"มาดามแพ" อ้าง พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคลปมขอเวชระเบียนรักษา "ทักษิณ" จาก รพ.ตำรวจ ยันไม่แทรกแซง พร้อมให้ความร่วมมือ เป็นไปตามกระบวนการ "ทวี" หลังพิงผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบแล้วไม่มีความผิด โบ้ย กสม.ไม่ได้เข้าสอบทักษิณ ขณะที่ "อดีตเลขาธิการแพทยสภา" กระตุกแพทยสภาสอบเนิ่นนานแล้ว เตือนแพทย์ออกเวชระเบียนเท็จโดนเพิกถอนใบอนุญาตและอาญาด้วย "วราวุธ" แนะแก้ รธน.ต้องเร่งตั้ง ส.ส.ร.ช้าๆ ดีกว่าลัดขั้นตอนแล้วเป็นศูนย์ นายกฯ จ่อเดินสาย "จีน-อเมริกา-เปรู" กลับ 18 พ.ย.
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 พฤศจิกายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากโรงพยาบาลตำรวจ แต่ยังไม่ได้รับ ในฐานะที่นายกฯ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะสามารถเปิดเผยเรื่องนี้ได้หรือไม่ ว่าเรื่องนี้ให้เป็นไปตามกระบวนการ ยังไงก็ตามยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว และในตัวของรัฐบาลเองก็ยินดีให้ความร่วมมือ ไม่ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น แต่ยังไม่แน่ใจในหลักของกฎต่างๆ ว่าเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้าตามกฎหมายได้ก็ตามนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการสอบถามกับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เห็นทาง ผบ.ตร.ก็ออกมาแล้วใช่หรือไม่ จริงๆ อยากให้เป็นไปตามกระบวนการ เพราะต้องมีคณะกรรมการในเรื่องนี้อยู่แล้ว และไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอะไรอยู่แล้ว กับ ผบ.ตร.ก็ยังไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ แต่เห็นว่าได้มีการชี้แจงไปแล้วว่ามีเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
เมื่อถามว่า จะรับมือตรงนี้อย่างไร เพราะถ้าเข้าไปทำก็ถูกมองว่าอาจจะช่วยพ่อ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็อาจจะโดนอยู่ดี นายกฯ กล่าวว่า ยึดหลักตามกระบวนการแล้วกันว่าต้องทำอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ในฐานะของนายกฯ ก็ต้องว่าไปตามนั้น รัฐบาลก็ยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้ว จะได้ไม่กระทบต่อรัฐบาลด้วย
เมื่อถามว่า มีอะไรต้องกังวลต่อเรื่องนี้หรือไม่ เพราะอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลให้ความร่วมมือในทุกๆ เรื่อง คิดว่าไม่ส่งผลกระทบแน่นอน ส่วนการเดินสายไปต่างประเทศในเวทีสำคัญๆ อาจมีคำถามจากสื่อต่างประเทศในเรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ยินดีตอบแน่นอน และไม่เกี่ยวกับภาพนายกฯ เพราะการที่จะเดินสายในเวทีโลกต้องการจะเอาสินค้าในประเทศไทยไปขาย ต้องการจะเปิดตลาดให้กับคนไทยเพื่อให้มีโอกาสมากขึ้นและมีทางหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ขอประวัติเวชระเบียนเกี่ยวกับการรักษานายทักษิณว่า ต้องไปถาม ป.ป.ช. ว่าส่งแล้วจริงหรือไม่ หากส่งแล้วทำไมจึงยังไม่ได้มา และทางตำรวจตอบอย่างไร ตนไม่สามารถตอบแทนได้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรายินดีและยืนยันว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย สังคมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากในเรือนจำมี 3 ความเข้าใจคือ 1.เรือนจำเลย 2.ในโรงพยาบาล 3.ที่คุมขังอื่น อันนี้อยู่ในกฎหมาย และกฎหมายดังกล่าวถูกแก้ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป้าหมายเพื่อต้องการลดความแออัด แต่ไม่ว่าอยู่ที่ใดเราจะปฏิบัติเหมือนกับอยู่ในเรือนจำ จึงเชื่อว่าทางเรือนจำจะส่งหลักฐานในกรณีของนายทักษิณไปให้ ซึ่งไม่มีสักนาทีที่นายทักษิณออกจากห้องรักษาตัว เช่นเดียวกับนักโทษทั่วไปที่ออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่นๆ เช่นกัน ทั้งไปกลับและค้างคืน
"ยืนยันว่ายินดีจะให้ข้อมูล แม้แต่กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำหนังสือมา และผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยเรื่องเดียวกันผู้เสียหายคนเดียวกัน แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าไม่มีความผิด แต่ กสม.มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ในทางกฎหมายถ้าหน่วยงานอิสระรับไว้ตรวจสอบอีกองค์กรหนึ่ง ไม่ควรจะมีความเห็นต่างกัน มันอยู่ในเอกสาร แต่อย่างไรเราจะให้ความร่วมมือและพร้อมจะชี้แจง"
เวชระเบียนเท็จโดนคดีอาญา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง 2 หน่วยงาน จะทำให้ได้เปรียบในการชี้แจงหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบละเอียด แต่ กสม.ไม่ได้สอบ ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบเพียงพยาน และตามรายงานได้เข้าไปพบนายทักษิณด้วย ส่วนการเยี่ยมอยู่ในระเบียบของการเยี่ยม สามารถขอหลักฐานได้ การพูดของคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรื่องหลักฐานนั้นสำคัญ ยืนยันปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ เราจะไม่ทำอะไรนอกเหนือกฎหมาย
อดีตเลขาธิการแพทยสภาท่านหนึ่ง ให้ความเห็นถึงกรณีมีการร้องแพทยสภาให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวว่า กระบวนการพิจารณาจริยธรรมของแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของคณะกรรมการแพทยสภานั้นน่าจะได้ข้อสรุปแล้ว เพราะระยะเวลาเนิ่นนานมาพอสมควรแล้ว อีกทั้งคณะอนุกรรมการทางจริยธรรม และคณะอนุกรรมการสอบสวน สามารถเรียกเวชระเบียนของผู้ป่วยมาพิจารณาได้ หากบอกว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวเปิดเผยไม่ได้ แพทยสภาก็จะไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ป่วยได้เลย
"ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิดคดีที่มีผลกระทบต่อสังคม เป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจมาก แพทยสภายังเคยแถลงข่าวให้ทราบถึงผลการพิจารณา จริยธรรมของแพทย์ที่ประพฤติผิดข้อบังคับทางจริยธรรมฯ รวมทั้งเปิดเผยชื่อแพทย์ท่านนั้นๆ เพราะต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน"
อดีตเลขาธิการแพทยสภาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจะบอกให้แพทย์ให้ความเห็นเป็นเท็จ หรือออกใบรับรองแพทย์เป็นเท็จ มีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่น้อยมาก สำหรับในกรณีนี้ อาจเป็นไปได้ที่แพทย์ในฐานะข้าราชการถูกผู้บังคับบัญชาร้องขอ หรือสั่งให้ทำความเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีแพทย์ท่านใดกล้าประพฤติผิดทางจริยธรรมได้ถึงขนาดนี้ หากทำจริง ไม่เพียงแต่ถูกแพทยสภาลงโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพิกถอนใบอนุญาตฯ แล้วอาจต้องรับโทษในคดีอาญาอีกด้วย
นายกฯ ยินดีคุย 'ไอติม' แก้รธน.
น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์กรณียื่นหนังสือขอขยายเวลาการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ออกไป 30 วัน เป็นเพราะอะไรว่า ยังเตรียมไม่ทัน งานทุกอย่างเข้ามารุมเร้ามาก ในเรื่องของการแจงบัญชีทรัพย์สินอย่างไรต้องแจงอยู่แล้ว การขอขยายเวลาเพื่อให้ละเอียดขึ้นครบถ้วนขึ้น ทางครอบครัวก็ช่วยด้วย
เมื่อถามว่า หุ้นที่เคยถือไว้ 16 บริษัท ได้จัดการขายหรือโอนหุ้นไปแล้วหรือยัง น.ส.แพทองธารกล่าวว่า มีการจัดการทุกอย่าง เราต้องเอาเรื่องข้อกฎหมายมาดูว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ทางครอบครัวทั้ง น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว และนายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ช่วยดูเรื่องนี้กับทีมกฎหมาย
น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ขอเข้าพบเพื่อหารือถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมจะรับฟังหรือไม่ ว่ารับฟังค่ะ หากมีอะไรก็ตั้งคณะคุย หรือคุยกันเป็นทางการ เป็นกิจจะลักษณะได้
เมื่อถามว่า ได้มีการขอเข้าพบมาหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีนะคะ ได้ยินจากสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก เมื่อถามว่าถ้าติดต่อมาจะให้เจอตัวหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้ค่ะ ไม่ติดอยู่แล้ว ส่วนที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ทันในสมัยนี้ อันนี้เราต้องทำในส่วนที่เราทำได้และถูกต้อง เพราะถ้าระยะยาวไปก็จะมีปัญหาในภายหลัง ซึ่งจริงๆ มาอยู่ตรงนี้เองก็ทราบถึงเรื่องปัญหาต่างๆ เยอะนู่นนี่ แต่ถ้าเรารีบในกระบวนการเกินไปนอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์และระหว่างทางจะโดนฟ้องกันด้วย อันนี้ก็ต้องช่วยกันดูนิดหนึ่ง
เมื่อถามว่า ธงของรัฐบาลคือต้องการให้เสร็จในยุคนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบ และต้องคุยกันว่าไทม์ไลน์จะเอาอย่างไรบ้าง เพราะจริงๆ ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยก็ได้หาเสียงไว้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาพูดคุยกัน และต้องเก็บหมวด 1 หมวด 2 อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกพรรคร่วมมือกัน
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นทั้งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นนายกฯ มองว่ารัฐธรรมนูญมีประเด็นไหนเป็นอุปสรรคการบริหารประเทศที่จะต้องเร่งแก้ นายกฯ กล่าวว่า ถามอย่างนี้จะเป็นการเปิดการโต้แย้งไปนิด แต่แน่นอนเราต้องทราบอยู่แล้ว ต้องทำเอื้อต่อประชาธิปไตยและประชาชนมากที่สุด ขอตอบกว้างๆ แบบนี้แล้วกัน
ตั้ง ส.ส.ร.ดีกว่าลัดขั้นตอน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ว่า ได้มีการพูดคุยกัน 2 เรื่องคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังได้รับคำยืนยันว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะไม่มีการแตะมาตรา 112 ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรมไม่สนับสนุนและพร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุอาจทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 68 ว่า การดำเนินการเรื่องนี้ยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปีหน้า จะไม่ทันการทำประชามติ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 70 ก็อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน
นายวราวุธกล่าวว่า การทำงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะกลไกการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมี ส.ส.ร.แล้ว อายุหรือสถานะของ ส.ส.ร.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระของสภาชุดนี้ เนื่องจากสภาจะครบวาระในวันที่ 13 พ.ค.70 หากมีการตั้ง ส.ส.ร.ได้ก่อนหน้านั้น การดำเนินการของ ส.ส.ร.ก็จะสามารถดำเนินการไปโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภา ขออย่าเพิ่งหมดหวัง หัวใจสำคัญคือการเร่งดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิด ส.ส.ร.ขึ้นมา
"สำหรับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวทางมาค่อนข้างชัดเจน ว่าการแก้มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งเมื่อจัดทำ ส.ส.ร.แล้ว จะมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งนั้น ย้ำว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงามเสียดีกว่า เพราะหากทำการลัดขั้นตอน แล้วเกิดปัญหา ความพยายามตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาจะกลับไปที่ศูนย์ใหม่ หากเพิ่มเวลาอีกนิด ทำประชามติตามขั้นตอน ท้ายที่สุดแล้วจะคุ้มค่าเงิน"
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 พ.ย. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 จากนั้นในวันอาทิตย์ 10 พ.ย. จะเดินทางไปยังนครลอสแองเจลิส เพื่อพบปะกับเอกอัครราชทูตและคนไทยในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเดินทางต่อไปประเทศเปรูในวันที่ 13 พ.ย.67 เพื่อร่วมประชุมผู้นำประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก ที่กรุงลิมาประเทศเปรู และจะเดินทางกลับไทยในวันที่ 18 พ.ย.67.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯเป็นประธานพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะรัชกาลที่ 9
นายกฯเป็นประธานพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายกฯ พร้อมคู่สมรส นำ ครม.ทำบุญตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ รัชกาลที่ 9
นายกฯ พร้อมคู่สมรส นำ ครม.ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 189 รูป เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9
นายกฯ อิ๊งค์ให้ 'พิชัย' แจงปมโพล่งขึ้นแวต 15%
'อิ๊งค์' เข้าใจประชาชนกังวลขึ้นแวต 15% เดี๋ยวให้ 'พิชัย' ชี้แจงรายละเอียด
ฮือไล่ปธน.ยุน!วุ่นรมว.กห.ไขก๊อก
พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้เคลื่อนไหวถอดถอน "ประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล"
ชงรัฐบาลชะลอค่าแรง400
“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ย.67 เพิ่มขึ้น 0.95% บวก 8 เดือนติด
เฮ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นมรดกโลก ภูมิปัญญาไทย
เฮ! ยูเนสโกรับรอง "ต้มยำกุ้ง" มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นายกฯ ปลื้มซอฟต์พาวเวอร์ไทย ยกศิลปะปรุงอาหาร