ปลุกสำนึกรู้ผิดชอบ ผบ.ทบ.กระทุ้งคนไทย/โรมท้าชาดาเปิดชื่อไอ้โม่ง

"ผบ.ทบ." ปลุกคนไทย​ ส่งเสียง​ดังๆ ปมขวางขบวนเสด็จ​ฯ กระตุ้นจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี​ "ผบ.ทอ." ระบุแสดงออกด้วยกิจกรรมไม่ใช้วิธีตอบโต้ เชื่อความดีชนะทุกสิ่ง "กสม." ชี้การแสดงออกต้องเคารพกฎหมายและสิทธิผู้อื่น "พิพัฒน์" นำแรงงานกว่า 1 แสนคนทั่วปท.แสดงพลังปกป้องสถาบัน "เต้ อาชีวะ" ยื่น "วันนอร์" สอบจริยธรรม "โรม" ยัน "ชาดา" ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง บอก "ผมมีพี่โรมเป็นไอดอล" รังสิมันต์ท้า "รมช.มหาดไทย" โชว์หลักฐานใครหนุนม็อบ "รทสช." จี้ “ปดิพัทธ์” รับผิดชอบปล่อยอภิปรายเกินจนสภาป่วน

ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) วันที่ 16 ก.พ. พล.อ.เจริญชัย​ หินเธาว์​ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)​ ในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็ก​รักษา​พระองค์​ 904 หรือ​ ผบ.ฉก.ทม.​904 กล่าวถึงกรณีนักกิจกรรมขัดขวางขบวนเสด็จฯ  ว่า​ มองว่าสังคมคิดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรากล้าที่จะพูดดังๆ หรือไม่ ก็แค่นั้น​ และเราเองก็ต้องบอกกับคนที่มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนแล้วไปแสดงออกในทางที่ไม่ถูกไม่ควร

"สิ่งนี้ผมมองสังคมต้องช่วยกัน อะไรควรหรือไม่ควร ทำอย่างไรให้คนในสังคมได้รู้ว่าอะไรคือกาลเทศะ รู้ผิดชอบชั่วดี เพราะบางสิ่งมันต้องใช้สำนึก ซึ่งสำนึกนี้สังคมต้องช่วยกัน" ผบ.ทบ.กล่าว

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า แนวทางการแสดงออกของกำลังพลต่อกรณีขบวนเสด็จฯ นั้น ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือการจงรักภักดีต่อสถาบัน กองทัพอากาศเองก็มีความรู้สึก แต่การแสดงออกต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

"ในวันจันทร์ 19 ก.พ.นี้ ทุกภาคส่วนและทุกหน่วยจะไปร่วมไปพัฒนาพื้นที่ ทำความดีด้วยหัวใจ ในลักษณะจิตอาสาเพราะเราเป็นทหารของพระราชา ก็จะดูว่าทำหน้าที่อย่างไรให้ดีที่สุด โดยจะไปทำกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลางและต่างจังหวัดของกองทัพอากาศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ตอบโต้อะไร แต่รู้ว่าการทำดีจะชนะทุกสิ่ง" ผบ.ทอ.กล่าว

ขณะที่ นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (รองเลขาฯ กสม.) กล่าวตอบคำถามตอนหนึ่งระหว่างการสัมมนาเรื่อง  "ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศ และประชาชนอย่างไร" ถึงกรณีมีการบีบแตรขบวนเสด็จฯ เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ว่า การแสดงออกต้องเคารพสิทธิผู้อื่น และไม่ได้เป็นอันตราย

"กรณีของขบวนเสด็จฯ แน่นอนว่ามีกฎหมายที่อารักขาบุคคลสำคัญ และเรื่องนี้เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นด้วย ฉะนั้นการแสดงออกจะต้องเคารพกฎหมายด้วยเช่นกัน" รองเลขาฯ กสม.กล่าว

ที่กระทรวงแรงงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เป็นประธานในกิจกรรมขอพระราชทานน้อมแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีทุกกรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และเครือข่ายสหภาพแรงงาน องค์กรนายจ้าง ลูกจ้างทั่วประเทศ เข้าร่วม ซึ่งทุกคนต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อสีม่วงร่วมแสดงพลังจงรักภักดี ณ ลานพระพุทธสุทธิธรรมบพิตร ด้านหน้าอาคารกระทรวงแรงงาน

'แรงงาน' ลั่นปกป้องสถาบัน

 นายพิพัฒน์ได้อ่านแถลงการณ์กระทรวงแรงงาน ประกาศเจตจำนงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นนำผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมกันเปล่งเสียงแสดงความจงรักภักดี “ทรงพระเจริญ” 3 ครั้ง ดังกึกก้องไปทั่วกระทรวง พร้อมทั้งโบกธงชาติไทยและธงสีม่วงพระนามาภิไธยย่อ “ส.ธ.” เพื่อร่วมกันแสดงพลังถวายกำลังใจ

"วันนี้เราได้มีการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานโดยใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่เราได้จัดกิจกรรมการแสดงความจงรักภักดีนี้ขึ้นที่กระทรวงแรงงาน  ผมมั่นใจว่ากิจกรรมการถวายความจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทย มีผู้ออกมาแสดงความจงรักภักดีในนามของกระทรวงแรงงาน ในนามของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศไทยเกินกว่า 100,000 คน”นายพิพัฒน์กล่าว

ที่รัฐสภา เวลา 11.00 น. ภาคีกลุ่มราชภักดี นำโดยนายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือเต้ อาชีวะ ประธานกลุ่มอาชีวะราชภักดี พร้อมสมาชิกกว่า 10 คน ยื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านตัวแทนรับเรื่อง เพื่อเรียกร้องให้เอาผิดและสอบจริยธรรม นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กรณีละเมิดข้อบังคับการประชุมสภาฯ หรือไม่ ในการนำภาพของกลุ่มตนขึ้นอภิปรายญัตติด่วน มาตรการอารักขาขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายอัครวุธกล่าวว่า ขอบคุณมากที่เอารูปของตนและกิจกรรมมาพูดในสภา  แต่งานของคนรักสถาบันไม่ควรไปเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แล้วภาพที่มีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยนั้น นายชาดาก็ไม่ได้ไปในฐานะรัฐมนตรี หรือ สส. เขาไปในนามนายชาดา ไปร่วมปั่นจักรยาน

นายอัครวุธกล่าวว่า คนที่บอกตนชอบใช้ความรุนแรง รู้หรือไม่ว่ามีใครเป็นไอดอล (จากนั้นนายอัครวุธได้เปิดภาพนายรังสิมันต์สมัยเป็นนักศึกษาที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงภาพ สส.พรรคก้าวไกลที่ไปอยู่กับกลุ่มนักเคลื่อนไหว รวมถึงภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถ่ายคู่กับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และกลุ่มทะลุวัง) ตนมีไอดอลเป็นนายรังสิมันต์ เพราะเขาเคยต่อยตำรวจต่อหน้าสาธารณชน ต่อหน้าสื่อมวลชน เขาทำมาก่อน

“สิ่งที่คุณทำมาก่อน แต่คุณจะมาสอนให้ผมเป็นคนที่รักสงบ คนที่อยู่เบื้องหลังม็อบ ขบวนการทั้งหลายแหล่ เขาบอกว่าไม่มีขบวนการ คุณไปนั่งอยู่ในนี้ได้อย่างไร เปิดดูได้ใน Google เจอหมด ยืนยันว่าไม่ได้เฟกนิวส์ พฤติกรรมของกลุ่มนายรังสิมันต์อยู่หน้าม็อบ” นายอัครวุธกล่าว

นายอัครวุธยอมรับข้อความที่โพสต์จะไปกระทืบกลุ่มทะลุวัง หรือปะทะกับกลุ่มทะลุวังเป็นภาพจริง ขอยอมรับว่าผิด แต่ถ้าดูคลิปดีๆ ตนเป็นคนไปห้าม แต่นายรังสิมันต์กลับเอาภาพของตนมาแขวนในสภาแล้วบอกว่าชอบใช้ความรุนแรง

"ขอยืนยันนายชาดาไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ถ้านายชาดาอยู่เบื้องหลัง แล้วภาพที่ผมนำมาวันนี้คืออะไร นั่งคุยกับใคร ไปให้รางวัลใคร ผมไม่ได้ว่าเขา ไปหาข้อมูลมาจาก Google ได้ ยืนยันว่าไม่ได้ตัดแปะข้อความ" นายอัครวุธกล่าว

ถามว่าอยากให้นายรังสิมันต์รับผิดชอบแค่ไหน นายอัครวุธกล่าวว่า ต้องการคำขอโทษ และแค่ขอโทษประชาชนว่าเอาเฟกนิวส์ออกมาว่าคุณไปเอาข้อความตัดแปะออกมาพูด แค่นี้เองความรับผิดชอบควรมี

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีกลุ่มภาคีราชภักดีเรียกร้องให้สอบจริยธรรมว่า ตนยินดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผู้ร้องไม่ได้มีสิทธิ์แค่ร้องผู้อื่น แต่ต้องรับผิดชอบในคำร้องเช่นเดียวกัน และยืนยันตนไม่ได้ตัดต่อภาพใดๆ และการนำภาพขึ้นที่ประชุมสภาก็ผ่านคณะกรรมการในการพิจารณาและอนุมัติ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมอยู่แล้ว

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าเราไปดูกฎหมาย PDPA ก็ไม่ได้บังคับมาถึงการทำหน้าที่ในสภา เพราะการทำหน้าที่ในสภาได้รับการยกเว้น ซึ่งตนไม่ได้เป็นห่วงในเรื่องอะไร ถ้าจะร้องก็ร้องได้ยินดี แต่อย่าลืมว่าผู้ร้องก็จะมีภาระหน้าที่ทางกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะตนทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ปรากฏตามข้อมูลโดยที่ไม่ได้ตัดต่อหรือปลอมแปลง

โรมท้าชาดาโชว์หลักฐาน

ถามถึงการถ่ายภาพรวมกับกลุ่มทะลุวัง นายรังสิมันต์กล่าวว่า ขณะนั้นตนอยู่ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ถ้ากรรมาธิการไม่ลงพื้นที่ ตนคิดว่าจะทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ซึ่งเป็นหมวกที่ตนต้องทำหน้าที่ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งก่อน ซึ่งสามารถลงพื้นที่และนำข้อมูลกลับมาได้

"การที่ไปร่วมชุมนุมไม่ได้หมายความว่าผมเป็นท่อน้ำเลี้ยง ไม่ได้หมายความว่าม็อบนี้จะเกิดขึ้นได้เพราะผม และกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวก็ไม่ได้รับสิทธิใดๆ โดยน้องๆ นักศึกษาก็ยังต่อสู้คดีกันอยู่ แต่ในทางตรงข้ามผมก็ไม่แน่ใจว่า ศปปส.ที่ไปทำร้ายร่างกายประชาชนกลางเมืองหลวง  จนถึงวันนี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอะไรแล้วบ้าง" นายรังสิมันต์กล่าว

 ถามย้ำว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ปฏิเสธว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง วันที่ตนชุมนุนทางการเมือง ก็ยืนยันไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง และในวันที่ตนเป็นนักการเมืองก็ไม่ได้ไปอยู่เบื้องหลังใคร ยืนยันว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ เขาไม่ยอมให้ใครไปอยู่เบื้องหลัง

เมื่อถามว่า นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จะเปิดบัญชีผู้หนุนหลังม็อบเยาวชน ซึ่งอาจมีผู้ช่วย สส.เกี่ยวข้องด้วย นายรังสิมันต์ระบุว่า เปิดเลยครับ ตอนที่นายชาดาเดินมาหาตนในห้องประชุมสภา พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนลงว่าตนไม่แฟร์ พวกเราเอง สส.พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้เปิดบัญชีออกมาเลย พวกเราก็อยากรู้เหมือนกัน อยู่กับข้อกล่าวหาที่ผ่านมาอยู่กับข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยและจินตนาการไปเองทุกวัน

"เราก็อยากดูเหมือนกัน ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ทำบัญชีผู้มีอิทธิพล เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าใครบ้าง ที่เป็นผู้มีอิทธิพล ในเมื่อท่านมีข้อมูลต่างๆ ท่านเปิดเลยครับ จะได้ใช้กฎหมายในการแก้ปัญหา ผมขอแวะมาที่ผู้มีอิทธิพลแป๊บนึง ผมก็อยากจะรู้ว่าบัญชีผู้มีอิทธิพล สุดท้ายมันมีรายละเอียดอย่างไร สุดท้ายที่อุทัยธานี ใครเป็นผู้มีอิทธิพล ชื่อขึ้นต้น ช. หรือไม่ หรือไม่มีผู้มีอิทธิพล ก็อยากจะทราบ ดังนั้น คิดว่าอยู่บนข้อเท็จจริงดีกว่าไหมครับ" นายรังสิมันต์กล่าว

สส.พรรคก้าวไกลรายนี้ระบุว่า อย่าใช้คำว่าผมมีข้อมูลนั้นข้อมูลนี้ วันนี้นายชาดาเป็นรัฐมนตรีแล้วอาจลืมตัวไป ต้องใจเย็นๆ ต้องตอบคำถามสังคม ตนเป็นนักการเมืองที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็มีสิทธิ์จะถาม นายชาดาก็มีสิทธิ์ตอบ ถ้าไม่เปิดเผยข้อมูลออกมาอาจมีความผิด

เมื่อถามว่า นายชาดาจะพูดคุยในกรรมาธิการเท่านั้น จะเรียกมาชี้แจงหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ถ้าจะมากรรมาธิการตนยินดี โดยวันที่ 29 ก.พ. น่าจะมีการประชุมในเรื่องนี้ 

"ท่านชาดาอาจจะใช้อารมณ์มากไปหน่อย น่าจะใช้โอกาสสภาในการนำเสนอ ว่าถ้าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องขบวนเสด็จฯ จะมีการเสนออะไร” นายรังสิมันต์กล่าว

ด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายมีความพยายามโยงว่าพรรคก้าวไกลมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวกับเสถียรภาพหรือชื่อเสียงของพรรค ตนเป็นห่วงสังคมมากกว่าว่าการทำเช่นนี้นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งความคิดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคมแล้ว การออกมากล่าวว่ามีบุคคลอยู่เบื้องหลัง เพราะมีจุดประสงค์อย่างอื่น ตนมองว่าเป็นการกลบปัญหาไว้ใต้ดิน ไม่ยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง

"คิดว่าปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  และความขัดแย้งระหว่างประชาชนจะยิ่งรุนแรงขึ้น การไม่ห้ามปรามความรุนแรงไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนก็ตาม จะเป็นอันตรายต่อสังคมในอนาคต ผมเป็นห่วงในเรื่องเหล่านี้มากกว่าการดำรงอยู่ของพรรคก้าวไกล" นายปกรณ์วุฒิกล่าว

รทสช.จี้ 'ปดิพัทธ์' รับผิดชอบ

วันเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับการทบทวนมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ จนนำไปสู่การตอบโต้ในสภา และออกมาสัมภาษณ์โต้กันไปมาระหว่างนายชาดากับนายพิเชษฐ์ว่า  กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น และต้องย้อนกลับไปดูจากสาเหตุว่าเกิดมาจากอะไร

นายอัครเดชกล่าวว่า ในการประชุมวันนั้นขณะที่มี สส.พรรคก้าวไกลท่านหนึ่งมีการอภิปรายออกนอกประเด็นของญัตติตามที่ผู้เสนอตั้งใจ โดยตนเองในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติเจ้าของญัตติ ได้ลุกขึ้นทักท้วงแล้วว่าการอภิปรายของ สส.คนดังกล่าวอภิปรายนอกประเด็นในญัตติ โดยเฉพาะการไปกล่าวถึงการปะทะกันระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม เพราะเชื่อว่าจะทำให้การประชุมไม่ราบรื่น จะมีการประท้วงและตอบโต้กันไปมา

อย่างไรก็ตาม นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมอยู่ขณะนั้น กลับได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าให้สามารถอภิปรายต่อได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลต่อเนื่อง ทั้งที่โดยหลักการแล้วประธานควรต้องฟังเจ้าของญัตติที่แถลงด้วยวาจาว่ามีเจตนารมณ์อย่างไร เพราะการวินิจฉัยของประธานมีความสำคัญต่อการควบคุมการประชุมให้ราบรื่น หรือเกิดความวุ่นวาย ซึ่งวันนั้นเมื่อนายปดิพัทธ์วินิจฉัยเสร็จก็ได้สลับการทำหน้าที่ประธานให้นายพิเชษฐ์ และทำให้นายพิเชษฐ์ต้องใช้คำวินิจฉัยของนายปดิพัทธ์ที่ผิดวัตถุประสงค์ของผู้ที่ยื่นญัตติมาใช้ควบคุมการประชุมต่อ จนทำให้เกิดความวุ่นวายเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรและบุคคลทั้ง 2 ท่าน

นายอัครเดชระบุว่า วันนั้นหากนายปดิพัทธ์ได้ฟังคำทักท้วงของตนที่ลุกขึ้นทักท้วงในที่ประชุม ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติเจ้าของญัตติ ว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะให้ไปอภิปรายถึงการปะทะกันของบุคคล 2 กลุ่ม คือผู้ที่ก่อกวนขบวนเสด็จฯ กับกลุ่มที่ออกมาแสดงออกที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำ แต่ยังใช้ดุลพินิจให้อภิปรายต่อได้ จนเกิดปัญหาความไม่เรียบร้อยไปสู่สายตาประชาชน ทำให้การประชุมมีปัญหาและผิดไปจากเจตนารมณ์ของผู้เสนอ ดังนั้นกรณีนี้นายปดิพัทธ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

 "ผมจึงขอถามหาความรับผิดชอบของนายปดิพัทธ์ ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมขณะนั้น ที่มีการวินิจฉัยทิ้งไว้จนทำให้การประชุมไม่ราบรื่น กระทบภาพลักษณ์สภา ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเสียหายในสายตาประชาชน และยังทำให้ท่านชาดาและท่านพิเชษฐ์ต้องออกมาโต้แย้งกันจนเป็นภาพให้ทั้งสองฝ่ายโดนสังคมและสื่อโซเซียลถล่ม โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีทั้งที่ชื่นชมและตำหนิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และน่าเห็นใจทั้ง 2 ท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ต่างมีเจตนาดีต่อกันตลอดมา แต่ต้องมาขัดแย้งกันในประเด็นที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการประชุมญัตตินี้ ที่เจ้าของญัตติได้มีความห่วงใย ระมัดระวัง และพยายามป้องกันไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น" โฆษกพรรค รทสช.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง