ประจานแก้ฝุ่น โพลชี้รัฐไร้ฝีมือ ทำ‘ปชช.’ระอา

โพลประจานผลงานแก้ฝุ่นพิษ ชี้ชัดเป็นปัญหารุนแรง แต่รัฐบาลกลับแก้ปัญหาไร้ประสิทธิภาพ 63% ฟันธงยากแก้ไขได้ อาจารย์สวนดุสิตเตือนระวังกระทบศรัทธา รบ. “นักวิชาการ” ชี้ไทยมีฤดูฝุ่นเพิ่ม

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2568 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ทั้งทางออนไลน์และภาคสนาม เรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 กับคนไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 1,255 คน

โดยเมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าปัญหาฝุ่น PM  2.5 ณ วันนี้รุนแรงหรือไม่ พบว่า 88.61% รุนแรง และ 11.39% ไม่รุนแรง ถามต่อว่าตั้งแต่ปี 2562 ที่เริ่มมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนถึงปัจจุบัน ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง พบว่า    71.16% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ซื้อหน้ากาก ซื้อยา  ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ, 68.29% สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน และ 58.17% ลดกิจกรรมกลางแจ้ง/ออกกำลังกายนอกบ้าน    

 โพลยังถามว่า ประชาชนคิดว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพเพียงใด พบว่า 73.39% ไม่มีประสิทธิภาพ และ 26.61% มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างไรบ้าง พบว่า 82.46% ควบคุมการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษอย่างเข้มงวด, 54.47% เร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ไขปัญหาระยะยาว และ  53.91% ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม                   

เมื่อถามว่า ใครหรือหน่วยงานใดควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พบว่า  75.82% กรมควบคุมมลพิษ, 63.13% นายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล และ 57.46% กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุดท้ายเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สำเร็จหรือไม่ พบว่า 62.95% ยากที่จะแก้ไขได้ มาจากหลายสาเหตุ  เป็นปัญหาที่วนกลับมาซ้ำ, 32.27% มีโอกาสแก้ไขได้ แต่ต้องมีมาตรการจริงจัง ร่วมกันทุกฝ่าย และ  4.78% ไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก       

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง  สะท้อนผ่านผลโพลที่ทำมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แม้ทุกฝ่ายตระหนักถึงสาเหตุหลักของมลพิษ แต่การแก้ไขกลับยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลค่าฝุ่นรายวัน แต่เป็นมาตรการที่เข้มข้นและบังคับใช้จริงจังและทันที ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่านอกจากคุณภาพอากาศที่แย่ลงแล้ว ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลก็อาจถดถอยตามไปด้วย

ผศ.ดร.สมศักดิ์ เจริญพูล หัวหน้าศูนย์พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ค่าใช้จ่าย หรือวิถีชีวิต ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงถูกมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ประชาชนจะมีความกังวลว่าการแก้ปัญหาอาจเป็นเรื่องยาก  แต่เสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่เหมาะสม เช่น การควบคุมการเผาอย่างเข้มงวด การผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดอาจเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบในอนาคต การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะอากาศที่สะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ทั้งนี้ ในช่วงปี 2013  เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากประเทศไทยในขณะนี้ แต่จีนใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ออกแผนควบคุมมลพิษทางอากาศและบังคับใช้อย่างเข้มงวด รวมทั้งติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยในระยะยาว

ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย  โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “รัฐบาลอาจล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปีนี้...ปีหน้าว่ากันใหม่?” ระบุว่า รัฐบาลและ กทม.ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมืองของ กทม.และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ประชาชนคนไทยต้องตระหนักว่า ประเทศไทยได้มีฤดูกาลเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ฤดู คือฤดูฝุ่น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาวต่อกับหน้าร้อน เรียกว่าฤดูหมอกควันในหน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนคนไทยต้องตระหนักในการที่ต้องป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 เป็นช่วงที่ต้องใส่หน้ากาก N95 หรือกากอนามัยทางการแพทย์ เมื่อต้องเดินทางนอกบ้าน ขณะที่อยู่ในบ้านจะต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่ใช้แผ่นกรอง HEPA เท่านั้น

วันเดียวกัน ศูนย์ควบคุมอากาศยานและดับไฟป่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า รายงานว่า วันนี้ชุดปฏิบัติการบิน ฮ.ปภ.32 ขึ้นบินสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติภารกิจดับไฟไหม้ป่าในพื้นที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ที่มีไฟไหม้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมายังดับไม่สนิท เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นภูเขาสูง เข้าถึงยากลำบาก และสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ไหม้ติดต่อกันมาหลายวัน ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ก.พ. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ (ปภ.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ (ทสจ.) ได้ประสานขอใช้อากาศยานดับไฟป่า KA-32 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 “อากาศยานดับไฟป่า KA-32 ยังคงให้การสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ แต่ในภาพรวมมีการวิเคราะห์ว่า นับจากนี้ไปความรุนแรงมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘โรม’ยันทำงานร่วมกับ‘ลุงป้อม’

"รังสิมันต์" ไม่การันตี "ลุงป้อม" ได้อภิปรายต่อจาก "หัวหน้าเท้ง" หรือไม่ ส่วน "เฉลิม" ยังไม่เห็นรายชื่อ ถามใช้เวลารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยันถล่ม "แพทองธาร"

แก้ม.112หลอน44สส. ข้องใจเร่งตอนซักฟอก

แก้ ม.112 ตามหลอน "รังสิมันต์” โวยใช้นิติสงคราม ป.ป.ช.จงใจหรือไม่ จัดกลุ่ม 44 สส.ตัวตึงพรรคสีส้ม จ่อถูกสอยช่วงใกล้ซักฟอก ลั่นเกลียดพวกเราได้