ไทย-จีนชื่นมื่นลงนาม14ฉบับ

"นายกฯ อิ๊งค์” คุย “สี จิ้นผิง” ชื่นมื่น! สานสัมพันธ์ครบ 50 ปี ปลื้ม "ปธ.สภาฯ จีน" ย้ำมิตรภาพลึกซึ้งดั่งคำว่า  "จีน-ไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" จับมือ "นายกฯ หลี่ เฉียง" ลงนามความร่วมมือ 14 ฉบับ กล่อม 2 ผู้บริหารยักษ์ใหญ่เอกชน "Hisense-Xiaomi" ขยายการลงทุนเพิ่ม

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง) ที่มหาศาลาประชาชน  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนสาธารณประชาชนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5-8 ก.พ.2568 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าว “สวัสดีปีใหม่จีน” และยินดีที่ได้มาเยือนจีนในปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่พิเศษครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยในปัจจุบัน จีนถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 อีกทั้งจีนยังเข้ามาเป็นนักลงทุนอันดับต้นๆ ของไทยต่อเนื่องหลายปี มูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าไทย-จีน มีมิติทางความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันต่อไปอีก 50 ปีข้างหน้า เพื่อสานต่อความร่วมมือไปยังคนรุ่นต่อไป

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปี ไทย-จีน มีหลักการและวิสัยทัศน์ความร่วมมือในการแบ่งปันความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจีนยังสนับสนุนบทบาทไทยในทุกกรอบความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคีและภูมิภาค ซึ่งยังเห็นควรขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เศรษฐกิจดิจิทัล เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี และการใช้ประโยชน์ความร่วมมือเศรษฐกิจ ไทย ลาว จีน อีกทั้งจีนยังส่งเสริมภาคเอกชนไทยในทุกมิติ ทั้งนี้ ประเทศจีนจะมีการจัดงาน “China International Import Expo” ซึ่งถือเป็นงานสำคัญของการค้าขายระหว่างกัน จีนยังสนับสนุนสินค้าและบริการที่ดีของไทยมาที่ประเทศจีน ส่วนความร่วมมือในด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารนั้น ไทย-จีนมีจุดเริ่มต้นจากโครงการเรือดำน้ำอีกด้วย

ขณะที่ น.ส.แพทองธารกล่าวถึงความคืบหน้าในความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีน โดยรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี (4 ก.พ.2568) ที่ผ่านมาอนุมัติดำเนินการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมทั้งจะให้การรถไฟแห่งประเทศยกระดับความร่วมมือด้านการรถไฟ ระหว่างไทยและจีน ให้เพิ่มเติมมากกว่าระบบรางอีกด้วย นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำมาตรฐานร่วมกันในการจัดการ ณ ด่านศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งไทย-จีน รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคจีนด้วย

ประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า การยกระดับความร่วมมือในระดับประชาชน อาทิ​ การจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน ในการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว รวมทั้งการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการแสดงวัตถุโบราณ การส่งมอบแพนด้ายักษ์ รวมไปถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการให้ทุนการศึกษา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและ soft power เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านวัฒนธรรมดั้งเดิมและสื่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ ความร่วมมือด้านสื่อ วัฒนธรรม เพื่อส่งต่อความร่วมมือจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศจะได้ร่วมมือกัน

สำหรับการประชุมหารือครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนบทบาทของทั้งสองประเทศ ในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีนยังยินดีที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกประเทศ หุ้นส่วนของ BRICS พร้อมมั่นใจว่า นายกรัฐมนตรีจะประสบความสำเร็จในการเยือนนี้ ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอวยพรให้การแข่งขันเอเชียนเกมส์ฤดูหนาวครั้งที่ 9 ประสบความสำเร็จ

จากนั้น เวลา 11.00 น. ที่ศาลามหาศาลาประชาชน นายกรัฐมนตรีได้เข้าพบหารือกับนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประธานสภาฯ กล่าวว่า ไทย-จีนเป็นหุ้นส่วนที่มีอนาคตร่วมกัน ทั้งสองประเทศมีความเป็นมิตรภาพที่ลึกซึ้ง สมคำกล่าวที่ว่า “ไทย-จีน มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” การที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แสดงถึงความตั้งใจของทั้งสองประเทศในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และพร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับจีนให้แนบแน่นยิ่งขึ้นในทุกระดับ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและมุ่งไปสู่อนาคต

ทั้งนี้  จีนพร้อมสนับสนุนให้บริษัทที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น ด้านเศรษฐกิจสีเขียว ดิจิทัล และสาธารณสุข เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างประชาชนและการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และภัยออนไลน์ พร้อมร่วมมือกับไทยพัฒนากรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง รวมถึงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านนิติบัญญัติ พร้อมฝากความระลึกถึงไปยังประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาของไทยด้วย

ด้านนายกฯ ได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมขอบคุณที่ประเทศจีนเป็นมิตรและหุ้นส่วนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมืออย่างแนบแน่นในทุกระดับ ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักการ ‘จีนเดียว’ และพร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติไทย-จีน เชื่อว่าในโอกาสพิเศษของการเฉลิมฉลองปีทองแห่งมิตรภาพไทย-จีนในปีนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลไทยพร้อมดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยยังรอต้อนรับการเยือนของประธานสภาฯ จีนในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 14 ปี

จากนั้น นายกฯ เดินทางไปร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชน จัตุรัสเทียนอันเหมิน และยืนสงบนิ่งเบื้องหน้าอนุสาวรีย์วีรชน   

ต่อมาเวลา 13.30 น. น.ส.แพทองธารพบหารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีน โดยกล่าวขอบคุณ  Mr. JIA Shaoqian, Chairman, Hisense Group ที่เข้าพบและที่บริษัทให้ความไว้วางใจและลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการขยายการลงทุนของบริษัท และหวังว่าบริษัทจะพิจารณาใช้ชิ้นส่วนในประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วน

จากนั้นนายกฯ หารือกับนายอะลาน หลำ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และรองประธานบริษัท Xiaomi Corporation พร้อมกล่าวว่า หวังว่าบริษัทจะพิจารณาให้ไทยเป็นฐานสำคัญของบริษัท หรือพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนตลาด IoT และอุปกรณ์อัจฉริยะในประเทศไทยและตลาดอาเซียน ขณะที่บีโอไอระบุว่า ไทยมีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในอาเซียน จึงหวังว่า บริษัทจะพิจารณาจัดตั้งโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศที่ประเทศไทย รวมถึงกิจกรรม R&D ที่มุ่งพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลและบีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัท

นอกจากนี้ น.ส.แพทองธารได้พบหารือหอการค้าไทยในจีน พร้อมชื่นชมบทบาทของสมาชิกหอการค้าไทยในจีนที่มีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ North Hall มหาศาลาประชาชน เวลา 17.00 น. นายกฯ ร่วมพิธีต้อนรับตรวจแถว ก่อนพบหารือกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในโครงการสำคัญให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้ โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว รวมทั้งเดินหน้าความร่วมมือเพื่อ “ประชาชนมีกินมีใช้” และหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับนายกฯ จีนที่ไทยในปีนี้ ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีและนายหลี่ เฉียง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างหน่วยงานไทย-จีน ในเรื่องความร่วมมือกันทั้งสิ้น 14 ฉบับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง