ผู้ป่วยหนักซดไวน์สังสรรค์ได้

กรมคุมประพฤติเข้าพบ   "น.ช.ทักษิณ" บ้านจันทร์ส่องหล้าเรียบร้อยแล้ว แจงขั้นตอนพักโทษ-นัดรายงานตัวเดือน มี.ค. ผ่านหลักการ "5 ห้าม 5 ให้"    อนุญาตให้ผู้ป่วยหนักซดไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม ตะลึง! ไม่มีข้อห้ามนั่งบอร์ดกรรมการ-ที่ปรึกษาทางการเมือง   ขณะที่ความเคลื่อนไหวเจ้าของบ้านเก็บตัวเงียบ 

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลางของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเป็น 1 ใน 930 คน ที่ได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งเป็นกรณี 1 ใน 8  ราย มีเหตุพิเศษที่จะพักการลงโทษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งนายทักษิณได้ออกจากชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.67 เพื่อเดินทางเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ตามที่แจ้งว่าเป็นสถานที่พักการลงโทษ ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 19 ก.พ.-21 ก.พ. เป็นระยะเวลาที่นายทักษิณต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษในเดือน ส.ค.67

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา  ทางผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1  ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว ได้เดินทางเข้าพบนายทักษิณและผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษ และนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป

ทั้งนี้ สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มี.ค. หากนายทักษิณยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัวหรือการตรวจรักษากับแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่าสะดวกให้เข้าพบยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้นๆ ก็สามารถแจ้งเลื่อนได้ แต่ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรีมีอาการดีขึ้น สะดวกในการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จึงขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยในช่วงเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม หลักการโดยรวมของการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติ คือ ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยในแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ เช่น ขยับวันเวลาการรายงานตัวเข้ามาเร็วขึ้น เพียงแค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น และถ้ารายงานตัวครบ 4 เดือน ครั้งถัดไปก็สามารถลดหย่อนได้ เป็น 2 เดือนค่อยรายงานตัว ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่นๆ

พ.ต.ท.มนตรีกล่าวอีกว่า ส่วนข้อกำหนด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างการพักโทษ คือ "5 ให้ 5 ห้าม" ซึ่งถูกระบุในหนังสือสำคัญแจ้งการพักการลงโทษ หรือใบ พ.8 ซึ่งเป็นเอกสารของกรมราชทัณฑ์ สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ประกอบด้วย 5 ให้ คือ 1.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน 2.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ 3.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ 4.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ 5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ

ส่วน 5 ห้าม คือ 1.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาตและต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้ 2.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้ 3.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด 4.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน และ 5.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ

เมื่อถามว่า การไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการหรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมือง สามารถทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่ พ.ต.ท.มนตรีกล่าวว่า ตนมองว่าในฐานะผู้ได้รับการพักโทษที่เตรียมจะกลับเข้าสู่สังคมเมื่อได้รับการพ้นโทษนั้น ระหว่างนี้ก็สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการนั้นๆ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งโดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่งหรือไม่ เป็นต้น คล้ายลักษณะของกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน ดังนั้น ในระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้วผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติ และมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

พ.ต.ท.มนตรีกล่าวปิดท้ายว่า ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ในส่วนของผู้ได้รับการพักโทษแบบปกติ จะต้องติดกำไล EM เกือบทุกราย ยกเว้นมีอาการเจ็บป่วยหนัก หรือต้องเอกซเรย์จากการประสบอุบัติเหตุ หรือมีความจำเป็นต้องถอดออกเพื่อการรักษาพยาบาล กรมคุมประพฤติก็จะทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อถอดกำไล EM ให้ได้ ส่วนผู้ได้รับการพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษฯ ถ้าเจ็บป่วยและสูงอายุ จะเข้าเงื่อนไขยกเว้นให้ไม่ต้องติดกำไล EM ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการพักการลงโทษได้กำหนดไว้ โดยสอดรับกับกฎกระทรวง ว่าด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง พ.ศ.2560

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว. ยุติธรรม กล่าวว่า เราทำตามกฎหมาย ส่วนที่ สส.ฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายชื่อเเพทย์ที่รักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ตนยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เเละได้อธิบายไปเเล้วว่าขัดต่อกฎหมายการดูแลผู้ป่วย ส่วนกรณีเรื่องการใช้งบประมาณของราชทัณฑ์ในการรักษานายทักษิณนั้น สามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบภาพลักษณ์รัฐบาล เเต่ยอมรับว่าอาจกระทบต่อกระทรวงยุติธรรมมากกว่า เพราะเราตัดสินใจภายใต้กระทรวงยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณบ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ซึ่งเป็นบ้านพักของนายทักษิณ ตลอดทั้งวันยังคงปิดบ้านเงียบตามปกติ มีแต่รถของคนในครอบครัวเข้า-ออกเหมือนเช่นทุกวัน และไม่มีรายงานข่าวว่าจะมีบุคคลสำคัญเดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณ มีเพียงบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเดินทางมาร่วมรับประทานอาหารเย็นเป็นเพื่อนนายทักษิณเท่านั้น และยังคงมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเฝ้าสังเกตการณ์ทำข่าวบริเวณหน้าบ้าน  

โดยนายทักษิณได้เหมารถขายก๋วยเตี๋ยวบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงประจำซอย เลี้ยงอาหารกลางวันสื่อมวลชนทุกสำนักที่เฝ้าทำข่าวอยู่หน้าบ้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความเรียบร้อยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบและสายตรวจของ สน.บางพลัด ยังคงเฝ้าสังเกตการรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่อย่างเข้มงวด   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีบุคคลอ้างตัวว่าเป็นกลุ่มคนไทยแฟนคลับนายกฯ ทักษิณ  ได้จ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาส่งช่อกุหลาบสีแดงให้กำลังใจแก่นายทักษิณ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งให้ไปส่งดอกไม้กับทีมรักษาความปลอดภัยของนายทักษิณที่อยู่ในแยกถัดไปแทน

ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผ่านนายพันศักดิ์  เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้เพิกถอนการพักโทษนายทักษิณ

นายวัชระกล่าวว่า ขอให้นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล โปรดสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่ท่านกำกับดูแลและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการ ดังนี้ 1.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ กระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า อนุมัติให้พักโทษถูกต้องตามกฎหมายและข้อเท็จจริงหรือไม่ ตามเหตุผลสำคัญในหนังสือร้องเรียนของนายแก้วสรร อติโพธิ อนึ่งทราบข่าวว่าอนุกรรมการฯ ลาออกไป 2 คน และอธิบดีไปทำกันเองภายในกับเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงจริงหรือไม่ 2.ยกเลิกการอนุมัติพักโทษนายทักษิณ เนื่องจากมิได้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกรมราชทัณฑ์จริง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รังสิมันต์' ชี้ปมทักษิณคุยกลุ่มชาติพันธุ์ตอกย้ำสภาวะ 1 ประเทศ 2 นายกฯ

'ปธ.กมธ.ความมั่นคงฯ' จ่อเรียกหน่วยงาน แจงปม 'ทักษิณ' เจรจากลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา กังวล ผลผูกมัด รัฐบาล-ลดภาวะผู้นำเศรษฐา