สั่งเตรียมรพ.สนาม รับมือโควิดหลังปีใหม่พุ่ง5.7พัน ‘ศบค.’ปรับระดับพื้นที่เป็นสีส้ม

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 5,775  ราย เสียชีวิต 11 คน จับตา “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 7 ม.ค.นี้ เดินหน้าเชิงรุกรับมือโควิดพุ่งหลังเทศกาลปีใหม่ เตรียมปรับระดับพื้นที่เป็นโซนสีส้ม พร้อมเพิ่มมาตรการเข้มข้นกิจการร้านค้า งานประเพณี ลดเดินทางข้ามจังหวัด “สธ.” ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 งดกินดื่มในร้าน เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม “อนุทิน” สั่ง รพ.สนามเตรียมพร้อม มั่นใจเอาอยู่ ขอ 7-10 วัน ประเมินสถานการณ์ชัดเจน อว.สั่งเตรียมพร้อม รพ.สนามรองรับไว้แล้วทั่วประเทศ 13,416 เตียง ใน 47 แห่ง 39 จังหวัด

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,775 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,483 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 5,323 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 160 ราย เรือนจำ 77 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 215 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,673 ราย อยู่ระหว่างรักษา 37,968 ราย อาการหนัก 536 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 146 ราย เสียชีวิต 11 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 3 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 9 ราย โรคเรื้อรัง 1 ราย เสียชีวิตมากที่สุดใน จ.สงขลา 4 ราย

ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,245,250 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,185,502 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,780 ราย สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 298,223,894 ราย เสียชีวิตสะสม 5,481,865 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 769 ราย,   สมุทรปราการ 494 ราย, กรุงเทพฯ 454 ราย, เชียงใหม่ 378 ราย, อุบลราชธานี 348 ราย, ขอนแก่น 242 ราย, ภูเก็ต 226 ราย, ระยอง 121 ราย, นครศรีธรรมราช 120 ราย และอุดรธานี 116 ราย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานประชุม ศปก.ศบค. เพื่อสรุปมาตรการเสนอที่ประชุม ศบค.วันที่ 7 ม.ค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุม โดยมีประเด็นการปรับระดับพื้นที่สี การกำหนดมาตรการสำหรับกิจการ กิจกรรมต่างๆเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางการเดินทางเข้า-ออกประเทศ

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ในการประชุม ศบค. จะหารือถึงการยกระดับมาตรการตอบโต้ระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำและได้สั่งการไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้เป็นมาตรการที่เป็นทางการออกมา โดยมาตรการที่ว่าคือการเตรียมความพร้อมของโฮมไอโซเลชันและคอมมูนิตีไอโซเลชัน โรงพยาบาลหลัก เพื่อให้การบูรณาการของเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัว ทุกอย่างต้องเป็นการทำงานเชิงรุก และมั่นใจจากประสบการณ์ของประชาชน เจ้าของกิจกรรม กิจการต่างๆ หากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว ส่วนใครฝ่าฝืนมาตรการก่อให้เกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ศบค.ชุดใหญ่ถกปรับโซนสี

มีรายงานว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 7 ม.ค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน จะมีการพิจารณามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน หลังเทศกาลปีใหม่ ซึ่งพบการแพร่ระบาดหลายคลัสเตอร์ คาดว่าที่ประชุมจะมีการเสนอพิจารณาการปรับพื้นที่โซนสี ที่ส่วนใหญ่จะถูกปรับให้เป็นพื้นที่สีส้ม และพื้นที่สีเหลืองบางจังหวัด แต่ไม่มีพื้นใดถูกปรับให้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มหรือสีแดง

นอกจากนั้นจะขอความร่วมมือประชาชนในเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนการจัดกิจกรรม หรืองานบุญ งานพิธีประเพณีต่างๆ จะมีมาตรการรองรับที่เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งที่ประชุมจะมีการยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์เชิงรุก โดยบูรณาการส่วนราชการทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ตอบสนองได้ทันท่วงที ซึ่งทุกพื้นที่จังหวัดจะมีศูนย์ปฏิบัติการ (EOC) อยู่แล้ว โดยจะต้องเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม

ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) เดินทางมาตรวจสถานการณ์โควิด-19 พร้อมระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิดผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลง แต่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเข้าไปใช้บริการในสถานที่เสี่ยง ร้านอาหารกึ่งผับ การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคน เช่น งานเลี้ยง งานบุญทางศาสนา ที่อาจไม่ได้ระวังเพียงพอทำให้เกิดการระบาด

 “สธ.ได้ยกระดับการเตือนภัยประชาชนจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 โดยมีข้อแนะนำ คือ 1.อาจปิดสถานที่เสี่ยงที่ทำให้มีการแพร่เชื้อ หรือเพิ่มมาตรการมากขึ้นให้สถานที่เสี่ยงมีความปลอดภัย 2.ชะลอการเดินทาง เช่น ขอให้ทำงานที่บ้าน งดเดินทางข้ามจังหวัดถ้าไม่จำเป็น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายทำให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วได้ 3.จำกัดการรวมกลุ่ม มีมาตรการเคร่งครัดมากขึ้น ไม่ให้มีการแพร่เชื้อต่อ และ 4.ปฏิบัติตามมาตรการ VUCA คือ V เร่งฉีดวัคซีน U ป้องกันตนเองครอบจักรวาล รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก พยายามอยู่ในที่โล่ง C สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ” ปลัด สธ.ระบุ

ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิดของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก เป็นไปตามคาดการณ์ หากไม่มีมาตรการหรือความร่วมมือของประชาชน อาจติดเชื้อรายวันเกินหมื่นคนในเร็ววันนี้ แต่การเสียชีวิตยังมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นแม้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อย แต่กลุ่มเสี่ยงยังมีโอกาสเสียชีวิตได้ จึงต้องขอให้ผู้ที่ยังไม่รับวัคซีนหรือถึงกำหนดรับวัคซีนมารับวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

เตือนภัยโควิดระดับ 4

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สำหรับการประกาศแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 4 เพื่อขอความร่วมมือคือ 1.งดไปสถานที่เสี่ยงที่ระบบระบายอากาศไม่ดี แออัด ไม่ใส่หน้ากาก งดรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้าน 2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก 3.เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น ขอให้งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท แต่หากมีความจำเป็นขอให้ระมัดระวัง ซึ่งขนส่งสาธารณะมีมาตรการเข้มงวด ทั้งใส่หน้ากาก ตรวจ ATK กรณีใช้เวลาโดยสารนาน และ 4.งดเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีการระบาดสูง และผู้เดินทางกลับมาติดเชื้อจำนวนมาก

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หลังปีใหม่เป็นไปตามที่คาด สธ.จึงจะปรับมาตรการทุกด้าน ทั้งการเข้าเมือง การควบคุมโรค การแยกกัก และการกักตัว และกรมควบคุมโรคจะเสนอ ศบค.ให้พิจารณายกระดับพื้นที่เป็นสีส้ม จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นจุดที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมากที่สุด และจำกัดผู้ที่ลงทะเบียนเข้าประเทศในระบบ Test & Go ให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยกำหนดเข้าประเทศวันสุดท้าย 15 ม.ค.2565

 “เราต้องเฝ้าระวังติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระลอกนี้ต่อเนื่องอีกประมาณ 7-10 วัน จึงจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งระบบยา เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ห้อง ICU ไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มไม่มาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว หากการติดเชื้อยังมีอัตราเพิ่มขึ้นตามปกติจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว สำหรับด้านการรักษา สธ.มีมาตรฐานในการดูแล โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ หากผู้ป่วยไม่มีอาการ ขอความร่วมมือให้เข้าระบบโฮมไอโซเลชัน หรือคอมมูนิตีไอโซเลชัน เพื่อสำรองเตียง เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ บุคลากรทางการแพทย์ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก” รมว.สธ.กล่าว

ต่อมานายอนุทินพร้อมคณะเดินทางมาติดตามความพร้อมของโรงพยาบาลสนามเลิดสิน กรุงเทพฯ สำหรับรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ ให้มีความสอดคล้องและไม่กระทบกับระบบบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขปกติ โดยผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะมีโรงพยาบาลสนามรับดูแล หากอาการหนักจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาล

เตรียม รพ.สนามรองรับ

 “โรงพยาบาลสนามหลายแห่งที่ปิดไปแล้วได้ทยอยเตรียมความพร้อมให้เป็น คอมมูนิวตีไอโซเลชัน หากมีความจำเป็นต้องยกระดับ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีพื้นฐานการดูแลอยู่แล้ว โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายสนับสนุน เช่น สังกัดกรมการแพทย์ มีโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นต้น”นายอนุทินกล่าว

 รมว.สธ.กล่าวว่า ยังได้ให้องค์การเภสัชกรรมซึ่งมีสารตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เตรียมการผลิตยาเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งยืนยันว่าไม่มีปัญหายาขาดแคลน รวมทั้งขณะนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว คาดว่าอาการจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเข้า ICU หรือเสียชีวิต แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ทำให้มีความกังวลในเรื่องความพร้อมของจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย ในส่วน อว.ยืนยันว่าเราเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในสังกัด ให้พร้อมที่จะรับผู้ป่วยหนัก และเตรียมโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ทั่วประเทศถึง 47 แห่ง ใน 39 จังหวัดไว้แล้วหากมีความจำเป็นจะต้องเปิดใช้

ส่วน นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ทาง อว.ได้สั่งการเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งร่วมมือกับทางจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ พร้อมกลับมาเปิดรับผู้ป่วยได้หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือปรับรูปแบบเป็น Home Isolation หรือ Community Isolation ทั้งนี้ ได้เตรียม รพ.สนามไว้รวมมีจำนวนเตียงกว่า 13,416 เตียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง