เซ่นโอมิครอนรายที่2จ่อผ่อนคลาย

ผู้สูงอายุสังเวยโอมิครอนแล้ว 2 รายแรกในไทย   แพทย์เปิดผลเทียบ 8 สูตรฉีดวัคซีน เผยต้องสร้างภูมิสู้  2 เข็มเอาไม่อยู่ วอน ปชช.เร่งบูสเตอร์โดสเข็ม 3 ไม่ว่าสูตรไหนปราบฤทธิ์โอมิครอนได้ ด้าน "อนุทิน" เชื่อคุมสถานการณ์เดินหน้าประเทศได้ เตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลายเข้า ศบค. 20 ม.ค. เปิดช่องเดินหน้าเศรษฐกิจเล็งปรับรูปแบบ T&G นายกฯ ห่วงผู้สูงวัย "ผู้ป่วยติดเตียง-กลุ่มเสี่ยง” ย้ำรับวัคซีนเข็มกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน

เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,929 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,713 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,670  ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 43 ราย มาจากเรือนจำ 7 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 209 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,331,414 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น  5,255 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  21,938 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม  328,775,317 ราย เสียชีวิตสะสม 5,557,739 ราย  

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยยืนยันเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2 ราย รายแรกเป็นหญิงไทย  อายุ 86 ปี อยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นอัลไซเมอร์ และได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม แต่ฉีดเข็มที่สองมาแล้ว 4  เดือน โดยติดเชื้อจากคนใกล้ชิด เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เมื่อวันที่ 7 ม.ค. และเสียชีวิตวันที่ 12 ม.ค. รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี อยู่ที่ จ.อุดรธานี เป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย  ติดเชื้อจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน เสียชีวิตวันที่ 15 ม.ค.

 “กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำไปยังประชาชนทั่วไปที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ขอให้สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หากเป็นไปได้ขอให้จัดพื้นที่แยกจากคนอื่น หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม หากใครจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ขอให้เป็นผู้ดูแลประจำจะได้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ" พญ.อภิสมัยระบุ

 พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่  17 ม.ค. ได้แก่ กทม. 722 ราย, สมุทรปราการ 656 ราย, ชลบุรี  454 ราย, ภูเก็ต 389 ราย, นนทบุรี 386 ราย, ขอนแก่น 290  ราย, อุบลราชธานี 210 ราย, ปทุมธานี 199 ราย, เชียงใหม่ 193  ราย, นครศรีธรรมราช 182 ราย ทั้งนี้ยังมีการพบคลัสเตอร์ร้านอาหาร กึ่งผับกึ่งสถานบันเทิงในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์ตลาดที่  จ.อุดรธานี คลัสเตอร์งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ จ.อำนาจเจริญ คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนาในหลายอำเภอที่ จ.อุบลราชธานี คลัสเตอร์งานศพที่ จ.ร้อยเอ็ด รวมถึงที่สมุทรปราการ ซึ่งมีประวัติไปร่วมงานศพที่ จ.นราธิวาส เป็นการติดเชื้อจากการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง และคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์พบที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ และโรงพยาบาลธนบุรี

เธอระบุด้วยว่า ในช่วงนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสาม โดยรวมทั้งประเทศตัวเลขอยู่ที่ 14.1% เท่านั้น ถือว่ายังน้อยมาก และเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เพียง 13.8% เท่านั้น  ถือว่าน้อย รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เข็มสามอยู่ที่ 16.1%

 “ดังนั้น นโยบายการบริหารวัคซีนเข็มกระตุ้นของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือน ม.ค.65 เป็นต้นไป ขอให้ทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วให้มารับเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่สาม หรือผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวบางคนที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ขอให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยด่วน เพราะอย่างที่เห็นแล้วว่าหลายคนชะล่าใจว่าโอมิครอนไม่รุนแรง แต่เมื่อไปติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบางอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้" พญ.อภิสมัยระบุ

วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงกรณีผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน 8 สูตรในประเทศไทยต่อการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)​ และโอมิครอนว่า  กรม​วิทยา​ศาสตร์​การแพทย์​ได้เทียบประสิทธิภาพวัคซีน 8 สูตรที่มีในคนไทยต่อโควิดเดลตาและโอมิครอน โดยแต่ละสูตรมีประสิทธิภาพดังนี้​  1.ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 201.90 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 11.63 2.ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 189.40 มีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 19.17 3.แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 388.20 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 21.21

นพ.ศุภกิจ​กล่าวต่อว่า​ 4.ซิโนแวค-ไฟเซอร์  มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา  581.10 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 21.7 5.แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 226.90 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 23.81 6.ซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า  มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 368.10 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 71.64 7.แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 691.10 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 229.9 8.ซิโนแวค-ซิโนแวค-ไฟเซอร์ มีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา 729.30 และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน 282.5

"สรุปได้ว่าเป็นไปตามที่มีการคาดคะเน ที่โอมิครอนสามารถหลบภูมิคุ้มกันวัคซีนได้ดีพอสมควร สะท้อนจากตัวเลขด้านบน เช่น ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า สามารถกันเดลตาได้สูงราว 201.90 ขณะที่ป้องกันโอมิครอนได้เพียง 11.63 หรือลดลงราว 17 เท่า ซึ่งเป็นไปในทุกสูตรของ 2 เข็มที่มีในประเทศไทย​ จึงกล่าวได้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็มกันได้ไม่มากนัก แต่การฉีดบูสเตอร์โดสเข็มที่สามไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ค่อนข้างดี สามารถลบล้างฤทธิ์โอมิครอนได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังจำเป็นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันลดการแพร่ระบาด และลดอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ จึงอยากขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มสามเมื่อถึงเวลา” นพ.ศุภกิจระบุ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20  ม.ค. โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเตรียมมาตรการผ่อนคลายอะไรหรือไม่ว่า วันนี้ได้เชิญอธิบดีกรมควบคุมโรคมาพบ แม้สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่ระบาดได้เร็วและสูง แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมได้ เนื่องจากเรามีมาตรการควบคุมได้ดี โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ดังนั้นอธิบดีจะเสนอผ่อนคลายแบบทั่วๆ ไปไม่ได้ แต่ท่านต้องเสนอให้ทุกมิติเดินไปข้างหน้าได้ และประชาชนดำเนินชีวิตได้มากที่สุด แต่ความปลอดภัยต้องมีอยู่

เมื่อถามว่า สถานบันเทิงยังไม่มีการผ่อนคลายใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตรงไหนที่เป็นความเสี่ยงสูงสุดเราจะค่อยๆ ผ่อนคลาย แต่เราก็เห็นใจ เวลามีการร้องขอเข้ามาให้เปลี่ยนรูปแบบจากผับบาร์เป็นภัตตาคารเราก็ยอม ทั้งที่เป็นคนประเภทกัน และเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบแล้วก็ขอให้เป็นร้านอาหารจริงๆ ไม่ใช่ยังเป็นผับบาร์อยู่  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถผ่อนคลายได้ ที่ผ่านมารัฐบาลก็อยากผ่อนคลายและเห็นใจประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับมาตรการเทสต์แอนด์โกให้กลับมาเหมือนเดิมตามที่มีผู้เรียกร้องหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขคงนำเสนอเรื่องนี้กลับมาปรับปรุงรูปแบบใหม่ ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ ศบค.จะเห็นชอบหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขเป็นได้แค่ผู้เสนอ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝากความห่วงใยไปถึงครอบครัวที่มีคนอยู่ร่วมกันหลายวัย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ขอให้เพิ่มความระวังสูงสุด แยกส่วนที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน ลดการติดเชื้อในครอบครัว เพราะมีบุคคลที่เป็นความเสี่ยง พร้อมแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยขอยืนยันว่า วัคซีนทุกสูตรพบว่ามีประสิทธิผลป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากแต่ละสายพันธุ์สูง  แต่เนื่องจากประสิทธิผลของวัคซีนในส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีสูง จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง