"ธีระชัย" จี้รัฐหยุดตีความกฎหมายสร้างความชอบธรรมออก "จีโทเคน" ชี้ไม่ตรงเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ-พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เสี่ยงทำผิดกฎหมาย "ม.ล.กรกสิวัฒน์" เตือน ขรก.คลังระวังคอพาดเขียงหากหนุนออก "จีโทเคน" ยันไม่มีนิยามใดใน กม.เข้าข่ายให้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล "กรณ์" ดักทางเป็นการเพิ่มสินทรัพย์เงินดิจิทัลของตลาดแลกเปลี่ยน ทำให้ลูกค้าใหม่สนใจลงทุนเงินบิตคอยน์มากขึ้่น
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันที่ 15 พฤษภาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พปชร. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวกรณีที่กระทรวงการคลังจะกู้หนี้สาธารณะโดยออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Govemment Token: G-Token) ว่า จะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะในปี พ.ศ.2548 ที่มีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 นั้น เป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ในขณะนั้นกฎหมายไทยยังไม่มีพื้นฐานใดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการออก G-Token โดยอ้างว่าเป็น “วิธีการอื่น” ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ซึ่งระบุว่า “การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้หรือวิธีการอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ” นายธีระชัยเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่บรรยายไว้ก่อนหน้าว่าจะทำเป็นสัญญาหรือจะออกตราสารหนี้ก็ได้นั้น คือต้องการให้มีหลักฐานแห่งหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าหนี้ของรัฐ ดังนั้น “วิธีการอื่น” ที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.อนุมัติตามมาตรา 10 วรรคหนึ่งได้ ก็จะต้องเป็นวิธีการที่มีหลักฐานแห่งหนี้เป็นลายลักษณ์อักษรในทำนองเดียวกับสัญญาหรือตราสารหนี้
อดีต รมว.การคลังระบุว่า ต่อมาในปี พ.ศ.2561 ที่มีการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ที่อนุญาตให้มีการออกโทเคนดิจิทัลได้นั้น ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นเพื่ออนุญาตให้ภาคเอกชนเป็นผู้ออก ดังระบุในมาตรา 17 ว่า “ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน ผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และให้กระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด …” ในขณะนั้น จึงชัดเจนว่ามิได้มีความคิดที่จะใช้หลักการโทเคนดิจิทัลสำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอ ครม.ให้อนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออก G-Token อันเป็นการอ้างว่าสามารถนำเอาวิธีการสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นภายหลังในปี พ.ศ.2561 มาใช้กับ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในปี พ.ศ.2548 นั้น นายธีระชัยเห็นว่า เป็นการอ้างอิงที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากหลักการและเหตุผลใน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ระบุชัดเจนว่าเพื่อจัดระเบียบการทำธุรกิจในสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างเอกชนเป็นสำคัญ ส่วนการจะพิจารณานำไปใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะหรือไม่ หรือสมควรใช้โดยมีเงื่อนไขอย่างไร จำเป็นจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ ให้อำนาจแก่กระทรวงการคลังชัดเจน และกำหนดกฎกติกาให้รัดกุมเสียก่อน
นอกจากนี้ ในรายงานการประชุม ครม.ที่ระบุว่า "สำนักงาน ก.ล.ต.เห็นว่า หาก กค.พิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น "หลักทรัพย์" ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 แล้ว ก็สามารถดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 …" นั้น ก็เป็นการผูกมัดชัดเจนว่ากระทรวงการคลังเห็นว่าโทเคนดิจิทัลไม่ถือเป็นตราสารหนี้ จึงไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง เป็นการย้ำว่าสมควรจะมีการแก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อยเสียก่อน
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี รองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และกรรมการบริหาร พปชร. กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ขอเตือนให้ข้าราชการกระทรวงการคลังระวังจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ในกรณีที่กระทรวงการคลังตีความว่า การออกโทเคนดิจิทัลซึ่งสามารถทำได้ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เข้าข่ายปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ นั้น ไม่น่าถูกต้อง เพราะในการออก พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ในปี พ.ศ.2548 เมื่อ 20 ปีก่อน ยังไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล แต่เพิ่งจะมี พ.ร.ก.ในปี พ.ศ.2561
“การพิจารณาในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 จะเห็นคำนิยามสำหรับตราสารหนี้ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน และพันธบัตร ซึ่งล้วนเป็นเอกสารแห่งหนี้ แต่ไม่มีสิ่งใดที่สามารถตีความได้ว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเลย”
ส่วนการที่ รมว.การคลังเสนอ ครม. ระบุว่าสามารถใช้มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ ในการออก G-Token ได้นั้น ก็น่าจะเป็นการตีความที่ผิด เพราะมาตรานี้บัญญัติว่า “การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้หรือวิธีการอื่นใดก็ได้” คำว่า “วิธีการอื่นใด” ย่อมต้องหมายถึงวิธีการที่มีเอกสารแห่งหนี้เช่นเดียวกับเอกสารสัญญาหรือตราสารหนี้ แต่ทั้งนี้ ถึงแม้นิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดให้เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการได้มาซึ่งสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงสิทธิ ไม่ได้มีสภาพเป็นเอกสารแห่งหนี้
"ในเรื่องนี้ ครม.อาจจะรอดจากความผิด เพราะในมติที่อนุมัติมีการระบุว่า ให้เป็นไปตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 แต่ผู้ที่ต้องรับความเสี่ยงเต็มที่ ก็คือข้าราชการกระทรวงการคลังนั่นเอง ดังนั้น จึงขอแนะนำว่า ข้าราชการควรเสนอเรื่องแย้งเพื่อให้รัฐมนตรีคลังเป็นผู้สั่งการในเรื่องดังกล่าว และเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว" ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว
ส่วนนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ว่าด้วยเรื่อง G-token: good or bad? ระบุว่า รัฐบาลจะออกสิ่งที่เรียกว่า G-token แทน นั่นคือการกู้ผ่านการออกเหรียญคริปโตในระบบ blockchain นั่นเอง จริงๆ ก็คือการ tokenise พันธบัตรรัฐบาลนั่นแหละที่รัฐบาลบอกว่าไม่กระทบหนี้สาธารณะ ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นต้องบอกว่า 'ไม่กระทบมากกว่าถ้าออกเป็นพันธบัตร’ คือหนี้สาธารณะจะเพิ่มเท่ากัน นี่คือเพียงอีกวิธีที่จะกู้เงิน
ถามว่ากฎหมายให้ทำหรือไม่ รัฐบาลบอกว่าได้ มีบางคนออกมาบอกว่าไม่ได้ ส่วนตัวผมพูดได้แค่ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนรองรับโดยตรง เพราะตอนร่างกฎหมายยังไม่มีคริปโต แต่ผมก็ไม่เห็นว่าทำไมจะทำไม่ได้ ตราบใดที่ G-token นี้มีสถานะเหมือนเป็นพันธบัตร ซึ่งซื้อขายได้ แต่ใช้ในการชำระเงินไม่ได้ ปัญหาคือ พอมันเป็นเหรียญ มันก็สามารถถูกเอาไปใช้ชำระเงินได้ง่ายขึ้น รัฐบาลก็ควรต้องอธิบายว่ามีมาตรการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้คนไทยหรือต่างชาติใช้ G-token เสมือนเป็นเงินบาท (เพราะมีรัฐบาลคํ้าประกัน) สุดท้ายก็จะเป็นเงินอีกประเภทหนึ่งที่รัฐบาลเป็นคนออกหรือไม่? (หรือนั่นคือความตั้งใจ?) ต้องฟังความเห็นของแบงก์ชาติในประเด็นนี้
ถามว่าการเข้าถึง G-token โดยประชาชนจะสะดวกกว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือไม่ คำตอบคือ 'ไม่' เพราะคนไทยยังคงจะมี digital wallet น้อยกว่าแอปเป๋าตัง แล้วรัฐบาลทำไปเพื่ออะไร
"เชื่อว่าเหตุผลหลักคือต้องการเพิ่มความนิยมใน digital asset ในประเทศไทย พวก crypto exchange เช่น Bitkub หรือ Binance ต้องชอบเพราะทำให้มีสินค้าในตลาดของตนมากขึ้น และลูกค้าใหม่ก็อาจจะหันมาสนใจลงทุนใน Bitcoin หรือ digital asset ตัวอื่นๆ มากขึ้นในอนาคต รัฐบาลก่อนหน้านี้อยากให้ประชาชนมีแอปเป๋าตัง รัฐบาลนี้อยากให้มี digital wallet" นายกรณ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แบ่งเค้กสมใจอยาก
นายกฯ เซ็นคำสั่งแบ่งงานรองนายกฯ-รมต.ประจำสำนักนายกฯ ใหม่ กำกับดูแลแทนนายกฯ หลัง "อนุทิน" ลาออก เพื่อไทยกำกับดูแลมหาดไทยสมใจอยาก ส่ง "ภูมิธรรม" คุม ส่วน "พีระพันธุ์" ไม่ขยับ อยู่ที่เดิม
ยังกอดศพกันแน่น พท.ลั่นทำเพื่อชาติอยู่ครบเทอม/พรรคร่วมผีดิบแย่งชามข้าวฝุ่นตลบ
เช็กโผ ครม. "แพทองธาร 2" เปิด 2 ตัวเต็งนั่ง รมว.กลาโหม "บิ๊กเล็ก-พล.อ.สุนัย" อดีตนายทหารรบพิเศษ ด้าน ปชป. "เฉลิมชัย" รมว.ทส.เหมือนเดิม "เดชอิศม์" นั่ง มท.3 "ชัยชนะ" นั่ง รมช.สธ. ขณะที่ "รทสช." ยังอยู่ โควตาเท่าเดิม แต่แย่งชามข้าวกันฝุ่นตลบ เพื่อไทยโวมีในมือ 280 เสียง
ม็อบพรึ่บโคราช ตะเพิด‘นายกฯ’
ม็อบทุกสีไล่รัฐบาลพรึ่บ! โคราชเรียกร้อง "อุ๊งอิ๊ง" ลาออก เลือกนายกฯ ใหม่ เพราะไร้วุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถในการเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ สมคบคิด ตอบสนองอริราชศัตรู
ชำระแค้น‘ฮุนเซน’ ‘อิ๊งค์’สั่งเจาะยาง!
ก้นร้อนเร่งเอาคืน "ฮุน เซน" "แพทองธาร" นัดประชุมแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 23 มิ.ย.นี้ หลังพบฝั่งตะวันตกดีขึ้น
ชง‘รองนายกฯ-กห.’ดึง‘พปชร.’
“อนุทิน” เปิดใจเป็นฝ่ายค้านแล้ว ไม่จัดตั้งรัฐบาลสู้ “ภูมิธรรม” ตีปี๊บพรรคร่วมที่เหลือเสียงปึ้ก “ไผ่” โวมีเสียง 263 บวกๆ
DSIหอบคดีฮั้วตึกสตง.ให้‘ปปช.’ฟัน
"อธิบดีดีเอสไอ" เผยคดีฮั้ว สว.พบเส้นเงินโยงพรรคการเมือง-นักการเมือง 3 ภาค อีสาน เหนือ ใต้