จับตาประชุมเลือกประธานบอร์ด ธปท.จันทร์นี้ จะเจอโรคเลื่อนหรือไม่ กรรมการฯ อุบเงียบกระแสคลังเปลี่ยนตัว “กิตติรัตน์” ม็อบนัดรวมพลังยื่น 45,000 ชื่อต้าน “เสี่ยโต้ง” วิรไทย้ำหากปล่อยไปประชานิยมปลายเปิดเกิดแน่
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย.2567 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เปิดเผยว่า นายสถิตย์ได้นัดประชุมคณะกรรมการฯ ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้ที่แบงก์ชาติ เพื่อลงมติเลือกประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท.อีก 2 คน ในเวลา 10.00 น. โดยเลื่อนจากเดิม 14.00 น. หลังก่อนหน้านี้เลื่อนการประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง และการประชุมรอบนี้จะเป็นครั้งที่ 3
“หลังการประชุมเสร็จสิ้นลง นายสถิตย์พร้อมให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวผลการประชุมต่อสื่อมวลชนด้วยตัวเอง โดยตอนนี้มีการขอกันว่า ขอให้กรรมการฯ ทุกคนงดเว้นการให้ข่าวใดๆ กับสื่อ ส่วนกระแสข่าวที่ว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอให้กระทรวงการคลังส่งชื่อคนอื่นมาแทนนายกิตติรัตน์ ณ ระนองนั้น เรื่องนี้ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย ขอให้รอฟังผลการประชุมที่จะออกมา” แหล่งข่าวระบุ
ด้านนายใจเพชร กล้าจน หรือหมอเขียว แกนนำกองทัพธรรม กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้ กองทัพธรรม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้นัดหมายประชาชนไปรวมตัวกันที่หน้าตึก ธปท. ในเวลา 09.00 น. เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท. ผ่านการเลือกประธานบอร์ด โดยจะนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อผ่านการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อคัดค้านผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่ล่าสุดจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 10 พ.ย. ยอดอยู่ที่ประมาณ 45,000 คน ไปยื่นเพิ่มเติมจากที่สัปดาห์ที่แล้วยื่นไป 29,000 รายชื่อ โดยตอนนี้ทราบมาว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เลื่อนเวลาการประชุมมาเป็นสิบโมงเช้า ก็กำลังพิจารณากันอยู่ว่าหลังยื่นรายชื่อเสร็จจะปักหลักรอฟังผลการประชุมต่อหรือไม่
“เรายังหวังว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะฟังเสียงประชาชนและเสียงคัดค้านต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเป็นห่วงในเรื่องการไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงแบงก์ชาติ เพราะหากเกิดขึ้นจะเกิดผลเสียต่อภาพรวมอย่างมาก กรรมการทั้ง 7 คนไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะทำเป็นไม่รู้ไม่ได้ยินไม่ได้เด็ดขาด” หมอเขียวกล่าว
นายใจเพชรระบุว่า หากท้ายที่สุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ลงมติคัดเลือกนายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ด ธปท.จริง กลุ่มก็จะเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อหยุดยั้งคัดค้าน โดยเท่าที่ได้มีการประชุมปรึกษากัน พบว่ามีช่องทางตามกฎหมายอยู่ ซึ่งจริงๆ กลุ่มคิดยื่นตั้งแต่ก่อนการประชุมวันจันทร์นี้แล้ว แต่กระบวนการต้องใช้เวลา เลยทำให้ดำเนินการได้ไม่ทัน แต่ยังสามารถทำได้ หากกรรมการคัดเลือกรายชื่อคนที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยมาเป็นประธานบอร์ด ธปท.จริง เช่น คัดค้านในเรื่องปมมาตรฐานจริยธรรม ความไม่เหมาะสมในการถูกเสนอชื่อ เป็นต้น ตรงนี้มีการพิจารณาศึกษาอยู่ ขออุบไว้ก่อน ให้รอฟังผลที่จะออกมาก่อน
สำหรับการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท.วันที่ 11 พ.ย.นี้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ขณะที่ ธปท.เสนอมา 2 ชื่อคือ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และอดีตอธิบดีกรมศุลกากร กับนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หลังมีกระแสต่อต้านนายกิตติรัตน์ค่อนข้างแรง ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อ 4 พ.ย.ออกไป มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการฯ ขอให้กระทรวงการคลังเสนอชื่อคนอื่นมาแทนนายกิตติรัตน์ อีกทั้งมีกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองในกระทรวงการคลังจะดันนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เป็นอดีตลูกหม้อกระทรวงการคลังมาก่อน และสนิทกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน มาเป็นประธานบอร์ด ธปท.แทนนายกิตติรัตน์ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้ว่ากระทรวงการคลังมีการส่งชื่อใหม่แทนนายกิตติรัตน์หรือไม่ รวมถึงก็ไม่ปรากฏข่าวว่านายกิตติรัตน์ขอถอนตัวแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำยืนยันจะไม่ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาในคดีขายข้าวบูล็อคอินโดนีเซีย ที่นายกิตติรัตน์เคยตกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกา ซึ่งตามกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้ อสส.ไม่อุทธรณ์คดี แต่ ป.ป.ช.ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีเองต่อศาลฎีกาได้ ทำให้คดีของนายกิตติรัตน์ยังไม่สิ้นสุด
ด้านนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ แคนดิเดตชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควร ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ
"11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่ายครับ"
ส่วนกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของอดีตผู้บริหาร ธปท. 4 ราย รวมทั้งนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ที่ลงชื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองแทรกแซง ธปท. ได้รวบรวมชื่อมากถึง 830 คน และออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย.
ทั้งนี้ นอกจากการเลือกประธานบอร์ด ธปท.แล้ว ยังจะมีการลงมติเห็นชอบรายชื่อกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งกระทรวงการคลังส่งมา 2 ชื่อคือ นายพงษ์ภาณุ แต่หากนายพงษ์ภาณุได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.จริง กระทรวงการคลังก็จะเสนอชื่อบุคคลอื่นมาแทน ส่วนอีกคนที่เสนอชื่อมาคือ รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อแทนที่นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ ก.พ.ที่หมดวาระ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม
อาลัย‘สันติ’ นักร้องปลุกใจ เพลงรักชาติ
อาลัย "สันติ ลุนเผ่" ศิลปินแห่งชาติ ถึงแก่กรรมด้วยวัย 88 ปี
‘ในหลวง’เสด็จฯเปิดสวนเปรมประชาวนารักษ์
"ในหลวง-พระราชินี" เสด็จฯ ทางชลมารค ทรงเปิดสวนเฉลิมพระเกียรติ
พท.ถอยยึดกองทัพ ถอนกม.ผวาสุดซอยสังคมแตกแยก
"วันนอร์" อยากเห็นบทบัญญัติลงโทษผู้กระทำรัฐประหาร ชี้ทำได้จริง
90วันผลงานอื้อ โวปีทองของไทย ‘อิ๊งค์’กั๊กแจงสภา
รัฐบาลเตรียมแถลงใหญ่ผลงาน 90 วัน โว “2568 โอกาสไทย
แบะท่า‘ปู’ตามรอยแม้ว ลากไส้อบจ.ทุจริตเพียบ
คืบหน้าคดีนักโทษเทวดาชั้น 14 จ่อชงเข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เลขาฯ ป.ป.ช.ยันมีอำนาจรีดเอกสารทุกหน่วยงาน