ถล่มยับ ปมควันหลงยุบก้าวไกล พรรคประชาชน-เพื่อไทยประสานเสียง ตรวจสอบพฤติกรรม "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เยาะเย้ยเสียดสี เขาให้อยู่สูงแล้วอยากอยู่ต่ำ "ปริญญา" ชี้ช่องร้อง ป.ป.ช. ด้าน "เรืองไกร" ร้อง กกต.ตรวจสอบการประชุมใหญ่พรรคประชาชน ชอบหรือไม่ โมฆะหรือไม่
วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงกรณีที่นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุถึงกรณียุบพรรคก้าวไกล ทำให้ยอดบริจาคเพิ่ม 20 ล้านบาท โดยตั้งคำถามถึงวงการตุลาการว่า อดกังวลถึงวุฒิภาวะและสติปัญญาของคนที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะคอยตัดสินว่าใครไม่มีหรือมีจริยธรรมไม่ได้ ยิ่งเห็นได้ว่าผมหงอกไม่ได้แสดงถึงสติปัญญาแต่อย่างใด ตนในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง จึงขอตั้งคำถามไปยังบรรดาตุลาการทั่วประเทศว่า
"ท่านฟังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนนี้พูดแล้วท่านคิดเช่นใด บูรพตุลาการหรือตุลาการในอดีตที่เคยสั่งสอนตุลาการมาหลายชั่วคน เคยสั่งสอนตุลาการรุ่นต่อๆ มา ให้กล่าวเยาะเย้ยเสียดสีหรือทวงบุญคุณกับตัวความในคดีที่ตนเองตัดสินเช่นนี้หรือ"
นายจุลพงศ์กล่าวว่า ที่สำคัญต้องไม่ลืมคือ ตุลาการหรือศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีนั้นได้ กระทำลงภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ตุลาการจะคะนองปากเอาคำตัดสินที่ตนตัดสินมาเสียดสีคนอื่นไม่ได้ หรือว่าที่เอาการตัดสินคดีมาพูดเล่นเสียดสีตัวความนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนที่พูดไม่สนใจว่าการตัดสินคดีทุกคดีกระทำลงภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ คนพูดเป็นตุลาการที่ตัดสินคดี แต่ออกมาเยาะเย้ยเสียดสี ทวงบุญคุณคู่ความนอกเหนือจากเนื้อหาของคดีเช่นนี้ มันเหมาะสมในการจะยังเป็นตุลาการหรือไม่
"ผมไม่กลัวที่ตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะคนที่เยาะเย้ยเสียดสีพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนในครั้งนี้ ในขณะที่พูด คนพูดไม่ได้กำลังกระทำในอำนาจและหน้าที่ของตุลาการแต่อย่างใด"
นายจุลพงศ์กล่าวต่อว่า นับวันเราจะเห็นคนบางกลุ่มที่คอยชี้ว่าคนนี้ไม่มีจริยธรรม คนนั้นไม่มีจริยธรรม ได้แสดงความคิดความอ่านอะไรออกมาต่อสาธารณะ แทนที่จะทำให้คนนับถือและเชื่อมั่นในสถาบันที่คนพูดสังกัดมากขึ้น กลับทำลายสถาบันสำคัญของชาติที่ตนสังกัด
ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะยื่นญัตติด้วยวาจาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งได้ไปบรรยายดังที่เป็นข่าว ไม่ประพฤติตนตามจริยธรรมของการดำรงตนเป็นตุลาการ
นายอดิศรย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพราะไปยุบพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติในการดำรงตนเป็นผู้พิพากษา ซึ่งมีประมวลจริยธรรมที่ชัดเจน เป็นการอวดเบ่งเหยียดหยามทำลายคู่กรณี มีมายาคติที่อคติไม่คู่ควรดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ตนเป็น สส.ฝ่ายนิติบัญญัติ คิดว่าการกระทำของท่านนี้ หรืออาจมีมากกว่านี้ก็ไม่ทราบ เป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
นายอดิศรชี้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจึงจะต้องตรวจสอบว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้พิพากษาคนนี้ มีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องของอำนาจ ไม่ควรไปเยาะเย้ยเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “เขาให้เป็นสมณะ เป็นพระ แต่เมื่อคุณประพฤติตัวแบบนี้ แสดงว่าคุณปาราชิกแล้ว เป็นพระสมณะต่อไปไม่ได้”
“ผมเห็นว่าท่านก้าวล่วงในการทำหน้าที่ เขาให้อยู่สูงแล้ว ท่านอยากอยู่ต่ำ ก็เชิญมาคลุกกับเรา ในฐานะที่เราเป็น สส. ไม่ได้คิดว่าเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่นี่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ที่แบ่งแยกกันอยู่” นายอดิศรกล่าว
ต่อมาเวลา 17.15 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ มีผู้เสนอญัตติ 2 คนคือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ภายหลังการอภิปรายปิดญัตติเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ได้กล่าวว่า จากการอภิปรายเห็นตรงกันว่าจะส่งเรื่องและข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไป และสั่งปิดการประชุมในเวลา 18.25 น.
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) กำหนดให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและมีความเห็น กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คือต้องไปร้องที่ ป.ป.ช. หากเสียงข้างมากเห็นว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์ “ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” มาตรา 235 (1) กำหนดว่า “ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ดังนั้น ศาลที่จะตัดสินก็คือศาลฎีกา
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักกฎหมาย เปิดเผยว่า การยุบพรรคก้าวไกลไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 นั้น ต่อมา สส.พรรคก้าวไกลทั้งหมดได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชน ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล และในวันที่ 9 ส.ค.2567 ที่ประชุมวิสามัญของพรรคประชาชน มีมติแต่งตั้งจำนวน 5 ตำแหน่ง จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ราชกิจจาล่าสุด ยังไม่พบข้อมูลพรรคประชาชน พบเพียงข้อมูลที่เป็นข้อบังคับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล พ.ศ.2566 ซึ่งมีข้อ 51 และ 52 กำหนดไว้ดังนี้
“ข้อ 51 การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง 1.การแก้ไขเปลี่ยนแปลง คําประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมือง 2.การแก้ไขเปลี่ยนแปลง ข้อบังคับพรรคการเมือง 3.การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง และ 4...” โดย “ข้อ 52 คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งกําหนดการประชุมให้ทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยให้ระบุวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมด้วย”
นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามข้อบังคับข้อ 52 ซึ่งกำหนดว่า “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งกําหนดการประชุม ให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยให้ระบุวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมด้วย” จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า พรรคก้าวไกลถูกยุบวันที่ 7 สิงหาคม 2567 แต่พรรคประชาชนประชุมวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นั้น กรณีดังกล่าว สส.พรรคก้าวไกลได้รับหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของพรรคดังกล่าวได้อย่างไร เมื่อใด เพราะ สส.ก้าวไกลควรไปสมัครสมาชิกพรรคดังกล่าว เร็วสุดก็ควรเป็นวันที่ 8 สิงหาคม 2567
นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องนี้จึงน่าสงสัย ควรแก่การตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบแล้วหรือไม่ และการออกหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของพรรคประชาชน เป็นไปตามข้อบังคับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล พ.ศ.2566 ข้อ 52 หรือไม่ สส.ของพรรคก้าวไกลที่ย้ายไปอยู่พรรคดังกล่าว ได้รับหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เมื่อใด น้อยกว่า 7 วันหรือไม่ ผลของการประชุมวันที่ 9 สิงหาคม 2567 จะเป็นไปโดยชอบหรือไม่
นายเรืองไกรสรุปว่า วันนี้จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า การประชุมพรรคประชาชนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 มีการส่งหนังสือเชิญประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันหรือไม่ การออกหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของพรรคประชาชน (ที่เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล) เป็นไปตามข้อบังคับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล พ.ศ.2566 ข้อ 51 ข้อ 52 หรือไม่ สส.ของพรรคก้าวไกล ได้รับหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เมื่อใด น้อยกว่า 7 วันหรือไม่ ผลของการประชุมวันที่ 9 สิงหาคม 2567 จะเป็นโมฆะหรือไม่
วันเดียวกันนี้ สำนักงาน กกต. สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือน มิ.ย.2567 จำนวน 12 พรรคการเมือง โดยมีผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 171 ราย เป็นจำนวนเงิน 24,058,800 บาท ดังนี้
พรรคเพื่อไทย 20 ล้านบาท ผู้บริจาค 19 คน, พรรคภูมิใจไทย จำนวน 2,470,000 บาท ผู้บริจาค 94 คน, พรรคก้าวไกล ยอดบริจาค 665,000 บาท ผู้บริจาค 44 คน, พรรคกล้าธรรม 425,000 บาท และพรรครักษ์ป่า 220,000 บาท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม
อาลัย‘สันติ’ นักร้องปลุกใจ เพลงรักชาติ
อาลัย "สันติ ลุนเผ่" ศิลปินแห่งชาติ ถึงแก่กรรมด้วยวัย 88 ปี
‘ในหลวง’เสด็จฯเปิดสวนเปรมประชาวนารักษ์
"ในหลวง-พระราชินี" เสด็จฯ ทางชลมารค ทรงเปิดสวนเฉลิมพระเกียรติ
พท.ถอยยึดกองทัพ ถอนกม.ผวาสุดซอยสังคมแตกแยก
"วันนอร์" อยากเห็นบทบัญญัติลงโทษผู้กระทำรัฐประหาร ชี้ทำได้จริง
90วันผลงานอื้อ โวปีทองของไทย ‘อิ๊งค์’กั๊กแจงสภา
รัฐบาลเตรียมแถลงใหญ่ผลงาน 90 วัน โว “2568 โอกาสไทย
แบะท่า‘ปู’ตามรอยแม้ว ลากไส้อบจ.ทุจริตเพียบ
คืบหน้าคดีนักโทษเทวดาชั้น 14 จ่อชงเข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เลขาฯ ป.ป.ช.ยันมีอำนาจรีดเอกสารทุกหน่วยงาน