ศาลอาญาคดีทุจริตพิพากษาจำคุก “พิรงรอง” 2 ปี ผิด ม.157 การทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ เตรียมล้มยักษ์กลั่นแกล้งทรูไอดีให้ได้รับความเสียหาย วางหลักทรัพย์ 1.2 แสนได้ประกันตัว สภาองค์กรผู้บริโภคปูดมีคนใน "กสทช." บอกให้ "พิรงรอง" ลาออกจากตำแหน่ง แลกกับการถอนฟ้องคดี ขณะที่ "ศิริกัญญา" ชี้เข้าข่ายกรณีฟ้องปิดปาก
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อท 147,71/2566 ระหว่าง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้อง น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำเลย เรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ประเภท Over The Top หรือ (โอทีที) ผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่ไม่มีการบริหารจัดการโครงข่ายเป็นการเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าว ต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. จำเลยเป็นกรรมการใน กสทช. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยกระทำการเร่งรัดสั่งการหรือดำเนินการให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในนามสำนักงาน กสทช. ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการทันที โดยที่ กสทช.ยังไม่ได้มีการพิจารณา มีมติ หรือมีคำสั่งการในเรื่องดังกล่าว
มีความเข้าใจว่า โจทก์จงใจกระทำผิดกฎหมายไม่แสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาต ทั้งที่จำเลยทราบข้อเท็จจริงว่า การให้บริการแพลตฟอร์มโอทีทีในรูปแบบแอปพลิเคชัน True ID กสทช.ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เป็นการเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยแอปพลิเคชัน True ID เป็นการให้บริการประเภทผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะ หรือโอทีที และเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตแต่อย่างใด
ยังไม่มีกฎหมายดูแลเฉพาะ
ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 ก.พ.66 จำเลยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีวาระที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชัน True ID โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติการณ์ในการให้บริการของ True ID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ประกอบกับที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะโอทีที เช่นเดียวกับ True ID จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการกำกับดูแลจาก กสทช.
การนำเอาประเด็นลักษณะของการให้บริการของ True ID มาพิจารณาเพียงรายเดียว อาจส่งผลต่อการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ในอนาคตได้ แสดงให้เห็นว่าในการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ คราวดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการให้บริการ True ID ของโจทก์ว่าจะต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช.หรือไม่ อย่างไร
อีกทั้งก่อนที่จำเลยจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. มีข้อมูลระบุว่า บริการ True ID ของโจทก์เป็นบริการโอทีทีและยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจง ข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช.ที่ยื่นต่อศาลในคดีนี้ว่า กสทช. ยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดนิยามของคำว่าโอทีทีไว้เป็นการเฉพาะ
ต่อมาได้มีหนังสือไปยังผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ แต่ปรากฏว่าในวันที่ 28 ก.พ.66 เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. ตามเสนอ เข้าสู่ระบบงานสารบัญทางคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน กสทช. ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน นาง ก. ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองงานให้แก่รองเลขาธิการ กสทช. ทำให้นาง ก. ได้สอบถามเหตุผลและความจำเป็นในการทำบันทึกและร่างหนังสือของสำนักงาน กสทช. จะต้องระบุชื่อการให้บริการ True ID ของโจทก์เป็นการเฉพาะ ซึ่งได้รับแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการและเร่งรัดให้จัดทำบันทึกและร่างหนังสือดังกล่าว และ กสทช.ได้มีหนังสือไปยังผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ รวม 127 ราย
เอกสารการประชุมอันเป็นเท็จ
ต่อมาวันที่ 2 มี.ค.66 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4/2566 ซึ่งจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม จำเลยได้มีการต่อว่าและตำหนิฝ่ายเลขานุการที่มีการจัดทำหนังสือ โดยไม่ได้ระบุหรือเจาะจงถึงการให้บริการ True ID ของโจทก์ และในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยระบุเจาะจงถึงบริการ True ID ของโจทก์ แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่า ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 4/2566 ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ
เมื่อพิจารณาประกอบกับถ้อยคำที่จำเลยได้กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าว ครั้งที่ 3/2566 ที่ใช้ถ้อยคำทำนองพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา อีกทั้งก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการ จำเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้ม หรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ โดยใช้คำพูดว่า "ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์" และจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า "ยักษ์" หมายถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย
พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์
ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ตีราคา 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกผิดหวังในคำพิพากษา คิดว่าคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์กับ อ.พิรงรอง ซึ่งเป็นการพิพากษาความผิดครั้งแรก แต่กลับไม่รอลงอาญา แต่ก็เคารพคำพิพากษาของศาล ซึ่งเชื่อว่า อ.พิรงรองคงจะอุทธรณ์และต่อสู้ต่อไปอย่างแน่นอน
รู้ช็อกกับคำพิพากษา
น.ส.สารีกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้คนใน กสทช.หวาดกลัวในการออกมาคุ้มครองผู้บริโภค อาจจะคิดกันว่า รักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคแล้วจะได้อะไร ถ้าสุดท้ายจะถูกฟ้องคดีและมีคำพิพากษาจำคุกเช่นนี้
ส่วนคำว่า “ล้มยักษ์” ที่ผู้พิพากษาพูดให้ห้องพิพากษา น.ส.สารีกล่าวว่า ต้องรอดูในคำพิพากษา ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้
"ตามจริงแล้ว กสทช.มีมาตรา 27 พูดไว้ชัดว่า สำนักงาน กสทช.มีหน้าที่ลงโทษและบังคับใช้กฎหมาย หากมีการละเมิดจดทะเบียน กสทช.สามารถออกคำสั่งหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ซึ่งในการต่อสู้ในครั้งนี้ ไม่ทราบว่าทาง อ.พิรงรองได้นำกฎหมายตัวนี้มาใช้หรือไม่ ซึ่ง กสทช.มีหน้าที่คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยตรง ขอให้ อ.พิรงรองต่อสู้คดีและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มข้น และผู้บริโภคจะคุ้มครองอาจารย์เองในท้ายที่สุด และส่งกำลังใจให้อาจารย์ในการสู้คดี"
น.ส.สารีกล่าวด้วยว่า เมื่อวานนี้มีคนบางกลุ่มบอกให้ อ.พิรงรองลาออกจาก กสทช. เพื่อป้องกันการฟ้องคดี ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าบุคคลนั้นคือใคร เป็นคนนอกหรือในองค์กร น.ส.สารีกล่าวว่า ไม่อยากจะบอก เพราะกลัวถูกคดี เพราะคณะกรรมการที่อยู่ใน กสทช.หลายคนก็ถูกฟ้องร้องกันหลายคน แต่ใบ้ให้ว่า “คนในองค์กร มีทั้งหมด 7 คน ก็ลองไปหาดู เชื่อว่านักข่าวเก่งอยู่แล้ว”
ด้าน น.ส.ดาราณี โพธิน ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตหลักสี่ เปิดเผยว่า รู้สึกตกใจ และรู้ช็อกกับคำพิพากษา ส่วนตัวนั้นเป็นผู้บริโภค ก็ดีใจที่อาจารย์เห็นความทุกข์ และเข้ามาช่วยเหลือบริโภค แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้กับอาจารย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็อยากจะให้กำลังใจ พร้อมบอกว่าเรายังต้องสู้กันต่อไป
น.ส.ศรีสุรีย์ ศรีแก้วหล่อ ประชาสัมพันธ์ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบึงกุ่ม เผยว่า อยากให้กำลังใจอาจารย์พิรงรอง ซึ่งตอนนี้การต่อสู้เพิ่งเริ่มต้น ถ้าเรามีพลังเพียงพอ เราก็จะพร้อมสู้ และเชื่อว่าทุกอย่างจะต้องผ่านพ้นไป
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุว่า กรณีนี้ทำให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลสั่นสะเทือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแล กลับถูกฟ้องในฐานะที่ถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยหน้าที่ตรงนั้น ก็ต้องมีการถกกันว่า ตกลงมีหรือไม่มี และอำนาจเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาจริงๆ คือเจตนามากกว่า เนื่องจากต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภค
"เราจึงอยากเรียกร้องว่า ควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแล ไม่ใช่แค่เฉพาะ กสทช. แต่ยังมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองเป็นการฟ้องปิดปากใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญาตอบว่า ใช่ คิดว่าเข้าข่ายกรณีฟ้องปิดปาก เพราะกระบวนการสามารถร้องเรียนได้ หากได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากผู้ดูแล ซึ่งบริษัทเอกชนก็ใช้กลไกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นช่องทางลัดขั้นตอน และเป็นไปเพื่อให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไม่สามารถเข้าร่วมในกลไก กสทช.ต่อจากนี้ และไม่สามารถเข้าไปพิจารณาได้แล้ว
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ระบุว่า “เมื่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ถูกตั้งคำถามครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ทำไมการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นความผิด? สอง แล้วทำไมต้องถึงขนาดจำคุกโดยไม่รอลงอาญา? แต่คดียังไม่ถึงที่สุด อาจารย์พิรงรองได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดีระหว่างอุทธรณ์แล้ว สาธารณชนต้องช่วยกันติดตามคดีกันต่อไป ขอให้กำลังใจอาจารย์พิรงรองครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลาก1ปีสรุปฮั้วสว./หมอเกศลุ้นเม.ย.
“ประธาน กกต.” แจงยิบจับมือดีเอสไอสอบฮั้ว สว.ช่วยให้ทำงานคล่อง
ธปท.ดักคอซื้อหนี้ คลังไม่ถอยกาสิโน
“จุลพันธ์” มั่นใจซื้อหนี้ประชาชนเกิดได้ในรัฐบาลนี้ ขอรอความชัดเจนก่อน
ปลุกใส่กางเกง สัญลักษณ์จว. เล่นสงกรานต์
“นายกฯ อิ๊งค์” หัวโต๊ะ คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ ปลุกใส่กางเกงสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเล่นน้ำสงกรานต์ พร้อมทุ่ม 150 ล้าน
การันตีจีนดูแลอุยกูร์ดี อ้วนฝากทูตไทยตามต่อ
นายกฯ ย้ำส่ง "อุยกูร์" กลับจีนไม่ต้องห่วง พร้อมตอบทุก ปท.ที่เห็นต่าง “ภูมิธรรม-ทวี” ถึงซินเจียงแล้ว
ซักฟอกแม้วลาม‘ปู’ เคาะฝ่ายค้านเชือด28ชม./‘อิ๊งค์’มนุษย์แม่เคลียร์ดรามา
"นายกฯ" ลั่นคนเราไม่ได้มีมิติเดียว ต้องแบ่งเวลาให้ถูก หลังโดนดรามาพาลูกวิ่งสนามหญ้าทำเนียบฯ เมินคุยม็อบแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ
ทลายบุหรี่ไฟฟ้า เจ้าใหญ่สุดปท. มูลค่า130ล้าน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ทลายโกดังบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ส่งขาย 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ยึดของกลาง 2.6 แสนชิ้น