ทักษิณลั่นซื้อหนี้เกิดปีนี้แน่!

“สวนดุสิต” พบเกินครึ่งหนุนแนวคิด “ทักษิณ” ซื้อหนี้ แต่หวั่นไม่โปร่งใสประโยชน์แอบแฝง “พ่อนายกฯ” บอกซื้อหนี้เกิดปีนี้แน่ พร้อมขอใจเย็นๆ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ช่วยกระตุ้น ศก. "นักเศรษฐศาสตร์" ชี้ซื้อหนี้เพียงบรรเทาแค่ย้ายเจ้าหนี้เท่านั้น

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดผลสำรวจความคิดเห็นเฉพาะประชาชนที่มีหนี้สินต่อกรณีซื้อหนี้..แก้ปัญหาให้ประชาชน กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีหนี้สิน 1,153 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีหนี้ในระบบ (สถาบันการเงิน ธนาคาร บัตรเครดิต) มากที่สุด 51.60% มีหนี้นอกระบบ (เงินกู้นอกระบบ เจ้าหนี้ส่วนตัว) 29.75% มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อย 18.65% โดยจัดการด้วยการชำระเฉพาะขั้นต่ำทุกงวด 25.09% ผิดนัดชำระบางครั้ง 21.96% ชำระหนี้เต็มจำนวนทุกงวด 21.35%

ส่วนกรณีแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่จะซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร ให้ผ่อนชำระใหม่แบบลดภาระ และล้างเครดิตบูโรโดยไม่ใช้เงินของรัฐ กลุ่มตัวอย่างที่มีหนี้มองว่า เห็นด้วย 62.19% เพราะช่วยรวมหนี้ทั้งหมดมาไว้ที่เดียว ดอกเบี้ยถูกลง ช่วยให้คนที่มีหนี้สบายใจขึ้น ฯลฯ ไม่เห็นด้วย 37.81% เพราะไม่แน่ใจเรื่องความโปร่งใส อาจมีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้คนขาดวินัยทางการเงินและกู้เพิ่ม อาจกลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อการเงินของประเทศในอนาคต ฯลฯ โดยมองว่าแนวคิดซื้อหนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของคนไทยให้หมดไปได้ 57.73% เพราะช่วยลดภาระหนี้ ส่งหนี้ได้ตรงเวลา ลดการกู้เงินนอกระบบ ทำให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น มีเงินเหลือพอไปลงทุน ฯลฯ และช่วยไม่ได้ 42.27% เพราะคนขาดวินัย อาจกู้เพิ่มและไม่ใช้คืน หวังรอให้รัฐช่วย ทำได้ยาก ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หนี้ไม่ได้หมดไปแค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ ไม่ได้ช่วยคนที่เป็นหนี้นอกระบบ ยังไงก็ยังมีหนี้ ฯลฯ ทั้งนี้คิดว่าหากไม่ใช้วิธีซื้อออกจากระบบธนาคาร รัฐบาลควรใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายเวลาผ่อน ลดค่างวด 67.45% รองลงมาคือ ลดค่าครองชีพ 64.76% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง 61.37%

นายทักษิณกล่าวถึงผลสำรวจดุสิตโพล ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายซื้อหนี้ประชาชนว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ วันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนลำบากอยู่ 2-3 เรื่อง คือ 1.การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โดยการดึงเงินออกนอกระบบ ทำให้เศรษฐกิจมันแห้ง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน 2.เรื่องของโควิด-19 และ 3.การสร้างโอกาสให้กับประชาชนไม่เพียงพอที่ประชาชนจะสามารถทำมาหากินได้ ฉะนั้น วันนี้ก็ต้องหาทางให้ประชาชนสามารถเริ่มต้นใหม่ โดยการพยายามแก้หนี้ให้เขา หรือปรับโครงสร้างหนี้ ให้เขาสามารถชำระหนี้ได้มีเครดิตใหม่ และสร้างโอกาสให้เขาก็จะทำให้เขาฟื้นได้

เมื่อถามว่า ได้คุยกับเอกชนบ้างใช่แล้วหรือไม่ที่จะให้มารับซื้อหนี้ นายทักษิณกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ระบบทุนนิยมเราต้องการมีกำไรอยู่ได้ และวันนี้แบงก์ให้ดอกเบี้ยต่ำ ถ้าให้ดอกเบี้ยสูงกว่านี้เขาก็มา ซึ่งการแก้หนี้ภาคประชาชน ภาคครัวเรือนจะเกิดขึ้นในปีนี้ และน่าจะไปได้ดี

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าดิจิทัลวอลเล็ตทั้ง 2 เฟสที่ผ่านมาไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หวังไว้ นายทักษิณกล่าวว่า ใจเย็นๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันจะไหลลงมากกว่านี้ ซึ่งบางทีเราทำแล้วมันหยุดการไหล แต่มันอาจจะยังไม่ขึ้นมา แต่ว่ามันจะขึ้นมาแน่นอน ขอให้ใจเย็นๆ เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตมันไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในอนาคต และอีกหน่อยทุกคนจะรู้จักพรรคเพื่อไทย เพราะในเป๋าสตางค์ธรรมดา กับกระเป๋าดิจิทัลทุกคนต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัล เพราะในอนาคตจะมีสินทรัพย์ทางดิจิทัลอีกมากมาย ซึ่งจะไปผ่านดิจิทัลวอลเล็ตตัวนี้ และไปไหนก็จะรู้ว่าเรามีกระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ตก็จะได้เห็นว่ามันมีประโยชน์เยอะ

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด (ไตรมาส 3 ปี 2567) อยู่ที่ 16.34 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 89% แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงจากระดับสูงกว่า 90% โดยเฉพาะในช่วงโควิด หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเคยขึ้นไปแตะระดับ 95.5% ขณะนี้มาอยู่ที่ 89% ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และแนวโน้มของหนี้เสีย 1.2 ล้านล้านบาทอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหนี้เสียมากที่สุด คิดเป็น 23.35% ของสินเชื่อรวม ต้องดึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมา จากระดับ 89% ให้มาอยู่ที่ 80% เท่ากับว่า ต้องเพิ่มรายได้โดยรวมอีกอย่างน้อย 1.63 ล้านล้านบาทจึงจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยภาพรวมได้

 “มาตรการซื้อหนี้มาบริหารต้องปล่อยให้กลไกตลาดในตลาดการเงินทำงาน รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงก็ต่อเมื่อกลไกตลาดล้มเหลว หากใช้เงินสาธารณะดูแลต้องมีกลไกและแนวทางชัดเจนในการทำอย่างไรไม่ให้เกิด Moral Hazard ในระบบการเงินและส่งเสริมวินัยทางการเงินของครัวเรือน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำมากที่สุดคือ ทำอย่างไรให้จีดีพีโตขึ้นเร็วที่สุด รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ด้วยตัวเอง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ปฏิรูปขีดความสามารถในการแข่งขัน กระจายรายได้ให้เป็นธรรม เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ช่วยให้แก้ปัญหาครบทุกมิติ คือหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน" ดร.อนุสรณ์กล่าว

ดร.อนุสรณ์ระบุว่า ชาวไทยมีหนี้ครัวเรือนบวกหนี้สาธารณะเฉลี่ยมากกว่า 400,000 บาทต่อคน แก้หนี้ต้องกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม สร้างโอกาสทำงานรายได้สูง ซื้อหนี้เพียงบรรเทาและย้ายเจ้าหนี้เท่านั้น ควรปล่อยกลไกตลาดการเงินทำงาน หากจำเป็นถึงแทรกแซงโดยเงินสาธารณะ และต้องมุ่งไปที่กลุ่มคนรายได้น้อยสุดที่อยู่ในกับดักของหนี้สิน อาจต้องใช้วิธีลดหนี้หรือยกเลิกหนี้ให้ รัฐบาลอาจใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเป็นแรงจูงใจให้กลไกตลาดในตลาดซื้อขายหนี้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้

“มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น ลดดอกเบี้ย จนถึงพักหนี้ที่ทำกันมาเกือบทุกรัฐบาลก็ทำได้เพียงแค่บรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้สินครัวเรือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานแห่งการเป็นหนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินนั้นต้องกระจายรายได้และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม สร้างโอกาสการทำงานด้วยรายได้สูงให้กับประชาชน ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยความรู้และนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีราคา และมูลค่าสูงขึ้น”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพไท' ซัดรัฐบาล-ทักษิณ ใช้ไทยฟอกขาว 'มิน อ่อง หล่าย' ปมประชุมลับกลางกรุง

อดีต สส.นครศรีธรรมราช ตั้งคำถามรัฐบาลไทย หลังมีรายงาน “อันวาร์-มิน อ่อง หล่าย-ทักษิณ” หารือลับกลางกรุงเทพฯ ชี้เป็นพฤติกรรมคลุมเครือ ทั้งในมิติการทูตและบทบาทของอดีตนายกฯ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน