"ภูมิธรรม” พร้อมคุมดีเอสไอหากนายกฯ มอบหมาย ยันไร้นิติสงครามแดง-น้ำเงิน ปมฮั้ว สว. "ชูศักดิ์" ขอรอ ครม. 20 พ.ค.เคาะ รมต.คุมงานแทนทวี "อสส." ตั้งคณะทำงานตรวจสอบคำร้อง "ณฐพร" ขอให้ส่งคำร้องฮั้ว สว. มาตรา 49 ให้ศาล รธน.วินิจฉัย "มงคล" ปัดไปชี้แจง กกต.ด้วยตัวเองหรือไม่ "ทนายอั๋น" ยื่น "นันทนา" ล่าชื่อ 20 สว.ส่ง "ปธ.วุฒิสภา" ยื่นศาล รธน.สอบพฤติการณ์ สว.สีน้ำเงิน "สว.นันทนา" จี้วุฒิสภารักษาภาพลักษณ์ เบรกแต่งตั้งองค์กรอิสระก่อน
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) กล่าวถึงกรณีการมอบหมายรัฐมนตรีที่จะมากำกับดูแลงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และรองประธานคดีพิเศษ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ควบคุมดูแลดีเอสไอและรองประธานคดีพิเศษว่า ทราบจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันอังคาร (20 พ.ค.) จะพิจารณาแต่งตั้งบุคคลมากำกับดูแล
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในฐานะประธานคดีพิเศษของดีเอสไอ ยืนยันจะปฏิบัติทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะส่งผลกระทบเกี่ยวข้องกับงาน ส่วนตนเองศาลได้พิจารณาแล้วให้ความเมตตา ไม่มีปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้อง
"ยอมรับว่าสบายใจขึ้น เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ได้กำกับดูแลคดีและดำเนินดำเนินการไปตามครรลองในฐานะประธานคณะกรรมการที่มีเรื่องเสนอขึ้นมา" นายภูมิธรรมกล่าว
ถามว่า หากนายกฯ มอบหมายให้ไปดูแลดีเอสไอโดยตรงจะหนักใจหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา หากผู้บังคับบัญชามอบหมายก็ปฏิบัติตามนั้น โดยไม่กังวลว่าจะต้องถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.ทวี เพราะจะต้องดำเนินไปตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามกระบวนการ
เมื่อถามว่า มองไปถึงฉากทัศน์ที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาด ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ จะมีการเตรียมรับมือหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้เตรียม ถือว่าให้ทำตามหน้าที่ โดยศาลก็มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของศาลที่จะพิจารณา โดยมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
“ผมชี้แจงความเป็นจริงทั้งหมดที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องว่าเป็นประธานคดีพิเศษ เมื่อมีผู้ร้องเข้ามาและปฏิบัติตามกระบวนการ โดยเลขาธิการ กกต.ทำเรื่องมา เราก็รับมาพิจารณา พอจะเข้าคดีพิเศษก็ว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย แล้วก็มีการพิจารณากัน โดยรวมวันนั้นได้พิจารณาแล้วแยกคดีอะไรที่เป็นอำนาจ กกต.ก็ให้ว่าไป อะไรที่เป็นอำนาจของคดีพิเศษก็ไปรวบรวมหลักฐาน ซึ่งยังไม่ได้ตัดสินว่าใครเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับข้อกล่าวหา และดูที่หลักฐานว่าไปถึงหรือไม่ หากหลักฐานครอบคลุมไปถึงก็ว่าไปตามนั้น หากครอบคลุมไม่ถึง ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา” นายภูมิธรรมกล่าว
ซักว่าคอการเมืองตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เป็นนิติสงครามระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นนานาทัศนะ ตนก็ถือว่าทำตามหน้าที่
"ไม่มีแดงไม่มีน้ำเงิน เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าข้อเท็จจริงสะท้อนว่ามีปัญหาก็ว่าไปตามปัญหาที่มี อย่าไปจินตนาการเรื่องขัดแย้งเยอะ ผมก็ยังส่งแจกันดอกไม้ไปเยี่ยมรัฐมนตรีที่ป่วยทุกคน" รองนายกฯ กล่าว
อสส.ตั้ง คกก.ตรวจคำร้อง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 20 พ.ค. จะมีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยในที่ประชุม ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ แต่งตั้งรัฐมนตรีมาทำหน้าที่แทนแบบใด จะเป็นแบบปฏิบัติหน้าที่แทนเหมือนกรณีเจ้ากระทรวงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจะให้สั่งการเฉพาะดีเอสไอตามคำสั่งศาล
"ขณะนี้อยากให้ดูเรื่องหลักการก่อน เพราะเรื่องตัวบุคคลยังไม่ได้พูดคุย และถือเป็นดุลพินิจของนายกฯ" นายชูศักดิ์กล่าว
ขณะที่ นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงกรณีนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือยื่นต่อ อสส. ขอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการฮั้วเลือก สว.ว่า อสส.ได้ตั้งคณะทำงาน มีรอง อสส. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยจะมีการประชุมพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งต้องเรียกนายณฐพรผู้ร้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอพยานหลักฐานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อน
"การขอหลักฐานเพิ่มนั้น อาจจะต้องมีการตรวจสอบในส่วนที่ศาล รธน.เคยยกคำร้องของนายณฐพรมาแล้วครั้งหนึ่ง มาตรวจสอบด้วยว่าเป็นเรื่องกรณีเดียวกันหรือไม่ ผมยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ จะต้องมีการประชุมและพิจารณาคำร้อง คาดว่าจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า หากมีมูลทางอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องให้คณะทำงานได้พิจารณาคำร้องเสียก่อนเพื่อเสนออัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายณฐพรเคยยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ให้วินิจฉัยกรณีถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจาก กกต. ผู้ถูกร้องในการจัดการเลือก สว.ปี 2567 ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการประกาศรับรองผลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม และกระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือก สว.เป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 107 และมาตรา 108 มาแล้ว
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 เม.ย.68 ที่ผ่านมาว่า นายณฐพรผู้ร้องอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง อันเกิดจากการกระทำของผู้ถูกร้อง และจากการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว สรุปได้ว่า ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ที่รัฐสภา นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญว่า จะมีการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.และ 30 พ.ค.
ถามว่า ที่มีสมาชิกบางส่วนอยากให้ถอนวาระการพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เพราะ สว.ส่วนหนึ่งมีการถูกกล่าวหาเรื่องของการฮั้วเลือก สว. นายมงคลกล่าวว่า ไม่มีความเห็น เราเป็นประธานไปออกความเห็นเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่ไม่ได้ ส่วนจะเลื่อนระเบียบวาระหรือไม่ เป็นเรื่องความเห็นของสมาชิกแต่ละคน
ถามถึงการชี้แจงข้อกล่าวหาคดีฮั้วเลือก สว.ที่ทาง กกต.ส่งหมายเรียกมาให้ที่บ้าน จะเดินทางไปเองหรือไม่ นายมงคลกล่าวว่า ไม่ทราบ
บี้วุฒิสภาหยุดตั้งองค์กรอิสระ
ด้านนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่รัฐสภา เพื่อขอให้เข้าชื่อส่งหนังสือถึงประธานวุฒิสภา ส่งต่อไปยังศาล รธน. ตรวจสอบพฤติการณ์ของ สว.
นายภัทรพงศ์กล่าวว่า ได้มายื่นหนังสือให้ น.ส.นันทนา ปฏิบัติตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ คือขอให้รวบรวมรายชื่อ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือไม่น้อยกว่า 20 คน ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพฤติการณ์ของ สว.ที่มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ต้องห้ามตามมาตรา 113 และทำให้สมาชิกภาพของ สว.สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งตนอยากทราบว่าใครจะลงชื่อบ้าง และหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้ สว.กลุ่มนี้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน แต่ตนมีสายลับแจ้งว่าได้รับการสนับสนุนเกิน 20 คนแน่นอน
ด้าน น.ส.นันทนากล่าวว่า ถือเป็นกติกาที่วิปริต ที่ส่งผลให้มีการฮั้วกันเข้ามา และสังคมได้รับทราบแล้วว่าการได้มาซึ่ง สว.ชุดนี้ ไม่ได้มาโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นข้อเคลือบแคลงและสงสัยมาโดยตลอด ตอนนี้ กกต.และดีเอสไอได้คลี่คลายปัญหานี้โดยแจ้งข้อกล่าวหากับ สว. 55 คน และมีแนวโน้มว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาไปถึงกลุ่มผู้บงการและ สว.คนอื่นอีก
"ภาพลักษณ์ สว.ขณะนี้ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ประชาชนไม่เชื่อถือในการทำหน้าที่ เพราะที่มาไม่ชัดเจน เป็นที่กังขาและสงสัย ดังนั้นดิฉันในฐานะ สว. ได้เคยประกาศในที่ประชุมวุฒิสภาว่า พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการลงมติในการเห็นชอบแต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าการที่ สว.มีที่มาไม่ถูกต้อง แต่ทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน เพราะมีผลประโยชน์อย่างชัดเจน และเมื่อทันทีที่ สว.ลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งแล้วคนเหล่านั้นกลับมาตรวจสอบ สว.เอง แล้วจะชอบธรรม ถูกต้อง โปร่งใส อย่างไร ถือเป็นการตอบแทนระหว่างผู้ลงมติกับผู้ดำรงตำแหน่ง จึงไม่สง่างามและไม่ควรจะเกิดขึ้น" น.ส.นันทนากล่าว
สว.รายนี้ระบุว่า ตนเรียกร้องมาตั้งแต่ต้นให้ สว.หยุดเห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครยอมทำ เพราะห่วงอำนาจ เพราะคิดว่าเป็นอำนาจสำคัญที่ตัวเองจะได้ประโยชน์ในฐานะต่างตอบแทน จนวันนี้ประชาชนคงเห็นแล้วว่าหากปล่อยให้ สว.ทั้งคณะนี้ทำหน้าที่ต่อไป ประเทศชาติป่นปี้พินาศแน่
"จะนำเรื่องนี้ไปขอให้ สว.ที่เป็นเสียงข้างน้อย และมีความเป็นอิสระไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการฮั้วเข้ามา รวมถึง สว.อิสระที่มีใจรักความถูกต้อง ให้มาลงชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 คือจำนวน 20 คน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและรักษาภาพลักษณ์เกียรติภูมิของวุฒิสภา ว่าเราไม่ยินดีที่จะทำหน้าที่ในขณะที่ที่มาของ สว.ส่วนใหญ่มัว เทา และไม่โปร่งใส และจะชักชวน สว.ที่มีจิตใจประชาธิปไตยและเชื่อมั่นในประชาชนให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบจนกว่าจะสิ้นสงสัย" สว.รายนี้ระบุ
น.ส.นันทนากล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะส่งเรื่องนี้ไปถึงนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็น 1 ใน 55 คนที่ถูกกล่าวหา เพื่อขอให้นำเรื่องส่งไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราจะได้เห็นกันว่าท่านจะทำหรือไม่ และจะได้เห็นถึงจิตวิญญาณของคนที่อาสามาทำงานตรงนี้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือของประเทศชาติ
"วันนี้วิปวุฒิสภากำลังมีการประชุมเพื่อบรรจุวาระให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ 2 ตำแหน่ง และ กกต. 1 ตำแหน่ง หากบรรจุตรงนี้ไปแปลว่ากระบวนการนั้นยังเดินต่อไป ซึ่งหมายความว่าเมื่อกรรมาธิการหน้าเดิมๆ ที่ตนไม่เคยได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในชุดนี้ แต่เป็นเฉพาะกรรมาธิการที่เป็นกลุ่มเสียงข้างมาก เมื่อเปิดประชุมสภาก็จะมีการลงมติ ขอถามว่าสง่างามหรือชอบธรรมหรือไม่" น.ส.นันทนากล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผวาเสถียรภาพหุ้นดิ่ง26จุด แนะทางออกรีเซตประเทศ
หุ้นร่วงหนัก 25.85 จุด ผวาเสถียรภาพรัฐบาล-ม็อบไล่นายกฯ ภาคเอกชนยอมรับคลิป "อิ๊งค์" คุย "ฮุน เซน" กระทบเชื่อมั่น
DSIเรียก7พยาน คดีอั้งยี่-ฟอกเงิน ขบวนการฮั้วสว.
"ดีเอสไอ" ร่อนหมายเรียกพยานคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน ปมฮั้ว สว.67 ล็อตแรก 7 ราย
แห่แจ้งจับนายกฯขายชาติ
รัฐบาลผวาม็อบไล่นายกฯ สั่งปิดถนนรอบทำเนียบฯ "คปท." จัดหนัก “แพทองธาร"
กอดชามข้าวตายหมู่ ‘อิ๊งค์’บีบน้ำตาขออภัยคลิปฉาว/รทสช.ชง‘ชัยเกษม’ขัดตาทัพ
"นายกฯ อิ๊งค์" แถลงขออภัย ปชช. คลิปคุย "ฮุน เซน" ทำให้ไม่สบายใจ
พท.พล่าน!เติมเสียงรัฐบาล
ฉีกปฏิญญาช็อกมินต์ “อนุทิน” ม้วนเสื่อออกจากทำเนียบฯ ขณะที่ "อิ๊งค์" ปิดปากส่งกุนซือคุยแทนยื่นไพ่ใบสุดท้าย “มท.1”
ภท.ถอนตัวบีบ‘อิ๊งค์’ รับผิดชอบคลิปซูเอี๋ยฮุนเซน/แห่ตะเพิดนายกฯขายชาติ
"สมเด็จฮุน เซน" แสบ! ปล่อยคลิปคุย "อิ๊งค์" ปมชายแดนไทย-กัมพูชา