สั่งรร.ทำแผนเผชิญเหตุ ห่วง‘โซนสีฟ้า’โควิดพุ่ง

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 7,681 ราย ดับ 19 ราย "ศบค." เผยสถานการณ์โควิดลดความรุนแรง อัตราป่วยหนัก-เสียชีวิตน้อยลง คาดปีนี้จ่อปรับจากโรคระบาดเป็นแค่โรคประจำถิ่น ห่วง 8 จว.สีฟ้าผ่อนคลายนั่งดริงก์ป่วยพุ่ง กำชับห้ามการ์ดตก "อนุทิน" ย้ำ ปชช.ร่วมมือดี ยอดติดเชื้อไม่ถึง 3 หมื่นแน่ แจง “ธนาธร” ไม่ได้ฉีดวีไอพี

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,681 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,392 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,282 ราย ค้นหาเชิงรุก 110 ราย เรือนจำ 12 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 277 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,292,290 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,350 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,204,135 ราย อยู่ระหว่างรักษา 66,286 ราย อาการหนัก 480 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 108 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 9 ราย ผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 21,869 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 ม.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 513,208 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 107,271,904 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 314,090,366 ราย เสียชีวิตสะสม 5,521,031 ราย  

"ลักษณะของโรคขณะนี้ลดความรุนแรง เนื่องจากประชาชนมีภูมิต้านทาน การรักษาและการบริการของเรามีความพร้อมและประสิทธิภาพ ทำให้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง หากร่วมมือกันดี เรามีความหวังว่าปีนี้โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องใส่หน้ากากเพื่อลดการแพร่เชื้อ" พญ.สุมนีกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 12 ม.ค. ได้แก่ กทม. 892 ราย, ชลบุรี 873 ราย,  สมุทรปราการ 523 ราย, ภูเก็ต 488 ราย, ขอนแก่น 277 ราย, อุบลราชธานี 269 ราย, นนทบุรี 251 ราย, เชียงใหม่ 194 ราย, ศรีสะเกษ 167 ราย และบุรีรัมย์ 166 ราย

"ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จ.นนทบุรี และปทุมธานี ที่สองวันก่อนผู้ติดเชื้อยังอยู่หลักสิบ แต่มาวันนี้เป็นตัวเลขสามหลัก และมีทิศทางตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงขอเน้นย้ำพื้นที่สีฟ้าทั้ง 8 จังหวัด แม้จะเปิดกิจกรรม กิจการได้ แต่ต้องกำกับติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งโควิดฟรีเซตติงและเน้นย้ำประชาชนให้ป้องกันตัวเองตามมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล" พญ.สุมนีกล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนของคลัสเตอร์ใหม่ที่พบมากที่สุดยังคงเป็นร้านอาหารกึ่งผับ กึ่งสถานบันเทิง พบที่ จ.อุบลราชธานี น่าน อุดรธานี พะเยา ขอนแก่น เชียงใหม่ และศรีสะเกษ คลัสเตอร์สังสรรค์ปีใหม่พบที่ จ.อุดรธานี หนองบัวลำภู คลัสเตอร์โรงงานพบที่ จ.นครพนม คลัสเตอร์งานบุญพบที่ จ.อุบลธราชธานี คลัสเตอร์สถานพยาบาลพบที่ กทม. แม้จะพบจังหวัดเดียว แต่พบถึง 5 โรงพยาบาล และคลัสเตอร์สถานศึกษาพบที่ จ.จันทบุรี กทม. และนนทบุรี 

นอกจากนี้ ที่ประชุมอีโอซี สธ.ได้หารือถึงเรื่องการปิด-เปิดโรงเรียนและสถานศึกษา เพราะจากสถานการณ์ในขณะนี้ทำให้มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งปรับการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์ส่วนใหญ่ และกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุขประชุมร่วมกันและจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ทำแผนเผชิญเหตุในกรณีพบการติดเชื้อของนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรในโรงเรียน โดยหลักการในการจัดการป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียนหรือสถานศึกษา มีการดำเนินการโดยใช้มาตรการที่เรียกว่า 6-6-7 คือ 6 มาตรการหลัก ได้แก่ เว้นระยะ สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ วัดไข้ ไม่ทำกิจกรรมที่มีคนแออัดจำนวนมาก 6 มาตรการเสริม ได้แก่ ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกโรงเรียนหรือสถานศึกษา และ 7 มาตรการเข้มงวด ซึ่งเป็นมาตรการที่ทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการ ได้แก่ ประเมินด้วยแอปพลิเคชันไทยสต็อปโควิดพลัส นอกจากมาตรการ 6-6-7 ดังกล่าวแล้ว ในการที่จะเปิดเรียนต้องได้รับวัคซีนเกิน 75% เด็กนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองด้วย ATK เป็นระยะ 

"การทำแผนเผชิญเหตุเพื่อใช้ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียน สถานศึกษา ซึ่งได้จัดทำส่งไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว อาทิ หากพบนักเรียนหรือครูในโรงเรียนติดเชื้อหนึ่งคน เราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เช่น ลงไปสอบสวนโรคและให้ปิดเฉพาะห้องเรียนนั้น 3 วัน ดังนั้นการที่เจอผู้ติดเชื้อก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องปิดเรียนทั้งโรงเรียน" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ปีนี้โควิดจ่อโรคประจำถิ่น

พญ.สุมนีกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5-11 ปีว่า ก่อนหน้านี้ อย.ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปีแล้ว วัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุช่วงดังกล่าว (ฝาสีส้ม) จะต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ในผู้ใหญ่ (ฝาสีม่วง) ในเด็กใช้ 10 ไมโครกรัม ในผู้ใหญ่ใช้ 30 ไมโครกรัม ดังนั้นถ้าใช้ฝาสีม่วงของผู้ใหญ่มาแบ่งเป็น 3 โดส โดสละ 10 ไมโครกรัม เพื่อที่จะฉีดให้เด็กได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าใช้ทดแทนกันไม่ได้ ในเด็กต้องใช้แบบเฉพาะเด็กฝาสีส้มเท่านั้น ส่วนเด็กโตขึ้นไปและผู้ใหญ่ต้องใช้ในสูตรที่เป็นฝาสีม่วง 30 ไมโครกรัม ขอให้เข้าใจว่าทดแทนกันไม่ได้ 

"ตอนนี้วัคซีนเด็กฝาสีส้มประเทศไทยสั่งเข้ามาแล้ว และจะเริ่มทยอยเข้ามาบ้านเราในช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้ หรือเต็มที่ก็จะภายในเดือน ก.พ.จะเข้ามาแล้ว ถือว่าเร็ว" พญ.สุมนีกล่าว

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกรมควบคุมโรคเตรียมพิจารณาให้โรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่นว่า ปัจจุบันโควิด-19 กำลังเปลี่ยนสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคที่เราสามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้ ด้วยปัจจัยสำคัญคือเชื้อลดความรุนแรง โดยปัจจุบันความรุนแรง อัตราป่วยตายโรคโควิด-19 ลดลงเหลือเสียชีวิต 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย หรือร้อยละ 0.1 จากที่ในช่วงแรกของการระบาด ตัวเลขข้างต้นสูงถึงมากกว่าร้อยละ 3

"ยังมีปัจจัยที่ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เช่น การฉีดวัคซีน จนถึงระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุม ชะลอการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชนในการเข้ามารับวัคซีน ไปจนถึงการมีวินัยในการดำรงชีวิต เมื่อการ์ดไม่ตกและร่วมแรงร่วมใจกันต่อไป จะเป็นอัตราเร่งให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นโรคที่เราสามารถคาดการณ์และรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเชิงเศรษฐกิจสังคมต่อไป" ที่ปรึกษา สธ.ระบุ

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้คาดการณ์ไว้ก่อนตั้งแต่ช่วงต้นเทศกาลปีใหม่และได้เตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว การเข้ามาของโอมิครอนทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หากเราใช้มาตรการทุกอย่างอย่างทั่วถึงและได้รับความร่วมมือจากประชาชน จากที่มีการประเมินว่าจะมีการติดเชื้อถึง 30,000 คน ถ้ามีมาตรการการฉีดวัคซีน สวมใส่หน้ากากอนามัย โควิดฟรีเซตติงและใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล การประเมินผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่นคนก็จะลดลงมา

"จากการที่ดูตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อใหม่ ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิต ยังไม่มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ที่กังวลคือตัวเลขผู้เสียชีวิต ซึ่งจะเห็นว่ายังไม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น" นายอนุทินกล่าว

ถามถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่าเตรียมฟ้องคนที่ให้ข้อมูลส่วนตัวเรื่องการฉีดวัคซีนที่หลุดจากระบบหมอพร้อม นายอนุทินกล่าวว่า เรามั่นใจว่าข้อมูลไม่รั่ว ไม่ว่าจากระบบไหนก็ไม่รั่ว แต่อันที่จริงข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องลับสุดยอดแต่อย่างใด ข้อมูลเหล่านี้มีเอาไว้ใช้ และไม่ควรไปจี้ว่านายธนาธรเป็นวีไอพีรับวัคซีนพิเศษกว่าคนอื่น เพราะนายธนาธรก็มารับการฉีดตามกำหนด โดยเข็มหนึ่งฉีดเมื่อเดือน ก.ค.2564 ก็ไม่ใช่วีไอพี อันนี้เราพูดกันแฟร์ๆ อย่าเอาตรงนี้มาเป็นประเด็น ถ้าถามว่ามีวีไอพีหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขในยุคของตนมีสโลแกนรักษาทุกที่ วีไอพีทุกคน

"อย่าเอาประเด็นนี้มาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตัวนายธนาธรเองก็เพิ่งติดโควิดไป ก็ไม่ทราบว่าได้ฉีดเข็มสามแล้วหรือยัง ถ้าได้ฉีดเข็มสามแล้วติดโควิดก็มารับเข็มสี่หลังคนอื่นๆ ได้ เพราะถือว่ามีภูมิธรรมชาติแล้ว" นายอนุทินระบุ

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ในสภาผู้แทนราษฎรว่า ตั้งแต่ปีใหม่ 2565 วันที่ 1-12 ม.ค. รัฐสภาพบผู้ติดเชื้อจำนวน 5 ราย ได้แก่ พนักงานทำความสะอาด ตำรวจรัฐสภา เจ้าหน้าที่ภายในกรรมาธิการ สำนักการคลัง และพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ ATK และ RT-PCR เรียบร้อยแล้ว โดยตนไม่ต้องการให้ตื่นตระหนก แต่ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าที่มีการเปิดประชุมสภาต้องมีมาตรการที่เข้มงวด

"ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า หากไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือร้ายแรง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จัดให้มีการเปิดประชุมรวด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-21 ม.ค. โดยขอความร่วมมือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ติดตาม และผู้ช่วย ส.ส. เข้ารับการตรวจ ATK ทุกวัน" ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง