ลุ้นอสส.คดีล้มล้าง ครบ15วันที่ศาลรธน.ขอเอกสาร/อิ๊งค์ภูมิใจพ่ออวยผลงาน

“อุ๊งอิ๊ง” สุดภูมิใจ พ่อยกก้นเรียนรู้เร็ว รับห่วงสุขภาพเพราะอายุ 70 ปีแล้ว “เพื่อไทย”  พาเหรดปลื้ม “นายใหญ่” ลงเมืองหลวงเสื้อแดง คาดคนเป็นแสนรอต้อนรับ “ทวี” สุดเซ็งสอบเรื่องชั้น 14 ซ้ำซ้อน สั่งราชทัณฑ์คุ้ยว่าต้องการแสงหรือความจริง จับตาจันทร์นี้ อสส.ขอขยายเวลาคดีล้มล้างการปกครองหรือไม่ “คมสัน” มั่นใจศาลรัฐธรรมนูญรับคดีไว้วินิจฉัยแน่ เชื่อกรณี 14 ส.ค.จะทำให้ตายหมู่ยิ่งกว่านอน รพ.ตำรวจ จับตาเลือกตุลาการและประธานศาล รธน. ซึ่งมาแทนที่ “นครินทร์-ปัญญา” ที่หมดวาระลง

เมื่อเวลา 16.50 น. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ชื่นชมการทำงานว่ามีความมุ่งมั่นและเรียนรู้งานได้เร็วว่า ต้องขอบคุณคุณพ่อ ซึ่งใครชมก็เป็นกำลังใจทั้งนั้น เราต้องชอบคำชมมากกว่า แต่ถ้ามีคำติก็ยินดีรับฟังเสมอ เพราะต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ  ไม่มีใครสามารถทำได้ทุกเรื่องเพียงลำพัง มีอะไรก็ติชมกันมา พร้อมปรับปรุงและทำงานให้เต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังไมค์นายทักษิณได้ให้คำแนะนำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่มีอะไร แต่ถ้ามีคำถามหรือหัวข้อใดๆ ก็สอบถามท่านได้ อยากได้คำปรึกษาแนวไหนก็สอบถามได้ฟรี ไม่คิดตังค์

เมื่อถามว่า นายทักษิณลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีหาเสียง  มีความเป็นห่วงอะไรหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องสุขภาพมากกว่า ไม่อยากให้ไม่สบาย เพราะเห็นเลยตั้งแต่อายุ 70 ปีขึ้นมา เวลาไม่สบายขึ้นมาจะไม่สบายหนัก ห่วงเรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นไม่เป็นอะไร เพราะนายทักษิณเป็นคนเก่งอยู่แล้ว

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณจะเดินทางมาปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานีว่า ทำได้ เพราะตอนนี้ไม่มีคดีที่อยู่ในกระทรวงยุติธรรมแล้ว ซึ่งก็เหมือนเป็นประชาชนคนหนึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ และเชื่อว่าประชาชนแยกแยะได้ การที่คุณทักษิณมาเป็นผู้ช่วยหาเสียงก็ไม่มีกฎหมายห้าม ส่วนเรื่องความเหมาะสมแล้วแต่คนมอง เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ หรืออีลอน มัสก์ ในช่วงเลือกตั้งก็ไปหาเสียง ใครสนับสนุนใครก็ต้องไปหาเสียง ถือเป็นโอกาสของประชาชนที่ได้รับรู้ว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายอะไรบ้าง

มีรายงานจากพรรค พท.แจ้งว่า นายทักษิณจะลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อช่วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ในวันที่ 13-14 พ.ย. โดยจะมีบุคลากรจากพรรค พท.ลงพื้นที่และร่วมปราศรัยด้วย อาทิ น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด, นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ, นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ สมาชิกพรรค แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายวิเชียร ขาวขำ อดีตนายก อบจ.อุดรธานี

นายอนุสรณ์กล่าวในเรื่องนี้ว่า นายทักษิณไปอยู่ต่างประเทศมานานตั้ง 17 ปี พี่น้องประชาชนคนไทยไม่เคยลืมในผลงานและนโยบายที่นายทักษิณได้สร้างไว้ ซึ่งอุดรธานีเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดงภาคอีสานเช่นไร วันนี้ก็เป็นเช่นนั้น นี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีจะได้มาพบ มาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งขณะนี้พี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีต่างนับถอยหลังให้ถึงวันที่ 13 และ 14 พ.ย.นี้เร็วๆ คาดว่าจะมีพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้กันล้นหลาม อาจทะลุระดับแสนคนขึ้นไป

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค พท. กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เตรียมร้องเอาผิดนายทักษิณที่จะไปขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายศราวุธว่า เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นพวกขี้อิจฉาทางการเมือง หวังใช้เป็นเกมการเมืองเพื่อดิสเครดิตนายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอย่างไร้เหตุผล เพราะนายทักษิณมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญนายทักษิณไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงยังเป็นผู้ที่มีสิทธิและหน้าที่ในการลงคะแนนเลือกตั้งในทุกระดับ ซึ่งในส่วนของการเลือกตั้ง อบจ. หากผู้สมัครนายก อบจ.แจ้งชื่อนายทักษิณเป็นผู้ช่วยหาเสียงต่อผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดอุดรธานี ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย และนายทักษิณก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์หาเสียง และขึ้นเวทีปราศรัยได้ตลอดเวลารณรงค์หาเสียง เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง สส.ที่จะมีขึ้นในอนาคต นายทักษิณก็เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ หากมีการแจ้งชื่อไปตามขึ้นตอน

“พวกแพ้แล้วพาล ควรหยุดพฤติกรรมเตะตัดขาผู้อื่นได้แล้ว การเมืองต้องมาแข่งกันที่นโยบายที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองและประเทศชาติจะดีกว่า”

ทวีเซ็งสอบซ้ำซ้อน

ขณะเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีนายทักษิณพักรักษาอาการป่วยที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดย พ.ต.ท.ทวีกล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานตรวจสอบว่ามีความถูกต้องและหนักใจหรือไม่ ว่าไม่หนักใจในเรื่องนี้  เพราะตอนนี้มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีหน้าที่มาสอบสวนแทน คนที่มีหน้าที่โดยตรงคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ให้หลักฐานหมดไปแล้ว แต่คนที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงพยายามเอาเรื่อง และเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการขององค์กรอิสระแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือองค์กรสิทธิมนุษยชนฯ ถ้าเรื่องไหนเข้าเรื่องใครก่อน องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะนำมาสืบสวนสอบสวนไม่ได้ แต่วันนี้กำลังเอาเรื่องซ้ำกันมาพูดอีก

“เรื่องนี้กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจง กมธ.ตำรวจแล้ว และ กมธ.ตำรวจก็ได้ยุติเรื่องแล้ว แต่ก็มี กมธ.อีกชุดหนึ่งมาสอบสวนอีก ซึ่งขณะนี้ได้ให้กรมราชทัณฑ์ดูว่าประเด็นซ้ำกันหรือไม่ เป็นการกระทำเพื่อเจตนาจะเอาความจริงหรือเจตนามาทำลายทางการเมือง หรือเพื่อสร้างชื่อเสียงทางการเมือง” พ.ต.อ.ทวีระบุ

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ทำเรื่องขอเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณขณะรับโทษจาก รพ.ตำรวจ ชั้น 14 ไปถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับนั้น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เคยบอกสื่อมวลชนไปแล้วว่าทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระติดต่อขอข้อมูลการรักษาตัวของนายทักษิณจากโรงพยาบาลตำรวจ แต่ในส่วนของการบริหารราชการ ถึงแม้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐจะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของ รพ.ตำรวจ ที่จะต้องพิจารณาคำร้องขอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ และกำชับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้ ที่จะครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอทราบการดำเนินการกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ โดยยังไม่มีรายงานว่า อสส.จะขอขยายเวลาการส่งหนังสือถึงศาล รธน.ออกไปหรือไม่ แต่หลัง อสส.ส่งหนังสือไปถึงศาล รธน.แล้ว ทางที่ประชุมตุลาการก็จะมาพิจารณาลงมติต่อไปว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย ที่อาจจะเป็นวันพุธที่ 20 พ.ย. หรือเร็วสุดอาจเป็นพุธที่ 13 พ.ย.นี้

นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และอดีตรองคณบดีคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องที่มีการไปร้อง กกต.ว่านายทักษิณเข้าครอบงำพรรคเพื่อไทย ที่มีการไปยื่นหลายคำร้องแล้วรวมไว้เป็นเรื่องเดียวกัน มองว่าเรื่องนี้มีมูล ซึ่งหากสุดท้าย กกต.ชี้ว่ามีการปล่อยให้ครอบงำจริง กกต.ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค โดยมองว่าที่ กกต.ดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นเพราะคำร้องของนายธีรยุทธที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญไป 6 ประเด็น ทำให้เป็นการกระตุ้นให้เร็วขึ้น ที่ตอนนี้ต้องรอว่าศาล รธน.จะรับหรือไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย 

มั่นใจศาลรับคดีล้มล้าง

“ผมมองว่า กกต.คงแทงหวยว่าศาล รธน.คงรับไว้พิจารณา ก็เลยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องการครอบงำพรรค เพราะหาก กกต.ไม่ตั้งกรรมการมาพิจารณาดำเนินการไว้ก่อน อาจไปเจอปัญหาแบบเดียวกับตอนทำเรื่องยุบพรรคก้าวไกล ที่พรรคก้าวไกลสู้คดีว่า กกต.ไม่ได้ทำตามมาตรา 92 และ 93 ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง กกต.เลยชิงทำตรวจสอบเสียก่อน เพราะคงมองว่ากว่าจะสอบสวนเสร็จศาล รธน.ก็อาจมีคำวินิจฉัยออกมาพอดี เช่น หากศาล รธน.วินิจฉัยชี้ออกมา สมมุติภายในธันวาคมปีนี้หรือมกราคม 2568 ว่ามีการปล่อยให้มีการครอบงำพรรคจริง กกต.ก็อาศัยคำวินิจฉัยของศาล รธน.มาประกอบกับสำนวนของ กกต. ก็ทำให้กระบวนการของ กกต.ก็ไม่ต้องขยายเวลาอีกแล้ว ก็ไปต่อได้” 

นายคมสันกล่าวอีกว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ อสส.ทำคำชี้แจงภายใน 15 วัน ก็เพื่อดูเงื่อนไขการฟ้องคดีของนายธีรยุทธเข้ามาตรา 49  วรรคสามหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงนายธีรยุทธได้บอกว่าได้ไปยื่น อสส.แล้ว แต่เลยระยะเวลา ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ก็เป็นเงื่อนไขที่ไปยื่นศาล รธน.ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่ศาลจะรับคำร้องของนายธีรยุทธไว้วินิจฉัยมีค่อนข้างเยอะ โดยหลักการเขตอำนาจของศาล รธน. โดยหลังศาลรับเรื่องจาก อสส.แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง อาจจะแค่ 1 สัปดาห์หลังรับหนังสือจาก อสส. ก็น่าจะมีมติรับคำร้องภายในไม่เกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ย.  

นายคมสันยังวิเคราะห์ถึง 6 ประเด็นตามคำร้องของนายธีรยุทธที่ยื่นว่า ประเด็นที่มีน้ำหนักน่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกับนายทักษิณเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ส่วนประเด็นแรกเรื่องนายทักษิณพักอาศัยอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ ที่จะไปโดนคดีอาญาหลังจากนี้ ที่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรค เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่หากพรรคเพื่อไทยจะเกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องของการที่ไม่ยอมจำคุกนายทักษิณโดยมีการเข้าครอบงำกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของคณะรัฐมนตรี แต่ประเด็นที่จะนำไปสู่เรื่องที่หนักมากๆ จริง ที่ยังเถียงกันอยู่ เพราะยังไม่มีคำตัดสินจากองค์กรใดชี้มาว่ากรมราชทัณฑ์ถูกครอบงำจากวิธีคิดของนายทักษิณ หรือเป็นเรื่องของนักการเมืองที่ไปครอบงำเพื่อเอื้อให้กับนายทักษิณ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เรื่องนี้ยังไม่หนักเท่าประเด็นที่ 4 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่ครอบงำพรรคการเมือง 5-6 พรรค เรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่พรรคเพื่อไทยพรรคการเมืองเดียว แต่กระทบไปถึงพรรคการเมืองอีก 5-6 พรรค”

เมื่อถามว่า อาจมีการอ้างว่าวงประชุมวันดังกล่าว ตามข่าวบอกว่าหนุนนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ แต่สุดท้ายคนที่ถูกสนับสนุนเป็นนายกฯ ไม่ใช่นายชัยเกษม แต่เป็น น.ส.แพทองธาร นายคมสันกล่าวว่า คงฟังไม่ได้ เพราะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้งคู่ อย่างคุณชัยเกษมคิดว่านายทักษิณก็รู้อยู่แล้วว่าโดยสภาพไม่เหมาะที่จะเป็นนายกฯ เลย ไม่ใช่คนที่จะเป็นนายกฯ ได้ ก็เป็นเป้าหลอกที่ออกมาข้างนอก เพื่อให้เห็นว่าเลือกนายชัยเกษม แต่จริงๆ แล้วเป็น น.ส.แพทองธาร เพราะเหลืออยู่คนเดียว

มีรายงานความเคลื่อนไหวของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ตอนนี้กำลังจะมีการพิจารณาคำร้องคดีสำคัญ เช่น คำร้องคดีนายธีรยุทธ รวมถึงอาจมีประเด็นใหม่เพิ่มเติมกรณีเรื่อง MOU 2544 ซึ่งเป็นการยื่นตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยคาดว่า ศาลจะพิจารณาว่าจะลงมติรับหรือไม่คำร้องดังกล่าวในวันพุธที่ 13 พ.ย.นี้ หรือวันพุธหน้า 20 พ.ย.  เพราะในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะอยู่ครบวาระการเป็นตุลาการศาล รธน. ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานศาล รธน.และตุลาการศาล เช่นเดียวกับ นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะอยู่ครบวาระเช่นเดียวกับนายนครินทร์ ทำให้ต้องมีการรับสมัครเลือกตุลาการศาล รธน. รวมถึงต้องเลือกประธานศาล รธน.คนใหม่เช่นกัน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตุลาการศาล รธน.ที่แม้ครบวาระการทำหน้าที่แล้ว แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีตุลาการศาล รธน.คนใหม่มาทำหน้าที่แทน ซึ่งแตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลยหากครบวาระ ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้

มีรายงานว่า นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาล รธน. ได้ออกประกาศรับสมัครตุลาการศาล รธน. 2 ตำแหน่งแล้ว โดยจะเริ่มรับสมัครกันวันแรกในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. ถึงจันทร์ที่ 25 พ.ย. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ที่อาคารรัฐสภา

จับตาสภาสูงเคาะชื่อ

มีรายงานว่า แม้คณะกรรมการสรรหาฯ คัดเลือกจนได้รายชื่อ 2 คนส่งไปที่วุฒิสภา แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ สว.ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อที่ส่งไปหรือไม่ ซึ่งอาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ สว.เสียงข้างมาก คือ สว.สีน้ำเงินที่มีร่วม 167 คนจาก 200 คน ว่าจะเอาด้วยกับรายชื่อที่ส่งมาหรือไม่ หรือจะตีตกไม่โหวตเห็นชอบทั้งสองชื่อก็สามารถทำได้ ซึ่งการสรรหาและลงมติคัดเลือกตุลาการศาล รธน. 2 ตำแหน่งครั้งนี้ เริ่มถูกจับตามองว่าจะมีผลต่อการพิจารณาคำร้องคดีที่พรรคเพื่อไทย และนายทักษิณถูกร้องว่าล้มล้างการปกครองหรือไม่ เพราะคดีนี้หากสุดท้าย คำวินิจฉัยกลางของศาล รธน.มีคำวินิจฉัยที่เขียนออกมาตอนใดตอนหนึ่งว่า นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ รวมถึงนายทักษิณเข้าไปครอบงำพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดตั้งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร จะทำให้มีคนไปร้อง กกต.เพื่อให้ส่งศาล รธน.ยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคการเมืองที่ไปร่วมหารือกับทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้าตามมา ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องการถูกยุบพรรคตามมา

“ต้องดูผลการลงมติของตุลาการศาล รธน.ทั้ง 9 คนตั้งแต่ตอนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องว่าผลจะออกมาอย่างไร และตุลาการศาล รธน.แต่ละคนลงมติอย่างไร โดยเฉพาะนายนครินทร์และนายปัญญา ที่ต้องดูว่าจะลงมติให้รับหรือไม่รับคำร้อง  ซึ่งหากนายนครินทร์กับนายปัญญาลงมติไม่ให้รับคำร้องทั้งสองคน ทำให้คาดว่าฝ่ายนายทักษิณกับพรรคเพื่อไทยจะไม่ดึงเวลาการสู้คดีล้มล้างการปกครองออกไปก็ได้ เพราะอาจมองว่าทั้งสองคนก็คงต้องลงมติตอนตัดสินคดีในทางที่เป็นคุณกับผู้ถูกร้อง คืออาจวินิจฉัยว่า คำร้องไม่มีมูล แต่หากทั้งสองคนลงมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา ก็คาดว่าจะทำให้ฝ่ายผู้ถูกร้องจะไม่ดึงเรื่องการสู้คดีเช่นกัน แต่จะปล่อยไปตามสถานการณ์ แล้วไปลุ้นให้ สว.สีน้ำเงินโหวตเห็นชอบตุลาการศาล รธน.ใหม่สองคน ที่จะเข้าไปพิจารณาคดียุบพรรคที่อาจถูกร้องตามมา หากคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองออกมาไม่เป็นคุณกับผู้ถูกร้อง ที่ทางนายทักษิณกับพรรคเพื่อไทยรวมถึง 6 พรรคการเมือง อาจหวังให้คดีอาจพลิกได้ เพราะเป็นตุลาการศาล รธน.ใหม่ ที่อาจมีแนวทางคำวินิจฉัยส่วนตนที่ไม่จำเป็นต้องยึดคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองก็ได้ เพราะถือว่ามาทำหน้าที่ใหม่” 

ขณะเดียวกัน ต้องคอยติดตามว่า การเลือกประธานศาล รธน.คนใหม่ ที่จะมาแทนนายนครินทร์ สุดท้ายแล้วตุลาการคนใดจะมาเป็นประธานศาล รธน.คนใหม่ ที่ตอนนี้มีการคาดการณ์กันว่า ประธานน่าจะเป็นตุลาการที่มาจากสายอดีตผู้พิพากษา ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกและส่งชื่อไปเป็นตุลาการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

ฮึ่ม! โชว์ภาพแกนนำทุกวงการ เขย่าขวัญรัฐบาลเพื่อไทย นัดเยี่ยม ป.ป.ช.ถามปมป่วยทิพย์ชั้น 14

'จตุพร' เผย ฝ่ายปชช.แทบทุกวงการนัดหารือปัญหาชั้น 14 จ่อขยับไปเยี่ยม ปปช.ทวงถามทำหน้าที่ตรวจสอบป่วยทิพย์ จี้รัฐบาลเลิก MOU 44 หวั่นก่อปัญหาระหว่างประเทศ ย้ำต้องเจรจาเขตแดนก่อนหารือผลประโยชน์ เตือนสิ่งทีรัฐบาลทำไม่ต่างจากเรียกทหารออกมายึดอำนาจ