็นขององค์กรอิสระที่ส่อไปในทางชี้นำการบริหารของรัฐบาลเช่นนี้ ย่อมถือเป็นการล้ำเส้น แทรกแซงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่สำคัญคือสร้างความสับสนให้กับประชาชน และทำลายความหวังของกลุ่มเป้าหมายที่รอคอยนโยบายนี้อยู่ ขอย้ำว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นความจำเป็นที่รัฐบาล พท.พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกัน ด้วยความกล้า ไม่ใช่ความกลัว ด้วยแผนหลักดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีแผนสำรอง จะดำเนินการกระตุ้นฐานราก พร้อมกับการเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยไปตลอดกาล เลิกใช้โวหาร สร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน" รองเลขาธิการ พท.ระบุ

โต้ใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ ยอมรับได้หากจะมีข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุมตามกรอบกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะจากทุกหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่รอคอยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะสามารถเดินหน้าผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ควบคู่กับนโยบายเรือธงของรัฐบาล

"หลักการสำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องไปถึงมือประชาชนอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน มั่นใจว่าแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ใช่การเอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว แต่รัฐบาลมีไข่หลายใบ กระจายใส่ในตะกร้าหลายอัน นอกเหนือจากนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลยังมีนโยบายเรือธงอื่นๆ  ที่ดำเนินการควบคู่กันไปเป็นอาวุธลับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โครงการแลนด์บริดจ์ และอีกหลายนโยบาย" นายอนุสรณ์ระบุ

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ท่ามกลางเสียงคัดค้านและข้อท้วงติง มองว่ารัฐบาลควรมีแผนสำรองไว้หรือไม่ ว่าแน่นอนว่าควรมีแผนสำรองไว้รองรับ เพราะเราทราบกันดีว่าแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมีความเสี่ยง อย่างแรก หากประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ต้องมีมาตรการออกมารองรับ ณ วันนี้แล้ว ไม่ใช่รอให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมา แล้วจะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ไม่ใช่เราไม่เห็นว่ารัฐบาลกำลังช่วยฟื้นเศรษฐกิจประเทศ แต่ผลที่จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมีอยู่น้อยเหลือเกิน จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหน้าไหน เรายังต้องลุ้นต่อว่าคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่จะมีมติในทางไหน

"โดยเราก็ไม่รู้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว หากดำเนินโครงการไปแล้ว จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างมีคนนำเรื่องไปร้องเรียนหรือไม่ ถึงแม้ว่ากฎหมายจะผ่านสภาได้ แต่ก็อาจจะติดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องมีแผนสำรองไว้ เพราะเป็นรัฐบาลเองที่พูดไว้ตลอดว่าเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เศรษฐกิจวิกฤตแล้ว แต่กลับเอาชะตากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ไปแขวนไว้กับนโยบายนี้นโยบายเดียว ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง" น.ส.ศิริกัญญาระบุ

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะที่จะให้กับรัฐบาลก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ในวันที่ 15 ก.พ. น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ยิ่งต้องรีบหาแผนสำรอง เพราะงบประมาณปี 68 มีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว ถ้ารัฐบาลอยากจะปรับปรุงนำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยิ่งต้องรีบทำ และถึงแม้จะนำงบประมาณ 5 แสนล้านบาท มาดำเนินการ ยังไม่เพียงพออยู่ดี ซึ่งแผนสำรองอาจจะเป็นการลดขนาดโครงการ และนำไปใช้ในงบประมาณปี 68

 “นี่ไม่ใช่ข้อเสนอที่เราเห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่มันคือทางออกทางเดียวที่ยังเหลืออยู่ หากสุดท้ายแล้วพระราชบัญญัติกู้เงิน เดินหน้าต่อไม่ได้ หากจะมีมาตรการอะไรที่สามารถใช้งบกลางในตอนนี้ ออกโครงการมาได้เลยไม่ต้องรอ แต่ขนาดโครงการอาจจะต้องเล็กลงมา แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

27 ล้านคนการเงินวิกฤต

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง "จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7-10 ก.พ.2567

 จากการประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทยอายุ 16-85 ปี มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 53,417,480 คน ที่ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต พบว่า ประมาณครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50/50 ที่บอกว่าเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต กล่าวคือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน คือจำนวน 26,975,827 คน หรือร้อยละ 50.5 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต ในขณะที่อีกร้อยละ 49.5 ระบุไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้คือร้อยละ 66.3, คนในภาคกลาง ร้อยละ 47.2, คนในภาคเหนือ ร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงข้อกังวล ถ้ามีการแจกเงินดิจิทัลจริง พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 32.7 กังวลต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกมิจฉาชีพ ออนไลน์ รองลงมาคือร้อยละ 32.7 เช่นกัน กังวลภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง,  ร้อยละ 30.7 กังวลการทุจริตเชิงนโยบาย, ร้อยละ 24.2 กังวลการสวมสิทธิ์, ร้อยละ 22.6 กังวลความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย, ร้อยละ 21.7 กังวลประชาชนเสียวินัยการเงิน ขาดความรับผิดชอบ, ร้อยละ 19.2 กังวลประชาชนผู้ห่างไกลเทคโนโลยี เข้าไม่ถึงการแจกเงินนี้ และร้อยละ 14.9 กังวลประเทศสูญเสียโอกาส พัฒนาที่ยั่งยืน ตามลำดับ

รายงานของซูเปอร์โพลระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยเกือบ 27 ล้านคนบอกว่าเงินในกระเป๋าตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต และคนอีสานกับคนในภาคใต้วิกฤตมากสุด แต่โดยภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศครึ่งต่อครึ่งที่บอกว่า เงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต และข้อกังวลพอกันระหว่างความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ และเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง ถ้าแจกเงินดิจิทัลกัน ซึ่งทุกฝ่ายควรดูแลเยียวยาความรู้สึกของประชาชน การมีมาตรการที่รวดเร็วฉับไวลดความเดือดร้อนของประชาชนและทวีคูณการฟื้นตัวขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับฐานรากชุมชนทั่วประเทศ ยิ่งจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้

เมื่อพิจารณาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนคนไทยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง ถ้าหากปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมือง ความแตกแยกรุนแรงบานปลายขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจทั้งระดับฐานรากและภาพรวมของประเทศอาจจะกลายเป็นโจทย์ท้าทายใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก  ทางออกคือการตัดไฟแต่ต้นลม และการผูกโยงทำไปพร้อมๆ กันระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งรัฐ และการลดทอนความเป็นตัวตนของกลุ่มสร้างความวุ่นวายต่างๆ ที่จะก่อเกิดความแตกแยกของคนในชาติ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเร่งด่วนเวลานี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง