"ทักษิณ" ดอดเงียบแต่เช้ารายงานตัวศาลอาญาหลังกลับจากมาเลย์ ขณะที่เลขาฯ ป.ป.ช.อุบข้อมูล "เสรีพิศุทธ์" ปมชั้น 14 เล็งเรียกบุคคลที่พาไปพบด้วย พร้อมง้างดาบมาตรการทางกฎหมาย "สตช.-รพ.ตำรวจ" รีดเวชระเบียน ขณะที่ 44 สส.เข้าชื่อแก้ ม.112 คอพาดเขียง ป.ป.ช.ติดเครื่องจ่อแจ้งข้อหา ชี้คดีปิดจบปีนี้ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
เมื่อวันพุธ เวลา 08.30 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยคดีหมายเลขดำ อ 1860/2567 ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลอาญา ภายหลังกลับจากเดินทางไปประชุมที่มาเลเซีย ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.2568 ตามเหตุผลเเละความจำเป็นที่นายทักษิณยื่นคำร้องขอ โดยให้วางหลักประกันจำนวน 5 ล้านบาท และให้มารายงานตัวภายใน 3 วัน (4-6 ก.พ.) นับแต่วันที่จำเลยเดินทางกลับประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นายทักษิณเดินทางมาโดยรถเบนซ์ หมายเลขทะเบียนรถ ธษ 267 คันเดิมที่เคยมาศาลอาญา โดยมีนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เดินทางมาด้วย ซึ่งการรักษาความปลอดภัยในวันนี้เป็นไปตามปกติ ไม่ได้เเน่นหนาเหมือนช่วงวันนัดไต่สวนขอออกนอกประเทศ
สำหรับวันนี้ นายทักษิณมาถึงศาลช่วงเวลาประมาณ 08.30 น.เศษ จากนั้นเดินขึ้นทางประตูหน้าทางเข้าศาลอาญา เข้าไปเซ็นชื่อรายงานตัว ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที จากนั้นได้เดินทางกลับ โดยตามขั้นตอนเมื่อมีการรายงานตัวภายหลังเดินทางกลับเเล้ว ก็สามารถรับเงินที่วางไว้เป็นหลักประกันจำนวน 5 ล้านบาทกลับได้
ที่โรงแรมรัษฎา อ.เมืองฯ จ.ตรัง นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีสอบสวนการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ป.ป.ช.ได้มีการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องพยานบุคคลและเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เชิญ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มาให้ข้อเท็จจริง เพราะเป็นพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางคณะกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนได้ลงไปร่วมไต่สวนด้วย ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ระบุว่า จะไปร่วมตรวจสถานที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อดำเนินการตามที่ให้ข้อมูลไว้
อุบข้อมูลเสรีพิศุทธ์
ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ถ้อยคําของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด นายสาโรจน์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ให้มาต้องนำไปประกอบกับหลักฐานอื่นๆ ว่าสอดคล้องต้องกันหรือไม่ และหากท่านไปชี้จุดยืนยันที่สถานที่ จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น แต่ต้องดูพยานหลักฐานต่างๆ ประกอบกัน
เมื่อถามอีกว่า นอกจากการให้ปากคำแล้ว มีการมอบพยานหลักฐานอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า ไม่ทราบว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ให้ถ้อยคำหรือมอบหลักฐานอะไร เพราะเป็นเรื่องของคณะไต่สวน
เมื่อถามว่า การทำคดีนี้ยากหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้มีอิทธิพลและมีชื่อเสียงในแวดวงการเมือง นายสาโรจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ ป.ป.ช.ทำอยู่แล้ว โดนเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหรือทางการเมือง เรามีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว อาจจะมีข้อขัดข้องบ้าง แต่เราต้องดำเนินการตามหน้าที่ และอาจต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่งในการได้พยานหลักฐานแต่ละส่วน
เมื่อถามถึงการวางกรอบเวลาไว้เท่าไหร่ นายสาโรจน์กล่าวว่า มีกรอบเวลาตามกฎหมายในเรื่องที่เร่งรัด แต่ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของพยานหลักฐาน หากครบสมบูรณ์ ป.ป.ช.สามารถพิจารณาได้ ไม่ต้องถึงเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะมีใครมาให้ถ้อยคำเรื่องชั้น 14 อีกหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า คงเป็นบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวข้อง หรือมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะเป็นใครนั้น ตนตอบไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของคณะไต่สวน
เมื่อถามว่า จะเรียกบุคคลที่พา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไปพบกับนายทักษิณมาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า หากเป็นพยานที่ยึดโยงกับพยานปากอื่นๆ และหากการไต่สวนเห็นว่ามีความจำเป็น ก็ต้องเรียกมาให้ข้อมูล เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าสิ่งที่พยานให้ข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะไต่สวน เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีรายชื่อบุคคลที่จะมาให้ข้อมูลเพิ่มใช่หรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า เท่าที่ทราบก็มีการสอบ แต่ไม่ทราบว่าในรายละเอียดมีใครบ้าง แต่ในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ช. ตนทราบในเรื่องขั้นตอน แต่ไม่สามารถรู้และแทรกแซงเนื้อหาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องเชิญนายทักษิณมาให้ถ้อยคำด้วยหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะหากมีพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจน หรือต่อให้ไม่มีพยานหลักฐานอะไรเลย ก็ไม่มีเหตุไปเชิญ แต่ขึ้นอยู่กับคณะไต่สวน
จ่อรีดเวชระเบียน
เมื่อถามว่า ได้รับความร่วมมือจาก รพ.ตำรวจ ในการขอเอกสารหรือเวชระเบียนบ้างหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า เราเคยขอไปในชั้นตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้มา ซึ่งในชั้นไต่สวนได้มีการขอไปอีกครั้ง แต่ได้มาแล้วหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่าจะต้องถึงจุดไหนที่จะสามารถบังคับให้ส่งข้อมูลมา เนื่องจากมีระยะเวลามานานแล้ว นายสาโรจน์กล่าวว่า ในชั้นไต่สวนก็ใช้อำนาจทางกฎหมายแล้ว แต่หากไม่ส่งหรือดำเนินการ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
เมื่อถามอีกว่า มีการนำข้อมูลผู้ป่วยมาอ้างเพื่อไม่ส่งเอกสารมาให้ ป.ป.ช. ถือว่าฟังขึ้นหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า คณะไต่สวนตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องดูหลักกฎหมาย ซึ่งเขาทราบอยู่แล้วว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เมื่อถามว่าจะต้องมีการขอข้อมูลจากแพทยสภาหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ รพ.ตำรวจเคยมีการส่งข้อมูลไปให้แพทยสภาก่อนแล้ว นายสาโรจน์กล่าวว่า อะไรที่เป็นพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ รพ.ตำรวจยังโยนกันไปมาแบบนี้ จะต้องมีการพิจารณาโทษอื่นร่วมด้วยหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า ต้องดูว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพราะตามข่าวคือ สตช.มอบหมายให้ รพ.ตำรวจ ซึ่งเขามีข้อขัดข้องกันหรือไม่ ตนไม่ทราบ ต้องดูต่อไป
ฟันข้อหา 44 สส.
นายสาโรจน์ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรมร้ายแรงกับ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่เข้าชื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ตามขั้นตอนนั้น เมื่อคณะกรรมการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว จะพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ หากมีหลักฐานเพียงพอ จะแจ้งข้อกล่าวหา แต่หากไต่สวนแล้วพบว่าการกระทำนั้นไม่มีความผิด จะสรุปสำนวนว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า คาดว่าการแจ้งข้อกล่าวหาจะใช้เวลาอีกไม่นาน เพราะการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้รับรายงานมานั้น ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการไต่สวน ก็เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการไต่สวนว่าหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งแล้วหรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าใช้เวลาอีกไม่นาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายในปีนี้จะได้เห็นการชี้มูลความผิด 44 สส.ที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า ตามความเห็นของตน หากไต่สวนครบถ้วนและมีพยานหลักฐานชัดเจน ก็สามารถที่จะพิจารณาได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ แต่การพิจารณานั้นไม่ได้หมายความว่าจะไปถึงขั้นตอนชี้มูล เพราะตามขั้นตอนจะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาได้ชี้แจง ซึ่งหากมีการชี้แจงแล้ว จะมีการสรุปสำนวนและพิจารณาว่าคำชี้แจงฟังขึ้นหรือไม่ เพื่อพิจารณาว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่มีมูล ทั้งนี้ ตามกรอบระยะเวลาภาพใหญ่คาดว่าอาจจะชัดเจนภายในปีนี้ หากไม่มีข้อเท็จจริงที่จะต้องไปดำเนินการเพิ่มเติมมาก
เร่งทำคดีสำคัญ
วันเดียวกัน ป.ป.ช.ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ นายสาโรจน์ระบุว่า ภารกิจด้านปราบปรามการทุจริต สถิติข้อมูลเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของภาค 9 มีอย่างไร มีบุคลากรเท่าไหร่ มีจำนวนเรื่องตรวจสอบไต่สวนเจ้าหน้าที่แต่ละคนมีเท่าไหร่ มีสถิติข้อมูลลักษณะเรื่องร้องเรียนหน่วยงานใดมาก แต่อย่างที่บอก ถูกร้องเรียนมากอาจไม่ได้ทำผิดมาก อาจมีประเด็นเป็นที่สนใจของประชาชน มาแจ้งเบาะแส มีการกระทำที่ถูกกล่าวหาในลักษณะใด เรียงตามลำดับ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลสถิติ แต่ในภาพใหญ่ของ ป.ป.ช.มีทุกภาคครบถ้วน เพราะเป็นตัวเลขสำคัญที่ทำให้เราจัดลำดับความสำคัญในการทำเรื่องตรวจสอบคดีทุจริต
“ประชาชนตั้งคำถามมาตลอดว่า ทำงานช้า แต่ละเรื่องใช้เวลา 3-5 ปี ตามความยากง่าย นี่เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่สำนักงาน ป.ป.ช.ต้องรับทุกเรื่อง สะสมมากเข้า ก็ช้าทุกเรื่อง ถ้าเราทำคดีสำคัญ เราจะทำให้เร็ว ปริมาณต้องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะฉะนั้นช่วงหลังจะรับคดีสำคัญ และเร่งให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนคดีอื่นๆ ก็ให้หน่วยงานอื่นทำไป นี่เป็นแนวนโยบายหลักของสำนักงาน ป.ป.ช.” นายสาโรจน์กล่าว
เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการทำคดี มีนโยบายอย่างไร และอะไรเป็นอุปสรรคของระยะเวลา นายสาโรจน์กล่าวว่า กรอบเวลาตามกฎหมายเขียนไว้ชัด ให้ดำเนินการไต่สวนแต่ละเรื่องให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นขยายได้อีก 1 ปี เป็น 3 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องเราทำ 3 ปี โดยการไต่สวนหลักการสำคัญคือการหาพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนจะช้าหรือเร็ว ปัญหาประการแรกคือปริมาณงาน เราพยายามแก้ให้ลดลง
นายสาโรจน์ระบุว่า ส่วนที่มีผลโดยตรงคือ ความยุ่งยากของคดี แต่ละคดีไม่เท่ากัน บางคดีพยานหลักฐานชัดเจน ทำให้เสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคดีซับซ้อน ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหรือพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้เวลา ในทางกฎหมายเหมือน ป.ป.ช. อำนาจเยอะ จะสั่งให้ใครส่งอะไร ให้ถ้อยคำอย่างไรได้หมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะดำเนินการอย่างนั้นได้ทุกกรณี ถ้าเขาไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เราก็ต้องดำเนินคดีเขาอีกชั้นหนึ่ง ไม่ใช่มาตรการเด็ดขาดที่จะจัดการกับพยานหลักฐานนั้นๆ ได้ นี่เป็นข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่ง
“ระยะเวลา วิธีการอะไรต่างๆ เราสามารถดำเนินการได้อย่างไร ในส่วนของระยะเวลา ขึ้นอยู่กับปริมาณของคดี ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของคดีนั้น นี่เป็นตัวแปรสำคัญ กรอบเวลาไม่จำเป็นต้องเต็มตามกรอบ ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนสมบูรณ์ของพยานหลักฐาน ถ้าครบถ้วนสมบูรณ์ เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยได้” นายสาโรจน์กล่าว
อบต.ร้องเรียนพุ่ง
นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 กล่าวว่า พื้นที่ ป.ป.ช. ภาค 9 มี 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ตรัง สตูล พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยในพื้นที่ภาคใต้มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทั้งหมด 41 คน ในปีงบประมาณ 68 มีเรื่องตรวจสอบเบื้องต้น 388 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 43 เรื่อง คงเหลือ 345 เรื่อง อย่างไรก็ดี จากสถิติเมื่อเข้าชั้นไต่สวนแล้วใน 100% มีโอกาสถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล 70%
นายทวิชาติกล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในภาค 9 คือ เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 รองลงมาคือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในภาค 9 คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด อันดับ 1 คือ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 64 เรื่อง รองลงมาคือ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มากที่สุดคือ กรมการปกครอง กรมที่ดิน และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
“โดยมีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดถูกร้องเรียนมา 10 เรื่อง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มากที่สุดคือกรมชลประทาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 32 เรื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31 เรื่อง มากที่สุดคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 20 เรื่อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 27 เรื่อง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 23 เรื่อง และหน่วยงานทหาร 10 เรื่อง”
นายทวิชาติกล่าวว่า จังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุดในพื้นที่ภาค 9 ได้แก่ ตรัง 61 เรื่อง, สงขลา 45 เรื่อง, นราธิวาส 46 เรื่อง, ปัตตานี 44 เรื่อง, พัทลุง 40 เรื่อง และสตูล 22 เรื่อง สำหรับ จ.ตรัง ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด อาจจะถือได้ว่าประชาชนในจังหวัดมีความตื่นตัว เวลาพบเห็นสิ่งผิดปกติจะร้องเรียน ซึ่งเรารับไว้ตรวจสอบเบื้องต้นอยู่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพิฏฐ์' บอกภาษีดูเหมือนเป็นของแสลงผู้นำพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยุคพ่อถึงลูก
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โกงภาษี หรือ บริหารภาษี?”
คปท.บอกรัฐบาลอนุมัติกาสิโนเหมือนเร่งเชื้อเพลิงให้ติดไฟมอดไหม้ตัวเอง!
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.)
'หมอวรงค์' ตั้ง 8 ข้อสงสัยรอคำตอบจากแพทยสภาในผลสอบชั้น 14
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก
‘อ้วน-ทวี’ระทึก! ศาลรับร้องจุ้นสว.
เซ่นพิษฮั้วเลือก สว. ศาล รธน.มติเอกฉันท์รับคำร้องสอบ "ภูมิธรรม-ทวี"
10เม.ย.ชี้ชะตาชั้น14 หมออมรสรุปสอบชงแพทยสภา/อิ๊งค์ฉลุย319เสียงไว้ใจ
ผ่านฉลุย โหวตลงมติไว้วางใจ "แพทองธาร" ท่วมท้น 319 ต่อ 162 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
บิ๊กเต่าสยบนาคี รวบ‘แก๊งโกงยา’ ทำรัฐสูญ60ล้าน
"บิ๊กเต่า" นำทีม ป.ป.ช.-ป.ป.ท. เปิดปฏิบัติการ “สยบนาคี” จับ “พ.อ.หญิง-หมอหญิง” ตัวการทุจริตยา รพ.ทหารผ่านศึก