เชื่อของแพงแค่ชั่วคราว

“สุพัฒนพงษ์” ชี้ ราคาสินค้าแพงเป็นเรื่องชั่วคราว วอนประชาชนอย่าเฝ้ามองแค่สินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ดูภาพรวมดีกว่า เชื่อของแพงเพราะคนบริโภคเยอะขึ้น "ประภัตร" ลั่นสานฝันสร้างอาชีพ เลี้ยงจิ้งหรีด เป็ดไข่ แพะขุน  ปลาดุกแทนหมู เพื่อไทยแผ่นเสียงตกร่อง "บิ๊กตู่" ต้องยุบสภาลาออกเท่านั้นเพราะประเทศเดินไม่ได้แล้ว

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมการแก้ไขราคาสินค้าแพงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ ประเด็นสินค้าราคาแพงต้องพิจารณาว่ามาจากปัจจัยใด ทางรัฐบาลเองมีนโยบายและได้หารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการพยากรณ์จากหลายสถาบัน เชื่อได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะอยู่ในระดับ 1-3% โดยไม่สามารถดูเฉพาะเจาะจงในรายการสินค้าได้

"ต้องดูภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อแทน เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องควบคุมให้ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกาที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 7% อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ประมาทในเรื่องนี้ ส่วนไหนที่ตรึงได้ก็พยายามจะตรึง ส่วนไหนที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับกลไกตลาดก็จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น กรณีที่เกิดขาดความแคลนในสินค้าประเภทนั้น ไม่อยากให้ประชาชนไปเฝ้ามองเพียงแค่การขาดสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง เพราะอยากให้ดูในภาพรวมดีกว่า" 

เมื่อถามว่า หากอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปเฉียด 3% จะเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจฉุกเฉินหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รอให้เกิดก่อนแล้วกัน เพราะตอนนี้ยังไม่เกิด เราติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว รัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้ และนายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังตลอด ไม่ได้ละเลย หรือไม่ได้ไม่ห่วงใย นายกฯ เห็นว่ารัฐบาลก็ได้ทำในหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว ทั้งการตรึงราคาสินค้าบางส่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เชื่อว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องชั่วคราว การตรึงราคาไว้บางส่วนก็อาจจะเป็นประโยชน์ได้ และไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกมากเกินไปจนทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจขึ้นราคาสินค้าของตนเอง

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรที่มีราคาแพง กระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางที่จะส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรที่มีความสนใจ โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุน สุกรขุน ไก่ไข่ จิ้งหรีด เป็ดไข่ และแพะขุน เมนูอาชีพด้านพืช สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกฟักทอง ฟักเขียว กระชายขาว และข้าวโพด และเมนูอาชีพด้านประมง สนับสนุนให้มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาทับทิม ปลาดุก และกุ้ง

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่าจากการติดตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนนั้น หลายหน่วยงานได้เร่งดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า”  เพื่อไม่ให้มีการปรับขึ้นราคามาม่าซองประเภทที่เป็นสินค้ามวลชน และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในท้องตลาดทั้งประเทศ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต่ออีก 2 เดือน ที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2565 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565 พร้อมทั้งขอความร่วมมือ บมจ.ปตท. (PTT) พิจารณาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท.ดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 อีกทั้งให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565

 “สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากกลไกราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนสินค้า และค่าขนส่ง ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งวางมาตรการทั้งระยะสั้น-ยาว เร่งติดตามหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในเบื้องต้นจะเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อให้ตรึงราคาสินค้าบางส่วนที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพ”

นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ได้กำชับหน่วยงานเฝ้าระวังและควบคุมการลักลอบนำสัตว์ข้ามพรมแดน การเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพื้นที่ รวมทั้งการเยียวยาให้แก่เจ้าของฟาร์มรายย่อย จากมาตรการทำลายสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค ทำให้ไทยสามารถป้องกันความรุนแรงโรค ASF ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการระบาดของโรคไปแล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน และรักษาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหมูซึ่งที่เป็นเนื้อสัตว์ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย 

"ดังนั้น พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องออกมาขู่ หากจะนำเรื่องเข้าหารือในสภา ก็สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมชี้แจงในสภาอยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องปกปิดข้อมูลใดๆ แต่ต้องไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านสร้างความสับสนไว้ แต่พอได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากรัฐบาลแล้วกลับไม่ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในข้อมูลผิดๆ ที่ตัวเองพูดไว้ แบบนั้นถือว่าไม่รับผิดชอบการกระทำของตัวเอง" นายธนกรกล่าว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะได้รับการชดเชยนั้น ต้องเป็นผู้เลี้ยงในพื้นที่ 56 จังหวัดตามประกาศ และเป็นกรณีที่สุกรถูกทำลาย โดยการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 ซึ่งในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีสุกรที่ถูกทำลายแล้ว แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย 4,941 คน สุกร 159,453 ตัว วงเงินรวม 574.11 ล้านบาท 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่แปดริ้ว สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี สหกรณ์ผู้ลี้ยงไก่ไข่ลุ่มน้ำน้อย ผู้ผลิตรายใหญ่ กรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่จะให้ความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ 2.90 บาท ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงสถานการณ์ด้านต้นทุนของผู้เลี้ยง พบว่า มีการปรับตัวสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งกรมจะหารือกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และหาทางช่วยเหลือในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้เลี้ยงต่อไป

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาวัตถุดิบในการเลี้ยงไก่ไข่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เลี้ยงแบกรับต้นทุนไม่ไหว จึงได้ประกาศขอปรับเพิ่มราคาไข่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ 3.00 บาท แต่เมื่อได้มีการหารือกับกรมการค้าภายใน สมาคมที่เลี้ยงไก่ไข่เข้าใจปัญหาและผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนจากการปรับขึ้นราคาไข่ไก่เป็นอย่างดี จึงได้ตกลงร่วมมือลดราคาไข่คละลงมาอยู่ที่ฟองละ 2.90 บาท จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ หากราคาวัตถุดิบในการเลี้ยงไก่ไข่ยังขึ้นต่อเนื่อง กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่จะกลับมาหารือกับกรมการค้าภายในอีกครั้ง

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าจะนำไปอภิปรายในมาตรา 151-152 พรรคเพื่อไทย รวบรวมข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่จะอภิปรายให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่สนใจไยดีต่อความเดือดร้อนของประชาชน ตั้งแต่ต้นปี 2565 การบริหารของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ซ้ำเติมประชาชนที่กำลังลำบาก ทุกอย่างขึ้นราคาหมด รัฐกลับไม่มีมาตรการดูแลประชาชน ดีแต่พูดไม่เคยทำได้จริง บรรดาลิ่วล้อที่ออกมาปกป้องพล.อ.ประยุทธ์ ทำเพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง ไม่ได้หวังดีกับประชาชน หากทำเพื่อประชาชนจริงควรบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกหรือยุบสภาก็ได้ เพราะประเทศเดินไม่ได้แล้ว ประชาชนไม่ทนกับความล้มเหลวของรัฐบาลอีกต่อไป

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) อดีต รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า นี่คือใบเสร็จที่ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจบริหารประเทศภายใต้ระบบราชการ สร้างรัฐราชการ ซึ่งไม่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์และขีดความสามารถในการแก้ปัญหาของคนเป็นผู้นำ ปัญหาโรคระบาดระดับวาระแห่งชาติ ทำกันได้แค่นี้หรือ นี่ถ้าไม่จนมุม ความไม่แตกออกมาคงเป็นวาระแห่งชาติหน้า ไม่มีทางได้รู้ความจริงกันเสียที

 “คนเป็นโควิด หมูเป็นอหิวาต์ แต่การเมืองเป็นโรคห่ามาแล้วเกือบ 8 ปี และห่ายังจะลงการเมืองอยู่แบบนี้ ไม่รู้จะอยู่ทำห่าอะไรกัน” นายณัฐวุฒิกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง