ชงศบค.ต่อ‘พรก.ฉุกเฉิน’ 31ม.ค.เริ่มฉีดเด็ก5-11ปี

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 7,122   ราย เสียชีวิต 12 ราย พบคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับแพร่เชื้ออื้อ "เลขาฯ สมช."     เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่ 20 ม.ค. ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้ง หลังจะครบกำหนด 31 ม.ค.นี้ พร้อมผ่อนคลายมาตรการปรับโซนสี ฟื้นระบบเทสต์แอนด์โกเพิ่มเงื่อนไขนักท่องเที่ยวเข้า ปท. "ปลัด สธ." ลั่นยังไม่ลดระดับเตือนภัยโควิด ชี้ต้องรอผู้ป่วยทรงตัว "อนุทิน" เผยไฟเซอร์เด็ก 3 ล้านโดสถึงไทย 26 ม.ค. เริ่มกระจายฉีด 31 ม.ค.65

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,122 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,935 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,846 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 89 ราย เรือนจำ 15 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 172 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,460 ราย อยู่ระหว่างรักษา 81,602 ราย อาการหนัก 511 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 6 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย โรคเรื้อรัง 3 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,344,933 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,241,363 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 21,968 ราย การฉีดวัคซีนวันที่ 18 ม.ค. เพิ่มขึ้น 481,828 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสม 110,310,481 โดส 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 820 ราย,  สมุทรปราการ 601 ราย, ชลบุรี 506 ราย,  ภูเก็ต 383 ราย, นนทบุรี 319 ราย, ขอนแก่น 313 ราย, ปทุมธานี 250 ราย,  สมุทรสาคร 185 ราย, อุบลราชธานี 166 ราย และระยอง 156 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 19 ม.ค. รายงานว่าสถานบันเทิงกึ่งผับที่เปิดเป็นร้านอาหารมีการระบาดหลายคลัสเตอร์ ทั้งร้านมูนบาร์ จ.นนทบุรี, ร้านฮันนี่ไนท์ จ.เพชรบุรี, ร้านแสงคำ จ.อุบลราชธานี และจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศ พบการติดเชื้อในสถานบันเทิง 21 แห่ง มี 7 ร้านที่เปิดผ่านการประเมินโควิดฟรีเซตติง แต่ย่อหย่อนมาตรการทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขึ้น ซึ่ง 7 ร้านดังกล่าวมีในหลายพื้นที่ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น ส่วนอีก 14 ร้านเป็นการเปิดโดยไม่ได้ขออนุญาตจังหวัด รวมทั้ง สธ.รายงานปัจจัยติดเชื้อที่สำคัญ คือเรื่องสภาพแวดล้อม ไม่จัดการระบบระบายอากาศ ไม่จำกัดเวลานั่งรับประทานอาหารในร้าน ไม่เว้นระยะห่าง ไม่จำกัดผู้ใช้บริการ รวมถึงยังพบไม่มีการคัดกรองความเสี่ยงของผู้ให้บริการ

"ข้อมูลเหล่านี้จะนำเข้าให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา หากจะเปิดต้องเปิดอย่างปลอดภัย โดยการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับระดับพื้นที่สี ซึ่งจะพิจารณาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่มองแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ต้องดูความพร้อมในการรักษาพยาบาลของพื้นที่นั้นๆ ด้วย รวมถึงจะพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานการประชุม ศปก.ศบค. เพื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในวันที่ 20 ม.ค.นี้

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า การประชุมวันนี้ประเด็นแรกเป็นการสรุปและประเมินสถานการณ์หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ประเด็นที่สองจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงตัว และระบบรักษาพยาบาลที่จะรองรับก็เข้าที่เข้าทางมากขึ้น จึงจะประเมินว่าจะผ่อนคลายปรับระดับพื้นที่สีของแต่ละจังหวัดเพื่อให้ประชาชนคล่องตัวขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์สั่งการว่าตั้งแต่หลังปีใหม่ให้เร่งประเมินข้อมูล เพื่อพิจารณาผ่อนคลายในส่วนที่สามารถทำได้ เพราะห่วงใยประชาชนที่ประกอบอาชีพ และให้คนมีงานทำ พร้อมให้ระบบเศรษฐกิจได้ขับเคลื่อน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะเป็นหลักในการนำเม็ดเงินเข้าประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันนี้จะดูในรายละเอียดเหล่านี้ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน และจะต้องปรับในเรื่องของข้อมูลข่าวสารตรงไหนบ้าง รวมถึงระบบควบคุมผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศให้รัดกุมมากขึ้น

"มาตรการต่างๆ ที่จะออกมาบางส่วนจะเริ่มเลย บางส่วนจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ. เนื่องจากจะต้องแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อม เตรียมการเพื่อลงทะเบียน โดยจะพิจารณาไทม์ไลน์ของแต่ละมาตรการที่นายกฯ จะให้ผ่อนคลายเป็นอย่างไร แต่ว่าทั้งหมดทาง ศบค.ศปก.จะคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 20 ม.ค.นี้" พล.อ.สุพจน์กล่าว

ชงศบค.ต่อพรก.ฉุกเฉิน

ถามว่า การเดินทางเข้าประเทศโดยระบบเทสต์แอนด์โกจะมีการปรับเงื่อนไขอย่างไร เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เงื่อนไขที่สำคัญของระบบเทสต์แอนด์โกในช่วงระยะ 7 วัน ต้องหาวิธีควบคุมผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศให้ได้ ต้องสามารถติดตามตัวได้หลัง 7 วันจึงจะถือว่าปลอดภัย โดยสิ่งแรกที่จะต้องทำเมื่อเดินทางเข้ามาคือต้องตรวจคัดกรอง และจะต้องแจ้งว่าจะไปไหนในช่วง 7 วัน จากนั้นจะต้องคุมไว้สังเกต ไปไหนจะต้องมีข้อมูลดูได้ว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งจะหารือถึงมาตรการเพิ่มเติมในส่วนนี้ และกำหนดว่าในวันที่ 5-7 วันของการอยู่ในประเทศต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ เมื่อปลอดภัยสามารถเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยได้ โดยรูปแบบใหม่จะไม่มีการกักตัวในระบบเทสต์แอนด์โก ยกเว้นแต่ระบบแซนด์บ็อกซ์กับจองโรงแรม 7 วัน และกักตัว ซึ่งต่างจากเดิมที่ตรวจครั้งแรกครั้งเดียวแล้วปล่อยตัวให้ท่องเที่ยวได้

ซักว่าในที่ประชุมพิจารณาเพิ่มพื้นที่แซนด์บ็อกซ์หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า มีโอกาส และการเพิ่มจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่นั้นเป็นหลัก

ถามว่าจะมีการพิจารณาขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดออกไปหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ต้องต่อ ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนเวลาเพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในหลายกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งเรื่องเดินทางเข้าประเทศ การห้ามคน ส่วนการประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อ ประมาณ 6,000 ราย ซึ่งลดมาจากเดิม 8,000 ราย จึงต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการลดระดับ เพื่อให้ตัวเลขอยู่ในระดับที่ปลอดภัยขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ออกไป 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 ม.ค.2565

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงการปรับลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือ ระดับ 3 ว่ายังเร็วเกินไปที่จะมีการปรับลดระดับเตือนภัยโควิด จากระดับ 4 เหลือ 3 เนื่องจากเพิ่งมีการประกาศเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการเตือนภัยระดับ 4 การจะประกาศลดระดับเหลือ 3 ต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้รอบด้าน อย่างน้อย 4 รอบการระบาด หรือ 28 วัน (1 รอบการระบาดเท่ากับ 7 วัน) จึงต้องขอเวลาประเมินอย่างรอบด้าน ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต 

"ผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนขณะนี้ไม่มีอาการถึง 95-96% และสัดส่วนของโอมิครอนมีถึง 60% คาดว่าตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนรวมกว่า 10,000 คนแล้ว ขณะเดียวกันคนป่วยหนักก็พบมีจำนวนหนึ่ง ซึ่งรายที่ป่วยหนักและน่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง และมีวัณโรคลงปอด ต้นทุนสุขภาพของเดิมไม่ค่อยดีหนัก ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตปัจจุบันอยู่ที่ 2 คน" ปลัดสธ.กล่าว

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. กล่าวถึงความคืบหน้าวัคซีนไฟเซอร์เด็กว่า ได้รับรายงานจะมาถึงในวันที่ 26 ม.ค.นี้ จำนวน 3 ล้านโดส โดยเมื่อวัคซีนมาถึงจะเข้ากระบวนการตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิต จากนั้นส่งกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อพร้อมฉีดให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี นำร่องที่แรกสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็กจะเริ่มในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยวัคซีนไฟเซอร์เด็กจะมีขนาด 1 ขวด บรรจุ 1.3 มิลลิลิตร และเมื่อผสมกับน้ำเกลือจะมีขนาด 2.6 มิลลิลิตร ทำให้วัคซีน 1 ขวด สามารถฉีดให้กับเด็กได้ถึง 10 คน คนละ  0.2 มิลลิลิตร และบริษัทได้พัฒนาให้วัคซีนสามารถเก็บรักษาได้นานหลังผสมน้ำเกลือ ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ จากเดิม 4 สัปดาห์

จ.นครราชสีมา นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ  รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พร้อมด้วย นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 190 ราย ขยับเป็นนิวไฮในรอบสัปดาห์นี้ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 292 ราย ผู้ป่วยสะสม 36,418  ราย รักษาหายสะสม 34,195 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 1,931 ราย โดย อ.เมืองนครราชสีมา พื้นที่สีแดงติดเชื้อสูงสุด 107 ราย ส่วนโอมิครอนสะสมยังอยู่ที่ 17 ราย

จ.ภูเก็ต สาธารณสุขจังหวัดรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่จำนวน 475 คน จากเดิมวันละ 500-600 คน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 80 คน,   เทสต์แอนด์โก 12 คน เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 110-120 คน จากเดิมประมาณวันละ 180-200 คน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง