‘ป้อม’ปลุกพปชร.ล้มMOU44

"ภูมิธรรม" จวกอย่าจินตนาการสัมปทานน้ำมันพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเอื้อ  "ชินวัตร-ฮุน เซน" ควงทหารลงพื้นที่เกาะกูดเสาร์นี้ “เทพไท-สมชัย” ฟันธงกระแสต้านเกิดจากความไม่ไว้วางใจ “ทักษิณ” สังคมระแวงรัฐบาลสืบสันดานคล้ายกัน ด้าน “เด็กบิ๊กป้อม” บอกลุงให้เดินหน้าล้ม MOU 44

วันที่ 7 พฤศจิกายน นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า  มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ชายแดนที่ อ.เกาะกูด จ.ตราด ในวันที่ 9 พ.ย. มี 2 ประเด็นคือ 1.จะเดินทางไปยังหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด  กองทัพเรือ เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ดูแลทุกข์สุขกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ที่อยู่เฝ้าชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด 2.ไปเพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเราเป็นเจ้าของเกาะกูด ประเทศไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด และบนเกาะกูดเป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งมีหน่วยราชการและประชาชนอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจและมั่นใจขึ้น ทั้งนี้ ตนจะเดินทางไปพร้อมกับปลัดกระทรวงกลาโหม  เลขาธิการ รมว.กลาโหม และเสนาธิการกองทัพเรือ

“ไปดูสถานที่จริง เพื่อเวลาคุยกันตรงนี้จะได้พูดกันได้ชัดเจนว่าเราได้ไปเห็นมาแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าในบรรยากาศความรู้สึกของคนที่อยู่ที่นั่น เขาก็อยากมั่นใจว่าเขาเป็นคนไทยและอยู่บนพื้นแผ่นดินไทย ส่วนกำลังทหารทั้งหมดก็มั่นใจว่าทำหน้าที่ในการรักษาดินแดนและอธิปไตยของไทยไม่ให้ใครมารุกล้ำ และจะรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้เสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว" รมว.กลาโหมกล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ความพยายามของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงข้อเท็จจริงครั้งนี้ จะช่วยลดความสับสนลงไปได้บ้าง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการกุข่าว เป็นการพูดที่เลื่อนลอย โดยไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง เกาะกูดเป็นของไทยมานานแล้ว ไม่เคยมีคำถาม  คนไทยก็ใช้ชีวิตที่ตรงนั้นอย่างเต็มที่ หน่วยราชการไทยก็ตั้งอยู่ที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่เคยเป็นปัญหา เพียงแต่หยิบยกขึ้นมาเพื่อมาใช้สร้างประเด็นทางการเมือง ซึ่งพอไล่ดูไปทั้งหมดมีความชัดเจน ก็จะเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด รัฐบาลต่างๆ ก็พยายามสนับสนุนให้มีเอ็มโอยู 44 ได้ดำเนินการต่อไป เพราะถือว่าเป็นกลไก และเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ที่สุด ในการที่เราจะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ที่สุดคืออยู่บนความพึงพอใจใน 2 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยยืนยันว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยให้ได้มากที่สุด

นายภูมิธรรมยังระบุถึงข้อสังเกตการให้สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ครอบครัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และครอบครัวสมเด็จฮุน เซน ว่าที่ผ่านมาอยากให้เป็นบทเรียน เพราะพูดในเรื่องที่จินตนาการ ซึ่งยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากให้ฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง อย่ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาขับเคลื่อนและไปกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง และความเชื่อมั่นของประเทศ ควรจะพูดให้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ 

"อย่างกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ออกมาวิจารณ์นายกฯ ถ้าไปดูจะเข้าใจว่าในสนธิสัญญาเรื่องเกาะกูดและเอ็มโอยู 44 เป็นเรื่องที่ตกลงกันสองรัฐ ซึ่งมีวิทยานิพนธ์ได้พูดเรื่องนี้ชัดเจน สนธิสัญญาและเอ็มโอยูมีความแตกต่างกัน การที่ใช้ภูมิความรู้ของตัวเองอาจไม่มีความเข้าใจ แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ" นายภูมิธรรมกล่าว

'ลุงป้อม' ปลุกยกเลิก MOU 44

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค สั่งการให้พรรค พปชร.ผลักดันนโยบายการยกเลิก MOU 2544 ถึงแม้ว่า พล.อ.ประวิตรจะเคยเป็นประธานคณะเจรจาฯ ตามกรอบ MOU 2544 แต่ในขณะนั้นท่านไม่ทราบมาก่อนว่า MOU 2544 จะมีปัญหาสำคัญทางกฎหมาย จนกระทั่งในเดือนมิถุนายนปีนี้ ตนได้ไปเรียนให้ พล.อ.ประวิตรทราบว่าได้ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่ตรวจพบว่า MOU 2544 มีปัญหาสำคัญทางกฎหมายอย่างน้อย 2 ประการ

โดยประการที่ 1 การที่ฝ่ายกัมพูชาได้ลากเส้นไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชาเริ่มจากหลักหมุดที่ 73 จุดแบ่งดินแดนทางบกของไทย-กัมพูชา ลากเส้นไหล่ทวีปตัดตรงมาทางทิศตะวันตกผ่านกลางเกาะกูดที่เป็นดินแดนของไทย ตัดเส้นตรงเลยเกาะกูดไปทางอ่าวไทยตอนใน การกระทำของฝ่ายกัมพูชาเป็นการลากเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากต่อลงมาทางทิศใต้ เป็นเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฎหมายทะเลระหว่างประเทศไปด้วย ทำให้กินพื้นที่อธิปไตยทางทะเลของไทยไป 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 16 ล้านไร่ แต่ MOU 2544 ไปรับรองเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาดังกล่าวเป็นเส้นถูกต้องที่นำมาใช้อ้างสิทธิกับไทยว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน เพื่อเจรจาแบ่งทรัพยากรทางทะเลของไทย ให้ประเทศกัมพูชาฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตามที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ในงานดินเนอร์ทอล์ก ระบุว่า "อีกอันหนึ่งที่อดพูดไม่ได้ เรื่องของเขตทับซ้อนทางทะเล ความจริงเขตทับซ้อนทางทะเลนี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องเส้นเขตแดนหลัก มันก็คือว่าประเทศเราอยู่ตรงนี้มีไหล่ทวีปอยู่ตรงนี้ ลากไป 200 ไมล์ทะเล อันนี้ตามหลักกฎหมายสากลประเทศเพื่อนบ้าน สมมุติกัมพูชา ไหล่ทวีปอยู่ตรงนู้นลากมา 200 ไมล์ทะเล เกยกันตรงไหน เราถือว่าเป็นเขตทับซ้อน เขตทับซ้อนตรงนั้น ถ้ามีทรัพยากรอยู่ ก็ถือว่าแบ่งคนละ 50" ดังนั้นหากรัฐบาลไปดำเนินเจรจาตาม MOU 2544 แบ่งผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติทางทะเลให้ฝ่ายกัมพูชา 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการที่นายทักษิณชี้แนะรัฐบาลไว้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดทั้งกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และเป็นการฝ่าฝืนพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทย

และ MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่จนถึงปัจจุบันไม่มีการเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบเลย มีผลให้ MOU 2544 ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง "ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา" (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 หากนำ MOU 2544 ไปดำเนินการแบ่งทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลให้กับกัมพูชาต่อไปอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ

 “พล.อ.ประวิตรกำชับกรรมการบริหารพรรคและ สส.ของพรรคทุกคน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินนโยบายยกเลิก MOU 2544 ให้ได้ เพื่อปกป้องเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทยที่เป็นของไทย” นายไพบูลย์กล่าว

ไม่ไว้วางใจทักษิณ-ฮุน เซน

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์คลิปในหัวข้อ “ปัญหา MOU 44 เกิดจากการไม่ไว้วางใจระบอบทักษิณ” ว่า MOU 44 ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนมาก แต่สิ่งที่กระแสสังคมไม่ไว้วางใจ และกังวลใจก็คือผลประโยชน์ของประเทศจากการเจรจาพื้นที่ซับซ้อน MOU 44 จากเหตุผลคือ 1.MOU 44 ได้มีคำเซ็นสัญญาข้อตกลงในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายทักษิณเคยไปลงทุนและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจในประเทศกัมพูชามาก่อน นายทักษิณกับสมเด็จฮุน เซน เป็นมิตรที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอดในทุกด้าน นายทักษิณเป็นบุคคลสำคัญของประเทศกัมพูชา ถึงขั้นที่สมเด็จฮุน เซน แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา เพื่อแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศไทยในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

ครอบครัวของนายทักษิณกับครอบครัวของสมเด็จฮุน เซน มีความผูกพันเกี่ยวดองกันถึงขั้นลูกหลานแต่งงานกัน มีความคิดทางการเมืองเหมือนกัน ต้องการผูกขาดอำนาจในประเทศแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งตระกูลชินวัตรและตระกูลฮุน  ต่างผูกขาดการเมืองของประเทศ สืบสันดานการเมืองจากพ่อสู่ลูกเหมือนกัน จึงมีความหวาดระแวงว่าครอบครัวของนายทักษิณจะเห็นผลประโยชน์ของครอบครัวทั้งสองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กว่า MOU 44 ควรเดินหน้าต่อหรือไม่ ทำบันทึกกันมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน 2567 ก็ยังไม่สามารถเจรจาในส่วนแบ่งปันผลประโยชน์ได้ เพราะรัฐบาลไทยที่ผ่านมา ฉลาดพอที่จะยึดหลักต้องตกลงเรื่องเส้นที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิให้รู้เรื่องก่อน เพราะเขารู้ดีว่า หากไปยอมเส้นที่กัมพูชาลากมั่วๆ ผ่าเกาะกูด พื้นที่ทับซ้อนจะเพิ่มจากไม่ถึง 10,000 ตารางกิโลเมตร กลายเป็น 26,000 ตารางกิโลเมตร

การเจรจาของฝ่ายไทยจึงเริ่มต้นด้วย คุณต้องลากเส้นใหม่ ที่ไม่ผ่านเกาะกูด มิเช่นนั้นจะไม่เจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วนกัมพูชาเขาเห็นว่าขีดเส้นแบบนี้เขาได้ประโยชน์เต็ม เขาก็ขอคุยเรื่องการแบ่งประโยชน์เลย 23 ปีที่ผ่านจึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพิ่งจะมีรัฐบาลชุดนี้แหละ ที่มีพอคุณทักษิณเพื่อนสนิทฮุน เซน โชว์วิสัยทัศน์ว่า เส้นเขตแดนนั้นคุยอย่างไรก็ไม่จบ ดังนั้น ควรเดินหน้าเจรจาเรื่องแบ่งสมบัติใต้ทะเลเลย เดี๋ยวขุดช้าของมันจะหมดราคา หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็นนโยบายของรัฐบาล

ดังนั้น หากรัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาเรื่องแบ่งประโยชน์โดยไม่สนใจเส้นอ้างสิทธิที่ถูกต้อง จะเป็นการประเคนผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลที่กัมพูชาไม่ควรจะได้ให้กับเขา เกาะกูดนั้น วันนี้เขาไม่เอาหรอก แต่เขาอยากได้ส่วนแบ่ง 5 ล้านล้านบาทที่อยู่ใต้ทะเลมากกว่า แต่พอสูบใช้หมดแล้ว อีก 30 ปี 50 ปีข้างหน้า ใครจะไปรู้ว่ากัมพูชาอาจค่อยมาอ้างอีกรอบเพื่อเอาดินแดน โดยบอกว่าตอนขีดเส้นไทยไม่ทักท้วงแบบเขาพระวิหารอีกรอบ คนที่พูดไม่เสียดินแดนวันนั้นตายไปแล้ว รับผิดชอบอะไรไหม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กอ้วน' ชี้ 'สนธิ' แค่หนึ่งเสียงการบริหารประเทศไม่ควรโฟกัสแค่คนคนเดียว!

'ภูมิธรรม' ยังไม่เห็นข้อเรียกร้อง 'สนธิ' บอกเป็นแค่ความเห็นหนึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย เปรียบเหมือนมองปี๊บหนึ่งใบ ต้องมองให้รอบด้าน ไม่หมิ่นประมาทม็อบจุดติดหรือไม่