จ่อร้องยุบรัฐบาล! ‘วีระ’ อ้างเป็นกบฏทำ เสียดินแดน / ‘ผบ.ทร.’ ลงพื้นที่เกาะกูด

ผบ.ทร.ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กำชับกำลังพลหากมีเรื่องใดขัดข้องให้รีบแจ้งเพื่อแก้ไข ขณะที่นายอำเภอเกาะกูดลั่นเป็นของไทยมากว่า 100 ปีแล้ว  วอนนักเคลื่อนไหว นักการเมือง ไปทำกิจกรรมฝั่งจังหวัดตราดดีกว่า "วีระ" จ่อร้องยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ถอดถอน ครม.ทั้งคณะ ยื่น  ป.ป.ช.ไต่สวน ครม.คดีอาญาฐานเป็นกบฏทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนทั้งทางบกและทางทะเล

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด พร้อมรับฟังบรรยายสรุปถึงการปฏิบัติงานของหน่วย และการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพลและประสิทธิภาพของหน่วย เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกลต่อไป  โดยมี พล.ร.ต.ชรัมม์ภากร พรหมภากร รองผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด คณะผู้บังคับบัญชา และกำลังพลของหน่วย ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้กล่าวให้โอวาทกับกำลังพลของหน่วย ตอนหนึ่งว่า ขอบคุณกำลังพลทุกนาย ที่เสียสละ ต้องห่างจากบ้าน  จากครอบครัวที่รัก มาประจำการอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติให้คงอยู่คู่กับประเทศตลอดไป พร้อมขอให้ผู้บังคับหน่วยดูแลกำลังพลในทุกระดับชั้น ในเรื่องของความเป็นอยู่ สิทธิประโยชน์ของทุกคน ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง หากมีข้อขัดข้องสิ่งใดให้รายงานขึ้นมาผ่านสายงานผู้บังคับบัญชาได้ทันที ตนเองพร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาของหน่วย เพื่อให้มีความพร้อมในทุกมิติ

จากนั้นผู้บัญชาการทหารเรือได้ให้ สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ตนมาดูความพร้อมกำลังพลว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร รวมถึงดูความพร้อมของยุทธโธปกรณ์ในการเฝ้าตรวจ และการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบส่วนกลาง หรือ หน่วยควบคุมที่เชื่อมโยงสู่ศูนย์กลางของกองทัพเรือ กรุงเทพฯ ซึ่งจะเห็นภาพพื้นที่ปฏิบัติการในพื้นที่ที่เราดูแล โดยได้ให้นโยบายไปว่า ต้องทำอย่างไรให้มีความพร้อม ซึ่งปัจจุบันความพร้อม ถูกยกระดับขึ้นมาจากเดิม ทั้งเครื่องมือและคนให้มีพร้อมในทุกจุด แต่สิ่งที่ยังติดขัดคือเรื่องของเทคโนโลยี ระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น ระบบไฟ น้ำ เป็นสิ่งจำเป็น ก็ต้องทำให้เพียงพอกับความต้องการของกำลังพล

พล.ร.อ.จิรพลกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่เกาะกูดของกองทัพเรือ มีหน่วยที่อยู่บนเกาะคือหน่วยปฏิบัติการเกาะกูดและนาวิกโยธิน ซึ่งทั้งสองหน่วยได้ทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลในพื้นที่ที่เป็นรอยต่อ รวมถึงมีเรดาร์ดูแลพื้นที่ในทะเล เพื่อส่งข้อมูลให้ส่วนกลางในภาพรวม ทั้งนี้ ยืนยันว่ากองทัพเรือมีความพร้อม มีความปลอดภัย ประชาชนสามารถทำมาหากินในพื้นที่นี้ได้อย่างสงบสุข

วันเดียวกันนี้ มีความเคลื่อนไหวสถานการณ์ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทางทะเล โดยนายไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวจากกลุ่มการเมืองและกลุ่มอื่นๆ ที่มีข่าวสารมากมายเกี่ยวกับอธิปไตยของเกาะกูด และมีการเรียกร้องเรื่องเขตหรือดินแดนบางส่วนของเกาะกูดเป็นของกัมพูชาว่า อยากขอร้องสื่อมวลชน และนักการเมืองที่กำลังทำข่าวสารของเกาะกูดไปในทิศทางต่างๆ  นั้น อยากบอกว่า หยุดดีกว่า เพราะจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของชาวเกาะกูด วันนี้นักท่องเที่ยวเรือนแสนคน เดินทางมาท่องเที่ยวเกาะกูดแต่ละปีหลายแสนคน และสร้างรายได้เข้าเกาะกูดนับพันล้านบาทต่อปี หลังจากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวเกาะกูดบอบช้ำจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้ว อย่าทำให้เกาะกูดได้รับความเสียหายอีกเลย

เกาะกูดเป็นของไทย 100%

“ผมยืนยันได้เลยว่า เกาะกูดและพื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้กว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเขตแดนทั้งหมดของเกาะกูด และทางทะเล ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลหรือพื้นที่ทับซ้อน เป็นเรื่องของรัฐบาลและนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบและแก้ไข ผมเป็นข้าราชการไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ไม่อยากให้นักการเมืองหรือกลุ่มองค์กรใดมาเคลื่อนไหวอะไรในอำเภอเกาะกูด จะทำอะไรก็ทำบนฝั่งจังหวัดตราดดีกว่า เพราะเราต้องการให้เกาะกูดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และพี่น้องชาวตราดและชาวเกาะกูดมากกว่า เรื่องนี้ผมขอวิงวอนแทนพี่น้องชาวเกาะกูด"

ขณะที่ นายเดชาธร จันทร์อบ นายก อบต.เกาะกูด และชาวเกาะกูดโดยกำเนิด เปิดเผยว่า  ที่ต้องเขียนข้อความและลงในโพสต์ของตนเอง  เพื่อต้องการสะท้อนความรู้สึกของพี่น้องชาวเกาะกูดว่ามีความรักและหวงแหนแผ่นดินเกิดแ ละไม่อยากให้ใครหรือนักการเมืองกลุ่มใดใช้เกาะกูดมาเป็นเสมือนตัวประกัน และอ้างอิงในเรื่องต่างๆ  เพราะเกาะกูดเป็นของไทยโดยสมบูรณ์ตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา

“แผ่นดินเกาะกูดเป็นของประเทศไทย 100% เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราดและประเทศไทย มีประชาชนชาวไทยอาศัยทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเสียแผ่นดินเกาะกูดให้กับทางกัมพูชาแต่อย่างใดทั้งสิ้นตามที่เป็นข่าว

พื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่ทรัพยากรธรรมชาติ มูลค่ามหาศาล ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเกาะกูด สถานประกอบการ ธุรกิจที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยวของเกาะกูด เรื่องนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ไม่ว่าพรรคไหนหรือฝ่ายไหนที่จะมาเป็นรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินการเจรจาผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

อนึ่ง จากประเด็นดังกล่าว อาจมีผู้นำไปเชื่อมโยงเหตุผลทางการเมืองต่างๆ มีทั้งเรื่องจริงบ้าง เท็จบ้าง ขอให้พี่น้องประชาชนชาวเกาะกูด รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ ช่วยกันตรวจสอบดูแล อย่าให้เหตุการณ์ดังกล่าวมากระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาะกูด รวมถึงการท่องเที่ยวของเกาะกูด เราทุกคนต้องช่วยกันรักษาแผ่นดินเกาะกูด ซึ่งเป็นของประเทศไทยต่อไป

               นายเดชาธรกล่าวอีกว่า การเดินทางมาเกาะกูดของ ผบ.ทร.วันนี้ หากมาดีก็ไม่เป็นไร แต่หากมาแล้วนำปัญหามาให้ชาวเกาะกูด อาจจะทำให้ชาวเกาะกูดไม่พอใจ เพราะที่ผ่านมาทหารเรือมีปัญหากับชาวเกาะกูดเรื่องที่ดินทับซ้อนของประชาชนกับทหารเรือมานานแล้ว ไม่มีการดำเนินการพิสูจน์สิทธิใดๆ ล่าช้ามานานกว่า 30 ปียังไม่จบ นี่คือสิ่งที่ชาวเกาะกูดอึดอัด และอยากเรียกร้องกับฝ่ายควรมั่นคงว่าจะมีความชัดเจนเมื่อใด

ปกป้องดินแดนเกาะกูด

ด้าน น.ส.สุพิชญ์ณัฏฐา รังเกตน์แก้ว ตัวแทนกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ที่เป็นลูกหลานคนตราด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของพื้นที่เขตแดนของเกาะกูด ที่ฝ่ายไทยและจังหวัดตราดมองว่าเป็นของจังหวัดตราดและเป็นของไทยตามสนธิสัญญาของฝรั่งเศสนั้นก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ยังมีบางเรื่องที่ซับซ้อนและลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะในพื้นที่ทางทะเลฝ่ายกัมพูชาได้ขีดเส้นที่เลยเข้ามาในเกาะกูด และเรายังไม่มีการตอบโต้หรือเรียกร้องใดๆ อีกทั้งยังยอมรับและไม่คัดค้านฝั่งกัมพูชา หากมีการต่อสู้กันอาจจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ ทางกลุ่มของเราจึงได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อปกป้องดินแดนของเกาะกูด ด้วยการจัดเวทีเพื่อให้ความรู้ในเรื่องนี้  ในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.00 น. ณ ลานกิจกรรมสนามหลวง (ตรงข้าม รร.อนุบาล) หน้าศาลากลางจังหวัดตราด

ขณะที่ นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะเชื่อได้ไหม ปี 2551 รัฐบาลเพื่อไทย โดย นพดล ปัทมะ รมต.ต่างประเทศขณะนั้น บอกว่าเราจะไม่เสียเปรียบเรื่องปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่รอบเขา ผลคือ กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเพียงประเทศเดียว

ปี 2567 รัฐบาลเพื่อไทย บอกว่า เราจะไม่เสียเกาะกูด แต่ต้องเอาผลประโยชน์ขึ้นมาใช้ก่อน เดี๋ยวพลังงานหมดอายุ เราถูกเป่าหูว่า พลังงานจะหมดอายุ เราถูกบอกว่า เราจะไม่เสียสิทธิ์ดินแดนทางทะเล แล้วเราจะเชื่อรัฐบาลที่คิดแต่ผลประโยชน์ได้ไหม นัดหมาย อังคาร 5 พ.ย.67  "รวมพลคนคลั่งชาติ คัดค้านผลประโยชน์ทับซ้อน หยุดเจรจาผลประโยชน์ก่อนเขตแดน" เจอกันทำเนียบรัฐบาล 10.00 น. สะพานชมัยมรุเชฐ

นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยว่า มีความตั้งใจจะยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ทำการตรวจสอบกรณีพื้นที่ทับซ้อน ว่าเป็นการทำให้เสียดินแดน ผิดรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบไต่สวนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำการยุบพรรคการเมือง และถอดถอนคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง และให้เลิกการกระทำดังกล่าวนั้นเสีย

คำร้องที่ 2 จะยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ทำการตรวจสอบไต่สวนคณะรัฐมนตรีเป็นคดีอาญา ฐานเป็นกบฏทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน ทั้งทางบกและทางทะเล และฟ้องคดีอาญาต่อศาลคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ยื่นยุบพรรคร่วมรัฐบาล

นายวีระกล่าวว่า และอาจยื่นคำร้องที่ 3 ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ที่รัฐมนตรีของแต่ละพรรคไปร่วมสมรู้สมคบกันสนับสนุนให้มีการแถลงนโยบาย จัดสรรผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนกับเขมร ทั้งที่เป็นดินแดนของประเทศไทย เพื่อเสนอ กกต.มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญทำการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป

"ผมมีเวรกรรมอยู่กับเขมร เพราะได้ทำหน้าที่ปกปักรักษาแผ่นดินตามหน้าที่ของประชาชนชาวไทย จนถูกแกล้งจับไปติดคุกเขมรอยู่หลายปี ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่นี้ต่อไปจนถึงที่สุด" นายวีระ กล่าว

ส่วนนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ให้ความเห็นกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสนอให้รัฐบาลทำเรื่องเกาะกูดให้ชัดเจน เชื่อลดชาตินิยมล้นเกิน และจะได้หันไปทำเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนว่า ผมตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิประโยชน์ในทะเลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลนี้จะเร่งเจรจา MOU 44 ทุกพรรคฝ่ายค้านก็ต้องตรวจสอบเพื่อดูแลประชาชน ประเด็นเรื่องเกาะกูด ต่างหากจากประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ในทะเล ดังนี้

1.เขตสิทธิประโยชน์ในทะเล ขึ้นอยู่กับเส้นเขตแดน 2.พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน เกิดจากเส้นของสองประเทศเหลื่อมกัน ถ้าตกลงกันได้ ก็ทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม 3.ตัวอย่างพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย ตีกรอบด้วยเส้นเขตแดนที่ประกาศโดยสองประเทศ ทั้งสองเส้น เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติ เพียงแต่ตีความเรื่องเกาะโลซินแตกต่างกัน ไทยถือโลซินเป็นเกาะ มาเลเซียถือเป็นเพียงโขดหิน เมื่อเห็นต่างกัน ก็ยอมพัฒนาร่วมกัน

4.กรอบของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา เกิดจากเส้นเขตแดนที่ผ่านเกาะกูด ทำให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนใหญ่ถึง 26,000 ตร.กม. แต่เส้นดังกล่าว ขัดและบิดเบือนสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส จึงไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติ แตกต่างจากกรณีมาเลเซีย 5.ถ้าใช้เส้นที่ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติ จะทำให้ไทยเสียสิทธิประโยชน์ในทะเล 6.ในชั้นแรก เสียสิทธิประโยชน์ในทะเล ในชั้นที่สอง ไทยเสี่ยงจะเสียถูกแบ่งเกาะกูด

ถามว่า ไทยเสี่ยงจะเสียถูกแบ่งเกาะกูด เช่นเดียวกับเขาพระวิหารอย่างไร? ถึงแม้แผนที่ฝรั่งเศสที่อ้างว่าเขาพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาขัดกับข้อตกลง แต่ไทยก็ยังเสียเขาพระวิหาร

ศาลโลกวินิจฉัยว่า กัมพูชาส่งแผนที่ดังกล่าวมาให้ไทยหลายครั้ง แต่ไทยไม่ได้โต้แย้ง จึงเป็นการยอมรับโดยปริยาย

ดังนั้น ถามนายพิธา ในการทำหน้าที่พรรคการเมืองเพื่อประเทศ ใครรับรองได้ว่า จะไม่เกิดเหตุทำนองเดียวกัน ในเมื่อไทยลงนามใน MOU 44 ที่มีเส้นเขตแดนกัมพูชาลากผ่านเกาะกูด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' ของไทย ไม่บ้ายกให้กัมพูชา จ่อติวเข้ม สส. แจงปชช.

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' เป็นของไทย โต้เฟกนิวส์ใช้เอไอปล่อยข่าวมั่ว ชี้ใครจะบ้ายกให้ เตรียมติว สส. เพื่อไทย แจงประชาชนถึงที่มา MOU 44