ควีนเอลิซาเบธที่2ติดโควิด-19

แฟ้มภาพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ขณะประทับที่พระตำหนักซานดริงแฮม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ในพระบรมฉายาลักษณ์ที่ฉายในโอกาสเริ่มการฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Photo by CHRIS JACKSON / BUCKINGHAM PALACE / AFP)

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษทรงติดโควิด-19   ส่วนไทยติดเชื้อใหม่ 18,953 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 คน นายกฯ ยันผู้ป่วยโควิดยังเป็นคนไข้ฉุกเฉิน ห้าม รพ. เอกชนปฏิเสธ-เรียกเก็บค่ารักษา มท.สั่งด่วนผู้ว่าฯ ทั่วประเทศงัดมาตรการเข้มลดระบาด "หมอประสิทธิ์" แย้มสงกรานต์ปีนี้มีลุ้นครื้นเครง

สำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งมีพระชนมพรรษา 95 พรรษา ทรงได้รับการถวายตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันเดียวกันนี้ และผลปรากฏว่าพระองค์ทรงมีผลตรวจเป็นบวก โดยมีพระอาการประชวรคล้ายไข้หวัดแต่ไม่รุนแรง พระองค์จะรับการถวายรักษาและจะทรงปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม โดยจะทรงงานเบาๆ ที่พระราชวังวินด์เซอร์ในสัปดาห์หน้าด้วย

 ก่อนหน้านี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินี ทรงตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ โดยสองวันก่อนหน้านั้น เจ้าชายได้เข้าเฝ้าฯ พระราชมารดาที่พระราชวังวินด์เซอร์ แต่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยในขณะนั้นว่า สมเด็จพระราชินีทรงได้รับการถวายตรวจไวรัสด้วยหรือไม่ พระองค์ทรงกลับมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 สำนักพระราชวังอังกฤษยืนยันก่อนหน้านี้ว่า สมเด็จพระราชินี ซึ่งเพิ่งทรงฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรงฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,953 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 17 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 22 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,712,315 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,527,231 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,624 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนสะสม 121,583,665 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,690 ราย, สมุทรปราการ 975 ราย, ชลบุรี 828 ราย,  นครศรีธรรมราช 810 ราย, นนทบุรี 762 ราย, ภูเก็ต 549 ราย, สมุทรสาคร 507 ราย, ราชบุรี 466 ราย, บุรีรัมย์ 441 ราย และนครปฐม 432 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันรัฐบาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากสถานพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยหรือญาติ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกประกาศฉบับเดิม จะถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีการปรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดใดๆ ในขณะนี้ โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ 

ทางด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้สั่งการโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ป้องกันการระบาดและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเฝ้าระวังตามแนวชายแดน ทั้งนี้ ศบค.มท.ได้รับการประสานงานจากศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้เน้นย้ำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทาง ศบค.มท.จึงขอให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

สร้างการรับรู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ติดเชื้อ และมาตรการควบคุมโรคในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้โดยเร็วที่สุด และรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยอาศัยกลไกในระดับพื้นที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ในการสื่อสารทำความเข้าใจและติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งดำเนินมาตรการ ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายตามแนวชายแดน พื้นที่ตอนในและหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด

วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  เปิดเผยว่า ตัวเลขติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 10,000 เป็น 15,000 และ 20,000 รายต่อวันได้ อัตราเสียชีวิตทรงตัว และมีแนวโน้มลดลง แต่ที่ต้องติดตามคือตัวเลขผู้ป่วยหนักปอดอักเสบและผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งระหว่างนี้จนถึงเดือน เม.ย. หากเราเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง เชื่อได้ว่าเดือน เม.ย.ปีนี้น่าจะต่างจากปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วเรายังฉีดวัคซีนน้อยมาก แต่ปีนี้เราได้รับวัคซีนเข็มแรกเกิน 70% ขณะที่เข็มกระตุ้นเกิน 25% ฉะนั้นสงกรานต์ปีนี้ก็จะต่างออกไป แต่แน่นอนว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะออกไปเล่นสาดน้ำได้ เพียงแต่เราจะสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ เราต้องทำตั้งแต่วันนี้ก่อนจะเดือน เม.ย. ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มากขึ้นที่สุด อย่างไรแล้วเดือน มี.ค.เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องติดตาม หากติดเชื้อสูงสุดวันละ 20,000 รายนิดๆ แล้วไม่ขึ้นต่อ ขณะที่การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงใกล้สงกรานต์ต้องคุยกันว่าจะครื้นเครงได้ขนาดไหน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น