กกต.ออกหมายเรียก 24 สว.ล็อต 3 พร้อมยกคำร้องเลือก สว.บุรีรัมย์ ไม่พบมีพรรคการเมืองจัดตั้งกลุ่มผู้สมัคร "ภูมิใจไทย" ดาหน้าซัด “ณฐพร-กุสุมาลวตี” ไม่สุจริต มือไม่สะอาด ลั่นฟ้องกราวรูด “เทวฤทธิ์” จ่อเสนอญัตติชะลอเคาะชื่อนั่งองค์กรอิสระ เหตุอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบคดี
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2568 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต.ยกคำร้องการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับจังหวัดของ จ.บุรีรัมย์ กรณีก่อนประกาศผลการเลือกนายบุรี ราดแก้ว, นายวิเชียร เศษสุวรรณ, นายไสว ชนิดนอก, น.ส.เบญจมาศ อุมมะลี, น.ส.ปริญญา ดาบรัมย์, นายถาวร ภูมิไธสง, นายบุญร่วม แตบไธสง ผู้ถูกร้องที่ 1-7 ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกระดับจังหวัด กลุ่มที่ 18 สื่อสารมวลชน ถูกร้องว่ากระทำการให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. หรือถอนการสมัคร หรือจูงใจให้ผู้สมัคร หรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้ใดตามมาตรา 77 (1) และมาตรา 81 และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือก เพราะไม่ใช่บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ตามมาตรา 11 (18) และ 74 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกันได้มาซึ่ง สว. 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกหมายเรียก สว.เข้ารับทราบและชี้แจงข้อกล่าวหาในคดีฮั้วเลือก สว. เป็นล็อตที่ 3 ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ค.68 โดยมีรายชื่อ ดังนี้ 1.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด จังหวัดปัตตานี กลุ่ม 3 การศึกษา 2.สามารถ รังสรรค์ จังหวัดสตูล กลุ่ม 3 การศึกษา 3.บุญชอบ สระสมทรัพย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่ม 4 สาธารณสุข 4.วันชัย แข็งการเขตร จังหวัดอุทัยธานี กลุ่ม 4 สาธารณสุข 5.อมร ศรีบุญนาค จังหวัดชัยนาท กลุ่ม 5 ทำนา 6.พิมาย คงทัน จังหวัดบึงกาฬ กลุ่ม 5 ทำนา
7.สาลี สิงห์ดำ จังหวัดสุรินทร์ กลุ่ม 5 ทำนา 8.มาเรีย เผ่าประทาน จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ กลุ่ม 6 ทำสวน 9.อิสระ บุญสองชั้น จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่ม 6 ทำสวน 10.วิภาพร ทองโสด จังหวัดเลย กลุ่ม 7 ลูกจ้าง 11.ชวภณ วัธนเวคิน จังหวัดตราด กลุ่ม 7 ลูกจ้าง 12.ชินโชติ แสงสังข์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่ม 7 ลูกจ้าง 13.ประกาสิทธิ์ พลซา จังหวัดเลย กลุ่ม 7 ลูกจ้าง 14.นิรัตน์ อยู่ภักดี จังหวัดชัยภูมิ กลุ่ม 8 อาชีพด้านสิ่งแวดล้อมและอสังหาริมทรัพย์ฯ 15.ไพบูลย์ ณะบุตรจอม จังหวัดพิจิตร กลุ่ม 8 อาชีพด้านสิ่งแวดล้อมและอสังหาริมทรัพย์ฯ 16.วิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ กทม. กลุ่ม 8 อาชีพด้านสิ่งแวดล้อมและอสังหาริมทรัพย์ฯ
17.สัมพันธ์ ชัยวิเศษจินดา จังหวัดราชบุรี กลุ่ม 8 อาชีพด้านสิ่งแวดล้อมและอสังหาริมทรัพย์ฯ 18.เบ็ญจมาศ อภัยทอง จังหวัดพิจิตร กลุ่ม 9 SMEs 19.วรรษมนต์ คุณแสน จังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่ม 9 SMEs 20.ชัยธัช เพราะสุนทร จังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่ม 9 SMEs 21.พิชาญ พรศิริประทาน จังหวัดยะลา กลุ่ม 9 SMEs 22.นิทัศน์ อารีย์วงศ์สกุล จังหวัดอ่างทอง กลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการอื่น 23.สุนทร เชาว์กิจค้า จังหวัดกระบี่ กลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการอื่น 24.โสภณ มะโนมะยา จังหวัดสงขลา กลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการอื่น
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพบ ว่า พ.ต.ต.ยุทธนาได้มารายงานว่ามีภารกิจอะไรบ้าง รวมถึงความคืบหน้าการทำหน้าที่ของดีเอสไอ ซึ่งมีทั้งเรื่องคดีเลือก สว. ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม และเรื่องดิไอคอน สำหรับคดีฮั้ว สว.นั้น เป็นไปอย่างที่สื่อทราบ มีคดีฟอกเงิน รวมถึงคดีอั้งยี่ซึ่งดีเอสไอรับผิดชอบ ซึ่งความคืบหน้าก็กำลังเดินหน้าไป ตนได้ให้นโยบายให้ดีเอสไอทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามครรลองของกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ส่วนรายงานเส้นทางการเงินที่เชื่อมถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น ตนไม่ได้เข้าไปดูในรายละเอียด และได้บอกอธิบดีดีเอสไอว่า ไม่อยากทราบรายละเอียด เช่นมีทีมงานรัฐมนตรีไปขอสำนวน ตนก็บอกว่าไม่เคยไปก้าวก่ายอะไรแบบนี้ ให้ดีเอสไอว่าไปตามระเบียบข้อกฎหมาย
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดํา อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีกลุ่ม สว. 22 คน ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขอให้มีคําสั่งให้ พ.ต.ต.ยุทธนาหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการเลือก สว. ว่าไม่มีความกังวล เพราะดำเนินการตามกรอบของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ พร้อมรับการตรวจสอบ และไม่มีคดีไหนที่หนักใจ เพราะทำเป็นรูปคณะของคณะกรรมการสอบสวน มีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
โต้ 'ณฐพร-กุสุมาวตี' มือไม่สะอาด
นายศุภชัย ใจสมุทร ทีมกฎหมายพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีที่นายณฐพร โตประยูร ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ สว. โดยเนื้อหาในคำร้องดังกล่าวมีการพาดพิงถึงพรรคภูมิใจไทยว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะใส่ร้ายด้วยความเท็จ การกระทำของนายณฐพรมีวาระซ่อนเร้น เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าพรรคไม่ได้กระทำ ตลอดเวลาที่ผ่านมานายณฐพรได้มีพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นปฏิปักษ์กับพรรคภูมิใจไทยมาโดยตลอด การยื่นคำร้องนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ด้วยมือที่ไม่สะอาด มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายพรรคภูมิใจไทย
ส่วนกรณีการยื่นคำร้องของ น.ส.กุสุมาลวตี ศิริโกมุท สว.ลำดับสำรองนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า เป็นการนำเอาข่าวสารที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนมาร้อยเรียง ระคนความเท็จที่ตนเองเสกสรรปั้นแต่งขึ้น กล่าวหาใส่ร้ายหัวหน้าพรรคและพรรคภูมิใจไทย เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. จึงเข้ามาผสมโรงในสถานการณ์นี้ ทั้งที่รู้ดีว่าข้อเท็จตามคำร้องของตนเองไม่ได้มีอยู่จริงตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยจะดำเนินคดีและดำเนินการทุกอย่างต่อบุคคลใดก็ตามที่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และมุ่งร้ายทางการเมืองในครั้งนี้
ทางด้าน นางสุขสมรวย วันทนียกุล สส.อำนาจเจริญ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ได้รับการติดต่อมาจากผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายหลายคนว่า ข้อมูลของนางกุสุมาลวตีที่นำมาแถลงนั้นมีความผิดปกติ และกระทบถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของดีเอสไอด้วย แต่เดิมนั้นนางกุสุมาลวตีแจ้งความในคดีอั้งยี่ต่อกรณีการเลือก สว.ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.2568 โดยไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่านางกุสุมาลวตี ในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมไม่ทราบ แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา กลับมีการอ้างว่ามีหลักฐานเส้นทางการเงินของนายไชยชนก
ด้วยเหตุนี้ ตนจึงขอเป็นตัวแทนประชาชนที่เฝ้าดูคดีนี้อยู่ และตั้งข้อสังเกตไปยังนางกุสุมาลวตี และดีเอสไอ ว่านางกุสุมาลวตีมีอำนาจหน้าที่ใดในการไปเอาข้อมูลมาจากธนาคาร หรือหากอ้างว่าได้รับข้อมูลมาจากบางหน่วยงาน หรือมาจากผู้หวังดี ตามหลักแล้ว หน่วยงานใดที่จะมีข้อมูลนี้ และสามารถเอาข้อมูลออกมาให้นางกุสุมาลวตีได้หรือไม่ ประเด็นต่อมาที่คนสงสัยคือ เมื่อบางหน่วยงานตรวจเส้นทางการเงินแล้ว ข้อมูลสามารถหลุดไปถึงนางกุสุมาลวตีได้หรือไม่ และได้อย่างไร จนอาจเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมา
ชงญัตติชะลอตั้งองค์กรอิสระ
ที่รัฐสภา นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงถึงการยื่นญัตติชะลอการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต., กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด และการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาในการประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 29-30 พ.ค.นี้ โดยได้ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อเสนอประธานวุฒิสภาตามขั้นตอนแล้ว จนกว่าจะมีคำตัดสินในคดีฮั้ว สว.ที่มี สว.ถูกร้องจำนวนมาก จึงหวังว่าประธานวุฒิสภาจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม
นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับผู้ถูกร้องยังถือว่าสถานะบริสุทธิ์อยู่โดยเฉพาะ สว. ส่วนใหญ่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท่าน กระบวนการก็ต้องมีความเป็นธรรม ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เคยมีส่วนร่วมอภิปรายในกรณีที่ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบขบวนการได้มาซึ่ง สว. และเห็นว่ามีข้อกังวลพอสมควร เนื่องจากตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ได้ออกแบบกระบวนการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระ แปลว่าเรามีหลักมูลฐานว่า ต้องใช้องค์กรอิสระที่ไม่อยู่ฝั่งฝ่ายใดเป็นตัวกลางในการจัดการเลือกตั้ง แม้ที่ผ่านมาประชาชนจะมีข้อสงสัย แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุยกเว้นให้ใช้องค์กรอื่นมามีบทบาทนำในการตรวจสอบ แต่หากเป็นบทบาทเสริมก็สามารถทำได้”
นายเทวฤทธิ์ระบุว่า สว.ส่วนใหญ่ที่ตั้งคำถามถึงบทบาทนี้ จึงไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. แต่ในขณะเดียวกัน แม้ สว.จะยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ยังเป็นผู้ตัดสินบุคคลที่จะเข้ามาเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ถือเป็นคู่กรณี ดังนั้น เมื่อเป็นคู่กรณีกันแล้ว จึงคิดว่าเบื้องต้นควรต้องชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรเหล่านั้นเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักความเป็นธรรมและอิสระ ดังที่ สว.กลุ่มนั้นได้เรียกร้องให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงหลักการไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ด่านแรกคือประธานวุฒิสภาเอง หวังว่าท่านจะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่ระเบียบวาระ
สำหรับกรณี น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่เตรียมรวมรายชื่อ สว. 20 คนส่งประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ สว.ที่ถูกข้อกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนั้น นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ เพราะต้องรวมให้ครบ ส่วนตัวเห็นว่าจริงอยู่ว่ามาตรา 82 อาจให้บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการยับยั้งหรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างมีมีการสอบสวน แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สมดุลกับระบอบประชาธิปไตย เพราะควรจะเป็นเพียงแค่การวินิจฉัยข้อกฎหมายต่างๆ แต่ไม่ควรจะมีบทบาทในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แบ่งเค้กสมใจอยาก
นายกฯ เซ็นคำสั่งแบ่งงานรองนายกฯ-รมต.ประจำสำนักนายกฯ ใหม่ กำกับดูแลแทนนายกฯ หลัง "อนุทิน" ลาออก เพื่อไทยกำกับดูแลมหาดไทยสมใจอยาก ส่ง "ภูมิธรรม" คุม ส่วน "พีระพันธุ์" ไม่ขยับ อยู่ที่เดิม
ยังกอดศพกันแน่น พท.ลั่นทำเพื่อชาติอยู่ครบเทอม/พรรคร่วมผีดิบแย่งชามข้าวฝุ่นตลบ
เช็กโผ ครม. "แพทองธาร 2" เปิด 2 ตัวเต็งนั่ง รมว.กลาโหม "บิ๊กเล็ก-พล.อ.สุนัย" อดีตนายทหารรบพิเศษ ด้าน ปชป. "เฉลิมชัย" รมว.ทส.เหมือนเดิม "เดชอิศม์" นั่ง มท.3 "ชัยชนะ" นั่ง รมช.สธ. ขณะที่ "รทสช." ยังอยู่ โควตาเท่าเดิม แต่แย่งชามข้าวกันฝุ่นตลบ เพื่อไทยโวมีในมือ 280 เสียง
ชำระแค้น‘ฮุนเซน’ ‘อิ๊งค์’สั่งเจาะยาง!
ก้นร้อนเร่งเอาคืน "ฮุน เซน" "แพทองธาร" นัดประชุมแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 23 มิ.ย.นี้ หลังพบฝั่งตะวันตกดีขึ้น
ม็อบพรึ่บโคราช ตะเพิด‘นายกฯ’
ม็อบทุกสีไล่รัฐบาลพรึ่บ! โคราชเรียกร้อง "อุ๊งอิ๊ง" ลาออก เลือกนายกฯ ใหม่ เพราะไร้วุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถในการเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ สมคบคิด ตอบสนองอริราชศัตรู
ราชกิจจาฯประกาศ 8 รัฐมนตรีลาออก มีผล 19 มิ.ย.
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีรัฐมนตรี 8 รายยื่นหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการ นำโดย “อนุทิน-เพิ่มพูน-พิพัฒน์” มีผลสิ้นสุดความเป็น
ชง‘รองนายกฯ-กห.’ดึง‘พปชร.’
“อนุทิน” เปิดใจเป็นฝ่ายค้านแล้ว ไม่จัดตั้งรัฐบาลสู้ “ภูมิธรรม” ตีปี๊บพรรคร่วมที่เหลือเสียงปึ้ก “ไผ่” โวมีเสียง 263 บวกๆ